ทดสอบ(formula)
MG MG6
90 ปี ที่บแรนด์ เอมจี (MG) กำเนิดขึ้นมาจากประเทศอังกฤษ ถือเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร แม้จะผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก จวบจนปัจจุบันก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญกับการถูกซื้อกิจการไปสู่ประเทศจีน สำหรับบ้านเราแล้วชื่อ เอมจี เคยทำตลาดอยู่พักใหญ่เช่นกัน กับภาพพจน์ความเป็นรถสปอร์ทแดนผู้ดี มาดูกันว่าการกลับมาครั้งนี้ รถยนต์เชื้อชาติอังกฤษ สัญชาติจีน จะยังเฉียบคมแค่ไหนกับ เอมจี 6
EXTERIOR ภายนอก
แม้จะย้ายสำมะโนครัวมายังประเทศจีน แต่หลังจากเห็นรูปทรงของ เอมจี 6 แล้ว เหล่าสาวกรถยนต์จากซีกโลกตะวันตก ก็สบายใจได้ เนื่องจากเส้นสายต่างๆ มีความคมเข้ม แลดูปราดเปรียว รุ่นที่เรานำมาทดสอบเป็นตัวถังที่ทางผู้ผลิตเรียกว่า “ฟาสต์แบค” เป็นการผสมผสานระหว่างตัวถังแบบ ซีดาน เข้ากับ แฮทช์แบค บริเวณเสา ซี แลดูหนา ลาดเทจรดส่วนท้าย ส่วนกระจกและประตูเป็นชิ้นเดียวกัน มีประโยชน์ยามขนสัมภาระ เมื่อพิจารณาความยาวที่ 4,648 มม. พบว่าเท่ากับรุ่น เอมจี 6 ซีดาน ทุกประการ
เมื่อเทียบระยะฐานล้อของ เอมจี 6 ที่ 2,705 มม. กับคู่แข่งระดับ ซี-เซกเมนท์ ทั้งหลาย ได้แก่ โตโยตา โคโรลลา อัลทิส อยู่ที่ 2,700 มม. นิสสัน ซิลฟี 1.8 ที่ 2,700 มม. มาซดา 3 (ตัวถังซีดาน) ที่ 2,700 มม. ส่วน ฮอนดา ซีวิค 1.8 ระยะฐานล้อสั้นกว่าใครเพื่อนเล็กน้อย ที่ 2,670 มม. ดังนี้แล้วถือว่ารถของ เอมจี มีขนาดตัวสูสีกับคู่แข่งระดับเดียวกัน รุ่นที่เรานำมาทดสอบ คือ เอมจี 6 ฟาสต์แบค 1.8 ที ดีซีที ติดตั้งซันรูฟมาพร้อม ส่วนล้อแมกขนาด 17 นิ้ว รู้สึกว่าขนาดเล็กไปหน่อย มาดสปอร์ททั้งที น่าจะจัดมาที่ 18 นิ้วขึ้นไป
INTERIOR ภายใน
ด้วยขนาดตัวที่ทัดเทียมกับบรรดาคู่แข่งระดับเดียวกัน ห้องโดยสารของ เอมจี 6 จึงมีความกว้างขวางที่เกินพอ ทั้งด้านหน้า และด้านหลัง ตกแต่งด้วยโทนสีดำ เบาะนั่งเย็บด้วยหนัง เดินด้ายสีแดงราวกับรถสปอร์ทตัวแรง คอนโซลหน้าดูเคร่งขรึม แต่ขาดความทันสมัยอยู่บ้าง แถมมีการออกแบบที่แปลกกว่ารถยนต์เจ้าอื่น โดยติดตั้งกระจกส่วนแผงหน้าปัดเป็นแนวยาว พาดมาถึงกลางคอนโซล มีจอมอนิเตอร์ขนาดเล็กฝังตัวอยู่ข้างใน ดูแล้วอาจมีความยากลำบากในการเปลี่ยนชุดเครื่องเสียงไม่น้อย ขณะที่คอนโซลกลางติดตั้งปุ่มใช้งานต่างๆ รวมไปถึงระบบแอร์อัตโนมัติ พวงมาลัยทรงหนาราวกับรถหรู ขัดกับมาดสปอร์ท
เอมจี 6 ติดตั้งปุ่มมัลทิฟังค์ชัน แต่ปุ่มหมุนเลือกโหมดการทำงานดูไม่หนักแน่นเท่าใดนัก ตำแหน่งเบาะผู้ขับอยู่ในระดับต่ำ แม้จะเลื่อนความสูงขึ้นมาจนสุดแล้ว ส่วนหนึ่งเพราะคอนโซลหน้ามีขนาดค่อนข้างใหญ่ อีกทั้งขอบกระจกประตูก็อยู่ในระดับสูงเช่นกัน ทางผู้ออกแบบอาจต้องการให้ผู้ขับมีความรู้สึกเหมือนรถสปอร์ทก็เป็นได้ สำหรับเบาะนั่งด้านหลังก็ให้ความรู้สึกไม่ต่างกัน นั่นคือ ขอบกระจกประตูอยู่ในระดับสูงมาก ทีมงานของเรามีความสูงประมาณ 170 ซม. ลองนั่งดู พบว่าขอบกระจกสูงกว่าระดับหัวไหล่ด้วยซ้ำ แม้ช่วยให้สัมผัสอารมณ์สปอร์ทแบบเข้าถึงมากขึ้น แต่ใครที่คาดหวังความโปร่งโล่งสบาย อาจต้องทำใจเล็กน้อย
