ทดสอบ(formula)
ฮอนดา ซีอาร์-วี
รถครอสส์โอเวอร์ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก หนึ่งในรถยนต์ที่ทำตลาดกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่องในบ้านเรา นั่นคือ ฮอนดา ซีอาร์-วี นับเป็นทายาทลำดับที่ 5 การคิดใหม่ ทำใหม่ และมีหลายเรื่องที่นับเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะขุมพลัง 2 ทางเลือก เบนซิน และดีเซล มันจะโดนใจแค่ไหน ติดตามกันเลย
EXTERIOR ภายนอก
ฮอนดา ซีอาร์-วี รุ่นล่าสุด ถูกออกแบบให้มีมาดบึกบึน สมกับความเป็นสายพันธุ์ตัวลุยผสมผสานอยู่ ขณะเดียวกันยังคงแฝงความหรูหรา ในแบบฉบับรถยนต์ใช้งานในเมือง เส้นสายบางส่วนมีความคล้ายคลึงกับรุ่นก่อนหน้านี้ มีเพียงชุดไฟท้ายที่ถูกออกแบบใหม่ ดูแปลกตาเล็กน้อย สำหรับรุ่นทอพเครื่องยนต์เบนซิน และดีเซล รูปทรงภายนอกเหมือนกันเกือบทุกประการ จุดแตกต่างของทั้ง 2 รุ่น คือ ไฟตัดหมอก รุ่นทอพเครื่องยนต์ดีเซล นั่นคือ ดีที-อีแอล 4WD เป็นแบบแอลอีดี ขณะที่รุ่นเครื่องยนต์เบนซินเป็นแบบพโรเจคเตอร์ นอกจากนี้จุดแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ คือ สัญลักษณ์ของเครื่องยนต์บริเวณด้านท้ายของตัวถัง เครื่องยนต์ดีเซล จะระบุว่า ไอ-ดีทีอีซี ส่วนเครื่องยนต์เบนซิน คือ ไอ-วีอีซี เหมือนรุ่นก่อนหน้า
ในแง่ของมิติตัวถัง ซีอาร์-วี รุ่นล่าสุด มีความยาว 4,571 มม. สูง 1,667 มม. และระยะฐานล้อที่ 2,660 มม. (เบนซิน) และ 2,662 มม. (ดีเซล) เมื่อเทียบกับครอสส์โอเวอร์ระดับเดียวกันที่มีเบาะ 3 แถว 7 ที่นั่งอย่าง นิสสัน เอกซ์-ทเรล มีมิติตัวถังที่ 4,640/1,720 และระยะฐานล้อที่ 2,705 มม. ถือว่าครอสส์โอเวอร์จาก ฮอนดา ยังมีขนาดตัวกะทัดรัดกว่าพอสมควร
INTERIOR ภายใน
หนึ่งในสิ่งที่ถือเป็น “ครั้งแรก” ของ ฮอนดา ซีอาร์-วี รุ่นที่ 5 สำหรับการทำตลาดในบ้านเรา นั่นคือ เบาะนั่งจำนวน 3 แถว 7 ตำแหน่ง ภายใต้พื้นที่ใช้สอยที่จัดสรรอย่างลงตัว ทั้งในแง่ของการโดยสาร หรือการบรรทุกสัมภาระ การตกแต่งส่วนต่างๆ ของห้องโดยสาร ใช้วัสดุขึ้นรูป ดูแน่นหนา ผสมผสานกับวัสดุหนังแท้
ให้ความรู้สึก หรูหรา คอนโซลหน้าออกแบบเน้นความเรียบง่าย จุดแตกต่างสำคัญของเครื่องยนต์ทั้ง 2 รุ่น นั่นคือ รุ่น ดีที-อีแอล 4WD จะไม่มีคันเกียร์ แต่ใช้การกดปุ่มโหมดเกียร์แทน โดยเกียร์ถอย (R) จะใช้การดึงปุ่มสลักเข้าหาตัว การใช้งานช่วงแรกต้องใช้ความเคยชินพอสมควร ต่างจากรุ่น 2.4 อีแอล 4WD ยังเป็นแบบคันเกียร์ดั้งเดิม ขณะที่แผงหน้าปัดมีการแสดงผลที่หลากหลาย รวมถึงการทำงานของระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ มีความคมชัดดี ตัวเลขความเร็วเป็นแบบดิจิทอล ถ้าเป็นไปได้น่าจะเพิ่มระบบการแสดงผล สะท้อนแสงผ่านกระจกหน้า เพื่อผู้ขับจะได้ไม่ต้องละสายตาจากถนนมากเกินไป
