หลังจากเปิดตัวไปไม่นานมานี้ และได้รับการตอบรับที่ดีพอสมควรจากงาน Thailand International Motor Expo 2020 ทาง Honda (ฮอนดา) ไม่รอช้า จัดทริพทดลองขับ City e:HEV (ซิที อี:เอชอีวี) ซีดานที่เป็นทั้ง บี-เซกเมนท์ และมาตรฐานอีโคคาร์ ในคันเดียว มาพร้อมระบบ Fully Hybrid เป็นครั้งแรก (ก่อนหน้านี้เคยมี Jazz Hybrid จัดเป็นระบบไฮบริดแบบคู่ขนาน หรือ Mild Hybrid เท่านั้น) และนี่คือ สิ่งที่เราได้รับรู้จากการทดลองขับ
เครื่องยนต์ระบบไฮบริดของ Honda City e:HEV ถือเป็นบลอคล่าสุด ชุดเดียวกับ Jazz (แจซซ์) รุ่นใหม่ล่าสุดที่เปิดตัวในงานมหกรรมยานยนต์โตเกียว 2019 (Tokyo Motor Show 2019) แม้ตัวถังจะมีลักษณะแตกต่างกัน แต่สามารถวางเครื่องยนต์ระบบไฮบริดได้ไม่ยากเย็น มั่นใจได้ในเรื่องความทันสมัย และประสิทธิภาพโดยรวม
เครื่องยนต์ไฮบริดของ City e:HEV ประกอบด้วย มอเตอร์ไฟฟ้า กำลังสูงสุด 109 แรงม้า แรงบิดสูงสุดถึง 25.8 กก.-ม. ที่ 0-3,000 รตน. ตามแบบฉบับมอเตอร์ไฟฟ้าที่มีแรงบิดมาตั้งแต่ช่วงออกตัว ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่เครื่องยนต์สันดาป คือ เบนซิน ขนาด 1.5 ลิตร กำลังสูงสุด 98 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 13.0 กก.-ม. จากการสอบถามกับทีมวิศวกรผู้พัฒนารถรุ่นนี้ พบว่า กำลังสูงสุดทั้งระบบอยู่ที่ประมาณ 127 แรงม้า เกียร์อัตโนมัติแปรผันแบบ E-CVT
Honda City e:HEV มีน้ำหนักโดยรวมมากกว่ารุ่น City เครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ 1.0 ลิตร เนื่องจากมีชุดแบทเตอรี และมอเตอร์ไฟฟ้าเพิ่มเข้ามา ทางผู้ผลิตจึงปรับแต่งระบบรองรับให้มีความแตกต่างกันเล็กน้อย เรามีความรู้สึกว่ารถรุ่นนี้มีความหนึบมากขึ้น ตัวรถค่อนข้างนิ่ง และมั่นคง เมื่อใช้ความเร็วคงที่บนทางหลวง รวมถึงพวงมาลัยที่มีน้ำหนักมากขึ้นเล็กน้อย แต่ยังขับขี่ได้สะดวกสบาย มีบุคลิกราวกับรถยนต์ขนาดใหญ่กว่า บี-เซกเมนท์ รวมถึงเสียงรบกวนจากเครื่องยนต์มีน้อยกว่ารุ่นปกติด้วย เพราะการขับเคลื่อนส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของมอเตอร์ไฟฟ้า
ตามข้อมูลของผู้ผลิตระบุว่า City e:HEV มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยถึง 27.8 กม./ลิตร ถือเป็นสถิติใหม่ของรถยนต์ที่ผ่านมาตรฐานอีโคคาร์ ก็ว่าได้ (เดิมเป็น Mazda 2 Skyactiv-D (มาซดา 2 สกายแอคทีฟ-ดี) ทำตัวเลขเฉลี่ย คือ 26.3 กม./ลิตร) และภายใต้การขับขี่บนถนนจริง เส้นทางระหว่างถนนวงแหวนรอบนอก (ฝั่งตะวันออก) ไปยังถนนมิตรภาพ แวะเข้าตัวเมือง จ. สระบุรี การจราจรหนาแน่นเล็กน้อย ทำความเร็วได้ปานกลาง เปิดแอร์ให้ห้องโดยสารเย็นสบาย ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองที่ตัวรถแสดงให้เห็น คือ 26 กม./ลิตร เลยทีเดียว พูดง่ายๆ คือ การขับขี่แบบสบายๆ ก็ได้ตัวเลขระดับนี้แล้ว ถือเป็นรถยนต์ที่มีจุดเด่นด้านการประหยัดเชื้อเพลิงโดยแท้จริง
