Aston Martin (แอสตัน มาร์ทิน) ผู้ผลิตรถยนต์หรูสัญชาติอังกฤษ กำลังเผชิญกับวิกฤตทางการเงินครั้งใหญ่ที่กำลังคุกคามความอยู่รอดของบริษัทในระยะยาว โดยตัวเลขขาดทุนประมาณ 1.5 ล้านปอนด์ หรือกว่า 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ/วัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความท้าทายทางการเงินที่รุนแรงในอุตสาหกรรรมยานยนต์ บ่งชี้ถึงช่วงเวลาที่ยากลำบาก
บริษัทเปิดเผยว่าใช้เงินไปแล้วกว่า 509 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีนี้ ทั้งในการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ การผลิตที่มากยิ่งขึ้น หมายความว่าตัวเลขขาดทุนในไตรมาสที่ 3 ราวๆ 13.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก่อนหักภาษี ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วจะสูญเงินไปมากกว่า 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ/วัน และยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การขาดทุนรายวันครั้งมโหฬารนี้ตอกย้ำถึงความยากลำบากที่แบรนด์อันโด่งดังต้องเผชิญเพื่อให้บรรลุผลกำไรในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
Adrian Hallmark ซีอีโอของ Aston Martin ได้แถลงการณ์สถานการณ์บริษัทเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2024 ซึ่งยังคงกล่าวอย่างมีความหวังในการวางแผนอนาคตของบริษัทว่า “ผลการดำเนินงานทางการเงิน และการดำเนินงานที่กำลังปรับปรุงให้ดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 ปี 2024 แสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลของกลยุทธ์ของเรา เพื่อปรับปริมาณการผลิตของเราเนื่องจากการหยุดชะงักของซัพพลายเออร์ ซึ่งเรากำลังเตรียมแผนเชิงรุก และปรับตัวให้ทันสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจที่ซบเซาในประเทศจีน”
ประเทศจีนถือเป็นอีกหนึ่งตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งไม่สามารถเจาะตลาดได้ตามเป้า ส่งผลให้ยอดขายรวมลดลง 17 % ในปีนี้ ทำให้ Aston Martin เองจำเป็นต้องปรับลดเป้าหมายการผลิตลงถึง 14 % การผลิตจะลดลงประมาณ 1,000 คันในปีนี้ ให้เหลือ 6,000 คัน/ปี ซึ่งเป็นผลทำให้กำไรประจำปีลดลง โดยอ้างถึงปัญหาการหยุดชะงักของอุปทาน และความต้องการที่ลดลงในจีน
สาเหตุหลักของปัญหาทางการเงินของ Aston Martin มีหลายแง่มุม อย่างเช่น ความต้องการรถยนต์ของแบรนด์กลับลดลงอย่างรวดเร็ว ทั้งที่มีการเปิดตัว และส่งมอบรถยนต์รุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการส่งมอบรถสปอร์ทอย่าง Vantage (วานเทจ) และ DB12 (ดีบี 12) เพิ่มขึ้น 16 % หรือรุ่นเรือธงอย่าง Vanquish (แวนควิช) ที่จะเริ่มในช่วงปลายปีนี้ และไปจนถึงปี 2025 อีกทั้งรุ่นพิเศษอย่าง Valour (เวเลอร์) และ Valkyrie (วัลคีรี) ก็เพิ่มขึ้น 132 % หรือมีผู้จับจองแล้วกว่า 90 คัน
ส่วนสปอร์ทเอสยูวีอย่าง DBX (ดีบีเอกซ์) มีส่วนแบ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดขายทั้งหมดของ Aston Martin รถที่ผลิตจำหน่ายออกสู่ตลาดทั่วโลกนั้นกลับมีราคาที่สูงมากกว่าคู่แข่งทั่วไป ประกอบกับความจำเจในด้านการออกแบบที่ไม่มีความโดดเด่นมากเท่าแบรนด์รถสปอร์ทอย่าง Ferrari (แฟร์รารี) หรือ Porsche (โพร์เช) ทำให้ยอดขายไม่ดีเท่าที่ควรในระยะยาว และที่เห็นชัดเจนโดยเฉพาะในประเทศจีน กับยอดขายของรุ่น DBX รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่ร่วงลงกว่า 54 % เมื่อเทียบกับปี 2023
แม้จะมีการลงทุนจำนวนมากจากกองทุนการลงทุนสาธารณะของซาอุดิอาระเบีย แต่ Aston Martin ยังคงเผชิญกับอุปสรรคต่อไป บริษัทยังต้องกู้เงินจำนวนมาก ทำให้หนี้สินสุทธิของบริษัทพุ่งสูงถึง 1.21 พันล้านปอนด์ หรือ 1.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเกือบ 50 % จากปีก่อน เป็นที่แน่นอนว่า Aston Martin กำลังลดการคาดการณ์จุดคุ้มทุนของกระแสเงินสด และล้มเลิกการบรรลุเป้าหมายยอดขายของเขาภายในสิ้นปี 2024 ลงแบบน่าเสียดาย
เมื่อเป้าหมายสิ้นปีเริ่มลดลง และหนี้สินที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความสามารถในการกลับมามีกำไรในอนาคตอันใกล้นี้ ไตรมาสหน้าจะเป็นการทดสอบชี้ขาดความสามารถด้านรถหรู และกลยุทธ์การเอาตัวรอดของ Aston Martin ในขณะที่บริษัทกำลังต่อสู้เพื่อกลับมายืนหยัดในตลาดรถยนต์ระดับไฮเอนด์อีกครั้ง
บทความแนะนำ