ทดสอบ(formula)
TESLA MODEL 3
รถยนต์ไฟฟ้าที่หลายคนถวิลหา ! TESLA จัดเป็นค่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่ก่อตั้งมาไม่นาน แต่มีกระแสความน่าสนใจที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งมาจากแนวทางรถยนต์ไฟฟ้าที่มาก่อนใคร ประสิทธิภาพสูง พร้อมรูปแบบที่ทันสมัยสมกับความเป็นยุค “ดิจิทอล” แน่นอนว่าในบ้านเราก็มีผู้สนใจไม่น้อยเช่นกัน ครั้งนี้เราจึงมาทดสอบ MODEL 3 รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กของค่าย แต่อัดแน่นไปด้วยความทันสมัย
EXTERIOR ภายนอก
TESLA MODEL 3 (เทสลา โมเดล 3) จัดเป็นซีดานขนาดเล็กสุดของค่าย โดยมีรุ่นใหญ่อย่าง MODEL S (โมเดล เอส) ทำตลาดไปก่อนหน้านี้หลายปีแล้ว ตามมาด้วยรถยนต์สไตล์ ครอสส์โอเวอร์ MODEL X (โมเดล เอกซ์) จุดเด่น คือ ประตูด้านหลังเปิดแบบปีกนก และยังมีอีก รุ่น คือ TESLA ROADSTER (เทสลา โรดสเตอร์) สปอร์ทขนาดเล็ก สมรรถนะร้อนแรง อย่างไรก็ตาม รุ่นที่เป็นดั่ง “ความหวัง” ของค่ายรถแห่งนี้ คือ MODEL 3 เนื่องจากราคาที่อยู่ในระดับจับต้องได้ (แต่ก็ยังแพงระดับรถยนต์หรู) มีสายการผลิตหลายแห่งทั่วโลก ได้รับยอดจองมากมายในหลายภูมิภาค รวมถึงกระแสข่าวการให้ความสนใจมาเปิดโรงงานผลิตในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดังนี้แล้ว MODEL 3 จึงเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีความน่าสนใจไม่น้อย เราพบว่ารูปทรงโดยรวมของรถรุ่นนี้เน้นเส้นสายที่พลิ้วไหว ขนาดตัวโดยรวมมีความกะทัดรัด ล้ำสมัยในระดับที่พอเหมาะ แต่ก็มีการออกแบบที่ร่วมสมัยสำหรับรถยนต์ใช้งานในปัจจุบัน รุ่นที่เรานำมาทดสอบใช้ล้อแมกขนาด 18 นิ้ว ทรงทึบเพื่อลดแรงต้านทานอากาศขณะแล่น ช่วยประหยัดเชื้อเพลิงในตัว จุดที่ล้ำสมัย คือ การเปิดประตูด้วยคาร์ดของ TESLA เป็นคาร์ดจริงๆ ไม่มีปุ่มกดใดๆ หากต้องการเปิดประตูฝั่งผู้ขับ เพียงใช้คาร์ดแปะไปบริเวณเสา บี ระบบจะปลดลอคให้เอง เป็นอีกลูกเล่นที่อาจสร้างความประหลาดใจใน ทีแรก แต่ล้ำสมัย และไม่เหมือนใครเช่นกัน
INTERIOR ภายใน
จุดเด่นที่คาดว่าหลายคนจะติดใจรถยนต์ไฟฟ้าของ TESLA คือ ห้องโดยสารที่ถูกออกแบบมาได้ไม่เหมือนใคร ฉีกแนวจากห้องโดยสารของรถยนต์ทั่วไปอย่างชัดเจน นั่นคือ ปราศจากปุ่มใช้งานใดๆ บนคอนโซลหน้า รวมถึงแผงหน้าปัดด้านหน้า เนื่องจากปุ่มใช้งานตามที่กล่าวมา ถูกย้ายไปอยู่บนหน้าจอขนาดใหญ่ แทบทุกการใช้งานจะต้องผ่านหน้าจออันนี้ (ยกเว้นเพียงปุ่มใช้งานขนาดเล็กบนคอพวงมาลัย) เป็นอีก รูปแบบที่ต้องใช้ความคุ้นเคย แม้แต่การใช้งานทั่วไป เช่น การใช้งานระบบปรับอากาศ การปรับทิศทางของช่องแอร์ ฯลฯ ก็ใช้งานผ่านหน้าจอเช่นกัน ในเบื้องต้นเรามีความรู้สึกว่า ไม่สะดวกสบายเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับการใช้งานแบบปุ่มธรรมดาเหมือนรถทั่วไป เนื่องจากไม่ต้องละสายตาจากการขับขี่ (ในกรณีผู้ใช้งาน คือ ผู้ขับรถ) แต่การใช้งานผ่านหน้าจอ ต้องหันมามองตำแหน่งของปุ่มใช้งาน และต้องกดให้ตรงจุดด้วย เป็นสิ่งที่ต้องทำความคุ้นเคยพอสมควร ขณะเดียวกัน อดสงสัยไม่ได้ว่า หากหน้าจอ (แสดงผลข้อมูลต่างๆ) เกิดความเสียหายขึ้นมา การใช้งานอาจติดขัดโดยสิ้นเชิง
