Quattroruote ลองของแรง
FERRARI 296 GTB
การเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่
สีสันของรถคันนี้อาจไม่คุ้นเคย จากการหันมาใช้สีขาวใส สิ่งนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับรถแข่งของ F1 จากค่ายม้าลำพอง และยังเกิดขึ้นกับรถที่ทำตลาดจริงอีกด้วย มาพริ้มจุดติดตั้งป้ายทะเบียน บ่งบอกการเป็นรถใช้งานจริงบนท้องถนน ดังนี้แล้ว FERRARI 296 GTB (แฟร์รารี 296 จีทีบี) คือ คลื่นลูกใหม่ของค่ายรถแห่งนี้ กับการพัฒนาที่ต่อบอดมาจากรุ่นก่อนหน้านี้ในหลายส่วน สมกับการเป็นทายาทผู้สืบทอดจากรถยนต์รุ่น F8 TRIBUTO (เอฟ 8 ทรีบูโต) ที่ทำตลาดในระยะเวลาสั้นๆ ทำให้เราได้เห็นรูปแบบดั้งเดิมที่ยังถูกอนุรักษ์เอาไว้ และรูปแบบใหม่ๆ ที่ทันสมัยถูกเสริมเข้ามา ทั้งนี้ก็ต้องแลกกับราคาค่าตัวที่สูงเอาเรื่อง แต่ยังเป็นสิ่งที่คุ้มค่า นั่นคือ สิ่งที่เรามาพิสูจน์กันในการทดสอบครั้งนี้
การใช้งานที่ทันสมัย
จุดที่สร้างความสงสัยให้กับหลายคนในทีแรก คือ การตัดสินใจลดจำนวนลูกสูบของเครื่องยนต์ออกไป 2 ชุด แต่ไม่ต้องเป็นห่วงไป ทีมงานผุ้พัฒนาชดเชยพละกำลังด้วยระบบไฮบริดที่ยังให้อัตราเร่งเร้าใจ อาจเป็นรายละเอียดทางเทคโนโลยีที่ไม่สำคัญมากนักสำหรับรถสปอร์ทที่มีพละกำลังถึง 830 แรงม้า แต่ นี่คือ รถสปอร์ทของ FERRARI ขนานแท้ การเสริมแต่งความทันสมัยเข้ามา ย่อมจะต้องส่งผลดีต่อสมรรถนะโดยรวมของตัวรถอย่างไม่ต้องสงสัย นอกจากนี้ตัวถังของรถคันนี้ยังมีความเบาเป็นพิเศษ เพิ่มความคล่องแคล่วขณะทะยานไปบนทางโค้ง เป็นหนึ่งในความเร้าใจที่ค่ายรถแห่งนี้ทำได้อย่างยอดเยี่ยมเสมอมา องค์ประกอบของตัวรถยังคงต้องถูกออกแบบมาอย่างลงตัว เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของทีมผู้พัฒนารถสปอร์ทของค่ายม้าลำพองโดยแท้จริง มาพร้อมกับเส้นสายที่ดุดัน และมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างเต็มเปี่ยมในเวลาเดียวกัน ผสมผสานรูปทรงที่บ่งบอกความทันสมัย สะดุดตา บ่งบอกแนวทางใหม่ๆ ของค่ายรถคันนี้ผ่านรูปทรงของตัวรถได้เป็นอย่างดี เส้นสายบางส่วนชวนให้นึกถึงรถสปอร์ทระดับตำนานอย่าง DINO 246 (ดิโน 246) ขณะที่ส่วนท้ายของตัวรถมีเส้นสายที่พลิ้วไหว ชวนให้นึกถึงอีกหนึ่งตำนานอย่างรุ่น 250 LM (250 แอลเอม) มีการออกแบบส่วนของผู้โดยสารให้อยู่บริเวณส่วนหน้าของตัวรถมากยิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับรุ่น F8 TRIBUTO โดยในรุ่น 296 GTB ตำแหน่งของผู้ขับจะอยู่ใกล้กับฐานล้อคู่หน้าเข้าไปอีก 14 มม. (เป็นการประเมินผลอย่างละเอียดที่บ่งบอกความก้าวหน้าของการรังสรรค์รถสปอร์ทรุ่นนี้ขึ้นมา) ภายใต้ระยะฐานล้อที่กระชับสั้น ระดับ 2,600 มม. ใกล้เคียงกับรถสปอร์ทเครื่องยนต์วางกลางลำจากค่ายรถแห่งนี้ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นรุ่น 360 หรือ 430
