ทดสอบ(formula)
Nissan X-TRAIL 2.0V/2.5V 4WD
นิสสัน เอกซ์-ทเรล ทำตลาดในบ้านเราเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว ครั้งนี้ถือว่ามีความแตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง ทั้งรูปทรงที่เน้นความโฉบเฉี่ยว ทันสมัย อุปกรณ์ใช้สอยที่ติดตั้งมาให้มากมาย แถมยังมีความอเนกประสงค์มากกว่ารุ่นก่อนหน้านี้เสียด้วย บ่งบอกว่าครั้งนี้ค่ายยักษ์รองจากแดนอาทิตย์อุทัย เขา “เอาจริง” มาพิสูจน์กันว่า ทั้งรุ่น 2.0 และ 2.5 ลิตร
EXTERIOR ภายนอก
หากนึกย้อนไปถึง เอกซ์-ทเรล รุ่นก่อนหน้า จะมาพร้อมรูปทรงที่เน้นสันเหลี่ยม มาดบึกบึน ราวกับรถ เอสยูวี พันธุ์แท้ เมื่อมาถึงรุ่นปัจจุบัน นับเป็นทายาทลำดับที่ 3 มีการเปลี่ยนแปลงแบบไม่มีเค้าเดิมเหลืออยู่ รูปทรงเน้นความโฉบเฉี่ยว ทันสมัย ภายใต้ตัวถังที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมเล็กน้อย ทั้งความยาว และระยะฐานล้อ ที่ 4,640 และ 2,705 มม. (รุ่นก่อนหน้า คือ 4,630 และ 2,630 มม.) แต่ในแง่ความลงตัวของเส้นสาย รุ่นล่าสุดมีพัฒนาการที่ดีมากขึ้น เหมาะสมกับยุคสมัยที่รถในสไตล์ครอสส์โอเวอร์ ปราดเปรียวไม่แพ้รถซีดาน
ภายนอกโดยรวม รุ่น 2.0 วี และ 2.5 วี มีความใกล้เคียงกันมากกว่าที่คิด ทั้งรูปทรงด้านหน้า และด้านท้าย รวมไปถึงโลโกที่บ่งบอกแค่ชื่อรุ่น เอกซ์-ทเรล และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ เท่านั้น ความแตกต่างจะเห็นได้จากภายนอกในเบื้องต้น ได้แก่ ซันรูฟแบบพาโนรามิค ที่มีติดตั้งเฉพาะรุ่นทอพ 2.5 วี และขนาดของล้อแมกที่แตกต่างกัน โดยในรุ่น 2.0 วี มีขนาด 17 นิ้ว (ยางขนาด 225/65 R17) ส่วนตัวทอพ 2.5 วี ล้อแมกขนาด 18 นิ้ว (ยางขนาด 225/60 R18) แต่ยางยี่ห้อเดียวกัน คือ ดันลอพ กแรนด์ทเรค เรามีความเห็นว่าทางผู้ผลิตน่าจะเสริมความแตกต่างระหว่างทั้ง 2 รุ่นมากกว่านี้เล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นชุดตกแต่งตัวถังภายนอก หรือสัญลักษณ์บ่งบอกรุ่นของเครื่องยนต์ก็ยังดี หากมองในแง่ว่ารุ่น 2.5 วี คือ ตัวทอพที่ต้องจ่ายแพงที่สุด
อุปกรณ์ที่น่าสนใจของ เอกซ์-ทเรล คือ ประตูบานท้ายเปิด/ปิดด้วยไฟฟ้า (มีติดตั้งทั้งรุ่น 2.0 วี และ 2.5 วี) นับเป็นเพียงเจ้าเดียวในบรรดาคู่แข่งระดับเดียวกัน สามารถเปิดได้ด้วยปุ่มภายในห้องโดยสาร (บริเวณด้านขวาถัดจากพวงมาลัย) หรือแตะเบาๆ บริเวณมือจับด้านนอกของประตูบานท้าย นอกจากจะได้ในเรื่องความสะดวกสบายแล้ว ยังได้มาดหรู ทันสมัย ราวกับรถยนต์ราคาหลายล้านบาทนั่นเชียว !!
