ทดสอบ(formula)
HYUNDAI TUCSON 2.0 D
“SEXY SUV” คือ นิยามที่ทาง ฮันเด (HYUNDAI) จั่วหัวให้กับรถกิจกรรมกลางแจ้งคันเก่งประจำค่ายอย่าง ทูซอน (TUCSON) จากที่ก่อนหน้านี้ เปิดตัวด้วยรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน ทั้งความเซกซีแบบเรียบง่ายกับรุ่น 2.0 เอส ขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า อุปกรณ์ใช้สอยพอเพียง หรือจะเซกซีแบบไฮโซกับรุ่น 2.0 จี เครื่องยนต์เบนซิน ขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา พร้อมกับอุปกรณ์ใช้สอยที่ติดตั้งมาให้แบบจัดเต็ม ล่าสุดก็เพิ่มทางเลือกด้วยรุ่น 2.0 ดี เครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ เน้นพละกำลัง และแรงบิด มาดูกันสิว่า เอสยูวี คันนี้จะยังคงความเร้าใจแค่ไหนกัน
EXTERIOR ภายนอก
เส้นสายของ ทูซอน ฉีกแนวการออกแบบ เอสยูวี ดั้งเดิม ที่มักจะใช้เส้นสายที่เน้นความบึกบึน แข็งแรง เปลี่ยนมาใช้ส่วนโค้งเว้า ตามส่วนต่างๆ รอบคัน ซึ่งเป็นแนวทางการออกแบบยุคปัจจุบัน ในรถหลายๆ รุ่นของค่ายรถแห่งนี้ ผลลัพธ์ที่ได้ คือ รถ เอสยูวี ที่เจือกลิ่นอายความสปอร์ทตั้งแต่แรกเห็น แลดูโฉบเฉี่ยวแตกต่างจาก เอสยูวี คู่แข่งค่ายอื่นๆ เหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ชอบความเร้าใจ แต่แฝงด้วยความอเนกประสงค์จากรถคันหนึ่ง อย่างไรก็ตามใครที่ชอบ เอสยูวี ที่เต็มไปด้วยเหลี่ยมสันแบบดั้งเดิม อาจรู้สึกขัดใจกับเส้นสายของ ทูซอน ก็เป็นได้ อันนี้คงต้องขึ้นอยู่กับความชอบ และรสนิยมของแต่ละคน
เมื่อหันมาดูมิติตัวถังของ ทูซอน มีความยาว 4,410 มม. ระยะฐานล้อ 2,640 มม. ใกล้เคียงกับคู่แข่งอย่าง ฮอนดา ซีอาร์-วี (HONDA CR-V) กับมิติ 4,529 และ 2,620 มม. โดยทั้ง 2 รุ่น มีเบาะนั่ง 2 แถว (5 ตำแหน่ง) แม้ระยะฐานล้อใกล้เคียงกันมาก แต่รูปทรงด้านท้ายของ ทูซอน จะลาดเท และสั้นกระชับกว่า และหากเทียบกับอีก 1 คู่แข่ง คือ เชฟโรเลต์ แคพทีวา (CHEVROLET CAPTIVA) ถือว่า เอสยูวี แดนมะกัน กับเบาะนั่งถึง 3 แถว (7 ตำแหน่ง) มีขนาดใหญ่กว่าอย่างเห็นได้ชัด กับมิติ 4,673 และ 2,707 มม. ตามลำดับ
INTERIOR ภายใน
รูปทรงที่โค้งเว้าจากภายนอก ยังคงมีให้สัมผัสทั่วทั้งภายในห้องโดยสาร ไร้ซึ่งความ “ราบเรียบ” ให้ชวนเบื่อ ตกแต่งเน้นโทนสีดำ ตัดสลับอารมณ์ทันสมัยด้วยวัสดุที่เงินตามส่วนต่างๆ เช่น ขอบพวงมาลัย คอนโซลหน้า และขอบแผงหน้าปัด แยก 2 วง ดูมีมิติ เติมความหรู ด้วยเบาะหนังสีน้ำตาล นั่งสบายกำลังดี เหมาะกับการขับทางไกล เบาะแถวที่ 2 พับแยกได้แบบ 60:40 เพิ่มความหลากหลายของการใช้งาน ชดเชยกับพื้นที่เก็บสัมภาระด้านท้ายที่มีเนื้อที่ค่อนข้างน้อยกว่าคู่แข่ง แต่ยังรองรับการใช้งานทั่วไปได้เป็นอย่างดี
เมื่อพิจารณาประโยชน์ใช้สอยขณะทดสอบรถคันนี้ เราพบว่าภายใต้รูปลักษณ์ที่หวือหวา น่าตื่นเต้น รถคันนี้กลับให้มาเพียงการใช้สอยระดับพื้นฐานเท่านั้น หากว่ากันตามสเปคแล้ว อุปกรณ์ต่างๆ เทียบเท่ากับรุ่น 2.0 เอส ขับเคลื่อน 2 ล้อ ทูซฮน รุ่นนี้จึงไม่มีทั้งเบาะปรับไฟฟ้า แอร์อัตโนมัติ ระบบครูสคอนทโรล และกล้องมองหลัง และแน่นอนว่าของหรูอย่างกระจกซันรูฟพาโนรามาก็ไม่ได้ติดตั้งมาให้เช่นกัน พิจารณาแล้ว อาจเป็นข้อจำกัดของรถนำเข้าที่จำเป็นต้องตัดอุปกรณ์บางอย่าง ด้วยเหตุผลด้านราคา ถึงกระนั้นสิ่งที่ “เสียไป” นำไปสู่การ “ได้มา” ที่น่าสนใจด้วย มาดูหัวข้อต่อไปกันเลย
ENGINE เครื่องยนต์
ขุมกำลังของ ทูซอน เป็นเครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ ขนาด 2.0 ลิตร กำลัง 177 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 40.0 กก.-ม. ที่ 1,800-2,500 รตน. ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ดูตัวเลขแล้วถือว่าพละกำลังมากเอาเรื่อง รวมไปถึงแรงบิดสูงสุดที่มาตั้งแต่รอบต่ำ และมีช่วงการทำงานที่ค่อนข้างกว้าง กับน้ำหนักตัว 1,700 กก.