ในแง่ของความกว้างขวาง และพื้นที่ใช้สอย ซีอาร์-วี รุ่นนี้มีให้อย่างเหลือเฟือ สะดวกสบายมากกว่ารุ่นก่อนหน้านี้ เบาะแถว 2 สามารถเลื่อนหน้า/หลังได้พอสมควร และเอนพนักพิงหลังได้ แต่ในกรณีที่มีผู้โดยสารในเบาะแถว 3 จำเป็นต้องเลื่อนเบาะแถว 2 เพื่อแบ่งปันพื้นที่กันบ้าง นอกจากนี้การพับเบาะเพื่อให้ผู้โดยสารขึ้นไปนั่งบนเบาะแถว 3 กลับไม่ใช่ระบบสัมผัสเพียงครั้งเดียว การพับเบาะแถว 2 ต้องออกแรงพอสมควร (ต่างจากรุ่นก่อนหน้านี้ที่มีเบาะ 2 แถว มีระบบพับเบาะแบบการดึงสลักเพียงครั้งเดียว) เบาะแถว 3 มีพื้นที่พอเพียงสำหรับเด็ก หรือผู้ใหญ่ที่มีขนาดตัวไม่มากจนเกินไป การพับเก็บเบาะแถว 3 เพียงพับพนักพิงหลังลงมาเท่านั้น หากต้องการพื้นที่เก็บสัมภาระราบเป็นแนวเดียวกัน ต้องยกพื้นบริเวณด้านหลังเบาะแถว 3 ขึ้นมา อย่างไรก็ตามจุดยึดของพื้นดังกล่าวดูไม่แน่นหนาเท่าใดนัก
ENGINE เครื่องยนต์
อีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็น “ครั้งแรก” ของ ฮอนดา ซีอาร์-วี ที่ทำตลาดในบ้านเรา คือ การมีทางเลือกเครื่องยนต์ดีเซล มีรายละเอียดดังนี้ คือ ดีเซล เทอร์โบ ขนาด 1.6 ลิตร กำลังสูงสุด 160 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 35.7 กก.-ม. ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติถึง 9 จังหวะ ขณะที่ทางเลือกเครื่องยนต์เบนซิน ขนาด 2.4 ลิตร กำลังสูงสุด 173 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 22.8 กก.-ม. ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติแปรผัน โดยรุ่นทอพของทั้ง 2 เครื่องยนต์ใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา แปรผันการส่งกำลังได้
อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. รุ่นเครื่องยนต์ดีเซล 11.0 วินาที รุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 11.0 วินาที ในช่วงตีนต้น ทั้ง 2 รุ่นมีอัตราเร่งที่เท่ากันพอดี !! เครื่องยนต์ดีเซลแม้มีขนาดเล็ก แต่อาศัยแรงบิดที่ดี ผนวกกับระบบเกียร์ที่ส่งกำลังได้อย่างต่อเนื่อง มีอัตราเร่งในส่วนนี้เทียบเท่าเครื่องยนต์เบนซินขนาดใหญ่กว่า
อัตราเร่ง 0-1,000 ม. รุ่นเครื่องยนต์ดีเซล 32.7 วินาที (ที่ความเร็ว 158.8 กม./ชม.) และรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 32.2 วินาที (ที่ความเร็ว 168.5 กม./ชม.) ในช่วงความเร็วตีนปลายเครื่องยนต์เบนซินสามารถนำหน้าได้เล็กน้อย พร้อมกับความเร็วตีนปลายที่สูงกว่า ตามแบบฉบับเครื่องยนต์เบนซิน
อัตราเร่งยืดหยุ่น 60-100 และ 80-120 กม./ชม. รุ่นเครื่องยนต์ดีเซลทำเวลาได้ที่ 5.9 และ 7.9 วินาที ส่วนรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน คือ 6.3 และ 7.3 วินาที อัตราเร่งในส่วนนี้มีความแตกต่างที่น่าสนใจ ในช่วงความเร็วต่ำ เครื่องยนต์ดีเซลมีอัตราเร่งที่ฉับไวกว่าอย่างเห็นได้ชัด ด้วยแรงบิดที่ใช้งานตั้งแต่รอบต่ำ แต่ในช่วงความเร็วสูงกลับเป็นเครื่องยนต์เบนซินที่สามารถทำเวลาได้ดีกว่า จากการใช้รอบเครื่องยนต์ และการแปรผันของระบบเกียร์
