ทดสอบ(formula)
BMW I8
ขุมกำลังระบบไฮบริด ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ของค่าย บีเอมดับเบิลยู ก่อนหน้านี้เราเคยสัมผัสกับรถยนต์ไฮบริด เน้นสมรรถนะกันมาแล้วกับรหัสแอคทีฟไฮบริด ครั้งนี้ค่ายใบพัดเครื่องบินสีฟ้าขาว ข้ามขีดจำกัดของขุมกำลังไฮบริดไปอีกขั้น ด้วยรถสปอร์ท รูปทรงสุดล้ำอย่าง บีเอมดับเบิลยู ไอ 8 กับความท้าทายอันเหลือเชื่อ นั่นคือ สมรรถนะที่แรงกว่า และการประหยัดเชื้อเพลิงที่ดีกว่า มาดูกันว่ารถคันนี้คู่ควรกับความเป็นสปอร์ทยุคหน้าหรือไม่ !?!
EXTERIOR ภายนอก
บีเอมดับเบิลยู ไอ 8 จู่โจมเหล่าบรรดารถสปอร์ททั้งหลาย ด้วยตัวถังที่มีความโฉบเฉี่ยว ล้ำสมัย เรียกความสนใจจากผู้คนรอบข้างได้เป็นอย่างดี ตัวถังทรงลิ่มแบน ผนวกกับเส้นสายที่พลิ้วไหว สันเหลี่ยมคมเข้ม นอกจากความสวยสะดุดตาแล้ว รายละเอียดต่างๆ ถูกบรรจงออกแบบขึ้นมาเพื่อหลักอากาศพลศาสตร์ ทำให้ ไอ 8 มีสัมประสิทธิ์การต้านทานอากาศเพียง 0.26 เท่านั้น นับว่าไม่ธรรมดาสำหรับรถสปอร์ทเครื่องยนต์วางกลางลำ มีประโยชน์ด้านการประหยัดเชื้อเพลิง นอกจากนี้ยังคำนึงถึงน้ำหนักรวมของตัวรถ (ที่ 1,490 กก.) ผลจากการใช้โครงสร้างตัวถังส่วนผู้โดยสารเป็นวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ ขึ้นรูปเป็นชิ้นเดียว ขณะที่ส่วนประกอบอื่นๆ เช่น ระบบรองรับ ใช้วัสดุอลูมิเนียม มีความทนทาน และน้ำหนักเบากว่าโลหะทั่วไป
ด้านหน้าของตัวรถมีความปราดเปรียว เป็นจุดติดตั้งแบทเตอรี และมอเตอร์ไฟฟ้า ของระบบไฮบริด สำหรับการขับเคลื่อนล้อคู่หน้า ส่วนเครื่องยนต์สันดาป ขนาด 1.5 ลิตร วางกลางลำ ตามขวาง มีหน้าที่ขับเคลื่อนล้อคู่หลัง เพิ่มความโดดเด่นด้วยประตูปีกนก เมื่อเปิดขึ้นสุดแล้วจะมีความสูง 1,958 มม. หากเปิดประตูทั้ง 2 ข้าง ระยะความกว้างที่ 3,046 มม. (ตัวรถมีความกว้าง 2,494 มม.) ใครที่จอดในที่แคบต้องใช้ความระมัดระวัง ส่วนล้อแมก ขนาด 20 นิ้ว แบบลายพิเศษ ยางด้านหน้า ขนาด 215/45 R20 ด้านหลัง ขนาด 245/40 R20 ความกว้างของหน้ายางอาจน้อยกว่ารถสปอร์ทพลังแรงระดับเดียวกัน ส่วนหนึ่งเพื่อการลู่ลม และความประหยัดเชื้อเพลิงอย่างที่กล่าวไปแล้ว มีการใช้สีฟ้าใสตามตัวถัง เสริมภาพลักษณ์ความเป็นรถสปอร์ทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
INTERIOR ภายใน
ประตูแบบปีกนกของ ไอ 8 ให้ความรู้สึกโดดเด่น แต่เป็นระบบไฮดรอลิคเท่านั้น ไม่มีระบบไฟฟ้าช่วย เบาะนั่งอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเข้าไปนั่งแล้ว การปิดประตูจึงต้องออกแรงช่วย บานประตูเปิดขึ้นสูง ต้องเอื้อมแขนค่อนข้างมาก นับเป็นสิ่งที่ต้องทำความเคยชินสักเล็กน้อยสำหรับผู้ครอบครองรถสปอร์ทรูปลักษณ์โฉบเฉี่ยวคันนี้
