Quattroruote ทดสอบ
HONDA E:NY1
ห้องโดยสารออกแบบใหม่
นี่คือ รถยนต์รุ่นแรกที่ถูกใช้ตัวอักษร E กับการบ่งบอกถึงการเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัว มาพร้อมกับองค์ประกอบของการเป็นรถยนต์ไฟฟ้ายุคใหม่ เปี่ยมด้วยความทันสมัยมากมายแตกต่างจากรถยนต์ร่วมค่ายรุ่นอื่นๆ ค่ายรถ HONDA (ฮอนดา) เสริมทางเลือกของรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดภูมิภาคยุโรปด้วยรถยนต์สไตล์เอสยูวีขนาดเล็ก กับชื่อที่ค่อนข้างแปลกตา นั่นคือ E:NY1 (อี:เอนวาย 1) รถยนต์ที่มีเป้าหมายชัดเจน คือ (เห็นได้จากรูปทรงภายนอกที่มีความคุ้นตามากมาย) การเป็นหนึ่งในรถยนต์สไตล์ครอสส์โอเวอร์ที่ประสบความสำเร็จแบบเดียวกับที่ HR-V (เอชอาร์-วี) ทำได้มาแล้ว
รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่คันนี้อาจต้องใช้การสังเกตอย่างละเอียดจึงจะพบกับจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แม้จะยังไม่ใหญ่โตมากนัก แต่สามารถบ่งบอกได้ว่า นี่คือ การเบิกทางสู่อนาคตที่แตกต่างของการลุยตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัว สิ่งที่เห็นได้อย่างแรก คือ โลโกแบบใหม่ เป็นสีขาวล้วน (ถูกติดตั้งที่บริเวณกระจังหน้า ซึ่งสามารถเปิดออกเพื่อชาร์จไฟฟ้า บริเวณประตูบานท้าย และบนพวงมาลัย) รวมถึงตัวอักษรคำว่า HONDA พาดตลอดช่วงความกว้างของส่วนท้ายรถ
การใส่ใจในรายละเอียดเกินคาด
รูปทรงภายนอกที่ถอดแบบจากรุ่นเครื่องสันดาปอาจพาให้ใครหลายคนคิดว่าภายในห้องโดยสารคงไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก แต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย จุดแตกต่างกลับมีให้เห็นอย่างชัดเจนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบริเวณคอนโซลเกียร์ที่ถูกออกแบบใหม่ทั้งหมด และถูกแทนที่ด้วยปุ่มใช้งานระบบขับเคลื่อน แทนที่ของคันเกียร์อัตโนมัติแบบดั้งเดิม แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือ บนคอนโซลหน้าถูกติดตั้งหน้าจอแนวตั้งขนาดใหญ่ ถือเป็นการใช้งานเป็นครั้งแรกกับ E:NY1
เมื่อขึ้นมานั่งในห้องโดยสาร จุดเด่นที่สะดุดมากที่สุดประการแรกมาจากหน้าจอขนาดใหญ่ดังกล่าว สามารถเห็นการแสดงผลต่างๆ ได้อย่างชัดเจน หน้าจอใช้วัสดุชั้นดี ลดการสะท้อนของแสง และมีความละเอียดของหน้าจอที่สูง ช่วยให้มองเห็นตัวเลข และตัวอักษรบนหน้าจอได้สะดวก ซึ่งรถยนต์บางรุ่นไม่สามารถทำได้ดีพอเท่ารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้ สำหรับ E:NY1 การแสดงผลข้อมูลต่างๆ (เช่น ตัวเลขความเร็ว สถานการณ์ชาร์จแบทเตอรี และระยะทำการที่เหลืออยู่) สามารถมองเห็นได้ง่ายดาย การใช้งานของผู้โดยสารมีการเปลี่ยนแปลงในหลายส่วนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม บริเวณคอนโซลหน้ามีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือ หน้าจอแนวตั้งขนาดใหญ่ถึง 15.1 นิ้ว สามารถใช้งานระบบต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น ระบบความบันเทิง และระบบเนวิเกเตอร์ การเข้าถึงข้อมูลของตัวรถในหัวข้อต่างๆ และระบบปรับอากาศ ไม่มีปุ่มใช้งานแบบดั้งเดิมอีกต่อไป แบบที่เคยเห็นใน HR-V แต่ตำแหน่งของการใช้งานยังคงเป็นจุดที่คุ้นเคย การใช้งานแต่ละส่วนถูกจัดกลุ่มอย่างเป็นระเบียบ และสะดวกต่อการใช้งาน มีความสะดวกสบายกับการใช้งานรูปแบบใหม่ดังกล่าว
