ทดสอบ(formula)
BYD ATTO 3
ในบ้านเรากระแสรถยนต์ไฟฟ้ายังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง ค่ายรถสัญชาติจีนต่างตบเท้าเข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด คือ ค่าย BYD จากผู้จัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการโดย บริษัท เรเวอร์ ออโตโมทีฟ จำกัด กับไม้เด็ดอันแรก คือ ครอสส์โอเวอร์พลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ ชูจุดเด่นด้วยเทคโนโลยีแบทเตอรีทีล้ำสมัยอย่าง BYD BLADE (บีวายดี บเลด) ผนวกกับความน่าสนใจอย่างล้นหลามนับตั้งแต่เปิดจำหน่ายในวันแรกเมื่อ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เรามาพิสูจน์กันกับ BYD ATTO 3
EXTERIOR ภายนอก
BYD ATTO 3 (บีวายดี อัตโต 3) เป็นครอสส์โอเวอร์ระดับ บี-เซกเมนท์ เส้นสายโดยรวมเน้นเหลี่ยมสัน แต่มีความเรียบง่ายที่ลงตัวในเวลาเดียวกัน ไฟหน้า และไฟส่องสว่างเวลากลางวันแบบแอลอีดี เจือสีผ้าอ่อนในตัวเลนส์ กระจังหน้า และกันชนหน้าทรงทึบ เพราะไม่ต้องการอากาศไหลเวียนเพื่อการระบายความร้อนมากเหมือนเครื่องยนต์สันดาป และยังช่วยด้านอากาศพลศาสตร์ของตัวรถดีขึ้นด้วย แนวหลังคามีความลาดเท เพิ่มความปราดเปรียวได้ดี บริเวณเสา ซี ใช้วัสดุอลูมิเนียมลายคลื่น พร้อมล้อแมกลายสวยขนาด 18 นิ้ว ยางสัญชาติจีน ชื่อแปลก ATLAS BATMAN (แอทลาส แบทแมน) ขนาด 215/55 R18
หากสังเกตรูปทรงโดยรวม ATTO 3 ดูสั้นกระชับ แต่ความจริงแล้ว มิติตัวถังมีความใหญ่โตเกินคาด โดยมีความยาวที่ 4,455 มม. (จากระยะโอเวอร์แฮงหน้า/หลังที่กระชับสั้น) ขณะที่ระยะฐานล้อถึง 2,720 มม. นับว่ามากที่สุดในบรรดาครอสส์โอเวอร์ระดับ บี-เซกเมนท์ หากเทียบกับรถยนต์ประเภทเดียวกันพลังงานไฟฟ้าอย่าง MG ZS EV (เอมจี เซดเอส อีวี) มีความยาว และระยะฐานล้อที่ 4,323 และ 2,585 มม. มีขนาดเล็กกว่าพอสมควร ส่วนครอสส์โอเวอร์ไฮบริดอย่าง HONDA HR-V (ฮอนดา เอชอาร์-วี) รุ่น RS (อาร์เอส) คือ 4,385 และ 2,610 มม. และ TOYOTA COROLLA CROSS (โตโยตา โคโรลลา ครอสส์) คือ 4,460 และ 2,640 มม. (ใกล้เคียงกันที่ความยาว แต่ระยะฐานล้อ ATTO 3 ยังมากกว่า)
INTERIOR ภายใน