INTERIOR ภายใน
เมื่อเข้ามานั่งภายในห้องโดยสาร เราพบว่าการตกแต่งภายใน เน้นความเรียบง่าย อย่างที่พบมาในรถยนต์หลายรุ่นของ นิสสัน มาดเข้มด้วยโทนสีดำ หรูด้วยเบาะหุ้มหนัง พื้นที่เหลือเฟือด้วยหลังคาทรงสูง แม้เราปรับเบาะนั่งระดับสูงสุดแล้ว ยังมีพื้นที่เหนือศีรษะค่อนข้างเยอะ (ผู้ทำการทดสอบมีความสูงประมาณ 170 ซม.) มีทัศนวิสัยที่ปลอดโปร่ง แต่หากปรับเบาะระดับสูงสุดดังที่ว่าแล้ว แนวพวงมาลัย และคอนโซลจะอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ แม้จะปรับพวงมาลัยขึ้นมาระดับสูงสุดแล้วก็ตาม ใครที่ชอบตำแหน่งการนั่งแบบรถเก๋ง อาจต้องปรับระดับเบาะนั่งลงมาเล็กน้อย
เมื่อสตาร์ทรถ เราพบว่าหน้าจอแสดงผลมีรูปแบบที่ทันสมัย แสดงผลด้วยภาพกราฟิค 3 มิติ รูปทรงของ เอกซ์-ทเรล โดยเฉพาะ แม้แต่การแสดงผลว่าประตูแต่ละตำแหน่งมีการเปิด/ปิดหรือไม่ รวมไปถึงการส่งกำลังของระบบขับเคลื่อน ทั้งหมดนี้แสดงผลผ่านหน้าจอดิจิทอลระหว่างมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ และมาตรวัดความเร็ว ปรับเปลี่ยนโหมดได้โดยผ่านปุ่มมัลทิฟังค์ชันบนพวงมาลัย
จุดเด่นสำคัญของ เอกซ์-ทเรล รุ่นล่าสุด คือ เบาะนั่ง 3 แถว 7 ตำแหน่ง ในเบื้องต้นหากถอยหลังเบาะแถว 2 จนสุด พื้นที่ช่วงขามีให้อย่างเหลือเฟือ แถมยังสามารถปรับเอนได้อีก ผู้โดยสารของเบาะแถว 2 จึงเป็นส่วนที่มีความสะดวกสบายในการโดยสารสูงสุด แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้เบาะแถว 3 ล่ะก็ ผู้โดยสารของเบาะแถว 2 ต้องเลื่อนเบาะมาข้างหน้าพอประมาณ เพราะหากเลื่อนไปข้างหลังจนสุด เบาะแถว 3 จะไม่มีพื้นที่วางขาเลย ดังนี้แล้วหากโดยสารกันหลายคน ต้องมีการเผื่อแผ่พื้นที่กันบ้าง ในส่วนของเบาะแถว 3 ใช้วิธีพับเก็บราบได้ (แต่ไม่ถึงกับราบสนิทเหมือนระบบ ฟเลกซ์ 7 ของค่าย เชฟโรเลต์) พื้นที่ค่อนข้างจำกัด พนักพิงหลังค่อนข้างสั้น แต่ชดเชยได้ด้วยการยืดพนักพิงศีรษะขึ้นมาได้ เมื่อยืดสุดแล้ว พนักพิงศีรษะไม่กระทบกับประตูบานท้ายแต่อย่างใด ถึงอย่างนั้น เราคิดว่าเบาะแถว 3 เหมาะกับการใช้งาน “เฉพาะกิจ” มากกว่าการโดยสารจริงจัง แค่นี้ก็น่าพอใจแล้วในเรื่องความอเนกประสงค์ที่มากกว่า เอสยูวี ที่มีเบาะ 2 แถว 5 ตำแหน่ง หรือในกรณีที่เน้นการขนสัมภาระ เบาะแถว 2 และ 3 สามารถพับเก็บลงมาเป็นพื้นระนาบเดียวกัน (การพับเก็บราบของเบาะแถว 2 ให้ดึงห่วงสลักด้านข้างของเบาะ) ดังนี้แล้ว เอกซ์-ทเรล เป็นครอสส์โอเวอร์ที่มีความอเนกประสงค์ที่ครอบคลุมทั้งการโดยสาร การขนสัมภาระ และลงตัวที่สุดรุ่นหนึ่งก็ว่าได้
ENGINE เครื่องยนต์
NISSAN X-TRAIL 2.0V 4WD
