การปรับโฉมของ Suzuki Ciaz เกิดขึ้นท่ามกลางบรรดาคู่แข่งที่อัพเกรดเป็นอีโคคาร์ เฟส 2 หรือแม้แต่รถยนต์รุ่นใหม่แกะกล่องที่อยู่ในอีโคคาร์ เฟส 2 เช่นกัน เรียกได้ว่าตลาดกลุ่มนี้มีความร้อนแรงมาก จุดเด่นที่มีในตัว Ciaz จะสามารถเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในกลุ่มอีโคคาร์ได้หรือไม่ ? เราจึงมาทดลองขับกันที่ จ.เชียงใหม่
Suzuki Ciaz จัดเป็นอีโคคาร์ที่มีขนาดตัวรถใหญ่ โดยมีจุดได้เปรียบ คือ ระยะฐานล้อถึง 2,650 มม. มากที่สุดในบรรดาอีโคคาร์ตัวถังซีดาน (เฉือน Nissan Almera กับระยะฐานล้อที่ 2,620 มม.) เส้นสายดูดีลงตัวจากสันเหลี่ยมด้านข้างที่พาดยาว ในรุ่นปรับโฉมล่าสุดเปลี่ยนกระจังหน้าให้มีความกว้างมากขึ้น และปรับรูปทรงของกันชนหน้า/หลัง นอกจากนี้ยังหันมาใช้ไฟหน้าแบบพโรเจคเตอร์ LED มีการส่องสว่างที่ดีขึ้น ในรุ่นทอพ RS เสริมชุดแต่งรอบคัน โฉบเฉี่ยวเกินหน้าความเป็นอีโคคาร์ แถมยังมีความภูมิฐานในตัว เป็นหนึ่งในจุดเด่นของ Ciaz
ความใหญ่โตของตัวถัง ส่งผลดีต่อความกว้างขวางของห้องโดยสารเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของ Suzuki Ciaz ด้านหน้านั่งได้สบาย ทัศนวิสัยดี เบาะผู้ขับสามารถปรับความสูงได้ด้วยคันโยก มาตรวัดทรงเรียบง่าย มองเห็นได้ชัดเจน ปุ่มใช้งานต่างๆ อาจดูไม่ทันสมัย แต่มีการใช้งานที่สะดวก หน้าจอแบบสัมผัสสำหรับระบบความบันเทิง และระบบเนวิเกเตอร์ (หนึ่งในอุปกรณ์ที่หาไม่ได้ง่ายๆ จากอีโคคาร์ แต่มีติดตั้งใน Ciaz) หน้าจอแยกช่องเป็นสัดส่วน 4 ช่อง ช่วยให้การใช้งานมีความสะดวกมากขึ้นเช่นกัน
ขณะที่วัสดุที่ใช้ในห้องโดยสารส่วนใหญ่จะเป็นวัสดุขึ้นรูปพลาสติคแข็ง มีบางจุดใช้วัสดุบุนุ่มแบบหนัง บริเวณเบาะนั่ง พวงมาลัย คันเกียร์ ที่พักแขนตรงกลาง ที่พักแขนบนแผงประตูด้านใน และคันโยกของเบรคมือ สำหรับเบาะหลังมีความกว้างขวางที่น่าพอใจ ผู้โดยสารจำนวน 2 คนสามารถนั่งได้สบาย (แม้เอาเข้าจริงจะรองรับได้ 3 คน แต่อาจอึดอัดเล็กน้อย และไม่มีพนักพิงศีรษะตรงกลาง) ตรงกลางของเบาะหลังมีพนักแขนพับลงมาได้ และเป็นที่วางแก้ว สิ่งที่น่าพอใจ และหาได้ยากในรถยนต์ระดับเดียวกันหลายรุ่น คือ ช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง ให้ความเย็นได้ทั่วถึง เหมาะสำหรับประเทศเมืองร้อน (ที่กำลังเข้าสู่หน้าร้อนเต็มตัว) ของบ้านเรา ขณะที่ความจุสัมภาระท้ายถึง 565 ลิตร มากพอสำหรับการใช้งานทั่วไปได้ดี น่าเสียดายที่เบาะหลังพับเก็บลงมาไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะเพิ่มความอเนกประสงค์ได้มากโข
