ทดสอบ(formula)
BYD DOLPHIN โลมาพลังไฟฟ้า กับ 2 ทางเลือกความแรง !
ค่ายรถ BYD (บีวายดี) ประเดิมการทำตลาดในบ้านเรากับรถยนต์ไฟฟ้า ATTO 3 (อัตโต 3) ครอสส์โอเวอร์พลังไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมพอสมควร ล่าสุดก็ได้เวลาเสริมทัพอีกครั้งกับการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ กับสไตล์แฮทช์แบคขนาดพอเหมาะ นั่นคือ DOLPHIN (ดอลฟิน) กับ 2 รุ่นย่อยของมอเตอร์ไฟฟ้า และแบทเตอรี รวมถึงออพชันบางรายการ เราจึงนำมาทดสอบพร้อมกันเพื่อดูความแตกต่างของรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 2 รุ่นนี้
EXTERIOR ภายนอก
รูปทรงของ BYD DOLPHIN มาในสไตล์แฮทช์แบค เน้นความกระชับของตัวรถ เห็นได้จากการออกแบบระยะโอเวอร์แฮงทั้งด้านหน้า และด้านหลังที่สั้น หากดูผ่านๆ รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้เหมือนจะมีขนาดเล็ก แต่ความจริงแล้วระยะฐานล้อของตัวรถค่อนข้างยาวพอสมควร (ที่ 2,700 มม.) ถือว่าใกล้เคียงกับบรรดาคู่แข่งรถยนต์ไฟฟ้าสไตล์แฮทช์แบคระดับเดียวกัน เช่น MG4 ELECTRIC (เอมจี 4 อีเลคทริค) มีระยะฐานล้อที่ 2,705 มม. ส่วน ORA GOOD CAT (โอรา กูด แคท) มีระยะฐานล้อที่ 2,650 มม. มิติตัวถังในส่วนนี้ของ DOLPHIN จึงยังสูสีกับคู่แข่ง แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ ความยาวของตัวถัง BYD DOLPHIN คือ 4,290 มม. ส่วน MG4 ELECTRIC คือ 4,287 มม. และ ORA GOOD CAT อยู่ที่ 4,235 มม. ยังคงมีความใกล้เคียงกันไม่น้อย สุดท้าย คือ อีกหนึ่งจุดสนใจของผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าหลายคน คือ ระยะความสูงจากพื้นถนน แฮทช์แบคของ BYD คือ 130 มม. ส่วนทาง MG คือ 117 มม. และทาง ORA ตัวเลข คือ 145 มม.
ในส่วนของเส้นสายโดยรวม BYD DOLPHIN มีส่วนหน้าของตัวรถที่ถูกออกแบบให้เน้นความเรียบง่าย ไฟหน้ามีขนาดเล็ก ไม่โดดเด่นมากนัก อย่างไรก็ตาม เส้นด้านข้างตัวถัง และการออกแบบโดยรวมของส่วนท้ายรถมีความสวยงามพอสมควร ทำให้รถรุ่นนี้มีความโฉบเฉี่ยวพอสมควร นอกจากนี้ ความแตกต่างของแต่ละรุ่นย่อย คือ ขนาดของล้อแมก ในรุ่น STANDARD RANGE ใช้ล้อแมกขนาด 16 นิ้ว ตัวถังจะเป็นปกติ (ไม่ใช่ทูโทน) รวมถึงการไม่มีหลังคาซันรูฟพาโนรามิคติดตั้งมาให้ ส่วนรุ่นทอพ EXTENDED RANGE จะใช้ล้อแมกขนาด 17 นิ้ว ลวดลายแตกต่างจากรุ่นเริ่มต้น สีตัวถังจะเป็นแบบทูโทน ติดตั้งซันรูฟมาให้ในตัว เป็นความแตกต่างที่สังเกตเห็นได้ไม่ยากสำหรับทั้ง 2 รุ่นย่อย
INTERIOR ภายใน
ห้องโดยสารของ BYD DOLPHIN ออกแบบให้มีความสปอร์ทในตัว เห็นได้จากพวงมาลัยที่หักมุมด้านล่าง เบาะนั่งกระชับสรีระ จอแสดงผลขนาดใหญ่ และสามารถหมุนได้ทั้งแนวตั้ง และแนวนอน เป็นเอกลักษณ์ของค่ายรถแห่งนี้ ส่วนจอสำหรับแผงหน้าปัด และการแสดงผลต่างๆ ยังคงมีขนาดค่อนข้างเล็ก ปรับเปลี่ยนการแสดงผลได้หลายโหมด รวมถึงโหมดวัดอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. (ต้องใช้โหมด SPORT เท่านั้น) ขณะที่บริเวณตรงกลางของคอนโซลหน้าเป็นปุ่มใช้งานต่างๆ รูปแบบจะเป็นปุ่มทรงกระบอก หมุนขึ้น/ลงเพื่อใช้งาน รวมถึงการเปลี่ยนโหมดเกียร์ด้วย ซึ่งจะติดตั้งอยู่ฝั่งขวาสุด การใช้งานในระยะแรกต้องทำความคุ้นเคยพอสมควร ถัดไปทางซ้าย คือ ปุ่มเปลี่ยนโหมดการขับขี่ การใช้งานต้องทำความคุ้นเคยในช่วงแรกเช่นกัน