ENGINE เครื่องยนต์
เอมจี 6 ตัวทอพ ใช้เครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ ขนาด 1.8 ลิตร กำลังสูงสุด 161 แรงม้า ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ คลัทช์คู่ จุดเด่น คือ แรงบิดสูงสุด มาตั้งแต่รอบต่ำที่ 21.9 กก.-ม. ที่ 2,000-4,500 รตน. ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบได้จากรถยุโรปราคาแพงเท่านั้น แต่สิ่งที่ว่ามาจะทำให้รถสัญชาติอังกฤษคันนี้มีสมรรถนะเทียบเคียงกับคู่แข่งได้มากน้อยแค่ไหน มาดูกันเลย
อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. เอมจี 6 ทำเวลาที่ 11.2 วินาที บรรดาคู่แข่งเครื่องยนต์ 1.8 ลิตรทั้งหลายทำได้ตามนี้ โตโยตา โคโรลลา อัลทิส (141 แรงม้า) ทำเวลาที่ 10.9 วินาที นิสสัน ซิลฟี (131 แรงม้า) ที่ 11.9 วินาที ฮอนดา ซีวิค (141 แรงม้า) ที่ 11.2 วินาที ปิดท้ายด้วยรถเซกเมนท์เดียวกัน แต่เครื่องใหญ่กว่า (ขนาด 2.0 ลิตร) นั่นคือ มาซดา 3 (165 แรงม้า) ทำตัวเลขออกมาที่ 10.7 วินาที
กดคันเร่งกันยาวๆ ช่วงระยะ 0-1,000 ม. เอมจี 6 ทำได้ 32.9 วินาที (ความเร็ว 163.1 กม./ชม.) โคโรลลา อัลทิส 32.2 วินาที (ความเร็ว 165.7 กม./ชม.) ซิลฟี 33.5 วินาที (ความเร็ว 157.1 กม./ชม.) ซีวิค 32.5 วินาที (ความเร็ว 157.1 กม./ชม.) และ มาซดา 3 ที่ 31.7 วินาที (ความเร็ว 170.4 กม./ชม.)
แม้จะมีทั้งระบบอัดอากาศเทอร์โบ พร้อมเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 6 จังหวะ แต่สมรรถนะของ เอมจี 6 ก็ไม่ได้ฉีกหนีจากบรรดาคู่แข่งเครื่องยนต์ขนาด 1.8 ลิตร ได้อย่างชัดเจน จะยกเว้นก็เพียงซีดานมาดนุ่มอย่าง ซิลฟี เท่านั้นที่มีอัตราเร่งตามหลัง ส่วนน้องใหม่อย่าง มาซดา 3 อาศัยเครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตร ประสิทธิภาพดี จึงมีความได้เปรียบเรื่องสมรรถนะเป็นธรรมดา เราคิดว่าส่วนหนึ่งอาจเพราะ เอมจี 6 เริ่มทำตลาดในภูมิภาคอื่นมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เทคโนโลยีเรื่องขุมกำลังจึงไม่ใช่จุดเด่น เมื่อเทียบกับความสดใหม่ของคู่แข่งระดับเดียวกันบางราย ถึงอย่างนั้นอัตราเร่งก็ตามมาไม่ห่าง และทำได้ดีขึ้นกับอัตราเร่งยืดหยุ่นช่วง 80-120 กม./ชม. เอมจี 6 ทำเวลาที่ 7.1 วินาที ตีคู่กันมากับ โคโรลลา อัลทิส ที่ 7.1 วินาที เช่นกัน และสามารถนำหน้าทั้ง ซิลฟี ที่ 8.7 วินาที และ ซีวิค ที่ 7.7 วินาที และตามหลังมาใกล้กับ มาซดา 3 ที่ 6.7 วินาที
