เรื่องเด่น Quattroruote
TOYOTA LAND CRUISER เหนือกว่าคำว่าเอสยูวี
พวกเขาเรียกดินแดนแถบนี้ว่ามันเป็นสวิทเซอร์แลนด์แห่งโมรอคโค เนื่องจากเมืองแห่งนี้อยู่บนแนวเทือกเขาแอทลาส มีทัศนียภาพ และภูมิประเทศที่ดูไม่เหมือนประเทศในภูมิภาคแอฟริกา จัดเป็นสิ่งที่อยู่เหนือจินตนาการของใครหลายคน อย่างไรก็ตาม เราได้มีโอกาสทดลองขับเข้าไปในเส้นทางที่ชำรุดทรุดโทรมที่สุดของอุทยานแห่งชาติ และเราก็ได้พบกับวิธีการขนส่งที่คนในท้องถิ่นใช้ ซึ่งไม่ใช่บรรดารถยนต์หรูทั้งหลายอย่าง LAMBORGHINI URUS (ลัมโบร์กินี อูรุส) หรือ MERCEDES-AMG G 63 (เมร์เซเดส-เอเอมจี จี 63) แต่เป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อที่ขับเคลื่อนผ่านทางสมบุกสมบันได้สบาย พร้อมอุปกรณ์เสริมที่ไม่ได้มีความซับซ้อน หรือมีราคาสูงมากมาย ในความเป็นจริง สิ่งที่ผู้ขับต้องการที่แท้จริง คือ รถขับเคลื่อน 4 ล้อที่พร้อมอุปกรณ์ครบครัน เช่น LAND CRUISER ที่ได้มาทดสอบในครั้งนี้
การทดสอบครั้งนี้ค่อนข้างน่าสนใจไม่น้อย เมื่อลองขับตัวลุยรุ่นใหม่จาก TOYOTA บนเส้นทางดิน และหิน หลังจากที่เราได้ลองขับบนหิมะ และโคลนไปแล้ว ในช่วงเวลาที่รถลอทแรกที่จะนำไปส่งที่ประเทศอิตาลี (ประมาณ 500 คัน และจำหน่ายหมดในพริบตา) กำลังจะถูกส่งมอบให้กับลูกค้า สิ่งแรกที่น่าสนใจ คือ LAND CRUISER รุ่นใหม่ ยังเป็นตัวลุยที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อม เปรียบได้ดั่งสัตว์ประหลาดศักดิ์สิทธิ์แห่งประวัติศาสตร์ยานยนต์ ด้วยประสบการณ์กว่า 70 ปี ผลิตออกมาแล้ว 11,000,000 คัน ใน 170 ประเทศ และมีการแยกแยะอนุกรมเป็น 3 กลุ่ม เพื่อตอบสนองความต้องการของคนทั้งโลก รถยนต์อเนกประสงค์รุ่นนี้จึงควรได้รับการปฏิบัติอย่างเคารพ นอกจากนี้ ความเป็นไปได้ในการทดสอบบนเส้นทางออฟโรดที่เตรียมไว้เป็นพิเศษ รวมทั้งบนทางลาดยาง และบนทางราบระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร ชวนให้นึกถึงรุ่นก่อนหน้านี่ที่ทำตลาดในอดีตในภูมิภาคยุโรปเมื่อกลางปี 1980
ก่อนจะออกเดินทางไปประเทศโมรอคโค เราได้ศึกษาทุกสิ่งที่จำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับ LAND CRUISER โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทีมงานของเราได้จัดทำรายการของข้อมูลในบางหัวข้อ พร้อมตัวเลขของคู่แข่งโดยตรงทั้งหมด ซึ่งเราได้ทดสอบบนเส้นทางออฟโรดของเราที่สนาม VAIRANO แล้ว ได้แก่ FORD BRONCO (ฟอร์ด บรองโก), JEEP WRANGLER (จีพ แรงเลอร์), INEOS GRENADIER (อิเนออส กเรนาเดียร์) และ LAND ROVER DEFENDER (แลนด์ โรเวอร์ ดีเฟนเดอร์) โดยเราเริ่มการทดสอบที่อาจจะดูลำเอียงเล็กน้อย เนื่องจากในแง่ของระยะห่างจากพื้น มุมปะทะ และมุมจาก รวมถึงความสามารถในการลุยน้ำ ดูเหมือนว่าตัวลุยสัญชาติญี่ปุ่นจะเสียเปรียบตั้งแต่แรก อย่างไรก็ตาม ระหว่างการทดสอบจะมีเวลาให้ทำความเข้าใจ ว่านี่คือขีดจำกัดของตัวรถจริงหรือไม่
