ทดสอบ(formula)
BMW 330E VS MERCEDES-BENZ C350E
กระแสรถยนต์ไฟฟ้ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รถยนต์อีกหนึ่งรายที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน คือ รถระบบ พลัก-อิน ไฮบริด สามารถใช้งานเครื่องยนต์สันดาปผสมผสานการเสียบปลั๊กชาร์จไฟฟ้าในเวลาเดียวกัน ครั้งนี้เราจึงนำซีดานระบบ พลัก-อิน ไฮบริด สัญชาติเยอรมัน มาเทียบสมรรถนะโดยรวม นั่นคือ BMW 330E และ MERCEDES-BENZ C350E บอกได้เลยว่างานนี้ “สูสี” กันสุดๆ !
EXTERIOR ภายนอก
เมื่อพิจารณาเส้นสายภายนอกจะเห็นได้ว่า ซีดานสัญชาติเยอรมันจาก 2 ค่าย ต่างก็มีสไตล์ที่แตกต่างกัน ฝั่ง BMW 330E (บีเอมดับเบิลยู 330 อี) พร้อมรูปโฉมที่ปรับปรุงมาล่าสุด เพิ่มสันเหลี่ยมรอบคันให้ความคมเข้มกว่าเดิม โดยเฉพาะไฟหน้าทรงเรียว ขอบด้านล่างแบบเรียบ (รุ่นก่อนปรับโฉมจะมีขอบล่างเป็นรอยหยัก) มีความใกล้เคียงกับรุ่นพี่ร่วมค่ายอย่าง 5-SERIES (ซีรีส์ 5) เสริมความโดดเด่นด้วยไฟแอลอีดีทรงแถบ กันชนหน้าดูบึกบึนกว่าเดิม ช่องรับอากาศสีดำ มีแผ่นเปิด/ปิดอากาศตามสภาวะการใช้งาน ทำให้ส่วนหน้าของตัวรถเป็นจุดที่เห็นความแตกต่างได้ชัดเจนที่สุด ขณะที่กันชนท้ายมีการเสริมชุดสเกิร์ทที่ด้านล่าง ไฟท้ายทรงเดิม แต่เปลี่ยนการจัดวางชุดไฟให้โดดเด่นยิ่งขึ้น นอกจากนี้การตกแต่งระดับ M SPORT (เอม สปอร์ท) จะได้ชุดตกแต่งตัวถังเพิ่มเติม และล้อแมกมาในสไตล์ M ขนาด 19 นิ้ว
สำหรับทาง MERCEDES-BENZ C350E (เมร์เซเดส-เบนซ์ ซี 350 อี) เป็นรุ่นใหม่ล่าสุด เพิ่งเปิดมาได้ไม่นาน เส้นสายโดยรวมยังมาในสไตล์โดดเด่นของค่ายดาว 3 แฉก นั่นคือ ความเรียบหรู ภูมิฐาน เป็นเส้นสายที่คุ้นตากับบรรดารถยนต์ร่วมค่ายรุ่นใหญ่กว่า ไม่ว่าจะเป็น E-CLASS (อี-คลาสส์) และ S-CLASS (เอส-คลาสส์) กับไฟหน้าทรงโค้ง กระจังหน้าพาดตรงกลางด้วยโลโกของค่าย แม้แต่วัสดุสะท้อนแสงก็เป็นรูปทรงดาว 3 แฉกด้วย ผสมมาดสปอร์ทกับช่องรับอากาศด้านล่างกันชนหน้า มีขนาดใหญ่ พาดยาวตลอดช่วงความกว้างของตัวรถ ไฟท้ายทรงเรียวรูปทรงหยดน้ำ ติดตั้งชุดไฟแบบ แอลอีดี กันชนท้ายติดตั้งช่องท่อไอเสียแบบคู่ (แม้ท่อไอเสียจริงจะหลบอยู่ด้านในเล็กน้อย) มีการเสริมชุดตกแต่งตัวถังเพิ่มเติมสำหรับรุ่น AMG DYNAMIC (เอเอมจี ไดนามิค) ส่วนล้อแมกขนาด 18 นิ้ว ลวดลายคล้ายดาว 5 แฉก แต่ในรุ่นล่าสุดมีการเพิ่มส่วนขอบของล้อแมกเข้ามา
แม้เส้นสายของทั้ง 2 รุ่น จะมาในสไตล์ที่แตกต่างกัน หากดูมิติตัวถังในเบื้องต้น ทาง BMW 330E มีความยาว 4,713 มม. กว้าง 1,827 มม. และระยะฐานล้อ 2,851 มม. ส่วน MERCEDES-BENZ C350E คือ 4,751/1,820/ 2,865 มม. ตามลำดับ จัดเป็นมิติตัวถังที่ใกล้เคียงกัน แต่ทาง C350E มีระยะฐานล้อมากกว่าเล็กน้อย จากการเป็นรถยนต์รุ่นใหม่ทั้งหมด
