ทดสอบ(formula)
GAC AION Y PLUS 490 ELITE รถยนต์ไฟฟ้าตัวจริงเพื่อครอบครัว !
ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามีความร้อนแรง และหลากหลายยิ่งขึ้นในบ้านเรา จากการมาถึงของหนึ่งในค่ายรถยักษ์ใหญ่ด้านรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน นั่นคือ กลุ่มยานยนต์ GAC (จีเอซี) กับยี่ห้อ AION (ไอออน) รุ่น Y PLUS (วาย พลัส) ครอสส์โอเวอร์ที่เน้นความใหญ่โต และกว้างขวาง มีการผสมผสานความเป็นรถเอมพีวีในตัว มีสไตล์ที่ไม่เหมือนใคร แต่การขับขี่ และสมรรถนะจะโดดเด่นหรือไม่ เรามาพิสูจน์กัน
EXTERIOR ภายนอก
เส้นสายโดยรวมของ AION Y PLUS เน้นสีสันที่โดดเด่น สบายตา มีสีของตัวถังภายนอกมากมาย (รุ่นที่นำมาทดสอบใช้สีเขียวอ่อน แต่มีการติดสติคเกอร์ของทาง EV ME เป็นลวดลายดังกล่าว) มีการเพิ่มองค์ประกอบต่างๆ รอบตัวถัง ไม่ว่าจะเป็นซุ้มโป่งล้อที่เพิ่มความบึกบึนได้ดี ไฟหน้ามีรูปทรงที่สะดุดตา ดูคล้ายกับนกที่กำลังสยายปีก ชุดไฟเรียงตัวในแนวตั้ง และโดดเด่นยิ่งขึ้นในเวลากลางคืน ส่วนของเสาดี มีการเพิ่มลูกเล่นของการออกแบบให้มีความโฉบเฉี่ยวยิ่งขึ้น ท่ามกลางตัวถังทรงยาว โดยมีความยาว 4,535 มม. และระยะฐานล้อถึง 2,750 มม. มากที่สุดในบรรดารถยนต์ไฟฟ้าระดับราคาใกล้เคียงกัน รุ่นที่เรานำมาทดสอบ คือ รุ่น 490 ELITE (490 อีลิท) เป็นรุ่นพื้นฐาน ล้อแมกมีขนาด 17 นิ้ว ยางขนาด 215/55 R17 ยี่ห้อ CHAOYANG (เฉาหยาง) ของประเทศจีน โดยรวมแล้ว AION Y PLUS เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ดูใหญ่โต มีสไตล์เฉพาะตัวไม่น้อย จุดสังเกตเพิ่มเติม คือ การไม่มีที่ปัดน้ำฝนด้านหลังมาให้ การใช้งานท่ามกลางสภาพพื้นถนนเปียกมีโอกาสที่ละอองน้ำจากล้อคู่หลังจะมาเปื้อนกระจกบานท้ายได้
INTERIOR ภายใน
การมีระยะฐานล้อที่ยาวของ AION Y PLUS ทำให้ห้องโดยสารของรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้มีความกว้างขวางที่ยอดเยี่ยม นั่งได้สบายโดยเฉพาะผู้โดยสารเบาะแถวที่ 2 มีระยะเหนือศีรษะ และระยะช่วงขาที่เหลือเฟือ จุดเด่น คือ การพับเบาะแถวที่ 1 และ 2 สามารถราบต่อเนื่องกันได้ โดยการเลื่อนเบาะแถวที่ 1 (ด้านข้างผู้ขับ) ไปข้างหน้าจนสุด และถอดพนักพิงศีรษะออกไป จากนั้นเอนพนักพิงหลังลงมาจนสุดตัวเบาะจะต่อเนื่องกับเบาะแถวที่ 2 พอดี ผู้โดยสารสามารถนั่งบนเบาะแถวที่ 2 และเหยียดขาได้ตามสะดวก หรือในกรณีที่ผู้โดยสารมีเบาะรองนอนขนาดใหญ่ สามารถปูได้อย่างทั่วถึง ผนวกกับความโปร่งโล่งของห้องโดยสารจากซันรูฟแบบพาโนรามิค (ติดตั้งทุกรุ่นย่อย) มีม่านบังแดดที่เลื่อนเปิด/ปิดด้วยไฟฟ้าเช่นกัน ทำให้ AION Y PLUS เหมาะสำหรับการใช้งานกับกิจกรรมกลางแจ้ง และมีความอเนกประสงค์ที่น่าพอใจ ส่วนคุณภาพการประกอบโดยรวม มีความแน่นหนา วัสดุของเบาะเป็นแบบผ้า เลือกสีสันการตกแต่งได้หลากหลายเช่นกัน