ระหว่างที่เราสนุกกับการขับขี่ทั้งทางเรียบบนถนน และบนทางสมบุกสมบัน เมื่อสังเกตภายในห้องโดยสาร เราขอชื่นชมกับฟังค์ชันการใช้งาน และทัศนวิสัยโดยรอบที่เหนือกว่าคู่แข่งแทบทั้งหมด ปุ่มต่างๆ มีประโยชน์จากการใช้งานได้จริง นั่นคือ ปุ่มสำหรับการขับขี่แบบออฟโรด ถูกรวมกลุ่มกันที่ด้านซ้ายของคอนโซลเกียร์ ซึ่งมองเห็นได้ชัดเจน และเอื้อมถึงได้ง่าย แต่การปิดระบบช่วยเหลือการขับขี่กลับมีความยุ่งยากเกินเหตุ เช่น ระบบเตือนการจำกัดความเร็ว และจอแสดงข้อมูลบนกระจกหน้ารถ การเปิด/ปิดระบบต้องทำผ่านการกดบนหน้าจอหลายขั้นตอน ผ่านปุ่มต่างๆ บนพวงมาลัย และมาตรวัดแบบดิจิทอล ผู้ขับอาจต้องเสียเวลาไปกับการจอดรถก่อนออกตัว เพื่อใช้งานลักษณะดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เมื่อออกตัวแล้ว ทัศนวิสัยโดยรอบผู้ขับยังคงดีเยี่ยม ขอบคุณเสาเอที่ลาดเอียงเล็กน้อย ขอบเข็มขัดที่ต่ำ และกระจกมองข้างขนาดใหญ่ที่ติดตั้งไว้ที่ประตู ฝากระโปรงหน้าแบบแบนตรงกลางก็ช่วยได้เช่นกัน โดยส่วนภายนอกตัวถังบริเวณฝากระโปรงที่ยกขึ้นมา ทำหน้าที่เป็นตัวตำแหน่งของตัวรถโดยรวม
เครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ แบบ 4 สูบ ขนาด 2.8 ลิตร มีเสียงดังเมื่ออากาศเย็น และแม้จะมีอากาศที่อุ่นขึ้นมาก็ยังไม่ใช่เครื่องยนต์ที่เงียบที่สุด ตัวเลขบ่งบอกว่าเครื่องยนต์ได้รับการออกแบบมาเพื่อการทำงานในช่วงรอบเครื่องยนต์ต่ำ สเปคเบื้องต้นของขุมพลังมีตามนี้ กำลังสูงสุด 150 กิโลวัตต์/205 แรงม้า ที่ 3,000 รตน. แรงบิดสูงสุด 500 นิวทันเมตร/51.0 กก.ม. ที่ 1,600-2,800 รตน. เพียงพอที่จะลากน้ำหนักได้สูงสุดถึง 3,500 กก. กล่าวโดยสรุปก็คือ สำหรับงานหนักต่างๆ ตัวลุยคันนี้สามารถตอบสนองได้อย่างราบรื่น ยกเว้นเมื่อคุณต้องการเร่งแซงซึ่งต้องกดคันเร่งให้สุด ด้วยความช่วยเหลือของระบบเกียร์อัตโนมัติที่มีอัตราทด 8 จังหวะ ที่เว้นระยะห่างกันอย่างเหมาะสม แม้ว่าบางครั้งการส่งกำลังจะมีอาการลื่นบ้างเล็กน้อย ถึงแม้ว่า TOYOTA จะอ้างว่าได้ปรับปรุงระบบส่งกำลังในส่วนนี้แล้วก็ตาม
การเคลื่อนตัวบนทางลุยที่น่าหลงใหล
โดยรวมแล้ว รถยนต์รุ่นนี้มีความสะดวกสบายที่น่าพอใจมาก เรารู้สึกประหลาดใจที่เสียงรบกวนจากตัวถังที่ค่อนข้างดังในความเร็วสูงนั้นมีน้อยมาก เมื่อมองดูตัวถังแล้ว เราเคยคิดว่าระดับเสียงรบกวนน่าจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม และเรายังประหลาดใจกับความจริงที่ว่าบนพื้นถนนแบบยางมะตอย หากพบกับสิ่งกีดขวาง ระบบชอคอับจะค่อนข้างแข็งเกินคาด