ตัวรถที่สมดุล
รถยนต์ไฟฟ้าถูกพัฒนาบนโครงสร้างแบบ E:N ARCHITECTURE F รถยนต์ไฟฟ้าของ HONDA จะถูกพัฒนาบนโครงสร้างดังกล่าวอีกหลายรุ่น โดยเป็นการนำโครงสร้างตัวถังของ HR-V เป็นพื้นฐาน และออกแบบให้มีความแข็งแรง รองรับการใช้งานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า และขับเคลื่อนล้อคู่หน้า อย่างไรก็ตาม มีรายละเอียดบางอย่างที่ถูกปรับปรุงให้ดีกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นความแข็งแรงโดยรวมของโครงสร้างถูกเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม โดยมีตัวเลขความแข็งแรงเพิ่มขึ้นพอสมควร (ในรุ่น HR-V คือ 41 % แต่กับโครงสร้างใหม่ คือ 47 %) จุดศูนย์ถ่วงตัวถังถูกลดต่ำลง เป็นผลดีจากตำแหน่งของแบทเตอรีที่ถูกติดตั้งเพิ่มเข้ามา รวมถึงตัวถังที่ถูกปรับปรุงให้มีอากาศพลศาสตร์ดีขึ้น ด้วยการพัฒนาให้มีรูปทรงของพื้นตัวถังด้านล่างที่ลงตัวยิ่งขึ้น ลดอากาศไหลวนใต้ท้องรถอย่างได้ผล
ทีมวิศวกรผู้พัฒนารถยนต์รุ่นนี้ ให้ความสำคัญอย่างแท้จริงกับการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า กับรูปแบบการขับเคลื่อนล้อคู่หน้า ทุกอย่างต้องมีความลงตัว ระบบขับเคลื่อนจะต้องมีขนาดกะทัดรัด และมีขนาดที่พอเหมาะสำหรับการติดตั้ง ถือเป็นกุญแจสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้ รายละเอียดต่างๆ ได้รับการเอาใจใส่เป็นอย่างดี เรารู้สึกได้จากการขับขี่รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้ซึ่งตอบสนองได้อย่างลงตัว มอเตอร์ไฟฟ้าของ E:NY1 มีการส่งกำลังที่ไหลลื่นต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นขณะทำอัตราเร่ง และเหนือสิ่งอื่นใด ขณะถอนเท้าจากคันเร่ง ผลลัพธ์ที่ลงตัวดังกล่าวมาจากการจัดสรรพลังงานไฟฟ้าที่ดี มีการหมุนเวียนพลังงานไฟฟ้ามาใช้งานในหลายสภาวะ การขับขี่มีความราบรื่นต่อเนื่อง เป็นระบบไฟฟ้าที่ทาง HONDA พัฒนาขึ้นมา ช่วยให้ผู้โดยสารไม่เกิดอาการ “เมารถยนต์ไฟฟ้า” (นั่นคือ อาการวิงเวียนศีรษะจากการหน่วงความเร็วขณะถอนเท้าจากคันเร่ง) ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าอภิรมย์แม้แต่น้อยสำหรับใครหลายคน กับการหน่วงความเร็วอย่างชัดเจนเมื่อผู้ขับถอนเท้าจากคันเร่ง
การใส่ใจในรายละเอียด
สมรรถนะโดยรวมของรถยนต์ไฟฟ้าคันนี้ก็ทำได้น่าพอใจเช่นกัน จากมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงสุด 204 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 31.6 กก.