การออกแบบห้องโดยสารเน้นความทันสมัยเต็มพิกัด รูปแบบที่คุ้นเคยดั้งเดิม และองค์ประกอบที่เคยใช้ในรุ่นก่อนหน้านี้ ต่างก็ถูกออกแบบให้มีความแตกต่างจากเดิม องค์ประกอบบางส่วนคล้ายกับรุ่น SF90 STRADALE (เอสเอฟ 90 สตราดาเล) ตำแหน่งของเบาะนั่งมีความลงตัวอย่างที่สุด มีทัศนวิสัยรอบผู้ขับที่เหมาะสม มุมมองด้านหน้าของผู้ขับเป็นหนึ่งในจุดที่น่าพอใจมาก เห็นได้จากการออกแบบสันเหลี่ยมเหนือซุ้มโป่งล้อที่สูงขึ้นมา ช่วยให้ผู้ขับสามารถกะระยะของตัวรถขณะทำการเลี้ยวได้แม่นยำยิ่งขึ้น และส่วนของเสา เอ ที่แยกกับชุดกระจกมองข้าง ช่วยให้มีทัศนวิสัยที่ดีขณะใช้ความเร็วสูง พวงมาลัยมีปุ่มใช้งานอยู่รายรอบ ใช้สำหรับการปรับเปลี่ยนโหมดการทำงานได้อย่างหลากหลาย ปรับแต่งค่าต่างๆ การใช้งานที่ปัดน้ำฝน และการใช้งานไฟส่องสว่างด้านหน้า ตำแหน่งของปุ่มอยู่ใกล้ระยะที่นิ้วมือของผู้ขับขยับไปใช้งานได้อย่างสะดวก ปุ่มใช้งานมีความแข็งแรง ให้ความรู้สึกที่หนักแน่นขณะกดใช้งาน เช่นเดียวกันกับปุ่มปรับโหมดการขับขี่ที่มีชื่อว่า MANETTINO รูปทรงของปุ่มสามารถหมุนใช้งานได้สะดวก และมีตำแหน่งการใช้งานที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีโหมดใช้งานแบบ E-MANETTINO สามารถใช้งานรร่วมกับระบบดั้งเดิมได้อย่างง่ายดาย และนำมาซึ่งรูปแบบการส่งกำลังที่ซับซ้อนกว่าเดิมเล็กน้อย เนื่องจากโหมดการขับเคลื่อนระบบไฟฟ้าจะอยู่ถัดจากโหมดขับเคลื่อนดั้งเดิม ดังนั้นการหมุนปุ่มเพื่อใช้งาน ผู้ขับต้องแน่ใจว่าตำแหน่งของปุ่มอยู่ในโหมดที่ต้องการอย่างเที่ยงตรง เมื่อผู้ขับแน่ใจว่าสามารถปรับโหมดได้ตามต้องการอย่างแน่นอนแล้ว ระบบของตัวรถเริ่มการตอบสนองในเวลาไม่นาน ความดุดันของขุมพลังก็เริ่มถูกปลดปล่อยออกมา ณ จุดนี้ปุ่มใช้งานบนฝั่งขวาของดวงมาลัยอาจยังไม่มีบทบาทในตอนนี้ เพราะส่วนใหญ่เป็นปุ่มใช้งานสำหรับแผงหน้าปัด และระบบความบันเทิง หน้าจอแบบดิจิทอลมีการแสดงผลที่ละเอียด ครบครัน แต่การเปลี่ยนรูปแบบการแสดงผลอาจต้องทำความคุ้นเคยในช่วงแรก และยังขาดความสะดวกสบายในบางครั้ง เนื่องจากนิ้วของผู้ขับจะต้องระมัดระวังไม่ให้โดนปุ่มที่ไม่ได้ใช้งานซึ่งมีตำแหน่งใกล้ชิดกันมาก