ในทางกลับกัน TOYOTA คันนี้ดูเหมือนจะดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้ดีขึ้นเมื่อขับบนถนนลูกรัง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ต้องอาศัยการตอบสนอง และความแม่นยำที่ลงตัวจากพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าแบบใหม่ จัดเป็นการติดตั้งเป็นครั้งแรกใน LAND CRUISER โดยทั่วไปแล้ว การที่รถสัญชาติญี่ปุ่นยังคงใช้โครงสร้างตัวถังแบบบันได ถือเป็นรายละเอียดที่ยากจะพบเจอบนท้องถนน ผู้ขับจะไม่รู้สึกถึงการกระแทกด้านข้าง และการเคลื่อนไหวจะเป็นไปอย่างมีระเบียบด้วยโครงสร้างระบบรองรับแบบ 4 เหลี่ยมด้านหน้า และโครงแบบมัลทิลิงค์ด้านหลัง
บางเส้นทางถนนแบบยางมะตอย และบนถนนดิน การลุยบนเส้นทางที่หนักหน่วงก็มีความไหลลื่นอย่างราบรื่น จนกระทั่งเราไปถึงพื้นที่สำหรับโหมดออฟโรดเต็มตัว สถานการณ์ส่วนใหญ่ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้คุณรับรู้ถึงการทำงานของระบบช่วยเหลือ เช่น ระบบสำหรับการลงเขา และไต่เขา กล้องมองภาพสำหรับการลุย (พร้อมการแสดงผลที่เป็นประโยชน์เสมือนฝากระโปรงที่ “โปร่งใส” เพื่อให้ผู้ขับเห็นว่าล้อรถอยู่ในตำแหน่งไหน) และการปรับตำแหน่งของช่วงล่าง แม้ว่าคุณสมบัติของตัวถังอาจจะผ่านเส้นทางสมบุกสมบันได้อย่างมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น มุมเอียงเพียง 17 องศา หรือระยะห่างจากพื้น 215 มม. แต่เรายังชื่นชมประสิทธิภาพการยึดเกาะถนนที่ยังคงยอดเยี่ยม เมื่อพิจารณาว่ายางไม่ได้มีความพิเศษมากมาย หลายคนคงทราบดีว่า การขับขี่บนทางลาดบนพื้นดินที่มีความร่วนนั้นไม่ใช่ปัญหายากเย็น เนื่องจากมีเกียร์อัตราทดในช่วงความเร็วต่ำ เฟืองท้ายของ TORSEN ที่ลอคการส่งกำลังได้ และเฟืองท้ายที่ควบคุมด้วยระบบลอคแบบอีเลคทรอนิคส์ ในสถานการณ์ที่ต้องอาศัยการบิดตัวของระบบรองรับ การเคลื่อนตัวของข้อต่อจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจเช่นกัน โดยข้อต่อด้านหน้าสามารถยืดออกได้อีก (ประมาณ 50 มม.)โดยการปลดเหล็กกันโคลง ซึ่งเป็นความเป็นไปได้ที่น่าสนใจที่รวมอยู่ในอุปกรณ์มาตรฐานของรุ่น LOUNGE (เลาน์จ์) ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ แต่ไม่มีในรุ่น ADVENTURE (แอดเวนเจอร์) ที่เรียบง่ายกว่า แม้ว่าล้อจะลอยขึ้นจากพื้นบ่อยครั้ง แต่ก็ไม่สามารถหยุด LAND CRUISER ได้ ความกังวลของเราที่จะขูดพื้นด้านล่าง (ซึ่งได้รับการปกป้องอย่างดี) จำกัดอยู่แค่บังโคลนด้านหลังเท่านั้น และแม้แต่บนเส้นทางสำหรับการลุยเต็มพิกัดที่กล่าวถึงข้างต้น ซึ่งรถยนต์อเนกประสงค์ทุกคันจะมีการกระทบกระทั่งกับส่วนล่างของรถได้หลังจากผ่านไป 50 ม. แรกโดยไม่มีปัญหาใดๆ เลย อย่างไรก็ตาม การทดสอบแบบละเอียดขั้นสุดท้ายจะได้รู้กันเมื่อ TOYOTA LAND CRUISER คันนี้จะถูกนำไปทดสอบอีกครั้งบนสนามทดสอบแบบสมบุกสมบันของ QUATTRORUOTE
รุ่น AWD LOUNGE
ข้อมูลรถทดสอบจากผู้ผลิต
เครื่องยนต์
- วางด้านหน้า ตามยาว
- แบบดีเซล เทอร์โบ 4 สูบเรียง
- ความจุ 2,755 ซีซี
- กำลังสูงสุด 151 กิโลวัตต์/205 แรงม้า ที่ 3,000-3,400 รตน.