INTERIOR ภายใน
ห้องโดยสารของ BMW 330E มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างชัดเจน แม้เป็นรุ่นปรับโฉมแบบ LCI (แอลซีไอ) แต่การเปลี่ยนแปลงของคอนโซลหน้าแทบจะเป็นรถยนต์รุ่นใหม่เลยทีเดียว จุดแตกต่างแรกจะเห็นได้จากจอแสดงผลแบบดิจิทอลทรงยาว เริ่มจากตรงกลางด้านบนของคอนโซลเป็นส่วนแสดงผลของหน้าจอหลัก ต่อเนื่องมาจนถึงด้านหน้าผู้ขับใช้งานเป็นจอแสดงผลของแผงหน้าปัดต่างๆ เราพบว่าหน้าจอมีความคมชัด มีความละเอียดของสีสันที่ดี นอกจากนี้ รุ่นปรับโฉมล่าสุดมีการออกแบบการใช้งานระบบเกียร์แบบใหม่ สามารถเปลี่ยนเกียร์ผ่านปุ่มทรงแบน แทนที่คันเกียร์แบบดั้งเดิม เป็นรูปแบบที่ใช้กับรถยนต์ไฟฟ้ายุคปัจจุบันของ BMW ส่วนพวงมาลัยยังเป็นแบบ 3 ก้าน มือจับพวงมาลัยทรงหนา กระชับมือ ก้านพวงมาลัยทรงหนา แต่ดูไม่สปอร์ทเท่าใดนัก การตกแต่งโดยรวมใช้วัสดุที่สมกับความเป็นรถยนต์หรู เน้นโทนสีดำ ความกว้างขวางของผู้โดยสารด้านหน้ามีให้อย่างเหลือเฟือ ทัศนวิสัยโดยรอบปลอดโปร่ง แม้ตัวเบาะนั่งจะต่ำลงมาเล็กน้อย ขณะที่ผู้โดยสารด้านหลังมีพื้นที่ค่อนข้างมาก แต่พื้นที่เหนือศีรษะจะน้อยกว่าคู่แข่งเล็กน้อย หลังคาซันรูฟมีติดตั้งมาให้ เปิด/ปิดด้วยไฟฟ้า แต่ไม่ใช่แบบพาโนรามิค
อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง มาจากรุ่นใหม่แกะกล่องอย่าง MERCEDES-BENZ C350E กับการออกแบบที่คล้ายกับซีดานรุ่นเรือธงอย่าง S-CLASS รุ่นล่าสุด นั่นคือ จอแสดงตรงกลางที่วางตำแหน่งในแนวตั้ง การใช้งานต่างๆ จะต้องทำผ่านหน้าจอดังกล่าว โดยมีปุ่มใช้งานแบบดั้งเดิมหลงเหลืออยู่จำนวนไม่มาก ได้แก่ ปุ่มปรับโหมดการขับขี่ ปุ่มใช้งานระบบกล้องมองภาพ ปุ่มใช้งานระบบเครื่องเสียง และจุดสแกนลายนิ้วมือสำหรับระบบ MBUX รุ่นล่าสุด สามารถสั่งงานด้วยเสียง และประมวลผลรูปแบบการใช้งานของผู้ขับได้ ส่วนแผงหน้าปัดเป็นจอดิจิทอลเช่นกัน ความคมชัดสูง สามารถเปลี่ยนรูปแบบการแสดงผลได้หลากหลาย ผู้ขับมองเห็นหน้าจอชัดเจน เนื่องจากพวงมาลัยที่ส่วนก้านที่เรียวบาง ติดตั้งปุ่มมัลทิฟังค์ชันครบครัน (แม้การใช้งานระบบสัมผัสต้องใช้ความคุ้นเคยเล็กน้อย) ขณะที่ความกว้างขวางยังเป็นจุดเด่นของซีดานจาก MERCEDES-BENZ เสริมด้วยหลังคาซันรูฟพาโนรามิค เบาะด้านหลังนั่งสบาย พื้นที่ช่วงขาทำได้น่าพอใจมาก มีจุดสังเกตอยู่บ้าง คือ รุ่นที่เราทดสอบใช้เบาะสีทูโทน สีดำ/แดง ดูขัดกับบรรยากาศที่เน้นความหรูหราของซีดานรุ่นนี้เล็กน้อย
ENGINE เครื่องยนต์