Suzuki Ciaz ยังคงใช้เครื่องยนต์บลอคเดิม รหัส K12B แบบเบนซิน 1.2 ลิตร (1,242 ซีซี) กำลังสูงสุด 91 แรงม้า ที่ 6,000 รตน. แรงบิดสูงสุด 12.0 กก.-ม. ที่ 4,800 รตน. เกียร์อัตโนมัติแปรผัน และยังเป็นมาตรฐาน อีโคคาร์ เฟส 1 นั่นคือ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 20.0 กม./ลิตร ค่าไอเสียเฉลี่ย 120 กรัม/กม. แม้เป็นเครื่องยนต์บลอคเดิม แต่เน้นการซ่อมบำรุงที่ง่ายดาย ประหยัดงบประมาณในแต่ละครั้งที่เข้าศูนย์ตามระยะทาง
เส้นทางที่ใช้ระหว่างตัว อ.เมือง ถึง อ.เชียงดาว เป็นทางโค้งในหลายจุด ผสมกับทางขึ้น/ลงเขา เราพบว่าสมรรถนะของ Ciaz สามารถไปได้สบายๆ ใช้ความเร็วตามความเหมาะสม ไม่เกิน 100-110 กม./ชม. (ในทางราบ) แต่การบรรทุกผู้โดยสาร 4 คน (น้ำหนักคนนั่งทุกคนรวมกว่า 200 กก. !!) อัตราเร่งช่วงออกตัวจึงอืดเล็กน้อย แต่หลังจากนั้นก็ส่งกำลังได้ต่อเนื่อง แต่รอบเครื่องยนต์จะค่อนข้างสูง หากเร่งขึ้นเนิน หรือเรียกอัตราเร่ง หากนั่งกันมาไม่เกิน 2 คน อัตราเร่งจะไหลลื่นกว่านี้ตามกำลังสูงสุดของเครื่องยนต์ โดยรวมแล้วพละกำลังไม่หวือหวา เน้นขับสบาย ภายใต้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่น่าพอใจตามแบบฉบับอีโคคาร์
ตัวถังที่มีขนาดใหญ่ ห้องโดยสารกว้างขวาง ระบบรองรับจึงเน้นความสะดวกสบาย นุ่มนวล บังคับควบคุมง่าย อย่างไรก็ตาม ยังเผื่อเหลือความหนึบในระดับที่เหมาะสม เส้นทางช่วง อ.แม่แตง ถึง อ.เชียงดาว ค่อนข้างคดเคี้ยว การใช้ความเร็วอย่างเหมาะสม เข้าโค้งด้วยความเร็วค่อนข้างต่ำไว้ก่อน และอาศัยการเติมคันเร่งช้าๆ ตัวรถสามารถผ่านโค้งได้เนียนๆ แต่ไม่แนะนำการเบรคหนัก หรือ เบรคในโค้ง ตัวรถจะมีอาการโคลงเป็นธรรมดา ขณะที่พวงมาลัยน้ำหนักค่อนข้างเบา การตอบสนองถือว่าทำได้ดี แต่หากเพิ่มการตอบสนองที่แม่นยำกว่านี้อีกสักนิดจะช่วยให้มีความมั่นใจของการบังคับควบคุมอีกมาก
หลังจากได้ทดลองขับกันมา เรารู้สึกว่า จุดเด่นของ Suzuki Ciaz คือ ความภูมิฐาน ตั้งแต่รูปทรงภายนอกของตัวรถ เสริมมาดสปอร์ทด้วยการปรับโฉมรอบคัน มีความลงตัวกว่าเดิม จุดเด่นถัดมา คือ ความกว้างขวางของห้องโดยสาร ทำได้ดีไม่แพ้รถซีดานราคาแพงกว่า นั่งสบายมากๆ อุปกรณ์ใช้สอยครบ แม้ขุมพลัง และระบบความปลอดภัยไม่ล้ำสมัยเหมือนคู่แข่ง แต่อาจเป็นเรื่องที่พอรับได้ สำหรับคนที่สนใจความสะดวกสบายจากรถยนต์รูปทรงสวยหนึ่งคัน ภายใต้ราคาของรถยนต์อีโคคาร์
ขอขอบคุณ Suzuki Thailand และทีมงาน สำหรับการทดลองขับครั้งนี้