- แรงบิดสูงสุด 500 นิวทันเมตร/51.0 กก.ม. ที่ 1,600-2,800 รตน.
ระบบส่งกำลัง
- ขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา
- เกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ
สมรรถนะ
- ความเร็วสูงสุด 170 กม./ชม.
- 0-100 กม./ชม. ไม่ระบุ
- อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 9.5 กม./ลิตร
- อัตราการปล่อยไอเสียเฉลี่ย 281 กรัม/กม.
มิติตัวถัง และน้ำหนัก
- ระยะฐานล้อ 2,850 มม.
- ความยาว 4,930 มม. กว้าง 1,980 มม. สูง 1,940 มม.
- น้ำหนักโดยรวม 2,330 กก.
ราคา
- 90,500 ยูโร (ประมาณ 3,322,000 บาท ไม่รวมภาษีนำเข้า)
ข้อมูลทางเทคนิค
LAND CRUISER ยังคงถูกพัฒนาขึ้นมาภายใต้เอกลักษณ์ดั้งเดิม รวมถึงตัวถังที่ถูกวางบนแชชซีส์ แต่โครงสร้างของตัวรถถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ทั้งหมด กับโครงสร้างที่ชื่อว่า GA-F ถูกใช้งานไปก่อนหน้านี้กับตัวลุยร่วมสายพันธุ์ นั่นคือ LAND CRUISER 300 ทำตลาดในบางภูมิภาคเท่านั้น โครงสร้างดังกล่าวรองรับจุดยึดตัวถังหลายตำแหน่ง รวมถึงการเชื่อมต่อต่างๆ มีความแข็งแรงมากกว่าเดิมถึง 50 % ในส่วนของระบบรองรับ มีการปรับปรุงระบบรองรับด้านหลังแบบมัลทิลิงค์แบบ 4 จุดยึด แต่จุดที่เราให้ความสนใจ คือ ระบบรองรับด้านหน้าแบบมัลทิลิงค์ถูกนำมาใช้งานครั้งแรก พร้อมระบบปลดการทำงานของชุดเหล็กกันโคลง และพวงมาลัยพาวเวอร์ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้าถูกติดตั้งเป็นครั้งแรกเช่นกัน การพัฒนาเอสยูวีรุ่นนี้มีการคำนึงถึงความสะดวกสบายด้วย มีการติดตั้งวัสดุดูดซับเสียงรบกวนที่มีคุณภาพสูง และชุดชอคอัพที่ปรับแต่งให้เน้นความนุ่มนวล ถูกติดตั้งบริเวณโครงสร้างตัวถังในตำแหน่งที่เหมาะสม ขณะที่การขับขี่บนทางสมบุกสมบัน คือ สิ่งสำคัญเสมอมา นอกเหนือจากระบบปลดการทำงานของชุดเหล็กกันโคลงแล้ว ยังมีการเสริมระบบขับเคลื่อนที่ควบคุมด้วยอิเลกทรอนิค สิ่งที่ถูกเพิ่มเข้ามา คือ โหมดการขับขี่แบบ AUTO (ทำงานร่วมกับโหมดอื่นๆ เช่น SNOW, MUD, ROCK ฯลฯ) โหมดการขับขี่ดังกล่าวจะควบคุมการส่งกำลังจากเครื่องยนต์ การตอบสนองของพวงมาลัย ระบบเบรค และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา ต่อมา คือ ระบบส่งกำลัง LAND CRUISER มีระบบเกียร์แบบเน้นแรงบิดในช่วงความเร็วต่ำ ทำงานร่วมกับระบบเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ สามารถควบคุมการส่งกำลังของชุดเพลาส่งกำลังตรงกลาง และการส่งกำลังไปยังชุดเพลาขับส่วนท้ายแบบอิเลคทรอนิค สุดท้าย คือ เครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ ขนาด 2.8 ลิตร มาพร้อมมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ 48 โวลท์ สำหรับระบบไฮบริดขนาดเล็ก โดยจะเป็นทางเลือกของขุมพลังในอนาคตอันใกล้
ระบบปลดเหล็กกันโคลง
ในรุ่นย่อยสูงสุดสุด LOUNGE จะเป็นรุ่นเดียวที่ติดตั้งระบบปลดการทำงานของชุดเหล็กกันโคลง ช่วยให้ระบบรองรับมีระยะยืดหยุ่นเพิ่มอีก 10 %
เครื่องยนต์พละกำลังสูง
เครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ 2.8 ลิตร มีช่วงการตอบสนองของแรงบิดที่กว้าง และมีการส่งกำลังได้ต่อเนื่อง กำลังสูงสุด 205 แรงม้า มาตั้งแต่ช่วงต่ำกว่า 3,000 รตน. และแรงบิดสูงสุด 51.0 กก.ม. ที่ 1,600 รตน.
ระบบเพลาส่งกำลังตรงกลาง
การส่งกำลังในสภาวะปกติจะมีอัตราส่วนหน้า/หลังที่ 40:60 ระหว่างเพลาขับด้านหน้า และด้านหลัง โดยมีระบบส่งกำลังแบบ TORSEN ติดตั้งตรงกลาง สามารถควบคุมการส่งกำลังได้ในอัตราส่วน 50:50 ตามสภาวะการขับขี่
ระบบเฟืองท้ายอิเลคทรอนิค
ในบางภูมิภาคที่รถรุ่นนี้ทำตลาด จะมีออพชันเพิ่มเติม คือ ระบบ TORSEN ติดตั้งกับชุดเฟืองท้าย ทำหน้าที่ควบคุมการส่งกำลังไปยังล้อคู่หลัง โดยมีการควบคุมด้วยระบบอิเลคทรอนิค
การควบคุมที่ปลายนิ้วสัมผัส
จากภาพด้านซ้ายสุด คือ ปุ่มหมุนสำหรับเลือกใช้งานโหมดขับขี่ และรูปด้านล่างถัดลงมา คือ ปุ่มใช้งานระบบควบคุมความเร็วขณะลงเนิน หรือขึ้นเนินชัน ติดตั้งใกล้กับคันเกียร์ พร้อมปุ่มใช้งานการส่งกำลังของชุดเพลาขับ รวมถึงโหมดเกียร์แบบเน้นแรงบิด และการเปิด/ปิดระบบ ESP
1. ระบบความปลอดภัย
การติดตั้งพวงมาลัยควบคุมด้วยไฟฟ้า ทำให้สามารถติดตั้งระบบรักษาตัวรถให้อยู่กลางเลนโดยอัตโนมัติ และระบบช่วยหักเลี้ยวฉุกเฉินได้
2. การใช้งานแบบดิจิทอล
จอแผงหน้าปัดแสดงผลได้หลากหลาย รวมถึงการแสดงผลที่สำคัญสำหรับการขับขี่บนทางสมบุกสมบัน รวมถึงระบบแสดงผลสะท้อนบนกระจกหน้า
3. จอแสดงผลขนาดใหญ่
จอแสดงผลหลักสำหรับระบบความบันเทิงมีขนาด 12.3 นิ้ว เทียบเท่ารถยนต์ของ TOYOTA รุ่นอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการแสดงผลสำหรับโหมดการขับขี่แบบออฟ-โรด เช่น การแสดงผลด้านล่างตัวถังเสมือนฝากระโปรงหน้าโปร่งแสง
4. ระบบปรับอากาศใช้งานสะดวก