คู่แข่งที่เรานำมาเปรียบเทียบคือ เชฟโรเลต์ แคพทีวา 2.0 วีซีดีไอ แอลทีเซด เครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ 2.0 ลิตร เท่ากัน กำลัง 163 แรงม้า แต่มีน้ำหนักตัวค่อนข้างมากถึง 1,986 กก. และบรรดาหนึ่งใน เอสยูวี ยอดนิยมอย่าง ฮอนดา ซีอาร์-วี เครื่องยนต์เบนซิน 2.4 ลิตร กำลัง 170 แรงม้า กับน้ำหนักตัว 1,600 กก.
เริ่มจากอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทูซอน ใช้เวลา 9.8 วินาที เท่านั้น ถือว่าฉับไวเอาเรื่องสำหรับรถ เอสยูวี พิกัดเครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ 2.0 ลิตร ทางคู่แข่งอย่าง แคพทีวา ทำได้ 12.5 วินาที จากขนาด และน้ำหนักตัวที่มากกว่า และเมื่อวัดกับเครื่องยนต์เบนซินอย่าง ซีอาร์-วี อัตราเร่งส่วนนี้ทำได้ 11.1 วินาที ในช่วงความเร็วตีนต้น ทูซอน มีความฉับไวมาก เผลอๆ อาจเหนือกว่ารถซีดานที่ระดับราคาใกล้เคียงกันด้วยซ้ำ
วัดกันยาวๆ ที่อัตราเร่ง 0-1,000 ม. เอสยูวี แดนกิมจิ ทำได้ 31.4 วินาที ที่ความเร็ว 167.0 กม./ชม. ส่วน เอสยูวี แดนมะกัน ใช้เวลา 34.0 วินาที ที่ความเร็ว 153.3 กม./ชม. ส่วน เอสยูวี เครื่องยนต์เบนซินจากเมืองยุ่น ทำตัวเลขได้ที่ 32.6 วินาที ที่ความเร็ว 162.4 กม./ชม. แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ความเร็วตีนปลาย เครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ ของ ทูซอน ยังทำอัตราเร่งได้อย่างน่าพอใจ ไม่มีอาการแผ่วง่ายๆ นอกจากนี้อัตราเร่งยืดหยุ่นที่ความเร็ว 80-120 กม./ชม. ทูซอน ทำได้ 7.1 วินาที แคพทีวา 9.3 วินาที และ ซีอาร์-วี 7.9 วินาที ตอกย้ำให้เห็นถึงสมรรถนะ และอัตราเร่งที่ฉับไวในทุกย่านความเร็วของรถรุ่นนี้
ตัวเลขของอัตราเร่งที่ดีเกินคาดเช่นนี้ ทำให้เราเหลือบไปมองข้อมูลสมรรถนะของดีเซล เทอร์โบ ระดับ “เทพ” รุ่นหนึ่ง นั่นคือ บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 3 20 ดี (BMW X3 20D) รุ่นล่าสุด พละกำลัง 170 แรงม้า น้ำหนักตัว 1,725 กก. อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ 9.2 วินาที อัตราเร่ง 0-1,000 ม. คือ 31.0 วินาที (ที่ความเร็ว 166.7 กม./ชม.) และอัตราเร่งยืดหยุ่น 80-120 กม./ชม. ใช้เวลา 6.6 วินาที จะเห็นได้ว่าเฉือนชนะ ทูซอน เพียงปลายจมูกเท่านั้น พิสูจน์ว่าประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ดีเซล จากค่าย ฮันเด ทำได้ดีไม่แพ้รถ เอสยูวี หรู ราคาแพงกว่ากันเกือบเท่าตัวด้วยซ้ำ !