-ม. E:NY1 มีความสมดุลในแง่ของการประหยัดพลังงานไฟฟ้า (จากการแสดงผลบนหน้าจอ แสดงตัวเลขการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าที่ 17 กิโลวัตต์ชั่วโมง/100 กม.) และระยะทำการโดยรวมที่มากพอ จากการใช้แบทเตอรีที่มีความจุค่อนข้างมากที่ 68.8 กิโลวัตต์ชั่วโมง (ใช้งานได้จริง 61.9 กิโลวัตต์ชั่วโมง) สามารถชาร์จแบทเตอรีที่ 10-80 % ในเวลาเพียง 45 นาที (สำหรับการชาร์จไฟฟ้ากระแสตรงแบบ DC) เป็นผลดีจากการรองรับกระแสไฟฟ้าได้สูง (สูงสุดที่ 78 กิโลวัตต์) แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากการจัดสรรพลังงานไฟฟ้าที่เหมาะสม การส่งพลังงานไฟฟ้ามีความคงที่ โดยประสิทธิภาพการใช้งานของแบทเตอรีที่ทาง HONDA เลือกใช้งานอยู่ในระดับสูงสุดภายใต้ระดับของแบทเตอรีที่ 5-60 % ช่วยให้ชุดเซลล์ของแบทเตอรีรักษาความทนทานไว้ได้จากพลังงานไฟฟ้าที่ไหลเวียนอย่างคงที่
จุดเด่นดังกล่าวส่งผลต่อการขับขี่อย่างไรบ้าง ? การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า E:NY1 ค่ายรถสัญชาติญี่ปุ่นให้ความเอาใส่ใจในเรื่องของการขับขี่ที่ลงตัวอย่างถึงที่สุด เป็นผลดีจากโครงสร้างตัวถังที่แข็งแรง ระบบรองรับที่เหมาะสมกับรถยนต์สไตล์เอสยูวี มีความคล่องแคล่ว และตอบสนองอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่มากไม่น้อยไปกว่านั้น แน่นอนว่า การตอบสนองขณะขับขี่ย่อมมีความแตกต่างจาก HR-V เพราะรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้มีน้ำหนักโดยรวมมากกว่า จากชุดแบทเตอรีที่ถูกติดตั้งข้างใต้ตัวถัง
เมื่อพิจารณาในแง่ของความสะดวกสบาย รถยนต์ไฟฟ้าคันนี้ก็ทำได้น่าพอใจเช่นกัน ระบบรองรับมีการตอบสนองที่ลงตัว สามารถดูดซับแรงสั่นสะเทือนของพื้นผิวขรุขระได้ดีมาก และมีระดับเสียงรบกวนจากภายนอกที่ต่ำ ทำให้ผู้โดยสารมีบรรยากาศที่เงียบสงบจากภายในตัวรถ มีเพียงเสียงภายนอกเล็กน้อยจากยางขณะที่รถกำลังแล่นอยู่ และเสียงของลมปะทะตัวถังที่ต่ำ แม้ใช้ความเร็วสูงบนทางด่วนก็ตาม
โดยรวมแล้ว นี่คือ การพัฒนารถยนต์ที่มีความสมดุลดีมาก ให้ความรู้สึกที่มั่นคงขณะขับขี่ และองค์ประกอบที่น่าพอใจตามแบบฉบับรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น กับการก้าวเข้ามาทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัว เสริมด้วยภาพลักษณ์ของการเป็นรถยนต์ไร้มลพิษ ประเดิมทำตลาดในกลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรป อย่างไรก็ตาม การจะประสบความสำเร็จ “ในวงกว้าง” ยังคงเป็นเรื่องท้าทาย จากราคาเริ่มต้นที่ระดับ 57,700 ยูโร รถยนต์ไฟฟ้าแบบ B-SUV จากประเทศญี่ปุ่นยังมีราคาที่สูงเกินตัว แต่เชื่อรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นต่อไปในอนาคตจะแก้ไขจุดอ่อนข้อนี้ลงได้ในที่สุด
รุ่น ADVANCE ข้อมูลจากผู้ผลิต
HONDA E:NY1 มีความใกล้เคียงกับการเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่พัฒนาต่อยอดจากรุ่น HR-V ตัวถังภายนอกมีการปรับปรุงในรายละเอียดบางจุด แต่ถือเป็นจุดสำคัญไม่น้อย บ่งบอกการเป็นรถยนต์ไฟฟ้าของค่ายรถแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี ตัวหนังสือ HONDA บริเวณประตูบานท้าย พาดยาวตลอดช่วงความกว้างของประตูบานท้าย เป็นรูปแบบที่ไม่เคยใช้งานมาก่อน
ข้อมูลทางเทคนิค การจัดสรรพลังงานที่ชาญฉลาด
มอเตอร์ไฟฟ้า
- แบบซิงโครนัส วางด้านหน้า
- กำลังสูงสุด 204 แรงม้า
- แรงบิดสูงสุด 31.6 กก.-ม.
