กว่าจะเป็นชื่อถนนที่เราคุ้นเคย หลายคนอาจสงสัยว่า มีที่มา เเละความหมายอย่างไร วันนี้ Autoinfo จะมาไขข้อข้องใจของชื่อถนนสายสำคัญๆ ในบ้านเราไปพร้อมกัน...
เดิมมีชื่อว่า “ถนนประชาธิปัตย์” โดยในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการขยายเส้นทาง และอนุมัติให้ตั้งชื่อว่า “ถนนพหลโยธิน” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หรือพจน์ พหลโยธิน หัวหน้าคณะราษฎร ผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามเดิมว่า “ถนนประแจจีน” ซึ่งเป็นชื่อเครื่องลายครามที่มีภาพเป็นลายประแจจีน ต่อมา พศ. 2462 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อถนนประแจจีนเป็น “ถนนเพชรบุรี” ตามพระนามทรงกรมของสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ “หลวงจรัญสนิทวงศ์” (ม.ล.จรัญ สนิทวงศ์) อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งแต่เดิมนั้น กรุงเทพฯ ติดป้ายชื่อถนนว่า “ถนนจรัลสนิทวงศ์” ต่อมาได้แก้ไขเป็น “จรัญสนิทวงศ์” ตามนามของหลวงจรัญ
การตั้งชื่อว่าถนนงามวงศ์วานนั้น เพื่อเป็นเกียรติแก่นายดำรง งามวงศ์วาน อดีตนายช่างกำกับหมวดนนทบุรี กรมทางหลวง ซึ่งเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างถนนสายนี้ ตามนโยบายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ให้ตั้งชื่อถนนตามชื่อของนายช่างที่กำกับการก่อสร้าง หรือผู้บังคับบัญชา
ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่นายชลอ แจ้งวัฒนะ อดีตนายช่างกำกับแขวงการทางกรุงเทพที่ 2 กรมทางหลวง ซึ่งเป็นนายช่างที่ควบคุมการก่อสร้างถนนสายนี้ โดยได้รับการตั้งชื่อเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พศ. 2493
ตั้งตามราชทินนามของพระพิศาลสุขุมวิท (ประสบ สุขุม) บุตรของเจ้าพระยายมราช และท่านผู้หญิงตลับ โดยพระพิศาลสุขุมวิท เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวงคนที่ 5 และเป็นคนไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากสถาบันเอ็มไอที ทำให้คณะรัฐบาลในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีมติให้ตั้งชื่อทางหลวงสายกรุงเทพฯ-ตราด ว่า “ถนนสุขุมวิท” เพื่อเป็นเกียรติแก่พระพิศาลสุขุมวิท
ถนนวิภาวดีรังสิต ตั้งชื่อตามพระนามของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต โดยพระนามเดิม คือ หม่อมเจ้าวิภาวดีรังสิต พระธิดาในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เป็นพระราชวงศ์ฝ่ายในที่บำเพ็ญพระกรณียกิจอันเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง โดยพระองค์เสด็จไปเยี่ยมราษฎรในเขตที่ผู้ก่อการร้ายปฏิบัติการอยู่ จนกระทั่งเฮลิคอปเตอร์ที่เสด็จถูกผู้ก่อการร้ายระดมยิงจนสิ้นชีพตักษัย ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พศ. 2520
จากนั้นได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา หม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต และรัฐบาลได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญพระนามมาเป็นชื่อถนนซึ่งเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 ซึ่งเดิมคนทั่วไปมักเรียกติดปากว่า "ถนนซูเปอร์ไฮเวย์"
ชื่อถนนตั้งตามราชทินนามของ "หลวงประดิษฐ์มนูธรรม" (ปรีดี พนมยงค์) นายกรัฐมนตรีคนที่ 7 เพื่อสดุดีเกียรติคุณในฐานะบุคคลสำคัญของชาติ
พศ. 2546 สมัยผู้ว่าฯ สมัคร สุนทรเวช ในขณะนั้น ต้องการเปลี่ยนชื่อถนนจาก “ถนนเกษตร-นวมินทร์” เป็นชื่อ “ถนนประเสริฐมนูกิจ” โดยให้เหตุผลในเรื่องความสะดวกในการจัดส่งไปรษณีย์ โดยการเปลี่ยนชื่อเป็น ถนนประเสริฐมนูกิจ นั้นมาจากราชทินนามของ หลวงประเสริฐมนูกิจ (ประเสริฐ ศิริสัมพันธ์) นักกฎหมาย และอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชื่อของ ถนนรามอินทรา ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้กับ พลตำรวจโท ดวง จุลัยยานนท์ (พระรามอินทรา) อดีตอธิบดีกรมตำรวจ และอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยคนที่ 11 ของประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระราชทานนามชื่อ "ถนนข้าวสาร" เดิมเป็นแหล่งค้าขายข้าวสารที่ใหญ่ที่สุดของเขตพระนคร โดยข้าวสารจำนวนมากจะถูกขนส่งมาจากฉางข้าวหลวง สะพานช้างโรงสี ริมคลองคูเมืองเดิม หรือปัจจุบัน คือ คลองหลอด เลียบมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นที่ท่าเรือบางลำพู เพื่อนำข้าวมาขายให้แก่ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ
ที่มาของชื่อนั้นมาจาก นามของ นางลิ้นจี่ ชยากร ผู้พัฒนาพื้นที่ และตัดถนนสายนี้ เดิมนางลิ้นจี่ มีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลหีบอ้อย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ต่อมาย้ายมาอยู่พระนครตามบิดามารดา และสมรสกับนายเชย ชยากร พ่อค้าในตลาดสามเสน ซึ่งประกอบธุรกิจหลายประเภท เมื่อสามีเสียชีวิตจึงดูแลกิจการต่อ รวมถึงได้ลงทุนพัฒนาที่ดินผืนใหญ่ บริเวณทุ่งมหาเมฆยาวไปจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา
ต่วน สาธุ เป็นผู้ก่อสร้างถนนสาธุ จึงได้ชื่อว่า สาธุประดิษฐ์ โดยท่านได้สร้างถนนด้วยความมุมานะอย่างสูงที่จะพัฒนาการเดินทางแก่ชาวบ้านที่อาศัยในสวน เลียบแม่น้ำให้มีถนนออกสู่ถนนเจริญกรุงให้ได้ เพื่อให้ความเจริญเข้าถึง โดยได้บริจาคที่ดินที่ท่านมีอยู่จากสะพาน 4 ไปถึงท่าน้ำสาธุ
ถนนเพชรเกษม สร้างเสร็จเมื่อ พศ. 2493 ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงเพชรเกษมวิถีสวัสดิ์ (แถม เพชรเกษม) อธิบดีกรมทางหลวงคนที่ 7 โดยการตั้งชื่อเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ให้ตั้งชื่อถนนตามชื่อนายช่างใหญ่ผู้ควบคุมการก่อสร้าง หรือการบังคับบัญชารับผิดชอบ
ที่มาของชื่อ ถนนทองหล่อ หรือซอยสุขุมวิท 55 ที่นิยมเรียกกันว่า ซอยทองหล่อ ตั้งตามชื่อเดิมของ ร.ท. ทองหล่อ ขำหิรัญ ร.น. (ยศในขณะนั้น) และมีการเปลี่ยนชื่อใหม่ภายหลังจากนั้น คือ พล.ร.ต. ทหาร ขำหิรัญ สมาชิกคณะราษฎรซึ่งกระทำการปฏิวัติสยาม เมื่อ พศ. 2475 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินซอยนี้ในอดีต โดยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซอยทองหล่อเป็นสถานที่กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนผ่าน และตั้งฐานทัพ
ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลอีกด้านถึงที่มาของชื่อ “ซอยทองหล่อ” จากข้อมูลหนังสืออนุสรณ์งานศพคุณทองหล่อ ทองบุญรอด เขียนไว้ว่า ชื่อซอยทองหล่อมาจากชื่อ "คุณทองหล่อ ทองบุญรอด" ซึ่งเกิดเมื่อ พศ. 2439 เสียชีวิตเมื่อ พศ. 2515 มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับทหาร ขำหิรัญ (ทองหล่อ ขำหิรัญ) ในหนังสือระบุว่า คุณทองหล่อได้ทำอสังหาริมทรัพย์ จนใช้ชื่อผู้จัดสรรเรียกถนนชื่อ "ซอยทองหล่อ"
ถนนนี้ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ ร้อยโทหม่อมเจ้าธัญญลักษณ์ ศุขสวัสดิ นายช่างหัวหน้าการก่อสร้าง กรมทางหลวง เมื่อ พศ. 2493 โดยถนนเส้นนี้ยังอยู่ในกรุงเทพฯ ไปถึงป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ และยังเป็นถนนสำคัญไปถึงพระประแดง
เป็นชื่อเรียกของ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 โดยเส้นทางเริ่มต้นที่จังหวัดสระบุรี มุ่งเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และสิ้นสุดที่จังหวัดหนองคาย นับเป็นทางหลวงสายแรกที่ก่อสร้างถูกต้องตามแบบมาตรฐานการก่อสร้างทางหลวงทุกขั้นตอน และเป็นทางหลวงสายแรกของประเทศไทยที่มีผิวจราจรลาดยางแบบแอสฟอลต์คอนกรีท โดยเปิดให้บริการเมื่อ พศ. 2508
ที่มาของชื่อ “ถนนมิตรภาพ” มาจากคณะรัฐมนตรี อนุมัติให้ตั้งชื่อถนนช่วงสระบุรี-ปากช่อง-นครราชสีมา ว่า "ถนนสุดบรรทัด" และในช่วงนครราชสีมา-ขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย ได้รับการตั้งชื่อถนนว่า "ถนนเจนจบทิศ" เมื่อ พศ. 2493 ก่อนที่จะได้รับการสนับสนุนการก่อสร้างจากสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มสร้างใน พศ. 2498 จากสระบุรีถึงนครราชสีมา
ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้เปลี่ยนชื่อ ขนานนามใหม่ให้ถนนสายนี้ว่า “ถนนมิตรภาพ “เมื่อ พศ. 2500 เพื่อแสดงถึงมิตรภาพของประเทศไทยกับสหรัฐฯ ในการก่อสร้างถนนร่วมกัน โดยมีพิธีมอบถนนให้ประเทศไทย ในวันที่ 10 กรกฎาคม พศ. 2501