ซีดานทั้ง 2 รุ่น ใช้เครื่องยนต์แบบ พลัก-อิน ไฮบริด แต่มีรายละเอียดของการส่งกำลังที่แตกต่างกัน โดยทาง BMW 330E ประกอบด้วยเครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ ขนาด 2.0 ลิตร กำลังสูงสุด 184 แรงม้า ส่วนมอเตอร์ไฟฟ้ามีกำลังสูงสุดที่ 109 แรงม้า คิดเป็นกำลังสูงสุดทั้งระบบที่ 292 แรงม้า ส่งกำลังสู่ล้อคู่หลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ขณะที่ MERCEDES-BENZ C350E มีระบบพลัก-อิน ไฮบริด คือ เครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ ขนาด 2.0 ลิตร กำลังสูงสุด 204 แรงม้า ส่งกำลังร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้า กำลังสูงสุด 129 แรงม้า คิดเป็นกำลังสูงสุดทั้งระบบ คือ 313 แรงม้า ส่งกำลังผ่านล้อคู่หลังเช่นเดียวกับเกียร์อัตโนมัติ 9 จังหวะ มาดูอัตราเร่งของทั้ง 2 คันกันเลย
เริ่มจากอัตราเร่งช่วงตีนต้น 0-100 กม./ชม. BMW 330E ทำเวลาที่ 6.8 วินาที ส่วน MERCEDES-BENZ C350E คือ 6.7 วินาที แค่เริ่มต้นก็แทบเฉือนกันไม่ลงแล้ว ! เรามีความรู้สึกว่า ขณะออกตัว ทาง MERCEDES-BENZ จะมีบุคลิกคล้ายการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ก่อนที่จะตามมาด้วยการทำงานของเครื่องยนต์สันดาป ขณะที่ของ BMW จะทำงานทั้ง 2 ระบบ แต่การขับเคลื่อนมาจากเครื่องยนต์สันดาปเป็นหลัก ส่วนความเร็วช่วงตีนปลายของระยะ 0-1,000 ม. ส่วนของ BMW ทำเวลาที่ 26.6 วินาที (ที่ความเร็ว 205.2 กม./ชม.) ส่วนซีดานของ MERCEDES-BENZ มีตัวเลขที่ 26.6 วินาที (ที่ความเร็ว 205.6 วินาที) พิสูจน์ให้เห็นว่า ความสูสีของรถยนต์ทั้ง 2 รุ่นยังมีผลจนถึงช่วงความเร็วสูง ทำอัตราเร่งได้เท่ากันพอดี แม้ความเร็วที่ทำได้จะแตกต่างกันเล็กน้อย บ่งบอกว่ารูปแบบการส่งกำลังอาจแตกต่างกัน แต่ผลลัพธ์ของอัตราเร่งที่ออกมา “กินกันไม่ลง” จริงๆ
สำหรับอัตราเร่งยืดหยุ่นที่ความเร็ว 60-100 และ 80-120 กม./ชม. BMW 330E ทำเวลาที่ 3.5 และ 3.7 วินาที ส่วนทาง MERCEDES-BENZ C350E มีตัวเลขออกมาที่ 3.5 และ 4.1 วินาที ในช่วงความเร็ว 60-100 กม./ชม. เวลาที่ทำได้ออกมาเท่ากันอีกครั้ง ! แต่พอเพิ่มช่วงความเร็วมาเป็น 80-120 กม./ชม. มีความแตกต่างของอัตราเร่งออกมาให้เห็น แต่ก็ไม่มากนัก การทำงานของระบบเกียร์อัตโนมัติ 9 จังหวะของ C350E อาจมีการเปลี่ยนเกียร์ที่แตกต่างบ้างสำหรับช่วงความเร็วดังกล่าว
ส่วนอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย อ้างอิงจากข้อมูลของอีโคสติคเกอร์ จะพบว่า BMW 330E คือ 47.6 กม./ลิตร ขณะที่ทาง MERCEDES-BENZ C350E มีตัวเลขที่เหลือเชื่อกว่าที่ 71.4 กม./ลิตร ! ตัวเลขทั้ง 2 ชุดดูเหมือนเป็นการประหยัดเชื้อเพลิงที่มากมาย อย่างไรก็ตามเป็นตัวเลขที่มาจากกระบวนทดสอบที่อาจไม่ตรงกับการใช้งานในความเป็นจริงเสียทีเดียว เราจึงนำข้อมูลของชุดแบทเตอรีมาพิจารณาเพิ่มเติม โดยทาง BMW มีความจุแบทเตอรีที่ 12.0 กิโลวัตต์ชั่วโมง สามารถแล่นด้วยไฟฟ้าล้วนสูงสุด 59 กม. (มาตรฐาน NEDC