ชุดแบทเตอรี
- แบบลิเธียม-ไอออน ความจุ 68.8 กิโลวัตต์ชั่วโมง (ใช้งานได้จริง 61.9 กิโลวัตต์ชั่วโมง)
การชาร์จไฟฟ้า
- แบบ AC สูงสุด 11 กิโลวัตต์/แบบ DC สูงสุด 78 กิโลวัตต์
ระบบส่งกำลัง
- ขับเคลื่อนล้อคู่หน้า
- เกียร์อัตราทดคงที่
สมรรถนะ
- ความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม.
- 0-100 กม./ชม. 7.6 วินาที
- อัตราสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า 5.5 กม./กิโลวัตต์
- ระยะทำการสูงสุด 412 กม.
มิติตัวถัง และน้ำหนัก
- ระยะฐานล้อ 2,610 มม.
- ความยาว 4,340 มม. กว้าง 1,790 มม. สูง 1,580 มม.
- น้ำหนักโดยรวม 1,831 กก.
ราคา
- 57,700 ยูโร (ประมาณ 1,578,000 บาท ไม่รวมภาษีนำเข้า)
สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า การจัดสรรพลังงานเป็นหนึ่งในจุดสำคัญที่สุดของตัวรถ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าที่มีขนาดเล็ก มีข้อจำกัดที่การรองรับแบทเตอรีจะต้องไม่มีขนาดใหญ่เกินไป และประเด็นนี้เอง คือ หนึ่งในคุณสมบัติเด่นของ HONDA E:NY1 เพื่อการใช้พลังงานไฟฟ้าที่คุ้มค่าทุกกิโลวัตต์ชั่วโมง
รถยนต์ไฟฟ้าคันนี้มีโหมด ECON ให้ใช้งาน เป็นโหมดที่มีใช้งานในรถยนต์หลายรุ่นของค่ายรถแห่งนี้ แต่รูปแบบของการประหยัดพลังงานมีความแตกต่างออกไป เมื่อเปิดใช้งานแล้ว ระบบปรับอากาศจะเน้นการรักษาอุณหภูมิในห้องโดยสารให้คงที่ โดยเฉพาะในบริเวณโดยรอบผู้โดยสาร เมื่ออากาศโดยรอบค่อนข้างเย็น ระบบจะปรับความอุ่นของพวงมาลัย และเบาะนั่งขึ้นมา ด้วยลักษณะการทำงานดังกล่าว ทางค่ายรถจากประเทศญี่ปุ่นผู้พัฒนารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้ ระบุว่าสามารถประหยัดระดับของแบทเตอรีได้ที่ 2-3 % คิดเป็นระยะทำการได้ประมาณ 8-12 กม.
ชุดแบทเตอรี
ความจุของแบทเตอรีถือว่ามากเพียงพอต่อการใช้งาน ที่ 68.8 กิโลวัตต์ชั่วโมง (ใช้งานได้จริง 61.9 กิโลวัตต์ชั่วโมง) มีระยะทำการสูงสุดที่ 412 กม. ตามมาตรฐาน WLTP
จุดชาร์จไฟฟ้า
HONDA E:NY1 สามารถแสดงสถานการณ์ชาร์จไฟฟ้าให้เห็นจากนอกห้องโดยสารได้ ภาพด้านบน คือ ช่องเปิดบริเวณด้านหน้าของตัวรถ ใกล้ๆ กันมีชุดไฟส่องสว่างแบบแอลอีดี จำนวน 2 ชุด สามารถส่องสว่างเป็นจังหวะ และเปลี่ยนสีได้ แสดงผลสถานการณ์ชาร์จได้หลากหลาย ได้แก่ จุดชาร์จถูกเสียบเข้าเรียบร้อย (สีเขียว) กำลังทำการชาร์จ (สีน้ำเงินกะพริบ) ชาร์จเต็มแล้ว (สีน้ำเงินเข้ม) จุดชาร์จมีปัญหา (สีแดง)
คุณภาพอันไร้ที่ติ
ห้องโดยสารของ E:NY1 มีความทันสมัยอย่างน่าพอใจ แผงหน้าปัดเป็นแบบดิจิทอลเต็มตัว ส่วนคอนโซลเกียร์ถูกออกแบบใหม่หมดเช่นกัน รวมถึงการใช้งานระบบความบันเทิงรุ่นใหม่ หน้าจอมีขนาดใหญ่วางตำแหน่งในแนวตั้ง แต่การแสดงผลถูกแยกสัดส่วนข้อมูลในแนวนอน