มาถึงหัวข้ออัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ที่ความเร็ว 60/80/100/120 กม./ชม. รุ่นเครื่องยนต์ดีเซลทำตัวเลขออกมาที่ 25.3/20.5/17.4/13.9 กม./ลิตร ขณะที่รุ่นเครื่องยนต์เบนซิน คือ 19.0/16.7/13.6/10.3 กม./ลิตร แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เครื่องยนต์ดีเซลมีความโดดเด่นในแง่ของอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ภายใต้อัตราเร่งที่ใกล้เคียงกัน ขณะที่เครื่องยนต์เบนซินโดดเด่นในช่วงความเร็วตีนปลาย ด้วยการเป็นเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ แต่ก็ทำให้การสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมีมากกว่ารุ่นเครื่องดีเซลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากการเปรียบเทียบตัวเลขสมรรถนะของทางเลือก 2 เครื่องยนต์ของ ฮอนดา ซีอาร์-วี แล้ว เรายังเปรียบเทียบกับอีกหนึ่งครอสส์โอเวอร์ระดับเดียวกัน เครื่องยนต์ดีเซล นั่นคือ มาซดา ซีเอกซ์-5 เอกซ์ดีแอล เครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ ขนาด 2.2 ลิตร กำลังสูงสุด 175 แรงม้า เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา มีอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 9.3 วินาที อัตราเร่ง 0-1,000 ม. ใน 30.7 วินาที (ที่ความเร็ว 168.4 กม./ชม.) อัตราเร่งยืดหยุ่นที่ 60-100 และ 80-120 กม./ชม. ทำเวลาที่ 5.0 และ 6.7 วินาที ตามลำดับ และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ความเร็ว 60/80/100/120 กม./ชม. คือ 27.4/22.4/16.9/13.1 กม./ลิตร หากเทียบตัวเลขของเครื่องยนต์ดีเซลแล้วจะพบว่า เครื่องยนต์ดีเซลขนาดใหญ่กว่าของ ซีเอกซ์-5 เอกซ์ดีแอล มีอัตราเร่งที่ดีกว่าทางฝั่ง ซีอาร์-วี อย่างเห็นได้ชัด แถมยังมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ดีกว่าในช่วงความเร็วต่ำ นับว่าประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ดีเซลสกายแอคทีฟ-ดี มีประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยม แม้ทำตลาดมาสักพักหนึ่งแล้ว แต่สิ่งที่ครอสส์-โอเวอร์จาก มาซดา เสียเปรียบ คือ ความกว้างขวาง และพื้นที่ใช้สอย รวมถึงความสะดวกสบายที่ทาง ซีอาร์-วี มีความได้เปรียบในส่วนนี้พอสมควร
ปิดท้ายด้วยตัวเลขของคู่แข่งเครื่องยนต์เบนซิน กับ นิสสัน เอกซ์-ทเรล เครื่องยนต์เบนซิน 2.5 ลิตร กำลังสูงสุด 171 แรงม้า เกียร์อัตโนมัติแปรผัน ขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 10.7 วินาที อัตราเร่ง 0-1,000 ม. ใน 32.0 วินาที (ที่ความเร็ว 165.7 กม./ชม.) อัตราเร่งยืดหยุ่นที่ 60-100 และ 80-120 กม./ชม. ทำเวลาที่ 5.8 และ 7.2 วินาที ตามลำดับ และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ความเร็ว 60/80/100/120 กม./ชม. คือ 21.7/17.8/14.7/11.1 กม./ลิตร ซีอาร์-วี มีความได้เปรียบในส่วนนี้
SUSPENSION ระบบรองรับ
จุดเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจของ ฮอนดา ซีอาร์-วี รุ่นนี้ คือ ระบบรองรับ และรูปแบบการขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา เรามีความรู้สึกว่าช่วงล่างของรถรุ่นนี้ มีความหนึบแน่นที่น่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็นการขับบนทางตรง หรือทางโค้ง ตัวรถมีความนิ่ง ควบคุมทิศทางได้อยู่มือ เทียบกับรุ่นก่อนหน้านี้ที่ปรับแต่งระบบรองรับให้เน้นความนุ่มนวล ความหนึบแน่นที่เพิ่มเข้ามา เหมาะสมกับ ซีอาร์-วี ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น การโดยสาร รวม 6-7 คน ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด การตอบสนองของช่วงล่างมีความหนักแน่นให้ความรู้สึกคล้ายกับเอสยูวีหรู สัญชาติยุโรปเลยทีเดียว