ด้านอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ความเร็ว 80/100/120 กม./ชม. เอมจี 6 ทำได้ที่ 19.3/15.4/12.1 กม./ลิตร โคโรลลา อัลทิส 20.5/16.3/13.0 กม./ลิตร ซิลฟี 22.9/17.7/13.4 กม./ลิตร ซีวิค 19.6/17.9/13.0 กม./ลิตร และ มาซดา 3 คือ 23.4/17.5/14.3 กม./ลิตร ดังนี้แล้วเรื่องความประหยัดของ เอมจี 6 อยู่ในระดับ “เสมอตัว” นั่นคือ ไม่ได้เหนือกว่า แต่ก็อยู่ในระดับพอใช้ได้ จากการปรับแต่งให้รถเน้นสมรรถนะ
SUSPENSION ระบบรองรับ
ช่วงล่างของ เอมจี 6 ด้านหน้าเป็นแบบ อิสระ แมคเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังแบบ อิสระ มัลทิลิงค์ พร้อมเหล็กกันโคลง กาปรับแต่งโดยรวมสมกับมาดสปอร์ทของตัวรถ นั่นคือ ความหนึบแน่น ให้ความรู้สึกขับสนุก ตามแบบฉบับรถเชื้อสายประเทศยุโรป ซึ่งเป็นความรู้สึกของระบบรองรับที่แตกต่างจากรถญี่ปุ่นที่แม้จะหนึบแค่ไหน แต่ก็เจือความนุ่มนวลในสัดส่วนค่อนข้างมาก นับเป็นความคุ้มค่าอีกประการในแง่ของช่วงล่างที่ทำได้ดีราวกับรถยนต์ราคาหลายล้านบาท แต่สิ่งที่ต้องทำความเคยชินคือ ระบบบังคับเลี้ยวของรถรุ่นนี้ ในช่วงความเร็วต่ำมีความหนักแน่น ตอบสนองไว แต่ในช่วงความเร็วสูงแทนที่จะแปรผันที่น้ำหนักพวงมาลัย ระบบจะแปรผันให้ลดการตอบสนองลง ช่วงแรกอาจรู้สึกราวกับว่าพวงมาลัยมีน้ำหนักเบาหวิวในช่วงความเร็วสูง สังเกตจากอาการของรถสามารถแล่นในทางตรงได้อย่างมั่นคง แม้พวงมาลัยจะขยับไปมาจากระยะฟรีที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย อาจมีผลดีในแง่ของความสะดวกสบายขณะขับทางไกล ไม่ต้องเครียดกับการควบคุมพวงมาลัยมากเกินไป แต่อาจลดทอนอารมณ์สปอร์ทที่ต้องการบังคับเลี้ยวที่ฉับไวก็เป็นได้
สิ่งที่น่าพอใจอีกประการ คือ ระบบความปลอดภัยที่ให้มาครบครัน ทั้งระบบควบคุมการทรงตัว ระบบป้องกันการลื่นไถลเมื่อลดเกียร์ต่ำอย่างฉับพลัน ระบบควบคุมการเบรคขณะเข้าโค้ง ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี และการลื่นไถล ระบบช่วยการออกตัวบนทางลาดชัน ระบบตรวจสอบแรงดันลมยาง ถุงลมนิรภัยคู่หน้าและด้านข้าง ถือว่าทำได้ดีตามสมัยนิยม และเหมาะสมกับความสปอร์ทชวน “ซิ่ง” ของ เอมจี 6 คันนี้
เอมจี 6 เป็นการกลับมาทำตลาดอีกครั้งในประเทศไทยที่น่าสนใจ บ่งบอกความเป็นรถยี่ห้อ เอมจี จากประเทศอังกฤษกันคร่าวๆ ว่ามีสัมผัส และความรู้สึกเป็นเช่นไร แม้คุณสมบัติบางอย่างอาจไม่ถึงโดดเด่นกว่าคู่แข่งระดับเดียวกันอย่างชัดเจนนัก แต่ต้องยอมรับว่าบุคลิก หน้าตา และอารมณ์การขับขี่ของรถรุ่นนี้ มีความเป็น “รถยุโรป” อย่างชัดเจน ไม่ต้องห่วงว่าการย้ายรกรากไปยังประเทศจีน จะลดคุณค่าของ เอมจี ลงไป และนี่คือ การเริ่มต้นเท่านั้น เพราะเชื่อว่าค่ายรถแห่งนี้ยังมีรถอีกมากมายหลายรุ่นมาแนะนำในตลาดบ้านเราอย่างต่อเนื่องแน่นอน