สมรรถนะร้อนแรงแบบนี้ บางคนอาจกังวลกับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจะดุเดือดตามหรือเปล่า ? งานนี้เราวัดและได้ผลลัพธ์ในเบื้องต้น ดังนี้ ที่ความเร็ว 60 และ 80 กม.ชม. สิ้นเปลืองเฉลี่ย 23.2 และ 19.3 กม./ลิตร ช่วงความเร็วสูง 100 และ 120 กม./ชม. ทำได้ 16.3 และ 12.3 กม./ลิตร หากมองในแง่ความเป็นรถ เอสยูวี ถือว่าประหยัดเชื้อเพลิงอย่างน่าพอใจ ให้เทียบด้วยคำพูดแล้ว เป็นอัตราสิ้นเปลืองที่เทียบเท่ารถซีดานญี่ปุ่นระดับ 1.8 ลิตร เท่านั้น
SUSPENSION ระบบรองรับ
ระหว่างขับขี่ในเมืองที่ความเร็วต่ำ ช่วงล่างให้ความรู้สึกที่เรียบนิ่ง ดูดซับแรงสะเทือนจากพื้นถนนได้ดีมาก ไม่กระเด้งกระดอน หรือยวบยาบอย่างที่เรามักจะรู้สึกจากรถ เอสยูวี ที่มีตัวถังขนาดใหญ่กว่า และมีน้ำหนักมากกว่าซีดานทั่วไป นอกจากนี้การตอบสนองของพวงมาลัย ถือว่าฉับไวเกินคาด หักเลี้ยว หรือเปลี่ยนเลนได้ทันใจ เมื่อผนวกกับสมรรถนะที่ดีเยี่ยม ทำให้ ทูซอน เป็น เอสยูวี ที่ขับสนุก และคล่องตัวไม่น้อย สมกับรูปลักษณ์ที่โฉบเฉี่ยว
อย่างไรก็ตามขณะขับที่ความเร็วสูง ตัวรถโดยรวมยังมีความมั่นคง เริ่มรู้สึกถึงแรงสะเทือนจากพื้นถนนมากขึ้นเล็กน้อย ขณะเข้าโค้งมีอาการโคลงให้รู้สึกบ้าง แต่ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา และระบบรองรับที่ดี ช่วยให้การบังคับควบคุม “เชื่องมือ” อย่างไม่ยากเย็น แต่ระยะความสูงจากพื้นถนนที่ไม่มากนัก ทำให้รถคันนี้ไม่เหมาะกับการลุยหนัก หรือแล่นคร่อมอุปสรรค
สำหรับการเบรคที่ความเร็ว 60, 80 และ 100 กม./ชม. ทูซอน ทำได้ 14.9, 26.8 และ 41.8 ม. ตามลำดับ ถือว่าประสิทธิภาพอยู่ในระดับดีมากสำหรับรถประเภทนี้ เทียบกับคู่แข่งอย่าง แคพทีวา กับระยะเบรคในส่วนนี้ที่ 15.4, 26.6 และ 41.9 ม. ตามลำดับ แม้ ทูซอน จะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า และใช้ยางขนาดเล็กกว่าก็ตาม
อุปกรณ์ใช้สอยอาจน้อยไปบ้าง แต่อุปกรณ์เพื่อระบบขับเคลื่อนให้มาครบไม่แพ้รุ่นทอพ ไม่ว่าจะเป็น ระบบป้องกันการลื่นไถล (ESP) ระบบป้องกันการพลิกคว่ำ (ROP) ระบบช่วยการออกตัวขณะอยู่ทางลาดชัน (DAC/HAC) ส่วนระบบความปลอดภัยให้มาใกล้เคียงกับรุ่นทอพ ขาดเพียงถุงลมนิรภัยด้านข้าง และม่านถุงลมนิรภัย
หลังจากการทดสอบ เรารู้สึกว่า ทูซอน ยังคงความ “SEXY” ไม่เปลี่ยนแปลง โดยรุ่น 2.0 ดี สร้างความเร้าใจอย่างแตกต่าง ด้วยสมรรถนะที่ยอดเยี่ยมของเครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ รวมถึงการบังคับควบคุม และระบบรองรับที่ลงตัว นั่นคือสิ่งที่กระตุ้น “อารมณ์” ได้เป็นอย่างดี แม้ค่าตัวจะค่อนข้างสูง และขาดอุปกรณ์ใช้สอยไปบ้าง แต่เมื่อได้สัมผัสคุณลักษณะการขับขี่ของรถคันนี้แล้ว จุดด้อยที่ว่าแทบจะถูกลืมทันใด รู้สึกได้เลยว่า นี่คือ รถที่คุ้มค่าที่สุดคันหนึ่งเลยทีเดียว
อาจไม่หรู ฟู่ฟ่า แต่หน้าตาดี ลีลาเด็ด ขนาดนี้ ใครเจอเป็นต้อง “เสร็จ” ทุกราย อยู่แล้วล่ะ !?!