การกดพลาดแม้เพียงนิดเดียวอาจลดทอนอารมณ์ความต่อเนื่องของการขับขี่ ขณะที่รายละเอียดของการใช้งานส่วนอื่นๆ ถือว่าทำได้ดีพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการแสดงผลบนจอแผงหน้าปัดแบบดิจิทอล รองรับการแสดงผลของระบบความบันเทิง รวมถึงรูปแบบการแสดงผลที่สะท้อนถึงการขับขี่แบบเน้นสมรรถนะ สุดท้าย คือ การแสดงผลของระบบเนวิเกเตอร์เต็มหน้าจอก็ทำได้เช่นกัน
เสียงคำรามของเครื่องยนต์ วี 6 สูบ
เครื่องยนต์ที่มีการส่งกำลังร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า ถ่ายทอดกำลังผ่านชุดเกียร์ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย สร้างความเร้าใจจากอัตราเร่งได้ยอดเยี่ยม แม้ก่อนหน้านี้เราจะระบุว่า เครื่องยนต์ถูกลดจำนวนลูกสูบออกไป 2 ชุด ทดแทนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าของระบบไฮบริด ความเร้าใจของขุมพลังอาจถูกลดทอนลงบ้าง เมื่อเทียบกับรถสปอร์ทเครื่องยนต์สันดาปล้วนๆ ในรุ่นก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม เอกลักษณ์ของเครื่องยนต์แบบ วี 6 สูบก็สร้างความเร้าใจที่แตกต่างได้ดีไม่แพ้กัน ชุดลูกสูบทำมุมเอียง 120 องศา และเสริมด้วยระบบควบคุมแบบอีเลคทรอนิค เป็นรูปแบบของเครื่องยนต์ยุคใหม่อย่างแท้จริงของค่ายม้าลำพอง เห็นได้จากซุ่มเสียงของเครื่องยนต์ มีความทุ้มแหลมเทียบเคียงกับเครื่องยนต์แบบ วี 8 สูบ แต่ผสมผสานเสียงหวีดแหลมตามแบบฉบับเครื่องยนต์ วี 6 สูบด้วย ให้อารมณ์ที่ผสมผสานกับการทำงานแบบลูกสูบแบบ วี 12 อีกด้วย เมื่อเครื่องยนต์ทำงานในขณะจอดนิ่ง เสียงที่ออกมามีความทุ้มต่ำ ไร้เสียงที่แตกพร่าแบบเครื่องยนต์ วี 6 สูบในสมัยก่อน โดยรวมแล้วเป็นโทนเสียงที่น่ารื่นรมย์มากมาย การตอบสนองด้วยซุ่มเสียงยังคงน่าพึงพอใจไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่การส่งกำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้ามีจังหวะการทำงานที่ไหลลื่น และมีความฉับไว ผสานการทำงานกับเครื่องยนต์สันดาปได้อย่างลงตัว การทะยานไปข้างหน้าไม่จำเป็นต้องเร่งเครื่องยนต์ถึงช่วงรอบสูงที่ 8,000 รตน. ผู้ขับสามารถเปลี่ยนเกียร์ในแต่ละจังหวะได้ฉับไวขึ้นเล็กน้อย พละกำลังที่ถูกปลดปล่อยออกมายังคงฉับไวไม่เปลี่ยนแปลง ภายใต้การส่งกำลังที่ดุดันอย่างต่อเนื่อง ผู้ขับอาจใช้เวลาไม่นานก็สามารถไต่ถึงช่วงรอบเครื่องยนต์ที่ 8,500 รตน. ในเวลาอันสั้นจากความคุ้นเคยดั้งเดิม และความเร็วที่แท้จริงของรถรุ่นนี้ ทำได้ทันใจใกล้เคียงกับเครื่องยนต์แบบไร้ระบบอัดอากาศเลยทีเดียว