รูปทรงภายนอกของ City e:HEV ดูเผินๆ อาจไม่แตกต่างจากรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ 1.0 ลิตร มากนัก มีเพียงโลโกของ Honda จะล้อมกรอบสีฟ้าอ่อน และสัญลักษณ์ e:HEV เท่านั้น โดยรถรุ่นนี้มีรุ่นย่อยเดียว คือ RS (เราคิดว่าทางผู้ผลิตน่าจะเสริมการตกแต่งตัวถังให้แตกต่างจากรุ่นปกติมากกว่านี้อีกสักนิด)
อย่างไรก็ตาม เมื่อขึ้นมาทดลองขับ เราพบว่า City e:HEV มีจุดแตกต่างมากมายแฝงอยู่ภายในห้องโดยสาร ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งเบรคมือแบบไฟฟ้า (พร้อมระบบ Auto Hold), ช่องแอร์สำหรับห้องโดยสารด้านหลัง, แผงหน้าปัดแบบดิจิทอล ปรับเปลี่ยนโหมดการแสดงผลได้หลากหลาย รวมถึงแผนภาพการส่งกำลังของระบบไฮบริด (รุ่นปกติจะเป็นมาตรวัดแบบแอนาลอก), แพดเดิล ชิฟท์ รูปทรงเดิม แต่มีการใช้งานแตกต่างออกไป ปุ่มใช้งาน และการแสดงผลของระบบ Honda Sensing ทำให้การใช้งานโดยรวมมีความทันสมัยมากกว่ารุ่นปกติ (สมกับราคาที่แพงกว่าด้วย)
การขับเคลื่อนส่วนใหญ่ของ Honda City e:HEV เป็นหน้าที่ของมอเตอร์ไฟฟ้า โดยเครื่องยนต์สันดาปทำหน้าที่สร้างกระแสไฟฟ้าป้อนสู่มอเตอร์ไฟฟ้า และชุดแบทเตอรี ซึ่งจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนเฉพาะช่วงความเร็วสูงคงที่เท่านั้น (เป็นหลักการเดียวกันกับระบบไฮบริดใน Honda Accord) การตอบสนองคันเร่งของมอเตอร์ไฟฟ้าถือว่าทำได้ดี เร่งได้ทันใจ ด้วยแรงบิดที่เหลือเฟือ อย่างไรก็ตาม ในบางจังหวะที่กดคันเร่งลึกทันทีทันใด (Kick Down) มีลักษณะของการหน่วงเวลาเล็กน้อย เสียงเครื่องยนต์จะเร่งดังขึ้น แต่เพื่อการชาร์จไฟฟ้าให้มากพอสำหรับการทำงานของชุดมอเตอร์ นอกจากนี้ การใช้งานแพดเดิล ชิฟท์ มีลักษณะพิเศษ แตกต่างจากรถยนต์ทั่วไป นั่นคือ แป้นฝั่งซ้ายมือ (แบบ -) จะใช้เพื่อเพิ่มแรงหน่วงของระบบมอเตอร์ไฟฟ้า ยิ่งมีแรงหน่วงมาก ระดับการชาร์จไฟฟ้ากลับไปใช้งานจะมีมากขึ้นเท่านั้น (แต่อาจจะต้องแลกกับความไหลลื่นขณะขับขี่) และแป้นฝั่งขวา (แบบ +) จะเป็นการลดแรงหน่วง โดยมีทั้งหมด 3 ระดับ รวมถึงโหมดเกียร์แบบ B เน้นการชาร์จไฟฟ้า ก็มีให้เลือกเช่นกัน เป็นรูปแบบที่มักจะพบในรถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัวเท่านั้น