ความเรียบง่ายของตัวถังภายนอกจะกลายเป็นความแตกต่างโดยสิ้นเชิงเมื่อเข้ามานั่งในห้องโดยสาร กับการออกแบบที่แปลกตา แบบที่หาไม่ได้ในรถยนต์รุ่นอื่นๆ จอแสดงผลตรงกลางขนาดใหญ่ มีลูกเล่นพิเศษ นั่นคือ สามารถหมุนทั้งในแนวตั้ง และแนวนอน การแสดงผลโดยรวมไม่แตกต่างกัน ยกเว้นการใช้งานกล้องมองภาพจะมีความหลากหลายมากกว่าหากหน้าจออยู่ในแนวตั้ง การหมุนหน้าจอสามารถทำได้โดยการกดปุ่มบริเวณขอบด้านล่าง หรือปุ่มบนพวงมาลัย นอกจาการแสดงผลแล้ว ยังใช้สำหรับควบคุมการทำงานต่างๆ ตามแบบฉบับรถยนต์สมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการปรับแต่งต่างๆ รวมถึงการปรับระบบแอร์ (ไม่มีปุ่มใช้งานแบบดั้งเดิม) ช่วงแรกอาจต้องทำความคุ้นเคยกันพอสมควร นอกจากนี้ ระบบเสียงต่างๆ สามารถปรับแต่งได้ รวมถึงเสียงขณะเปิดไฟเลี้ยว ขณะที่การเตือนต่างๆ ด้วยเสียงของตัวรถยังเป็นภาษาอังกฤษ คันเกียร์มีรูปทรงยาวในแนวนอน การเปลี่ยนโหมดเกียร์ต้องกดปุ่มบริเวณนิ้วโป้ง (ไม่ต่างจากรถยนต์ทั่วไป) แต่ปุ่ม P จะอยู่บริเวณตรงกลางของฐานคันเกียร์ ถัดลงมาจึงจะเป็นปุ่มปรับแต่งโหมดการขับขี่ (NORMAL ECO SPORT) หรือตอบสนองการชาร์จของมอเตอร์ไฟฟ้า (NORMAL HIGH) แต่จุดที่เราสังเกต คือ จอของแผงหน้าปัดมีขนาดค่อนข้างเล็ก มีการติดตั้งบนคอพวงมาลัย (การปรับตำแหน่งพวงมาลัยจึงไม่บังหน้าปัดอย่างแน่นอน) การอ่านตัวเลข และการแสดงผลจึงต้องใช้การสังเกตพอสมควรในช่วงแรกที่ใช้งาน ทั้งที่รอบๆ หน้าจอยังมีพื้นที่เหลืออีกพอสมควร จุดแปลกตาอีกอย่าง คือ ช่องแอร์ทรงล้ำ ดูคล้ายกับแผ่นดิสค์ แต่ทางค่ายรถจะเรียกชื่อว่าแบบ ดัมเบล นอกจากนี้ยังมีที่วางขวดน้ำบริเวณแผงประตูด้านใน มีเชือกสีแดงสดพาดขึงอยู่ 3 เส้น คาดว่าเพื่อป้องกันขวดตกหล่น แต่ได้ความแปลกตาเพิ่มขึ้นอีก
เมื่อทำความคุ้นเคยสักพัก เราพบว่าภายใต้องค์ประกอบของการออกแบบที่แปลกตาเหล่านั้น ไม่ได้มีผลต่อการใช้งานแต่อย่างใด อุปกรณ์ต่างๆ ให้มาครบครัน และไม่จำเจเหมือนรถยนต์หลายรุ่น สิ่งสำคัญของรถยนต์ประเภทนี้ คือ ความกว้างขวาง และความอเนกประสงค์ ที่ทำมาดีพอสมควร เบาะนั่งคู่หน้าทรงสปอร์ท มีขนาดค่อนข้างใหญ่ (พนักพิงหลัง และพนักพิงศีรษะเป็นชิ้นเดียวกัน) ทัศนวิสัยด้านหน้ามีความปลอดโปร่ง แม้กระจกบานท้ายจะมีขนาดค่อนข้างเล็กจากแนวหลังคาที่ลาดเท เบาะหลังมีพื้นที่วางขาเหลือเฟือ วางเท้าได้สะดวก พื้นรถไม่ถูกกินเนื้อที่โดยชุดแบทเตอรี และตัวเบาะสามารถพับได้แบบ 60:40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย แม้พับลงมาแล้วจะไม่เป็นพื้นราบเสียทีเดียว
ENGINE เครื่องยนต์