จากข้อมูลของผู้ผลิต) ส่วนระบบพลัก-อิน ไฮบริดของ MERCEDES-BENZ มีความจุแบทเตอรีที่ 25.4 กิโลวัตต์ชั่วโมง และสามารถแล่นด้วยไฟฟ้าล้วนได้สูงสุดถึง 100 กม. เรียกได้ว่าความจุของแบทเตอรีมีความทันสมัยมากกว่า ความจุมากกว่า โอกาสของการขับด้วยไฟฟ้าเพื่อประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงย่อมทำได้ดีกว่า เป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่ระบบพลัก-อิน ไฮบริด สมัยใหม่ควรจะทำได้
SUSPENSION ระบบรองรับ
บุคลิกการขับขี่ของซีดานทั้ง 2 รุ่น เป็นรถยนต์หรูที่แตกต่างกันในรายละเอียด BMW 330E จะมีระบบรองรับที่หนึบแน่นกว่า พวงมาลัยตอบสนองค่อนข้างไว ให้อารมณ์สปอร์ท แต่ยังรองรับการใช้งานในชีวิตประจำวันได้ดี ไม่แข็งกระด้างจนเกินไป การปรับแต่งโดยรวมมีความหนึบมากกว่ารุ่นเริ่มต้นอย่าง 320D (320 ดี) ส่วนหนึ่งมาจากล้อที่ใช้มีขนาด 19 นิ้ว ยางด้านหน้าขนาด 225/40 R19 ด้านหลังขนาด 255/35 R19 ตามสไตล์รถยนต์ที่เน้นการส่งกำลังจากล้อคู่หลัง
ขณะที่ MERCEDES-BENZ C350E มีระบบรองรับที่เน้นความนุ่มนวล แต่ปรับแต่งให้มีความมั่นคงได้อย่างพอเหมาะ ใช้งานทั่วไปได้ดี รวมถึงการขับผ่านพื้นผิวขรุขระบนถนน ดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้ดีมาก การขับบนทางตรงด้วยความเร็วสูงให้ความรู้สึกมั่นคงอย่างน่าพอใจ การเข้าโค้งควบคุมดั้งใจ การตอบสนองของพวงมาลัยเน้นความไหลลื่นต่อเนื่อง ให้ความรู้สึกที่ดีจากการขับขี่ในหลากหลายสภาวะ ส่วนล้อแมกที่ใช้มีขนาด 18 นิ้ว ยางด้านหน้าขนาด 225/45 R18 ด้านหลังขนาด 255/40 R18 โดยรวมแล้วรอบวงของยางยังใกล้เคียงกับคู่แข่งที่ใช้ล้อแมกขนาด 19 นิ้ว
พลัก-อิน ไฮบริด 2 สไตล์ที่โดนใจ
แม้เป็นคู่แข่งกันโดยตรง แต่ต้องยอมรับว่า ทั้ง BMW 330E และ MERCEDES-BENZ C350E เป็นซีดานเครื่องยนต์พลัก-อิน ไฮบริด ที่มีจุดเด่นน่าสนใจไม่น้อย ทางฝั่ง BMW เน้นมาดสปอร์ท คมเข้ม กับการปรับโฉมมาล่าสุด ได้ความทันสมัยจากห้องโดยสารมาในตัว อัตราเร่งดีจากการส่งกำลังของเครื่องยนต์สันดาปที่มีบทบาทชัดเจนเสริมด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ส่วนทาง MERCEDES-BENZ มีความได้เปรียบที่ความสดใหม่ เป็นรถยนต์รุ่นใหม่ทั้งหมด ระบบ พลัก-อิน ไฮบริด มีแบทเตอรีที่ใหญ่กว่า ทำให้แล่นด้วยไฟฟ้าล้วนได้ไกลกว่า การออกตัวมีความไหลลื่นคล้ายรถยนต์ไฟฟ้า ภายใต้ความหรูหรา และกว้างขวางไม่แพ้รถยนต์รุ่นใหญ่กว่า
ประสิทธิภาพของซีดานทั้ง 2 รุ่น แสดงให้เห็นว่า ท่ามกลางกระแสรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่าได้มองข้ามรถยนต์ที่เป็นเหมือน “ทางสายกลาง” ของทั้งเครื่องยนต์สันดาป และมอเตอร์ไฟฟ้า เพราะคำตอบที่ลงตัวของใครหลายคนอยู่ที่ระบบ พลัก-อิน ไฮบริด นี่เอง !