อีกหนึ่งระบบที่เราได้ทดลองใช้งาน และมีติดตั้งเป็นครั้งแรกในรถยนต์รุ่นนี้ คือ ระบบ Honda Sensing เดิมทีมีติดตั้งในรถร่วมค่ายราคาแพงกว่า เช่น Accord (แอคคอร์ด) และ Civic (ซีวิค) (รุ่นทอพ RS ของทั้ง 2 ตัวถัง) มีติดตั้งมาเกือบครบ ทั้งระบบครูสคอนทโรลแปรผันความเร็ว, ระบบเตือนเมื่อมีสิ่งกีดขวางด้านหน้า และระบบช่วยเบรคอัตโนมัติ, ระบบควบคุมตัวรถให้อยู่กลางเลน และเตือนเมื่อรถมีโอกาสขยับออกนอกเลนโดยไม่เจตนา (ทั้งหมดที่ว่ามา ใช้การทำงานของกล้องมองภาพที่ทันสมัย แทนที่ระบบเรดาร์ แต่มีประสิทธิภาพทัดเทียมกัน) และระบบกล้องมองภาพทางฝั่งซ้ายของผู้ขับ (Honda Lane Watch) เราพบว่าการทำงานของ Honda Sensing มีความแม่นยำดี รวมถึงระบบควบคุมตัวรถให้อยู่กลางเลน ช่วยให้การขับทางไกลมีความผ่อนคลายมากขึ้น ส่วนระบบเตือนการออกนอกเลนโดยไม่เจตนา (ในทางปฏิบัติ คือ ไม่เปิดไฟเลี้ยว) หากตรวจพบหลายครั้งติดต่อกัน ระบบจะหยุดการทำงานชั่วขณะหนึ่ง ต้องขับขี่ตามปกติอยู่สักพัก ระบบจึงจะกลับมาทำงานอีกครั้ง
มาถึงจุดสำคัญของ Honda City e:HEV กับค่าตัวที่สูงกว่ารถยนต์ระดับ บี-เซกเมนท์ ทั่วไป นั่นคือ เกินกว่าระดับ 8 แสนบาทเข้าให้ เรามีความรู้สึกว่า รถรุ่นนี้เหมาะสำหรับคนที่ต้องการรถยนต์ขนาดไม่ใหญ่นัก (ไม่เกินระดับ บี-เซกเมนท์) แต่มีออพชันที่เหนือกว่า (ทั้งในแง่การใช้งาน และระบบความปลอดภัย) รวมถึงประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ไฮบริดที่เหนือกว่าเครื่องยนต์สันดาปในรถยนต์ระดับเดียวกัน และแน่นอนว่า มีงบประมาณมากกว่าสำหรับค่าตัวระดับดังกล่าว รถยนต์คันนี้ยังคงมีความคุ้มค่าอย่างแน่นอน กับจุดเด่นแต่ละด้านที่ City e:HEV มอบให้ แต่ถ้าเป็นไปได้ ทางผู้ผลิตน่าจะเพิ่มรุ่นย่อยมากกว่านี้ ให้เป็นทางเลือกที่หลากหลายขึ้น (แม้อาจจะต้องลดออพชันบางรายการลงไป) จะเรียกความสนใจได้อีกมาก
ในทริพทดลองขับ เปิดโอกาสให้มีการซักถามแบบ Q&A แน่นอนว่า หนึ่งในหลายคำถามที่คนอยากรู้ คือ Honda Jazz รุ่นล่าสุด (เปิดตัวที่ญี่ปุ่นในปีที่แล้ว) จะยังมาทำตลาดไหม ? คำตอบ คือ ณ เวลาปัจจุบัน รูปแบบการตลาดของประเทศไทย จะเป็นตัวถังซีดาน และแฮทช์แบค ส่วน Jazz รุ่นใหม่ยังไม่เข้ามาทำตลาดในอนาคตอันใกล้ (แต่ก็ไม่ถึงปฏิเสธว่า จะไม่มาเลย !) ส่วน City e:HEV ตัวถังแฮทช์แบค เป็นเรื่องของอนาคตเช่นกัน ทาง Honda บ้านเราตอบเพียงว่า ทางค่ายรถมีนโยบายการเพิ่มสัดส่วนของรถยนต์ไฮบริดมากขึ้นเรื่อยๆ นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป แต่ไม่ระบุชัดเจนว่าเป็นรุ่นอะไรบ้าง ต้องดูความเป็นไปได้กันต่อไป
ขอบคุณ Honda Thailand สำหรับทริพทดลองขับครั้งนี้ (การทดลองขับในวันที่ 16-17 ธค. 2563)