ปุ่มใช้งานแบบดั้งเดิมถูกติดตั้งบนคอนโซลกลาง เป็นระบบแยก 2 โซน ปุ่มอยู่ในระยะเอื้อมมือถึงได้ง่าย ประกอบด้วยปุ่มใช้งานระบบเบาะนั่งทำความอุ่น และระบบระบายอากาศ
5. ปุ่มหมุนสำหรับใช้งาน
ปุ่มหมุนที่ใช้งานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโหมดการขับขี่แบบต่างๆ และปุ่มใช้งานด้านล่างที่อยู่ถัดลงมา การเลือกใช้งานแต่ละโหมดจะถูกแสดงผลชัดเจนบนจอแผงหน้าปัด
6. ระบบลุยทางสมบุกสมบัน
การขับบนทางสมบุกสมบันจะมีปุ่มใช้งานใกล้กับผู้ขับ รวมถึงโหมดเกียร์แบบเน้นแรงบิด และระบบควบคุมการส่งกำลังของชุดเพลาขับในแต่ละตำแหน่ง
ตำนานตัวลุยกว่า 70 ปี
ตำนานที่ถือกำเนิดในปี 1951 ภายใต้ชื่อว่า TOYOTA B (ตามรูปด้านล่าง) และถูกเปลี่ยนชื่อเป็น TOYOTA LAND CRUISER ในปี 1954 ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ทำตลาด มีการแยกออกมาอีก 3 อนุกรม แตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น การใช้งานแบบหนักหน่วง ตัวถังสเตชันแวกอน และการใช้งานในตัวเมือง นอกจากนี้ยังมีรหัส 70 เป็นที่รู้จักในชื่อ PRADO ถูกพัฒนาขึ้นมาในปี 1985 ทำตลาดในภูมิภาคยุโรป
เปรียบเทียบกับคู่แข่ง
TOYOTA LAND CRUISER
รถรุ่นนี้มีระบบควบคุมการส่งกำลังของเพลาขับตรงกลาง และส่วนท้าย รวมถึงระบบเกียร์แบบเน้นแรงบิด แต่มีมิติตัวถังโดยรวมเล็กกว่าคู่แข่งเล็กน้อย รวมถึงมุมต่างๆ รอบตัวรถ (มุมปะทะเพียง 17 องศา จากระยะโอเวอร์แฮงที่ค่อนข้างมาก) ความสูงของตัวถังที่ 215 มม. รุ่นทอพ LOUNGE เท่านั้นที่จะมีระบบปลดการทำงานของชุดเหล็กกันโคลง อย่างไรก็ตาม ล้อแมกมีขนาด 20 นิ้ว เทียบกับ 18 นิ้วของรุ่นย่อย ADVENTURE
ข้อมูลจำเพาะ
- ดีเซล เทอร์โบ 4 สูบเรียง
- ความจุ 2,755 ซีซี
- กำลังสูงสุด 151 กิโลวัตต์/205 แรงม้า ที่ 3,000 รตน.
- แรงบิดสูงสุด 500 นิวทันเมตร/51.0 กก.ม. ที่ 1,600 รตน.
- ราคา เริ่มต้นที่ 84,000 ยูโร
FORD BRONCO
ตัวลุยที่มีทางเลือกของขุมพลังที่หลากหลาย ตั้งแต่เครื่องยนต์แบบ ECOBOOST แบบ วี 6 สูบ เทอร์โบคู่ มีซุ่มเสียงที่เร้าใจ และอัตราเร่งฉับไว พร้อมมุมของตัวถังที่เหมาะสมสำหรับการลุยอย่างแท้จริง ในรุ่นย่อย BADLANDS เน้นการลุยเป็นพิเศษ ติดตั้งยางสำหรับการลุยโดยเฉพาะ มีระบบหักเลี้ยวเป็นองศาแคบสำหรับการเลี้ยวในพื้นที่จำกัด โดยการเบรคล้อด้านหลังที่อยู่วงในของโค้ง
ข้อมูลจำเพาะ
- เบนซิน เทอร์โบคู่ วี 6 สูบ
- ความจุ 2,694 ซีซี
- กำลังสูงสุด 246 กิโลวัตต์/335 แรงม้า ที่ 5,250 รตน.