ขณะที่ปุ่มใช้งานสำหรับโหมดขับเคลื่อนของมอเตอร์ไฟฟ้า E-MANETTINO การส่งกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้ามีความฉับไว ตอบสนองได้รวดเร็วตามแบบบับรถสปอร์ทของ FERRARI และยังฉับไวได้มากกว่าเดิมด้วยซ้ำ ความโดดเด่นอันนี้ไม่ได้มาจากการตอบสนองของชุดลูกสูบจากเครื่องยนต์สันดาปเพียงอย่างเดียว ชุดมอเตอร์ไฟฟ้าสามารถขับเคลื่อนตัวรถได้อีกด้วย นำมาซึ่งความแปลกใหม่ที่น่าพึงพอใจอย่างที่ไม่เคยพบเจอมาก่อนกับรถสปอร์ทของค่ายม้าลำพอง กับการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าล้วนที่เงียบสนิท ไร้เสียงจากเครื่องยนต์สันดาปโดยสิ้นเชิง เป็นรูปแบบใหม่ของขุมกำลังที่มีการพัฒนาให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในจุดเด่นของค่ายรถแห่งนี้เสมอมา ไม่ใช่แค่โหมดขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าล้วนเท่านั้น แม้แต่ในโหมดไฮบริด เสียงของเครื่องยนต์ก็อยู่ในระดับต่ำมาก
ความเร้าใจราวกับรถแข่ง
การปรับแต่งที่ลงตัวระหว่างเครื่องยนต์ และระบบเกียร์ คือ อีกหนึ่งจุดเด่นของรถสปอร์ทรุ่นนี้ ให้การตอบสนองที่ฉับไว และแม่นยำถึงที่สุด การส่งกำลังทำได้หนักแน่นตามความต้องการของผู้ขับ ต้องไม่ลืมถึงความลงตัวจากโครงสร้างตัวถังที่แข็งแรง มีจุดเด่น คือ น้ำหนักที่เบา ชุดระบบส่งกำลังมีความหนักแน่น และให้ความรู้สึกที่เร้าใจเกินกว่าที่ตัวเลขอัตราเร่งจะสะท้อนออกมาเป็นความรู้สึกในความเป็นจริงได้
จุดเด่นตามที่กล่าวมา มาจากการพัฒนาระบบส่งกำลังของ FERRARI ผสานกับชุดควบคุมด้วยอีเลคทรอนิคได้อย่างลงตัว แต่ไม่ได้หมายความว่า 296 GTB จะถูกลดทอนความดุดันแบบดั้งเดิมลงไป องค์ประกอบต่างๆ ถูกรังสรรค์อย่างละเอียดลออ จุดเด่นของแต่ละระบบถูกนำมาใช้ด้วยกันอย่างลงตัว ประกอบด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และการเชื่อมโยงการทำงานของระบบต่างๆ ตลอดจนความหนักแน่นของตัวรถโดยรวม เสริมด้วยจุดเด่นของชุดเสริมสมรรถนะ ASSETTO FIORANO ช่วยให้การขับขี่บนสนามแข่งมีความดุดันยิ่งขึ้น แม้จะลดทอนความสะดวกสบายของการขับบนถนนไปบ้างบางส่วน จากการถอดระบบรองรับแบบแปรผันการตอบสนองออกไป
