เรื่องเด่น Quattroruote
INEOS GRENADIER
เอสยูวีที่มีเส้นสายเรียบง่าย แต่แฝงด้วยเครื่องยนต์กลไกที่ทันสมัยเกินคาด จัดเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย กับการถูกรังสรรค์จากความหลงใหลตัวลุยในอดีต สู่รถยนต์ที่มีเสน่ห์ไม่แพ้ใคร
การรังสรรค์จากความหลงใหล
แต่ไหนแต่ไร การจำแนกรถยนต์ประเภทต่างๆ จะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ หากไม่ใช่ขนาดของตัวถัง ก็จะเป็นลักษณะตัวถังของรถยนต์แต่ละคัน อย่างเช่น รถสปอร์ท รถสปอร์ทเปิดประทุน รถสเตชันแวกอน รถสไตล์เอสยูวี รถสปอร์ทคูเป หรือแม้แต่รถสเตชันแวกอนสไตล์สปอร์ท นอกเหนือจากนี้ คือ การจำแนกด้วยที่มาของรถยนต์แต่ละรุ่น บ่งบอกบุคลิกโดยรวมของรถแต่ละรุ่น และระบุเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้ชัดเจน รวมถึงสิ่งที่สืบทอดกันมาจากแต่ละแห่ง เช่น ประเทศอิตาลีจะเน้นความละเอียดอ่อน ประเทศอังกฤษเน้นรูปทรงสวยงาม แต่บอบบาง ประเทศเยอรมนีมีความสมดุลที่ยอดเยี่ยม และประเทศสหรัฐอเมริกาเน้นความทนทาน เป็นหนึ่งในปัจจัยที่แยกแยะตัวรถชัดเจน รวมถึงสิ่งที่ผู้ขับได้รับจากรถแต่ละประเภท จริงอยู่ว่า การจำแนกด้วยปัจจัยดังกล่าวอาจไม่ตรงกับความเป็นจริงเสียทั้งหมด ในบางแง่มุม ความต้องการของผู้เป็นเจ้าของก็มีส่วนในการแยกแยะรถยนต์แต่ละประเภท ปัจจัยด้านความแตกต่างที่เคยใช้มาอาจถูกเปลี่ยนแปลงไปในที่สุด สิ่งที่กล่าวมาคล้ายกับวงการฟุตบอล แต่เดิมทีความสามารถเฉพาะบุคคลเป็นสิ่งสำคัญของการเล่น สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่แฟนบอล แต่พอวันเวลาผ่านไป มีทฤษฎีการเล่นฟุตบอลแบบใหม่ขึ้นมา นั่นคือ การวางรูปแบบการเล่นเป็นทีมทั้งหมด แผนการเล่นที่ซับซ้อน การเชื่อมโยงของผู้เล่นแทบทุกตำแหน่ง สิ่งต่างๆ ที่ว่ามาเกิดขึ้นกับวงการยานยนต์เช่นกัน รูปแบบดั้งเดิมที่รับรู้กันมาตลอดอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย ทำให้การจำแนกตัวรถมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น รวมถึงความแตกต่างของรายละเอียดทางเทคนิค และความต้องการอื่นๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามา เช่น อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่น่าพอใจตามสมัยนิยม คุณสมบัติบางประการอาจถูกลดทอนลงได้ มีจุดเด่นอื่นๆ มาชดเชยได้ดีพอ รถยนต์ในปัจจุบันหลายรุ่นจึงต้องมีคุณสมบัติต่างๆ ที่หลากหลาย มากกว่าความโดดเด่นเฉพาะตัวเพียงไม่กี่ข้อ
ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างเห็นได้ชัดจากตัวลุย GRENADIER (กเรนาเดียร์) รถยนต์รุ่นแรกจากค่าย INEOS (อีเนออส) จัดเป็นตัวลุยที่รวมคุณสมบัติหลายประการเอาไว้ในตัว และมีความโดดเด่นอื่นๆ รวมอยู่ด้วย เส้นสายโดยรวมชวนนึกถึงเอสยูวีระดับตำนานรุ่นดั้งเดิมอย่าง DEFENDER (ดีเฟนเดอร์) จุดเด่นที่ขาดไม่ได้ย่อมเป็นประสิทธิภาพการลุยทางสมบุกสมบัน แต่เมื่อได้มาสัมผัสแล้ว เราพบว่าตัวลุยคันนี้ยังมีความโดดเด่นอีกหลายประการ