วัสดุของคอนโซลหน้าดูแข็งแรง จอแสดงผลขนาดใหญ่ถึง 14.6 นิ้ว จอภาพมีความละเอียด ระบบสัมผัสตอบสนองได้ดี ส่วนจอแผงหน้าปัดมีขนาด 10.25 นิ้ว แต่ตัวเลขของข้อมูลมีขนาดค่อนข้างเล็ก ด้านข้างของผู้ขับเป็นส่วนใช้งานขนาดใหญ่สำหรับวางแก้ว และวางสิ่งของต่างๆ ใช้งานได้สะดวก บรรดาปุ่มใช้งานต่างๆ จะมีน้อยมาก เนื่องจากการใช้งานหลายระบบของตัวรถจะต้องทำผ่านหน้าจอเท่านั้น รวมถึงการใช้งานขั้นพื้นฐาน เช่น การปรับทิศทาง และการพับกระจกมองข้าง ต้องเลือกโหมดใช้งานในหน้าจอ และปรับทิศทางผ่านปุ่มบนฝั่งขวามือของพวงมาลัย รวมถึงการปรับโหมดการขับขี่ และโหมดการตอบสนองของพวงมาลัยต้องทำผ่านหน้าจอเช่นกัน เป็นสิ่งที่ต้องทำความคุ้นเคยพอสมควร นอกจากนี้ รุ่นพื้นฐาน 490 ELITE ไม่สามารถเชื่อมต่อ ANDROID AUTO หรือ APPLE CAR PLAY
ENGINE เครื่องยนต์
ขุมพลังของ AION Y PLUS คือ มอเตอร์ไฟฟ้า กำลังสูงสุด 204 แรงม้า (หรือ 150 กิโลวัตต์) แรงบิดสูงสุด 23.0 กก.-ม. ขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า แบทเตอรีความจุ 63.2 กิโลวัตต์ชั่วโมง สำหรับรุ่นย่อย 490 ELITE คู่เปรียบเทียบสมรรถนะ คือ อีกหนึ่งรถยนต์ไฟฟ้าสไตล์ครอสส์โอเวอร์ สัญชาติจีน นั่นคือ BYD ATTO 3 (บีวายดี อัตโต 3) กำลังสูงสุด 204 แรงม้า (150 กิโลวัตต์) เท่ากันพอดี มาดูอัตราเร่งกัน
อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. AION Y PLUS ทำเวลาที่ 10.5 วินาที ส่วน ATTO 3 คือ 8.2 วินาที ในช่วงความเร็วตีนต้น อัตราเร่งมีความแตกต่างกันพอสมควร แม้พละกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าจะเท่ากัน แต่ตัวถังของ AION Y PLUS มีขนาดใหญ่ และการปรับแต่งที่เน้นกำลังอย่างต่อเนื่อง อัตราเร่งจึงไม่หวือหวามากนัก ถัดมาที่อัตราเร่งช่วงความเร็วตีนปลายกับระยะ 0-1,000 ม. AION Y PLUS ทำตัวเลขได้ที่ 32.3 วินาที (ที่ความเร็ว 154.3 กม./ชม.) ส่วน BYD ATTO 3 มีตัวเลข คือ 29.4 วินาที (ที่ความเร็ว 169.3 กม./ชม.) จะเห็นได้ว่า ความสูงสุดของครอสส์โอเวอร์แต่ละรุ่นมีความแตกต่างกันด้วย ทำให้ความเร็วช่วงตีนปลายมีความแตกต่างกัน โดยทาง AION Y PLUS มีความเร็วสูงสุดประมาณ 150 กม./ชม. เท่านั้น แต่การส่งกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าทำได้ไหลลื่นอย่างน่าพอใจ เหลือเฟือสำหรับการใช้งานทั่วไป
อัตราเร่งยืดหยุ่น 60-100 และ 80-120 กม./ชม. AION Y PLUS ทำเวลาที่ 5.3 และ 7.0 วินาที ส่วน BYD ATTO 3 ทำตัวเลขออกมาที่ 3.9 และ 4.9 วินาที ครอสส์โอเวอร์ของทาง BYD มีอัตราเร่งที่ฉับไวกว่า แต่เราสังเกตว่า อัตราเร่งแบบยืดหยุ่นของ AION Y PLUS มีความคงที่ในแต่ละหัวข้อของอัตราเร่ง และแต่ละเทิร์นของการทดสอบ เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของแบทเตอรีจากค่ายรถ GAC ที่มีเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย และการส่งกำลังที่มีกำลังไฟฟ้ามั่นคง อัตราเร่งไม่มีอาการแผ่วแม้แต่น้อยตลอดช่วงการทดสอบ