โทนสีของห้องโดยสารสามารถเลือกติดตั้งได้ตามรุ่นย่อย และสีตัวถัง รถที่เรานำมาทดสอบของรุ่นทอพ EXTENDED RANGE ใช้ห้องโดยสารโทนสีดำเข้ม (มีทางเลือกเป็นโทนสีเงินก็ได้) ส่วนรุ่นเริ่มต้นอย่าง STANDARD RANGE จะใช้วัสดุโทนสีดำอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ใช้งานมีความแตกต่างกันบ้าง เช่น ที่ชาร์จมือถือแบบไร้สาย (มีในรุ่นทอพเท่านั้น) ส่วนความกว้างขวางของ DOLPHIN ทำได้น่าพอใจ เบาะหน้ามีพื้นที่ค่อนข้างมาก ตัวเบาะจะมีระดับค่อนข้างสูงมากกว่ารถเก๋งทั่วไป (สามารถปรับระดับขึ้น/ลงได้) ทัศนวิสัยของกระจกมองหลังมีมากเกินคาด แม้ระจกบานท้ายจะมีขนาดค่อนข้างเล็ก (แต่น่าชื่นชมที่ติดตั้งที่ปัดน้ำฝนหลังมาให้ เพราะคู่แข่งรายอื่นไม่มีติดตั้งมาให้เลย !) ส่วนเบาะแถวที่ 2 มีระยะช่วงขาค่อนข้างมาก จากการมีระยะฐานล้อค่อนข้างยาว การนั่งโดยรวมไม่รู้สึกอึดอัด เบาะสามารถพับแยกได้แบบ 60:40 ส่วนที่เก็บสัมภาระท้ายจะมีพื้นยกขึ้นมาอีกชั้น ช่วยให้เวลาพับเบาะแถว 2 ลงมา จะเป็นลักษณะพื้นราบเป็นแนวเดียวกัน (สามารถเก็บของไว้ข้างใต้ได้ด้วย) อย่างไรก็ตาม เรามีความรู้สึกว่า ขณะแล่นที่ความเร็วมากกว่า 100 กม./ชม. เสียงลมปะทะมีให้ได้ยินค่อนข้างชัดเจน
ENGINE เครื่องยนต์
BYD DOLPHIN ทั้ง 2 รุ่นย่อย มีสเปคของมอเตอร์ไฟฟ้า และแบทเตอรี แตกต่างกัน เราเริ่มด้วยรุ่น STANDARD RANGE ก่อน กับมอเตอร์ไฟฟ้า กำลังสูงสุด 95 แรงม้า แบทเตอรีความจุ 44.9 กิโลวัตต์ชั่วโมง คู่เปรียบเทียบสมรรถนะ คือ รถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่เน้นแรงม้า แต่มีราคาที่น่าสนใจอีกรุ่น นั่นคือ NETA V (เนทา วี) มอเตอร์ไฟฟ้า 95 แรงม้า แบทเตอรีความจุ 40.7 กิโลวัตต์ชั่วโมง
อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. (ในโหมด NORMAL) BYD DOLPHIN STANDARD RANGE มีตัวเลขที่ 13.5 วินาที ส่วน NETA V ทำได้ที่ 14.2 วินาที แม้แรงม้าจะมีตัวเลขที่เท่ากัน แต่พละกำลังของ DOLPHIN มีความได้เปรียบกว่าในช่วงความเร็วตีนต้น
อัตราเร่งระยะ 0-1,000 ม. BYD DOLPHIN ทำได้ที่ 35.2 วินาที (ที่ความเร็ว 147.3 กม./ชม.) ส่วน NETA V คือ 40.2 วินาที (ที่ความเร็ว 106.8 กม./ชม.) การถูกจำกัดความเร็วสูงสุดของ NETA V ในโหมด NORMAL ทำให้อัตราเร่งช่วงตีนปลายมีความเสียเปรียบค่อนข้างชัดเจน ส่วน DOLPHIN แม้เป็นรุ่นพื้นฐาน แต่มีความเร็วสูงสุดมากกว่า ทำให้การทำอัตราเร่งเป็นระยะทางยาว รวมถึงความเร็วตีนปลายไปได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม ขอหมายเหตุว่า โหมด SPORT ของ NETA V จะมีอัตราเร่งที่สูสีขึ้นมามาก ทั้งการตอบสนองของมอเตอร์ไฟฟ้า และความเร็วสูงสุด