เป็นที่รู้กันว่าค้าย LAND ROVER (แลนด์ โรเวอร์) จะยุติการผลิตรุ่นดั้งเดิมของ DEFENDER อีกต่อไป มีบุคคลท่านหนึ่ง นั่นคือ เซอร์ จิม แรทคลิฟฟ์ (SIR JIM RATCLIFFE) เศรษฐีผู้มั่งคั่งจากประเทศอังกฤษ ผู้ครอบครองสินทรัพย์มูลค่ากว่า 2 พันล้านปอนด์ จากกิจการด้านเคมีภัณฑ์ และกิจการเกี่ยวกับน้ำมัน (บริษัท INEOS มีพนักงานถึง 23,000 คน) กิจการของบริษัทแห่งนี้มีความหลากหลาย ตั้งแต่การใช้งานรถมอเตอร์ไซค์ ผลิตภัณฑ์จากวัสดุสังเคราะห์ต่างๆ การใช้งานสมบุกสมบันในทะเลทราย เส้นทางภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูง ไปจนถึงการสนับสนุนทีมแข่งขันเรือใบ และทีมจักรยาน ไปจนกระทั่งการร่วมหุ้นในทีมฟุตบอล และร่วมสนับสนุนทีมแข่งรถใน FORMULA 1 บ่งบอกความรุ่งเรืองของกิจการได้ดี กลับมาที่ DEFENDER รุ่นดั้งเดิม คือ รถที่เขาเคยใช้งานมาอย่างสมบุกสมบันตลอดช่วงชีวิตที่สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมา เขาพบว่า ตัวลุยคันนี้เป็นเอสยูวีที่ยอดเยี่ยมมาก แต่ไม่เหมาะสำหรับการโดยสารอย่างสะดวกสบายในระยะทางไกล เขาจึงได้ติดต่อไปทาง LAND ROVER เพื่อขอซื้อลิขสิทธิ์ และรายละเอียดทางวิศวกรรมของเอสยูวีระดับตำนานที่ถูกยุติการผลิตไปแล้ว แน่นอนว่า เขาถูกทางบริษัทแม่อย่าง JAGUAR LAND ROVER (แจกวาร์ แลนด์ โรเวอร์) ปฏิเสธกลับมา แต่เขายังไม่ยอมแพ้ความตั้งใจง่ายๆ และมีแนวคิดว่า หากเขาไม่สามารถผลิต DEFENDER รุ่นดั้งเดิมได้ เขาก็จะรังสรรค์ขึ้นมาใหม่เสียเลย กับแนวคิดตั้งต้นที่ว่า LAND ROVER ถือกำเนิดขึ้นจากการใช้งานในกิจการของชาวไร่ รองรับการใช้งานหนักอย่างแท้จริง และเขาไม่ต้องการที่จะ…..จุดเด่นดั้งเดิมของตัวรถ หากย้อนดูหน้าประวัติศาสตร์จะพบว่าการตัดสินใจรังสรรค์ DEFENDER รุ่นดั้งเดิม เกิดขึ้นที่ผับในเมืองลอนดอนที่มีชื่อว่า GRENADIER ในปี 1720 และเป็นที่มาของชื่อรถยนต์รุ่นนี้ การระดมทุนเกิดขึ้นในเวลาต่อมา โดยมีผู้ให้ความสนใจมากมาย หนึ่งในนั้น คือ MR. NO (เป็นชื่อที่หลายคนเรียกบุคคลลึกลับคนนี้) เข้าร่วมหุ้นเป็นมูลค่าถึง 650 ล้านปอนด์ และมีโครงการพัฒนาอย่างต่อเนื่องที่ใหญ่โต นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มค่ายรถ DAIMLER (ไดมเลร์) เข้าร่วมการพัฒนารถยนต์รุ่นนี้ โดยจัดสรรส่วนหนึ่งของโรงงาน HAMBACH ที่เคยผลิตรถยนต์ในเครืออย่าง SMART (สมาร์ท) มีเป้าหมาย คือ การผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน (ก่อนหน้านี้ มีแผนงานที่จะผลิตในประเทศเวลส์ แต่ต้องมาเจอปัญหาเรื่อง BREXIT เสียก่อน) และให้ทางบริษัท MAGNA เป็นผู้พัฒนาระบบทางวิศวกรรมต่างๆ จัดเป็นกลุ่มธุรกิจยานยนต์ที่มีความเชี่ยวชาญมารวมตัวกันในพโรเจคท์นี้ ส่วนขุมพลังได้รับการสนับสนุนจากค่าย BMW (บีเอมดับเบิลยู) กับเครื่องยนต์แบบ 6 สูบเรียง ทั้งเบนซิน และดีเซล และเพื่อเป็นการอนุรักษ์ต้นกำเนิดของประวัติศาสตร์ของ DEFENDER ผับแห่งนั้นก็ถูกซื้อกิจการไปด้วย