นิสสัน เอกซ์-ทเรล มีเครื่องยนต์ให้ 2 ทางเลือก เริ่มกันด้วยรุ่น 2.0 ลิตร เครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร ฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง เป็นครั้งแรกในรถ นิสสัน ที่ทำตลาดในบ้านเรา ให้กำลังสูงสุด 144 แรงม้า ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติแปรผัน เอกซ์ทรอนิค ซีวีที สามารถบวก/ลบได้ 7 จังหวะ ขับเคลื่อน 4 ล้อ (ขณะแล่นตามปกติจะขับเคลื่อนด้วยล้อคู่หน้า) ส่วนคู่แข่งที่เรานำมาเปรียบเทียบสมรรถนะ คือ มาซดา ซีเอกซ์-5 รุ่น 2.0 ลิตร สกายแอคทีฟ-จี กำลังสูงสุด 165 แรงม้า (ขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า) เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ และ ฮอนดา ซีอาร์-วี รุ่น 2.0 ลิตร กำลังสูงสุด 155 แรงม้า เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ (ขับเคลื่อน 4 ล้อ)
เริ่มด้วยอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. เอกซ์-ทเรล ใช้เวลา 12.6 วินาที ตามหลังคู่แข่งอย่าง ซีเอกซ์-5 เล็กน้อย กับเวลาที่ 10.7 วินาที และยังสูสีกับ ซีอาร์-วี ที่ 13.1 วินาที
ถัดมา คือ ระยะ 0-1,000 ม. เอกซ์-ทเรล ทำได้ที่ 34.1 วินาที (ที่ความเร็ว 154.5 กม./ชม.) ยังคงตามหลัง ซีเอกซ์-5 ที่ทำเวลาได้ 32.1 วินาที (ที่ความเร็ว 165.2 กม./ชม.) และใกล้เคียงกับ ซีอาร์-วี คือ 34.5 วินาที (ที่ความเร็ว 158.1 กม./ชม.)
อัตราเร่งยืดหยุ่น 80-120 กม./ชม. เอกซ์-ทเรล คือ 8.7 วินาที ซีเอกซ์-5 อยู่ที่ 7.0 วินาที และ ซีอาร์-วี ทำเวลาอยู่ที่ 8.8 วินาที
ไม่ว่าในช่วงความเร็วตีนต้น หรือตีนปลาย รวมถึงอัตราเร่งยืดหยุ่น เอกซ์-ทเรล 2.0 วี มีสมรรถนะที่ดีสมตัว การส่งกำลังทำได้ไหลลื่น เมื่อกดคันเร่งสุด รอบเครื่องยนต์ก็ไม่กวาดสูงจนเกินไปแบบที่มักจะพบเจอในเกียร์ซีวีทีก่อนหน้านี้ อัตราเร่งนำหน้าคู่แข่งอย่าง ซีอาร์-วี เล็กน้อย แต่ยังเป็นรองคู่แข่งที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน ฉีดเชื้อเพลิงโดยตรงเหมือนกันอย่าง ซีเอกซ์-5
ด้านอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ที่ความเร็ว 80/100/120 กม./ชม. ออกมาตามนี้ เอกซ์-ทเรล 17.3/14.8/10.7 กม./ลิตร ซีเอกซ์-5 มีตัวเลขที่ 20.6/15.2/12.2 กม./ลิตร และ ซีอาร์-วี ทำได้ที่ 18.0/14.8/11.9 กม./ลิตร
ในแง่ของการประหยัดเชื้อเพลิงถือว่าทำได้ดีเสมอตัว แต่ในแง่ของเครื่องยนต์แบบฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง เราคาดหวังการประหยัดเชื้อเพลิงที่ดีกว่านี้ หากเทียบกับ ซีเอกซ์-5 และตัวเลขที่ออกมาไม่ต่างจากเครื่องยนต์หัวฉีดของทาง ฮอนดา มากนัก (ซีอาร์-วี รองรับน้ำมัน อี 85)
NISSAN X-TRAIL 2.5V 4WD