ภายในห้องโดยสารบนเบาะผู้ขับ สิ่งที่เราพบ คือ การออกแบบที่ยังคงเน้นความล้ำสมัย ไม่แพ้รูปทรงภายนอก มาตรวัดดิจิทอลเต็มตัว รูปแบบ 3 มิติ เน้นโทนสีฟ้าสด แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นโหมดสปอร์ท รอบมาตรวัดจะเปลี่ยนเป็นสีแดง เพิ่มอารมณ์เร้าใจแก่ผู้ขับขี่ได้ไม่น้อย เบาะนั่งอยู่ในระดับต่ำ ทัศนวิสัยด้านหน้าทำได้ดี แต่หากเป็นการขับขี่ในเมือง ควรระมัดระวังทัศนวิสัยจากด้านหลัง คอนโซลหน้ายังคงใช้รูปแบบการจัดวางที่คุ้นตาตามแบบฉบับค่าย บีเอมดับเบิลยู ไม่ว่าจะเป็นปุ่มควบคุมเครื่องเสียง และระบบปรับอากาศ รวมไปถึงคันเกียร์ทรงโค้งสั้น และแป้นหมุนสำหรับระบบไอดไรฟ ไม่ต่างจากรถรุ่นอื่นของค่ายรถแห่งนี้ ส่วนจอแสดงผลขนาดใหญ่ถึง 8.8 นิ้ว สามารถมองเห็นข้อมูลต่างๆ ได้ชัดเจน
ไอ 8 จัดเป็นรถสปอร์ท แบบ 2+2 ที่นั่ง เบาะด้านหลังมีพื้นที่จำกัดมาก เพียงพอสำหรับเด็กเล็ก หรือการนั่งระยะทางสั้นๆ แบบเฉพาะกิจเท่านั้น (แถมผู้โดยสารด้านหน้าอาจต้องเลื่อนเบาะไปข้างหน้าเพื่อแบ่งปันพื้นที่ให้) ดังนี้แล้วเบาะคู่หลังเหมาะกับการวางสิ่งของ หรือสัมภาระ (ขนาดไม่ใหญ่) มากกว่า รุ่นที่เรานำมาทดสอบ ตกแต่งภายในด้วยสีเบจ เบาะหนังชั้นดี เน้นความหรูหรา มากกว่าความคมเข้ม เร้าใจ แบบรถสปอร์ทพลังแรง คาดว่าทางผู้ผลิตต้องการพัฒนารถรุ่นนี้เพื่อการใช้งานทั่วไป
การใช้วัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ กับโครงสร้างตัวถังส่วนห้องโดยสาร ช่วยลดน้ำหนักโดยรวมอย่างได้ผล แต่ผลที่ตามมา คือ เสียงรบกวนในห้องโดยสาร เราลองวัดระดับความดังของเสียงรบกวนขณะแล่นด้วยระบบไฮบริด (เครื่องยนต์สันดาป และมอเตอร์ไฟฟ้า) ที่ความเร็ว 60/80/100/120 กม./ชม. ผลออกมาตามนี้ (เดซิเบล เอ) คือ 62/66/67/69 เดซิเบล นับว่าน่าพอใจในระดับหนึ่ง แต่เมื่อเราเปลี่ยนมาใช้โหมดขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าล้วน (EV) เสียงรบกวนในห้องโดยสารกลับต่างกันไม่มากนัก ที่ 62/64/66/67 เดซิเบล
ENGINE เครื่องยนต์
ระบบไฮบริดของ บีเอมดับเบิลยู ไอ 8 ประกอบไปด้วยเครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ ขนาด 1.5 ลิตร 3 สูบเรียง กำลังสูงสุด 231 แรงม้า เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนล้อคู่หลัง ตัวเครื่องยนต์วางกลางลำ ตามขวาง พิจารณาจากสเปคของเครื่องยนต์แล้วมีความใกล้เคียงกับรถในเครืออย่าง มีนี คูเพอร์ (เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร แบบ 3 สูบเรียง กระบอกสูบ/ช่วงชัก 82.0/94.5 มม. เท่ากัน แต่แตกต่างที่กำลังอัด) ขณะที่ล้อคู่หน้าเป็นหน้าที่ของมอเตอร์ไฟฟ้าสำหรับขับเคลื่อน กำลังสูงสุด 131 แรงม้า ทำงาน 2 จังหวะ เบ็ดเสร็จแล้ว เมื่อรวมทั้งระบบ ไอ 8 จะมีพละกำลังคิดเป็น 362 แรงม้า