นอกจากนี้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา ยังมีการส่งกำลังที่หลากหลาย พิจารณาจากภาพที่แสดงบนจอดิจิทอลบริเวณหน้าปัด ในสภาวะปกติจะเป็นระบบขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า หากเติมคันเร่ง เพื่อเพิ่มความเร็ว จะมีการส่งกำลังไปยังล้อคู่หลัง เพื่อความมั่นคง และต่อเนื่องขณะใช้ความเร็ว เทียบกับรุ่นก่อนหน้านี้ที่เป็นแบบขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า ส่วนล้อตำแหน่งอื่นจะถูกส่งกำลังไปหากเกิดอาการลื่นไถลเท่านั้น เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การขับขี่ของ ซีอาร์-วี รุ่นนี้ มีการตอบสนองที่ดีกว่าเดิมพอสมควร
ประสิทธิภาพของระบบเบรคที่ความเร็ว 60/80/100 กม./ชม. รุ่นเครื่องยนต์ดีเซล มีระยะเบรคที่ 14.7/26.2/42.1 ม. ส่วนรุ่นเบนซิน 15.0/26.2/42.0 ม. เนื่องจากพื้นฐานของระบบเบรคใช้ร่วมกันตลอดจนล้อแมกที่ใช้ต่างก็มีขนาด 18 นิ้ว ยาง โตโย พรอกเซส อาร์ 45 ขนาด 235/60 R18 ระยะเบรคที่ทำได้อยู่ในเกณฑ์ดีสำหรับรถยนต์ประเภทนี้ มีตัวเลขใกล้เคียงกับคู่แข่งระดับเดียวกัน และทำได้ดีกว่า ซีอาร์-วี รุ่นก่อนหน้า
ส่วนระบบความปลอดภัยติดตั้งมาให้พอเพียง ไม่ว่าจะเป็น ระบบแสดงภาพจุดอับสายตาด้านข้างฝั่งซ้าย และระบบเตือนความเมื่อยล้าขณะขับขี่ นอกจากนี้ยังมีระบบเข้าเกียร์จอดอัตโนมัติ (P) หากกดคันเร่งเอาไว้สักพัก หลังจากรถหยุดสนิท เพิ่มความสะดวกสบายขณะขับขี่ในตัวเมืองที่มีการจราจรติดขัด ผู้ขับไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเกียร์มาที่ N หรือ P บ่อยเกินไป น่าเสียดายที่รถรุ่นนี้ยังไม่มีระบบ ฮอนดา เซนซิง มาให้เหมือน แอคคอร์ด ไฮบริด รุ่นทอพ
ทางเลือกทั้งดีเซล และเบนซิน มีความแตกต่างกันโดยรวมตามนี้ คือ การตอบสนองของเครื่องยนต์เบนซินที่เรียบเนียน ต่อเนื่อง และอัตราเร่งช่วงตีนปลายที่ดี ภายใต้อัตราสิ้นเปลืองที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง แต่อีกหนึ่งทางเลือกใหม่ที่เพิ่มเข้ามาเป็นครั้งแรก กับเครื่องยนต์ดีเซล ทำให้ ซีอาร์-วี มีความหลากหลาย และความแตกต่างมากกว่าเดิม อัตราเร่งตีนต้นไม่แตกต่างกันมาก แต่โดดเด่นด้วยอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ดีกว่ามาก แรงบิดที่ดีทำให้การขับขี่ทางไกลบนทางลาดชัน มีความราบรื่นต่อเนื่องกว่ารุ่นเบนซิน ไม่มีความรู้สึกอืดอาดแต่อย่างใด แม้เป็นเครื่องยนต์บลอคเล็ก บุคลิกของรุ่นเครื่องยนต์ดีเซลจะแฝงความดิบห้าวมากกว่ารุ่นเครื่องยนต์เบนซินเล็กน้อย ภายใต้ประโยชน์ใช้สอยที่เหลือเฟือ แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาที่ยอดเยี่ยมของ ฮอนดา ซีอาร์-วี กับการทำตลาดเป็นลำดับที่ 5 แล้วก็ตาม