ขยับมาที่รุ่นทอพ 2.5 วี เครื่องยนต์เบนซิน ขนาด 2.5 ลิตร รหัส QR25DE แบบ 4 สูบเรียง บลอคเดียวกับที่วางใน เทอานา รุ่น 2.5 ลิตร กำลังสูงสุด 171 แรงม้า เกียร์อัตโนมัติแปรผัน คู่แข่งที่นำมาเปรียบเทียบจากค่าย มาซดา ล้วนๆ 2 รุ่น 2 เครื่องยนต์ นั่นคือ ซีเอกซ์-5 2.5 เอส เครื่องยนต์เบนซิน ขนาด 2.5 ลิตร ฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง สกายแอคทีฟ-จี กำลังสูงสุด 192 แรงม้า และรุ่น เอกซ์ดีแอล เครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ ขนาด 2.2 ลิตร สกายแอคทีฟ-ดี กำลังสูงสุด 175 แรงม้า (ขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา)
อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. เอกซ์-ทเรล (2.5 ลิตร) ทำได้ที่ 10.7 วินาที ทางด้าน ซีเอกซ์-5 (2.5 ลิตร) 9.2 วินาที และ ซีเอกซ์-5 (ดีเซล 2.2 ลิตร) 9.3 วินาที
อัตราเร่ง 0-1000 ม. เอกซ์-ทเรล (2.5 ลิตร) ทำได้ที่ 32.0 วินาที (ที่ความเร็ว 154.5 กม./ชม.) ส่วน ซีเอกซ์-5 (2.5 ลิตร) คือ 30.3 วินาที (ที่ความเร็ว 175.9 กม./ชม.) และ ซีเอกซ์-5 (ดีเซล 2.2 ลิตร) ทำได้ที่ 30.7 วินาที (ที่ความเร็ว 168.4 กม./ชม.)
อัตราเร่งยืดหยุ่นช่วง 80-120 กม./ชม. เอกซ์-ทเรล (2.5 ลิตร) ทำได้ที่ 7.2 วินาที ทางด้าน ซีเอกซ์-5 (2.5 ลิตร) 5.6 วินาที และ ซีเอกซ์-5 (ดีเซล 2.2 ลิตร) 6.7 วินาที
จากตัวเลขแรงม้า ตลอดจนผลทดสอบสมรรถนะ จะเห็นว่า เอกซ์-ทเรล ไม่ใช่รถที่เน้นสมรรถนะที่ฉับไว อัตราเร่งจึงไม่โดดเด่นนักเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง ซีเอกซ์-5 ทั้งเครื่องยนต์เบนซิน และดีเซล ระหว่างการทดสอบเราพบว่าบุคลิกโดยรวมของเครื่องยนต์คล้ายกับรุ่น 2.0 ลิตร นั่นคือ ความไหลลื่นต่อเนื่อง ในส่วนนี้ถือว่าทำได้น่าพอใจ
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ความเร็ว 80/100/120 กม./ชม. เอกซ์-ทเรล (2.5 ลิตร) ทำได้ที่ 17.8/14.7/11.1 กม./ลิตร ส่วน ซีเอกซ์-5 (2.5 ลิตร) คือ 19.5/15.6/11.6 วินาที และ ซีเอกซ์-5 (ดีเซล 2.2 ลิตร) 22.4/16.9/13.1 กม./ลิตร
เอาเข้าจริงแล้ว เอกซ์-ทเรล รุ่น 2.5 ลิตร มีอัตราสิ้นเปลืองที่ไม่ทิ้งห่างรุ่น 2.0 ลิตรมากนัก ส่วนหนึ่งอาจมาจากความสมดุลกับน้ำหนักตัวรถ และการทำงานที่ลงตัวของเกียร์อัตโนมัติแปรผัน มีการประหยัดเชื้อเพลิงที่น่าพอใจ แต่ยังคงลำบากที่จะต่อกรกับเครื่องยนต์ประสิทธิภาพสูงของ ซีเอกซ์-5 ไม่ว่าจะรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน และดีเซล
SUSPENSION ระบบรองรับ