ขณะที่รุ่น SF90 STRADALE มีอัตราเร่งที่ฉับไวกว่า (ตามพละกำลังสูงสุดที่มากกว่า) แต่ 296 GTB มีความคล่องแคล่วที่เหนือกว่า และบังคับควบคุมได้ง่ายกว่า นอกจานี้ตำแหน่งที่เหมาะสมของพวงมาลัยก็มีส่วนช่วยอย่างมาก มุมของพวงมาลัยพอดีกับตัวผู้ขับ ทำให้ประเมินตำแหน่งการเลี้ยวของล้อขณะหักพวงมาลัยได้อย่างแม่นยำ เป็นคุณสมบัติที่มาจากการปรับแต่งอย่างลงตัว ไม่ใช่การแปรผัน หรือช่วยเหลือจากระบบอีเลคทรอนิคใดๆ แสดงให้เห็นถึงการตอบสนองอันเฉียบคมจากตัวรถอย่างแท้จริง เฉกเช่นเดียวกับรถสปอร์ทในอดีต มีความหนึบแน่นที่ยอดเยี่ยมอีกต่างหาก ตัวรถสามารถทะยานในโค้งได้อย่างฉับไว ควบคุมได้อยู่มือ รองรับการเข้าโค้งความเร็วสูงได้อย่างเหลือเชื่อ เหนือสิ่งอื่นใด คือ การตอบสนองต่อการหักเลี้ยวที่แม่นยำราวกับเข็มทิศก็ไม่ปาน ล้อคู่หน้าสามารถเกาะโค้งได้อย่างหนึบแน่น และจะแสดงอาการอันเดอร์สเตียร์ออกมาเล็กน้อย เป็นการเตือนผู้ขับว่ากำลังใช้ความเร็วเกินขีดจำกัดแล้ว และทำให้ 296 GTB คันนี้สามารถทำได้อย่างที่นักแข่ง F1 ระดับตำนานเคยกล่าวไว้ว่า: ทุกโค้ง คือ จุดที่สามารถทำการแซงได้
ความเร้าใจที่ใกล้เคียงรุ่น SF90
รถสปอร์ทรุ่นใหม่ของ FERRARI มีการสืบทอดความโดดเด่นจากรุ่นก่อนหน้านี้ เห็นได้จากการออกแบบห้องโดยสารที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ของค่ายรถ 296 GTB จึงได้รับองค์ประกอบที่โดดเด่นจากรุ่น F8 TRIBUTO ในหลายส่วน นอกจากนี้ยังผสมผสานความโดดเด่นจากรุ่นทอพของค่ายอย่าง SF90 อีกด้วย เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว จะมีส่วนที่คล้ายคลึงกันหลายประการ แม้จะมีความแตกต่างกันในแง่ของพละกำลัง และสมรรถนะโดยรวม ส่วนการใช้งานต่างๆ ไม่แตกต่างกันมากนัก บรรดาปุ่มใช้งานบางจุดชวนให้นึกถึงรุ่นก่อนหน้านี้อย่าง 458 ITALIA (458 อิตาลีอา) ซึ่งเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2009 กับแนวคิดการออกแบบให้ปุ่มใช้งานต่างๆ มีผู้ขับเป็นจุดศูนย์กลางในระยะที่เอื้อมมือถึงได้สะดวก รวมถึงปุ่มปรับโหมดการทำงานที่อยู่บนพวงมาลัย ทั้งที่ตามปกติรถยนต์หลายรุ่นจะติดตั้งปุ่มดังกล่าวเอาไว้ในตำแหน่งอื่น รวมถึงปุ่มใช้งานระบบไฟเลี้ยวที่อยู่บนพวงมาลัยเช่นกัน เมื่อกาลเวลาผ่านไป การออกแบบที่การเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่น ปุ่มใช้งานแตรรถ ถูกติดตั้งตรงกลางพวงมาลัยตามที่คุ้นเคยกันมา เนื่องจากเดิมทีการติดตั้งปุ่มแตรบนก้านพวงมาลัยทำให้มีขนาดค่อนข้างเล็ก และใช้งานได้ไม่ฉับไวนัก สิ่งที่ยังคงมีเหมือนเดิม คือ ไฟส่องสว่างบอกระดับของรอบเครื่องยนต์บริเวณด้านบนของพวงมาลัย ช่วยให้ผู้ขับรับรู้จังหวะการเปลี่ยนจังหวะเกียร์ได้แม่นยำยิ่งขึ้น
เพิ่มขุมพลัง เพิ่มโหมดขับเคลื่อน