คู่เปรียบเทียบสมรรถนะในการทดสอบครั้งนี้ เรานำสปอร์ทซีดาน ขุมกำลังไฮบริดแบบเน้นสมรรถนะ ร่วมค่าย บีเอมดับเบิลยู นั่นคือ แอคทีฟไฮบริด 3 (เครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ ขนาด 3.0 ลิตร พร้อมมอเตอร์ไฟฟ้า) มีพละกำลังรวมทั้งระบบที่ 340 แรงม้า เกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ และรถสปอร์ทแบบ “สุดขั้ว” จากคู่แข่ง นั่นคือ เมร์เซเดส-เอเอมจี จีที เอส เครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ วี 8 สูบ ขนาด 4.0 ลิตร กำลังสูงสุด 510 แรงม้า เกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ
เริ่มจากอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ไอ 8 ทำเวลาได้ที่ 5.3 วินาที ส่วน แอคทีฟไฮบริด 3 คือ 6.1 วินาที และ จีที เอส อยู่ที่ 4.6 วินาที หรือ กดกันยาวๆ ที่ 0-200 กม./ชม. ไอ 8 ใช้เวลาไป 16.9 วินาที แอคทีฟไฮบริด 3 คือ 19.9 วินาที และ จีที เอส คือ 13.3 วินาที
ส่วนอัตราเร่งยืดหยุ่น 60-100 และ 80-120 กม./ชม. ไอ 8 มีตัวเลขที่ 2.4 และ 2.9 วินาที ทางด้าน แอคทีฟไฮบริด 3 คือ 2.8 และ 36 วินาที สุดท้าย คือ จีที เอส อยู่ที่ 1.8 และ 2.3 วินาที
จากการทดสอบในส่วนต่างๆ แสดงให้เห็นว่า ไอ 8 มีอัตราเร่งจากระบบเครื่องยนต์ไฮบริดที่มีอัตราเร่งน่าพอใจมาก สมรรถนะฉับไวกว่า แอคทีฟไฮบริด 3 (เน้นสมรรถนะอยู่แล้ว) อย่างเห็นได้ชัด ประสิทธิภาพของเครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ ขนาด 1.5 ลิตร 3 สูบเรียง ผสานการส่งกำลังกับมอเตอร์ไฟฟ้าได้อย่างดีเยี่ยม แม้จะยังไม่อาจเทียบเคียงกับรถสปอร์ทตัวธง พละกำลังสูง กว่า 500 แรงม้า อย่าง จีที เอส แต่ก็ไม่ทิ้งห่างมากจนเกินไป นอกจากนี้ทางผู้ผลิตยังเพิ่มอรรถรสให้แก่ผู้ขับด้วยระบบเสียงสังเคราะห์ขณะทำอัตราเร่ง คล้ายกับเสียงคำรามของเครื่องยนต์บลอคใหญ่
ส่วนอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทีมงานของเราไม่ได้วัดผลออกมาโดยตรง เนื่องจากความซับซ้อนของระบบเครื่องยนต์ ไอ 8 แต่ตัวเลขจากทางผู้ผลิตระบุว่ารถรุ่นนี้สามารถประหยัดได้สูงสุดที่ 47.6 กม./ลิตร นั่นเชียว ! (ภายใต้การชาร์จไฟฟ้าเต็มจากระบบ พลัก-อิน ไฮบริด) สามารถแล่นด้วยไฟฟ้าล้วน เป็นระยะทางสูงสุด 37 กม. นับว่าเหลือเชื่อสำหรับรถสปอร์ทสมรรถนะแรงในระดับนี้ (เสริมความประหยัดเชื้อเพลิงได้ กับโหมด อีโค พโร ทั้งการขับเคลื่อนด้วยระบบไฮบริด และระบบไฟฟ้าล้วน)