ในแง่ของความกว้างขวาง มีความสะดวกสบายในแง่ของรถยนต์ขนาดกลาง การออกแบบใช้วัสดุขึ้นรูป ไม่เน้นความหรูหรามากนัก (ออพชันย่อมต่างกันไปตามแต่ผู้นำเข้าอิสระจะเลือกมาทำตลาด รวมถึงความต้องการของผู้ซื้อด้วย) แม้ทรงของตัวรถจะมีความปราดเปรียว หลังคาที่ลาดเท แต่เบาะหลังนั่งได้สบายไม่น้อย อย่างไรก็ตาม ค่าตัวในระดับแตะ 3,000,000 บาท หากผู้จัดจำหน่ายสามารถเพิ่มการตกแต่งที่ให้ความรู้สึกหรูหราได้มากกว่านี้อีกสักนิด จะเรียกความสนใจได้ไม่น้อย
ENGINE เครื่องยนต์
TESLA MODEL 3 ที่เราทดสอบ เป็นรุ่นใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 1 ตัว ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง กำลังสูงสุดถึง 283 แรงม้า แบทเตอรีความจุสูงสุด 82 กิโลวัตต์ชั่วโมง ถือว่ามากพอสมควรสำหรับรถยนต์ขนาดตัวถังระดับนี้ การเปรียบเทียบสมรรถนะ เราจึงนำเสนออีกหนึ่งรถยนต์พลังงานไฟฟ้า มีความแตกต่างด้านรูปแบบตัวถัง และขนาดตัวโดยรวม นั่นคือ JAGUAR I-PACE (แจกวาร์ ไอ-เพศ) สไตล์ครอสส์โอเวอร์ กำลังสูงสุด 400 แรงม้า ขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลาจากมอเตอร์ 2 ตัว และความจุแบทเตอรีที่ 90 กิโลวัตต์ชั่วโมง
อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. MODEL 3 ทำเวลาที่ 6.1 วินาที ส่วน I-PACE ทำได้ที่ 4.8 วินาที เห็นได้ว่าพละกำลังที่มากกว่าทำให้มีความแตกต่างของอัตราเร่ง แต่อยู่ในระดับที่ไม่มากเกินไปนัก ถัดมา คือ อัตราเร่งช่วงความเร็วสูงกับระยะ 0-1,000 ม. MODEL 3 ทำเวลาที่ 25.8 วินาที (ที่ความเร็ว 208.4 กม./ชม.) ส่วน I-PACE คือ 24.7 วินาที (ที่ความเร็ว 202.5 กม./ชม.) แม้เวลาที่ทำได้ของ TESLA MODEL 3 จะช้ากว่าเล็กน้อย แต่กลับมีความเร็วตีนปลายที่มากกว่า I-PACE จากการตอบสนองของอัตราเร่งที่ดีในช่วงกลาง และช่วงตีนปลาย เป็นมอเตอร์ไฟฟ้าที่มีช่วงความเร็วตีนปลายไหลลื่น ทำความเร็วได้ดี การตอบสนองในช่วงออกตัวอาจไม่หวือหวานัก แต่หลังจากนั้นมอเตอร์ไฟฟ้าจะส่งกำลังออกมาอย่างต่อเนื่อง
มาถึงอัตราเร่งยืดหยุ่นเสมือนการเร่งแซง ที่ความเร็ว 60-100 และ 80-120 กม./ชม. TESLA MODEL 3 ทำเวลาที่ 2.5 และ 3.1 วินาที ตามลำดับ ขณะที่ I-PACE คือ 2.2 และ 2.8 วินาที จะเห็นได้ว่าอัตราเร่งแบบยืดหยุ่นจะมีความสูสีกันมาก จากตัวถังที่มีขนาดไม่ใหญ่เกินไปของ TESLA แม้เป็นรุ่นมอเตอร์ไฟฟ้า 1 ตัว แต่การตอบสนองของอัตราเร่งมีความทันใจ เหมาะกับการใช้งานทั่วไปได้ดี เร่งแซงได้ทันใจ เทียบเท่ารถยนต์ไฟฟ้าที่มีพละกำลังมากกว่า