สำหรับอัตราเร่งยืดหยุ่น ที่ความเร็ว 60-100 และ 80-120 กม./ชม. BYD DOLPHIN ทำได้ที่ 7.6 และ 11.1 วินาที ตามลำดับ ส่วน NETA V ทำเวลาที่ 7.5 และ 8.3 วินาที ที่ความเร็ว 80-120 กม./ชม. เราจำเป็นต้องใช้โหมด SPORT สำหรับ NETA V ไม่เช่นนั้นความเร็วสูงสุดจะไม่เพียงพอกับอัตราเร่งยืดหยุ่นดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ในโหมดดังกล่าว NETA V มีความฉับไวกว่าโหมด NOMAL มากๆ แต่ต้องแลกกับการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าเช่นกัน
มาถึงรุ่นทอพ BYD DOLPHIN EXTENDED RANGE กับมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงสุด 204 แรงม้า (PS) และแบทเตอรีความจุ 60.5 กิโลวัตต์ชั่วโมง คู่เปรียบเทียบ คือ รถยนต์ไฟฟ้าสไตล์แฮทช์แบค ที่มีราคาโดยรวมใกล้เคียงกัน นั่นคือ MG4 ELECTRIC (171 แรงม้า) และ ORA GOOD CAT 500 ULTRA (143 แรงม้า)
อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. (โหมด NORMAL) BYD DOLPHIN EXTENDED RANGE มีตัวเลขที่ 8.3 วินาที ส่วน MG4 ELECTRIC คือ 8.4 วินาที และ ORA GOOD CAT 500 ULTRA ทำได้ที่ 9.4 วินาที การตอบสนองช่วงออกตัวของ DOLPHIN จะค่อยเป็นค่อยไปในช่วงแรก ไม่กระชากมากเกินไป การกดคันเร่งสุดอาจทำให้ล้อหน้ามีเสียงดังเล็กน้อย แต่ไม่ถึงกับล้อฟรีทิ้งมากเกินไป ถึงอย่างนั้นอัตราเร่งตีนต้นยังสูสีกับรถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนล้อหลังอย่าง MG4 ELECTRIC
อัตราเร่งช่วง 0-1,000 ม. DOLPHIN ทำตัวเลขได้ที่ 29.6 วินาที (ที่ความเร็ว 168.1 กม./ชม.) ส่วน MG4 ทำได้ที่ 29.9 วินาที (ที่ความเร็ว 169.8 กม./ชม.) และ ORA GOOD CAT คือ 31.3 วินาที (ที่ความเร็ว 154.9 กม./ชม.) เมื่อใช้อัตราเร่งกันยาวๆ ตัวเลขของ BYD และ MG มีความสูสีกัน แต่ DOLPHIN มีพละกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้ามากกว่า และการตอบสนองช่วงออกตัวที่ดี ทำเวลาได้ดีกว่าเล็กน้อย แม้ทาง MG4 ELECTRIC จะมีความเร็วสูงสุดมากกว่าก็ตาม ส่วน ORA GOOD CAT มีพละกำลังน้อยกว่าบรรดาคู่แข่ง อัตราเร่งจึงถูกทิ้งห่างอย่างที่เห็น
ขณะที่อัตราเร่งยืดหยุ่นที่ 60-100 และ 80-120 กม./ชม. BYD DOLPHIN EXTENDED RANGE ทำได้ที่ 3.8 และ 5.1 วินาที ตามลำดับ ส่วน MG4 ELECTRIC มีตัวเลข คือ 4.1 และ 5.4 วินาที ถือว่าใกล้เคียงกันมากๆ สุดท้าย คือ ORA GOOD CAT 500 ULTRA ทำได้ที่ 4.6 และ 6.2 วินาที โดยรวมแล้ว DOLPHIN มีพละกำลังที่มากกว่า และการตอบสนองของอัตราเร่งยืดหยุ่นที่ดี มีความฉับไวมากกว่า MG4 ELECTRIC แต่ก็ไม่ถึงกับทิ้งห่างมากมาย (ขอเสริมว่าอีกหนึ่งรุ่นที่มีอัตราเร่งสูสีกัน คือ ORA GOOD CAT GT กำลังสูงสุด 173 แรงม้า แต่ราคาสูงกว่ารถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 3 รุ่นค่อนข้างมาก จึงไม่ได้นำมาเปรียบเทียบในครั้งนี้)