เอกซ์-ทเรล คือ ครอสส์โอเวอร์ที่ปรับแต่งให้เหมาะสมกับการใช้งานทั่วไป นั่นคือ ความสะดวกสบาย ซึ่งนอกจากพื้นที่ใช้สอยแล้ว ยังเป็นผลมาจากระบบรองรับ และการบังคับควบคุมด้วย ช่วงล่างของรถรุ่นนี้จะเน้นความนุ่มนวล ให้ความสะดวกสบายขณะโดยสาร แต่เมื่อเข้าโค้ง กลับไม่มีอาการโคลงแต่อย่างใด ขณะแล่นที่ความเร็วคงที่ ตัวรถมีความนิ่ง มั่นคงเป็นอย่างดี การตอบสนองของพวงมาลัยค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังเที่ยงตรง การปรับแต่งช่วงล่าง และการบังคับควบคุมลักษณะนี้อาจไม่เหมาะกับการขับแบบดุดัน แต่นั่นไม่น่าจะเป็นปัญหามากนัก เพราะตัวรถเน้นความสะดวกสบาย และอเนกประสงค์อยู่แล้ว
ในแง่ของระบบความปลอดภัย เอกซ์-ทเรล ถือว่าจัดเต็มสมกับความเป็นรถครอสส์โอเวอร์ยุคปัจจุบัน ทั้งระบบช่วยเหลือขณะขับขี่ และการทรงตัวมากมาย ติดตั้งมาให้ทั้งรุ่น 2.0 วี และ 2.5 วี อุปกรณ์ที่ติดตั้งมาให้เฉพาะรุ่นทอพ 2.5 วี คือ ถุงลมนิรภัยด้านข้าง และระบบชะลอความเร็วขณะลงทางลาดชัน อุปกรณ์ที่น่าสนใจอีกรายการ คือ กล้องมองภาพรอบทิศทาง (หน้า/หลัง/ซ้าย/ขวา) เหมือนกับที่ติดตั้งมาในซีดานหรูร่วมค่ายอย่าง เทอานา ปลอดภัยขณะถอยจอดเป็นอย่างมาก (ติดตั้งในรุ่น 2.0 อี ขึ้นไป)
ผลทดสอบประสิทธิภาพเบรค (ตามตาราง) ถือว่าทำได้ดีสำหรับรถประเภทครอสส์โอเวอร์ ในขณะเบรคสุดจนกระทั่งระบบ เอบีเอส ทำงาน แม้จะมีความรู้สึกสะท้อนกลับมาที่แป้นเบรคค่อนข้างหยาบอยู่บ้าง แต่ตัวเลขกลับออกมาน่าพอใจ การเบรคที่ความเร็วต่ำตอบสนองค่อยเป็นค่อยไป ช่วงแรกอาจรู้สึกราวกับว่าผ้าเบรคยังไม่จับกับจานเบรค แต่การเบรคแบบชะลอในช่วงความเร็วสูง มีการหน่วงความเร็วมากกว่าแรงเบรคที่กดลงไปบนแป้น ราวกับว่าระบบมีการชดเชยแรงเบรคให้บางส่วน นับเป็นบุคลิกของระบบเบรคที่ต้องทำความเคยชินเล็กน้อยในช่วงแรก
“เคมี” ใหม่ ดีงามกว่าเดิม
ครอสส์โอเวอร์ แต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อ ต่างก็มีสูตร “เคมี” แตกต่างกันไป มาซดา ซีเอกซ์-5 เน้นมาดสปอร์ท ขับสนุก หนึบแน่น แต่อาจลดทอนเรื่องความนุ่มนวล และกว้างขวางไปบ้าง หรือ เชฟโรเลต์ แคพทีวา เน้นความกว้างขวาง และความอเนกประสงค์สูงสุด แต่ต้องแลกกับความคล่องตัว และสมรรถนะบางส่วน จะเห็นได้ว่าแต่ละฝั่งก็มี ข้อดี/ข้อเสียต่างกันไป จนกระทั่งการมาของ นิสสัน เอกซ์-ทเรล รุ่นล่าสุด กับการเป็นครอสส์โอเวอร์ที่มาพร้อม สูตรเคมีที่ผสมผสานกันระหว่าง ความกว้างขวางที่น่าพอใจ ด้วยเบาะ 3 แถว 7 ตำแหน่ง และรูปทรงที่โฉบเฉี่ยวไม่น้อยหน้าใคร พร้อมกับอุปกรณ์ใช้สอย และระบบความปลอดภัยครบครัน แม้ส่วนผสมในแง่ของเครื่องยนต์จะเจือจางไปเล็กน้อย แต่โดยรวมแล้ว นี่คือ หนึ่งในรถยนต์ที่มีความลงตัวสำหรับการใช้งานที่หลากหลาย อุดมด้วยคุณประโยชน์ที่ “เข้มข้น” มากที่สุดรุ่นหนึ่งเลยทีเดียว