นอกจากเรื่องของอัตราเร่งแล้ว เราสังเกตระดับการใช้งานพลังงานไฟฟ้าของ TESLA MODEL 3 ภายใต้ความจุของแบทเตอรีที่ 83 กิโลวัตต์ชั่วโมง ในเบื้องต้นระบบของตัวรถระบุระยะทำการที่ประมาณกว่า 300 กม. ระหว่างการทดสอบ (ใช้การกดคันเร่งแบบเน้นสมรรถนะ) และการเดินทางระหว่างจุดทดสอบ และอาคารสำนักงานของบริษัท สื่อสากล จำกัด ระยะทางประมาณ 45 กม. เราพบว่าระยะทำการพอเหลือได้ไม่ยากเย็น (หากเป็นการขับขี่แบบไม่เน้นสมรรถนะ น่าจะได้ระยะทำการมากกว่านี้) จุดที่น่าสนใจ คือ การชาร์จไฟฟ้า สามารถรองรับแรง- ดันไฟฟ้าที่สูง แม้เป็นการชาร์จไฟฟ้าจากอาคาร ทำให้การชาร์จไฟฟ้าจนแบทเตอรีเต็มใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่ทางที่ดีควรพึ่งพาการชาร์จไฟฟ้าแบบเร่งด่วนจะดีกว่า อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นถึงระบบไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ ทั้งในแง่ของสมรรถนะ และการใช้งานทั่วไป
SUSPENSION ระบบรองรับ
แม้มอเตอร์ไฟฟ้าของ TESLA MODEL 3 จะมีกำลังสูงสุดค่อนข้างมาก อัตราเร่งที่น่าพอใจ แต่ระบบรองรับยังคงถูกปรับแต่งให้เน้นความสะดวกสบาย มีความหนึบ มั่นคง สมเป็นรถยนต์หรู และผสมผสานการบังคับควบคุมที่เบามือเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เราคาดว่า เมื่อเทียบกับตัวเลขของอัตราเร่งแล้ว ระบบรองรับควรเน้นความหนึบแน่นมากกว่านี้ เนื่องจากตัวรถมีสมรรถนะจากมอเตอร์ไฟฟ้าที่ดุดันเกินตัว รวมถึงการบังคับเลี้ยวน่าจะปรับแต่งให้มีน้ำหนักมากกว่านี้ รวมถึงการตอบสนองโดยรวม เหมาะสมกับอัตราเร่งที่ MODEL 3 คันนี้ทำได้ ขณะที่ประสิทธิภาพของระบบเบรค ที่ความเร็ว 60/80/100 กม./ชม. MODEL 3 ทำได้ที่ 13.4/24.0/37.0 ม. ถือเป็นระยะเบรคที่น่าพอใจ ภายใต้การเป็นรถยนต์ไฟฟ้าต้องเผื่อการชาร์จกระแสไฟฟ้ากลับมาใช้จากแรงเบรค แถมยังทำได้ดีกว่ารถยนต์หรูราคาแพงกว่าหลายรุ่นเสียด้วยซ้ำไป
อนาคตรถยนต์ไฟฟ้าจากผู้นำที่มาก่อนกาล !
ต้องยอมรับว่าค่ายรถ TESLA เป็นบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าที่นำหน้ากระแสมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ในช่วงแรกย่อมถูกการตั้งแง่สงสัยกับการเป็นค่ายรถหน้าใหม่ และเจ้าของผู้มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล นั่นคือ ELON MUSK (เอลอน มัสค์) แม้ในระยะแรกจะประสบปัญหาหลายอย่าง ทั้งยอดจำหน่าย และการผลิต รวมถึง MODEL 3 นี้ด้วย แต่ในที่สุดค่ายรถก็พิสูจน์ตัวเองด้วยยอดจองที่ถล่มทลาย จากประสิทธภาพของตัวรถโดยรวมที่มีความล้ำสมัย ไม่เหมือนใคร สมรรถนะที่น่าพอใจ ภายใต้ราคาที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม ในบ้านเรายังคงต้องพึ่งพาผู้นำเข้าอิสระ จึงทำให้ราคาของตัวรถค่อนข้างสูง (ในระดับ 3,000,000 บาท) แต่ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจของผู้ที่อยากจะสัมผัสรถยนต์ไฟฟ้าระดับหัวแถวเป็นกลุ่มแรกๆ ในประเทศไทย และคงต้องลุ้นกันต่อไปว่า TESLA จะมาลงหลักปักฐานที่บ้านเราหรือไม่ นอกจากนี้บรรดาคู่แข่งรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มหันมาสนใจทำตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นค่ายรถสัญชาติยุโรป หรือแม้แต่ค่ายรถจากประเทศจีน เน้นทางเลือกที่มีราคาย่อมเยา ถึงอย่างนั้น ชื่อของ TESLA ยังคงได้รับความสนใจไม่น้อย จากการเป็นเสมือนหนึ่งในสัญลักษณ์ของความล้ำสมัย