BYD ATTO 3 มีขุมพลัง คือ มอเตอร์ไฟฟ้า กำลังสูงสุด 204 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 31.6 กก.-ม. จัดว่ามีพละกำลังมากที่สุดในหมู่รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนที่มีราคาในระดับไม่เกิน 1 ล้านบาทต้นๆ แต่น้ำหนักของตัวรถเปล่าอยู่ที่ 1,750 กก. มากกว่าครอสส์โอเวอร์เครื่องยนต์ไฮบริด จะมีผลต่ออัตราเร่งแค่ไหน เรามาทดสอบกัน โดยมีคู่เปรียบเทียบ คือ รถยนต์ไฟฟ้าต่างรูปแบบตัวถัง แต่เน้นมาเข้ม และการส่งกำลังที่ดุดัน นั่นคือ ORA GOOD CAT GT (โอรา กูดแคท จีที) แฮทช์แบคมาดสปอร์ท กำลังสูงสุด 171 แรงม้า อัตราเร่งน่าจะมีความสูสีเช่นกัน (หมายเหตุ: การทดสอบจะใช้โหมด NORMAL)
เริ่มจากอัตราเร่งตีนต้น 0-100 กม./ชม. BYD ATTO 3 ทำได้ที่ 8.3 วินาที ถือเป็นครอสส์โอเวอร์ที่มีอัตราเร่งในช่วงนี้ที่ฉับไวพอสมควร เมื่อพิจารณาจากอัตราเร่งของครอสส์โอเวอร์ระดับเดียวกันที่ใช้เครื่องยนต์ไฮบริดจะทำเวลาได้ที่ 10-11 วินาทีขึ้นไป ส่วนแฮทช์แบคมาดสปอร์ท ORA GOOD CAT GT ทำตัวเลขได้ที่ 7.8 วินาที แม้จะฉับไวกว่าแต่อยู่ในรับที่ไม่แตกต่างกันมากนัก
อัตราเร่งตีนปลายช่วง 0-1,000 ม. ATTO 3 ทำเวลาที่ 30.7 วินาที (ที่ความเร็ว 164.2 กม./ชม. ซึ่งเป็นความเร็วสูงสุดที่ถูกลอคเอาไว้) ขณะที่ GOOD CAT GT คือ 29.6 วินาที (ที่ความเร็ว 165.3 วินาที เป็นความเร็วสูงสุดที่ถูกลอคเอาไว้เช่นกัน) ขณะออกตัวแบบกดคันเร่งสุด เราพบว่าครอสส์โอเวอร์ของ BYD มีการส่งแรงบิดในทันที (มีอาการรอการตอบสนองเพียงชั่วครู่) ส่วนหน้าของตัวรถจะมีอาการส่ายเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ หลังจากนั้นตัวรถก็ทะยานออกไปอย่างคล่องแคล่ว จนกระทั่งไปถึงความเร็วสูงสุดในระยะเวลาไม่นาน ในแง่ของการเป็นครอสส์โอเวอร์ถือว่ามีสมรรถนะที่ดีเกินคาด ทั้งช่วงตีนต้น และตีนปลาย
ส่วนอัตราเร่งยืดหยุ่น เสมือนการเร่งแซง ในช่วงความเร็ว 60-100 และ 80-120 กม./ชม. BYD ATTO 3 ทำเวลาได้ที่ 3.9 และ 5.1 วินาที ตามลำดับ ขณะที่ ORA GOOD CAT GT คือ 3.6 และ 4.7 วินาที ตามลำดับเช่นกัน การตอบสนองของอัตราเร่งยืดหยุ่น ATTO 3 ทำได้ดีทีเดียว จากการตอบสนองของมอเตอร์ไฟฟ้า และการส่งกำลังไฟฟ้าจากชุดแบทเตอรี มีความใกล้เคียงกับรถยนต์ไฟฟ้าสไตล์แฮทช์แบคที่เน้นความสปอร์ทแบบจัดเต็มอย่าง GOOD CAT GT
SUSPENSION ระบบรองรับ