- แรงบิดสูงสุด 563 นิวทันเมตร/57.4 กก.ม. ที่ 3,100 รตน.
- ราคา เริ่มต้นที่ 71,950 ยูโร
INEOS GRENADIER
ตัวลุยที่มีรูปทรงคล้ายกับ DEFENDER รุ่นดั้งเดิม GRENADIER ถูกพัฒนาสำหรับการเป็นเอสยูวีสำหรับทางสมบุกสมบันอย่างแท้จริง การใช้งานต่างๆ ยังคงเป็นระบบแอนาลอค มาพร้อมระบบควบคุมการส่งกำลังของเพลาขับได้ถึง 3 ตำแหน่ง และปุ่มใช้งานแบบดั้งเดิมบนแผงคอนโซล การลุยทางสมบุกสมบันแบบพื้นหิน และทางโคลนเลนทำได้สบาย ขุมพลังมีพละกำลังอันเหลือเฟือ พัฒนาโดย BMW แบบ 6 สูบเรียง ส่งกำลังได้ฉับไว มีทางเลือกทั้งเครื่องยนต์เบนซิน และดีเซล
ข้อมูลจำเพาะ
- ดีเซล เทอร์โบ 6 สูบเรียง
- ความจุ 2,993 ซีซี
- กำลังสูงสุด 183 กิโลวัตต์/249 แรงม้า ที่ 3,250 รตน.
- แรงบิดสูงสุด 550 นิวทันเมตร/56.5 กก.ม. ที่ 1,250 รตน.
- ราคา เริ่มต้นที่ 85,190 ยูโร
JEEP WRANGLER
การลุยทางสมบุกสมบัน คือ จุดเด่นของรถรุ่นนี้เสมอมา โดยเฉพาะรุ่นย่อย RUBICON (ใช้ยางสำหรับการลุย และระบบปลดการทำงานของเหล็กกันโคลง) ตัวลุยของ JEEP อาจไม่โดดเด่นนักกับการความสะดวกสบายในการขับบนทางเรียบ อย่างไรก็ตาม ชดเชยที่ความโดดเด่นของการลุยทางสมบุกสมบันอย่างมีประสิทธิภาพ มุมองศาสำหรับการลุยที่เหลือเฟือ พร้อมอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ยอมรับได้ ทั้งเครื่องยนต์เบนซิน และดีเซล
ข้อมูลจำเพาะ
- เบนซิน เทอร์โบคู่ 4 สูบเรียง
- ความจุ 1,995 ซีซี
- กำลังสูงสุด 200 กิโลวัตต์/272 แรงม้า ที่ 5,250 รตน.
- แรงบิดสูงสุด 400 นิวทันเมตร/40.8 กก.ม. ที่ 3,000 รตน.
- ราคา เริ่มต้นที่ 71,500 ยูโร
LAND ROVER DEFENDER
ในแง่ของการบับขี่บนถนน มีการตอบสนองที่ดีเทียบเท่ากับรุ่นใหญ่อย่าง RANGE ROVER ห้องโดยสารมีความเงียบ และระบบรองรับที่มีความนุ่มนวลสะดวกสบายในระดับที่คู่แข่งไม่สามารถสู้ได้ อย่างไรก็ตาม การลุยบนทาดโคลนเลนก็ทำได้ยอดเยี่ยมเกินคาด จากระบบรองรับแบบถุงลมที่ยกความสูงของตัวถังขึ้นมาได้ ทำให้มีความสูงจากพื้นถนน มุมปะทะต่างๆ และลุยน้ำได้ลึกขึ้น ระบบควบคุมการลื่นไถลด้วยอิเลกทรอนิคทำงานได้ยอดเยี่ยม
ข้อมูลจำเพาะ
- ดีเซล เทอร์โบ 6 สูบเรียง
- ความจุ 2,995 ซีซี
- กำลังสูงสุด 183 กิโลวัตต์/249 แรงม้า ที่ 4,000 รตน.
- แรงบิดสูงสุด 575 นิวทันเมตร/58.7 กก.ม. ที่ 1,250 รตน.
- ราคา เริ่มต้นที่ 74,100 ยูโร