ส่วนการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า GAC AION Y PLUS รุ่น 490 ELITE ใช้แบทเตอรีความจุ 63.2 กิโลวัตต์ชั่วโมง ระยะทำการสูงสุดเมื่อชาร์จแบทเตอรีเต็มตามที่ผู้ผลิตระบุมา คือ 490 กม. จากการทดสอบบนถนนจริงเราพบว่า หากใช้ความเร็วที่เหมาะสมในช่วง 90-100 กม./ชม. ระยะทางที่แล่นได้มีความใกล้เคียงกับที่ทางผู้ผลิตระบุมา หรือการกดคันเร่งเพื่อเร่งแซง และใช้ความเร็วสูงสุดขึ้นเล็กน้อย ระยะทางที่แล่นได้ก็ไม่ลดลงมากนัก แสดงให้เห็นว่าการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าของ AION Y PLUS ทำได้น่าพอใจไม่น้อยเลยทีเดียว
SUSPENSION ระบบรองรับ
ระบบรองรับของ AION Y PLUS ด้านหน้าแบบอิสระ แมคเฟอร์สันสตรัท ด้านหลังแบบทอร์ชันบีม การตอบสนองโดยรวมมีความหนึบในระดับที่พอเหมาะ การใช้ความเร็วช่วง 110-120 กม./ชม. มีความนิ่งที่น่าพอใจ ควบคุมได้ดี นอกจากนี้ การตอบสนองของพวงมาลัยสามารถเลือกโหมดการตอบสนองได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโหมด COMFORT น้ำหนักพวงมาลัยจะเบา หรือโหมด SPORT พวงมาลัยจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น (แต่ยังหักเลี้ยวได้สบาย) เรามีความรู้สึกว่า การขับขี่ทางไกล รถยนต์ไฟฟ้าสไตล์ครอสส์โอเวอร์รุ่นนี้มีความเหมาะสมดีมาก (ผนวกกับห้องโดยสารที่กว้างขวาง) อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของรุ่นพื้นฐานอย่าง 490 ELITE คือ การปราศจากระบบช่วยเหลือการขับขี่ และระบบความปลอดภัยที่ทันสมัย เช่น ระบบครูสคอนทโรลแปรผันความเร็ว หรือระบบตรวจจับต่างๆ จะอยู่ในรุ่นทอพ 550 ULTRA เท่านั้น เรามีความเห็นว่า บางระบบควรมีติดตั้งในรุ่นพื้นฐานเช่นกัน จะช่วยเพิ่มความหลากหลายของการใช้งานได้ดียิ่งขึ้น ขณะที่ระยะเบรคที่ความเร็ว 60/80/100 กม./ชม. AION Y PLUS คือ 15.2/26.9/42.1 ม. ถือว่าทำได้น่าพอใจพอสมควร
รถยนต์ไฟฟ้าสำหรับครอบครัวสุขสันต์
AION Y PLUS รถยนต์ไฟฟ้าสไตล์ครอสส์โอเวอร์จากค่ายรถ GAC มีองค์ประกอบที่เน้นความเรียบง่าย ตอบสนองการใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างครบครัน มีจุดเด่นที่เส้นสายลงตัว และความกว้างขวางของห้องโดยสารที่ทำได้ดีที่สุดในบรรดาครอสส์โอเวอร์พลังงานไฟฟ้าระดับเดียวกัน การขับขี่โดยรวมเน้นความไหลลื่น เร่งได้ดังใจ แม้จะไม่หวือหวาเหมือนคู่แข่ง แต่รองรับการขับขี่ทั่วไปได้เหลือเฟือ เบาะนั่งที่พับได้ราบต่อเนื่องกัน ไม่มีรถยนต์ไฟฟ้าระดับเดียวกันสามารถทำได้ เนื่องจาก AION Y PLUS มีระยะฐานล้อที่ยาว ห้องโดยสารจึงมีความกว้างขวางกว่าใคร ผนวกกับการติดตั้งซันรูฟพาโนรามิคทุกรุ่นย่อย เพิ่มความปลอดโปร่งของห้องโดยสารได้ดีมาก จุดน่าเสียดาย คือ รุ่นพื้นฐาน 490 ELITE มีอุปกรณ์ใช้งานที่น้อยกว่ารุ่นทอพ 550 ULTRA พอสมควร แลกกับราคาที่ต่างกันร่วม 2 แสนบาท เรามีความเห็นว่า รุ่นพื้นฐานที่เรานำมาทดสอบเหมาะสำหรับผู้มีงบประมาณที่ 1 ล้านบาทบวก/ลบ สมรรถนะที่เน้นความไหลลื่น และการใช้งานสำหรับครอบครัวที่ครอบคลุม AION Y PLUS มีความเหมาะสมไม่น้อย