เช่นเดียวกับรุ่น SF90 STRADALE ปุ่มปรับโหมดการขับเคลื่อนที่มีชื่อว่า MANETTINO จะมีทั้งหมด 5 โหมดด้วยกัน นอกจากนี้ ยังมีการเสริมโหมดแบบ E-MANETTINO เพิ่มอีก 4 โหมดด้วยกัน (ตามรูปถัดไป) สามารถปรับเปลี่ยนการตอบสนองของขุมพลังได้หลากหลาย ในโหมด EDRIVE เป็นการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าล้วน โหมด HYBRID ระบบจะควบคุมการทำงานของขุมพลังจากเครื่องยนต์สันดาป หรือมอเตอร์ไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ โหมด PERFORMANCE เครื่องยนต์ วี 6 สูบทำงานตลอดเวลา แต่ระบบจะเน้นการชาร์จไฟฟ้าสู่ชุดแบทเตอรี และยังมีโหมด QUALIFY เน้นสมรถรนะสูงสุด เสริมกำลังด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเต็มพิกัด
ชุดตกแต่ง ASSETTO FIORANO
ชุดตกแต่งนี้เน้นการเสริมสมรรถนะขึ้นมาอีกระดับ เป้าหมายหลัก คือ การลดน้ำหนักโดยรวมลงมา และเสริมประสิทธิภาพของอากาศพลศาสตร์ วัสดุที่ใช้ในหลายจุด คือ คาร์บอนไฟเบอร์ ทั้งตัวถังภายนอก และภายในห้องโดยสาร (ในบางจุด เช่น แผงประตูด้านในจะถูกออกแบบใหม่) สามารถลดน้ำหนักลงได้อีก 12 กก. ขณะที่การเปลี่ยนรูปทรงของวัสดุบริเวณด้านหน้าของตัวรถสามารถสร้างแรงกดได้อีก 10 กก. ชุดชอคอัพแบบอีเลคทรอนิคถูกถอดออกไป แทนที่ด้วยระบบรองรับที่เน้นความหนึบแน่นเต็มที่ เหมาะสำหรับการขับในสนามแข่ง ขณะที่ความโฉบเฉี่ยวของรูปทรงภายนอก สามารถเลือกรูปแบบของสีตัวถังได้ โดยมีสีแบบทูโทนตามสไตล์ตัวแรงในอดีตรุ่น 250 LM เป็นหนึ่งในทางเลือก นอกจากนี้ยังมีกระจกมองข้างแบบน้ำหนักเบาเป็นพิเศษ (ลดน้ำหนักได้อีก 3 กก.) และยาง MICHELIN PILOT SPORT CUP 2 R
1. ปุ่มระบบสัมผัสสำหรับการใช้งานชุดไฟส่องสว่าง และการปรับกระจกมองข้าง
2. จอแผงหน้าปัดแบบดิจิทอล ปรับเปลี่ยนรูปแบบได้หลากหลาย (พร้อมการแสดงผลสะท้อนบนกระจกหน้า)
3. ปุ่มใช้งานชุดไฟเลี้ยว
4. ปุ่มใช้งานไฟส่องสว่าง และไฟส่องสว่างเวลากลางวัน
5. ปุ่มปรับโหมดขับเคลื่อน E-MANETTINO
6. ปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์
7. ปุ่มใช้งานโหมดขับเคลื่อน MANETTINO (5 โหมด คือ WET SPORT RACE CT OFF และ ESC OFF)
8. ปุ่มใช้งานที่ปัดน้ำฝนด้านหน้า
9. แผงควบคุมระบบปรับอากาศ
10. จอแสดงผลขนาดเล็กสำหรับผู้โดยสารข้างผู้ขับ
11. ปุ่มใช้งานไฟฉุกเฉิน โหมดเกียร์ (เกียร์ถอย, การเปลี่ยนเกียร์ด้วยตัวเอง และระบบช่วยออกตัวแบบเน้นอัตราเร่ง) และปุ่มปรับกระจกหน้าต่างแบบไฟฟ้า
12. ชุดรีโมทคอนทโรลสำหรับการเปิดประตู และสตาร์ทเครื่องยนต์