SUSPENSION ระบบรองรับ
การแยกส่งกำลังของเครื่องยนต์สันดาปที่ล้อคู่หลัง และมอเตอร์ไฟฟ้าที่ล้อคู่หน้า ถือว่ารถสปอร์ทคันนี้ขับเคลื่อน 4 ล้อ แต่การส่งกำลังมีการแปรผันให้เหมาะสมด้วย ในขณะเข้าโค้งระบบจะเน้นการส่งกำลังไปที่ล้อคู่หลัง ขณะออกจากโค้งจะเน้นล้อคู่หน้าจากพละกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้า ช่วยให้การยึดเกาะถนนมีความมั่นคงมากขึ้น ในโหมดเริ่มต้น คือ คอมฟอร์ท ระบบรองรับ และน้ำหนักของพวงมาลัยโดยรวมมีความนุ่มนวล ยังแม่นยำอย่างน่าพอใจ การขับขี่ในเมืองช่วงความเร็วต่ำ มีความสะดวกสบายไม่แพ้รถยนต์ทั่วไป หากต้องการความหนึบแน่นมากขึ้น เพียงผลักคันเกียร์ไปด้านข้างก็จะเข้าโหมดสปอร์ททันใด พวงมาลัยจะมีน้ำหนักมากขึ้น ถึงอย่างนั้นการตอบสนองของ ไอ 8 ยังเผื่อเหลือให้ความสะดวกสบาย ไม่ใช่อารมณ์ ดิบห้าว แข็งกระด้าง เหมือนรถสปอร์ทแบบดั้งเดิม
ระบบความปลอดภัยให้มาครบ สมความเป็นรถสปอร์ทสมรถรนะสูง ทั้งระบบควบคุมเสถียรภาพตัวรถ (DSC) ระบบควบคุมการเบรคขณะเข้าโค้ง (CBC) ระบบเสริมแรงเบรค (DBC) ระบบควบคุมการส่งกำลัง (ADB-X) และระบบป้องกันการลื่นไถล (DTC)
ด้านประสิทธิภาพของระบบเบรคที่ความเร็ว 60/80/100 กม./ชม. ไอ 8 ทำได้ที่ 14.6/26.4/40.2 ม. ส่วนสปอร์ทซีดานร่วมค่าย แอคทีฟไฮบริด 3 คือ 14.7/25.7/40.0 ม. และสปอร์ทตัวแรงอย่าง จีที เอส ทำได้ 13.6/23.5/36.5 ม. ส่วนหนึ่งอาจมาจากการใช้ยางหน้าแคบกว่ารถสปอร์ทพลังแรงทั่วไป (เพื่อการประหยัดเชื้อเพลิง) ผนวกกับชุดเบรคที่ติดตั้งระบบชาร์จกระแสไฟฟ้าเพิ่มเติม ระยะเบรคโดยรวมไม่ต่างจาก แอคทีฟไฮบริด 3 มากนัก
หลังจากการทดสอบ ตัวสปอร์ทซีรีส์ใหม่ของ บีเอมดับเบิลยู เรามีความรู้สึกว่า ไอ 8 เปิดมิติใหม่ของรถสปอร์ท แม้ระบบขับเคลื่อนเป็นแบบไฮบริดที่เห็นกันมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ค่ายรถแห่งนี้ก็พัฒนาไปอีกขั้น ด้วยการใช้เครื่องยนต์สันดาป ขนาด 1.5 ลิตร แต่มีพละกำลัง และแรงบิดสูง ผนวกกับมอเตอร์ไฟฟ้าที่มีกำลังพอเหมาะ ผสานการทำงานอย่างลงตัว สมรรถนะฉับไว แต่พร้อมจะเป็นรถประหยัดเชื้อเพลิง ค่าไอเสียต่ำ และมีความสะดวกสบาย ตามแต่ผู้ขับต้องการ รองรับการใช้งานในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี
สิ่งที่คอยย้ำเตือนว่าผู้ขับกำลังนั่งอยู่ในรถสปอร์ทพลังแรง คือ คนรอบข้างที่จ้องมองรถคันนี้อย่างไม่วางสายตานั่นแหละ !!