จุดที่น่าพอใจของ BYD ATTO 3 คือ การปรับแต่งระบบรองรับ และการบังคับควบคุมได้อย่างลงตัว เป็นหนึ่งในรถยนต์สัญชาติจีนที่ทำได้น่าพอใจมากที่สุดรุ่นหนึ่งก็ว่าได้ ระบบรองรับมีความหนึบที่พอเหมาะ มีความมั่นคงในช่วงความเร็วสูง และไม่แข็งกระด้างในช่วงความเร็วต่ำ แม้จะมีระยะความสูงจากพื้นถนนที่ประมาณ 150 มม. (ตามสเปคจากผู้ผลิต หากเป็นรถเปล่าจะอยู่ที่ 175 มม.) ถือว่าสูงขึ้นมาจากรถเก๋งในระดับหนึ่ง พวงมาลัยสามารถปรับการตอบสนองได้เช่นกัน ในโหม SPORT จะมีน้ำหนักมากขึ้นกว่าโหมด NORMAL เล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้หนักจนเกินไป ระบบรองรับด้านหลังเป็นแบบมัลทิลิงค์ ทำให้มีการตอบสนองที่ยืดหยุ่น และหลากหลายกว่า เมื่อเทียบกับบรรดาคู่แข่งที่มักจะใช้ระบบรองรับด้านหลังแบบทอร์ชันบีม ข้อดีอีกประการของระบบรองรับดังกล่าว คือ ช่วยให้มีพื้นที่ติดตั้งชุดแบทเตอรีได้เต็มที่ อย่างไรก็ตาม เรามีความเห็นว่า ยางที่ใช้มีความหนึบแน่นที่ดีในขณะขับขี่แบบปกติ แต่ในการเข้าโค้งน่าจะหนึบได้มากกว่านี้อีกเล็กน้อย จะลงตัวไปพร้อมกับระบบรองรับ และการบังคับควบคุมของครอสส์โอเวอร์รุ่นนี้ได้ดียิ่งขึ้น
ครอสส์โอเวอร์ไฟฟ้ากับความลงตัวที่มากกว่า
BYD ATTO 3 แสดงให้เห็นว่า การเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ลงตัว ไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกับราคาที่สูงจนเกินไป องค์ประกอบหลายอย่างมีความน่าสนใจในตัว ไม่ว่าจะเป็นตัวถังที่มีขนาใหญ่เพียงพอ ห้องโดยสารกว้างขวาง การใช้งานครบครัน ทันสมัย แม้จะมีสไตล์ที่แปลก แหวกแนว จากรถยนต์ปกติหลายรุ่นก็ตาม แต่น่าจะถูกใจคนที่ไม่ต้องการความจำเจ จุดสำคัญ คือ ประสิทธิภาพของมอเตอร์ และแบทเตอรีแบบ BYD BLADE เป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ทำให้ครอสส์โอเวอร์คันนี้มีอัตราเร่งที่ฉับไวเกินตัว ส่งกำลังต่อเนื่อง ควบคู่กับระบบรองรับ และการบังคับควบคุมที่ลงตัว รวมถึงระบบความปลอดภัย และระบบช่วยเหลือการขับขี่ที่จัดเต็มเช่นกัน ภายใต้ราคาที่ 1,199,900 บาท ไม่ต่างจากครอสส์โอเวอร์ขุมพลังไฮบริดมากนัก สิ่งที่ยังต้องรอการพิสูจน์ตามกาลเวลา คือ บริการหลังการขาย และคุณภาพโดยรวมในระยะยาวจากศูนย์บริการ แต่ในปัจจุบันนี้ กระแสความนิยมของ BYD ATTO 3 ก็บ่งบอกได้ว่า รถยนต์ไฟฟ้ากำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของยานยนต์กระแสหลักในบ้านเราอีกขั้นหนึ่งแล้ว !