ส่วนแบทเตอรีของแต่ละรุ่นย่อย ในรุ่น STANDARD RANGE มีความจุ 44.9 กิโลวัตต์ชั่วโมง รองรับการชาร์จสูงสุดที่ 60 กิโลวัตต์ ระยะทำการสูงสุดตามที่ผู้ผลิตระบุมา คือ 410 กม. ส่วนรุ่น EXTENDED RANGE มีความจุ 60.5 กิโลวัตต์ชั่วโมง รองรับการชาร์จสูงสุดที่ 80 กิโลวัตต์ ระยะทำการสูงสุดตามที่ผู้ผลิตระบุมา คือ 480 กม. การใช้งานโดยรวมจึงมีมากกว่าทั้งระยะทำการสูงสุด และการชาร์จไฟฟ้า แต่หากชาร์จแบทเตอรีเต็ม 100 % ทั้ง 2 รุ่นย่อยจะใช้เวลาไม่แตกต่างกันมากนัก เป็นจุดหนึ่งที่ผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าต้องพิจารณาให้ดี เพราะราคาของทั้ง 2 รุ่นย่อยมีความแตกต่างค่อนข้างมาก
SUSPENSION ระบบรองรับ
ระบบรองรับของ BYD DOLPHIN ทั้ง 2 รุ่นย่อยมีความแตกต่างกัน โดยระบบรองรับด้านหลังของรุ่น STANDARD RANGE จะเป็นแบบทอร์ชันบีม การตอบสนองโดยรวมยังเน้นความนุ่มนวล แต่มีการตอบสนองที่หนึบแน่นเช่นกัน ตามลักษณะของช่วงล่าง ผนวกกับสมรรถนะอยู่ในระดับที่พอเหมาะ ทำให้รองรับการขับขี่ทั่วไปได้ดี การแล่นผ่านพื้นผิวถนนขรุขระไม่รู้สึกสั่นสะเทือนมากนัก ส่วนรุ่นทอพ EXTENDED RANGE ใช้ระบบรองรับด้านหลังแบบอิสระ มัลทิลิงค์ ยังคงเน้นความนุ่มนวล ตัวรถสามารถดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้น่าพอใจมาก เหมาะสำหรับการขับขี่ในตัวเมือง และพื้นผิวถนนที่มีความขรุขระ อย่างไรก็ตาม สมรรถนะของตัวรถที่มากกว่ารุ่นพื้นฐานค่อนข้างมาก การขับขี่แบบเน้นอัตราเร่ง และการเข้าโค้ง อาจมีอาการโคลงที่ค่อนข้างชัดเจน เป็นจุดที่ผู้ขับต้องระมัดระวังเล็กน้อย หากใครที่ต้องการความสนุกเร้าใจจากการขับขี่ อาจต้องหาหนทางในการปรับปรุงระบบรองรับให้มีความหนึบแน่นมากกว่านี้
ทางเลือกรถยนต์ไฟฟ้า 2 ระดับความแรง
ความแตกต่างของ BYD DOLPHIN ทั้ง 2 รุ่นย่อย สามารถเห็นได้ชัดเจนในเบื้องต้นกับระดับราคาที่แตกต่างกัน โดยรุ่นเริ่มต้น STANDARD RANGE มีราคาที่ 699,000 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่ใกล้เคียงกับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปในหมู่อีโคคาร์ หรือบี-เซกเมนท์ บางรุ่น (ที่ไม่ใช่รุ่นทอพ) อัตราเร่งโดยรวมมีความใกล้เคียงกัน ยกเว้นความเร็วสูงสุดที่ทาง DOLPHIN อาจเสียเปรียบ แต่ชดเชยได้ด้วยอุปกรณ์ใช้งาน และระบบความปลอดภัยที่ครบครันกว่า ส่วนรุ่นทอพ EXTENDED RANGE มีราคาที่ 859,000 บาท อาจสูงขึ้นมาพอสมควร แต่มีจุดเด่นที่กำลังสูงสุดถึง 204 แรงม้า การตอบสนองคันเร่งทำได้ดี อัตราเร่งที่ฉับไวกว่ารถยนต์ระดับซี-เซกเมนท์ ด้วยซ้ำ (เช่น HONDA CIVIC เครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ 1.5 ลิตร) ขณะที่ออพชันของทาง BYD จัดเต็มอยู่แล้ว ความกว้างขวางของห้องโดยสารก็ไม่น้อยหน้าคู่แข่งระดับเดียวกัน เป็นอีกหนึ่งความคุ้มค่าของรถยนต์ไฟฟ้าราคาเหมาะสม สมรรถนะสะใจ ที่เหลือคงแล้วแต่ผู้สนใจว่า พร้อมเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านของพลังงานทางเลือกหรือไม่ ข้อจำกัดยังมีมากมาย แต่ข้อดีก็มีไม่น้อย !