ส่วนการออกแบบก็มีแนวทางที่ชัดเจนแต่แรกอยู่แล้ว นั่นคือ การถอดแบบจาก DEFENDER รุ่นดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวก็ไม่ได้ไร้อุปสรรคเสียทีเดียว เพราะทาง INEOS ถูกฟ้องร้องโดยค่าย LAND ROVER เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของการออกแบบ แม้จะยุติสายการผลิตแล้วก็ตาม ในเวลาต่อมาทาง INEOS ก็ชนะคดีได้ และหนทางของการพัฒนารถรุ่นนี้ก็ดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น เงินทุนสนับสนุนก็หลั่งไหลเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว นับเป็นเวลาเพียง 5 ปี จากการริเริ่มโครงการที่ผับแห่งประวัติศาสตร์ GRENADIER พร้อมแล้วสำหรับการลุยตลาดในประเทศอิตาลี โดยมีราคาที่ 78,485 ยูโร (สำหรับรุ่นตัวถังแบบกระบะ จะมีราคาที่ 69,290 ยูโร กับรูปแบบเบาะนั่งทั้ง 2 หรือ 5 ที่นั่ง รุ่นที่ทำตลาดในอิตาลี จะไม่ได้รับส่วนลดของภาษี) โดยเตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการที่ประเทศสกอทแลนด์
ความเห็นหลังจากสัมผัสครั้งแรก: แม้การพัฒนารถยนต์รุ่นนี้จะเป็นการร่วมทุนมูลค่าสูงจากหลายฝ่าย แต่จุดสำคัญยังคงเป็นประสิทธิภาพโดยรวมของตัวรถที่ต้องมีความสมดุลในหลายด้าน การขับเคลื่อนบนทางสมบุกสมบันได้ดี อาจหมายถึงการลดทอนการขับขี่ที่ดีบนทางเรียบ เป็นสิ่งที่อาจต้องทำใจยอมรับ ขึ้นอยู่กับรสนิยม และความต้องการของผู้ให้ความสนใจด้วย การตอบสนองแบบดั้งเดิมที่ทีมงานได้พบ คือ การใช้งานระบบบังคับเลี้ยวที่ใช้คันชักคันส่งแบบดั้งเดิม เป็นรูปแบบที่พบได้ในรถยนต์ที่ทำตลาดเมื่อหลายปีก่อน ทั้งในแง่ของระบบเครื่องยนต์กลไก และการตอบสนองโดยรวม ความแม่นยำของการหักเลี้ยวที่ทำงานกับล้อคู่หน้าอาจไม่เฉียบคมนัก เมื่อผู้ขับทำการหักเลี้ยว ตัวรถจะใช้เวลาสักครู่ถึงจะตอบสนองตามพวงมาลัย นอกจากนี้ ยางที่ใช้ยังเป็นแบบรองรับเส้นทางเรียบ และทางสมบุกสมบันแบบ ALL TERRAIN ของ BF GOODRICH (หากต้องการทางเลือกอื่นๆ ยังมียางสำหรับทางเรียบให้ใช้งานของยี่ห้อ BRIDGESTONES) นอกจากนี้ รอบวงของการเลี้ยวพวงมาลัยก็ค่อนข้างมาก นั่นคือ 3.85 รอบของการเลี้ยวสุด สำหรับคนที่คุ้นเคยกับเอสยูวียุคใหม่ ถือเป็นการตอบสนองที่น่าแปลกใจพอสมควร แต่สำหรับคนที่ครอบครอง DEFENDER รุ่นดั้งเดิมอยู่แล้ว เป็นความคุ้นเคยดั้งเดิมที่น่าหลงใหลไม่น้อย ส่วนตัวถังมีการเพิ่มอุปกรณ์เพิ่มเติมด้านข้างตัวถัง (ทำให้เสียงลมปะทะขณะแล่นค่อนข้างดัง) ส่วนความสะดวกสบายของการโดยสารทำได้ดีอย่างน่าพอใจ
การลุยที่ทำได้หายห่วง
ถัดจากการขับบนถนนทางเรียบ เราลองขับบนทางสมบุกสมบัน GRENADIER กลายร่างจากนักซูโมตัวใหญ่อุ้ยอ้าย มาเป็นนักเต้นรำที่พลิ้วไหวนั่นเชียว แสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติเด่นที่รถยนต์คันนี้ถูกรังสรรค์ขึ้นมา เป็นผลดีจากระบบขับเคลื่อนที่ทันสมัย (เช่น ระบบลอคการส่งกำลังของชุดเฟืองท้ายแบบ 3 จุด เป็นอุปกรณ์เลือกติดตั้งสำหรับรุ่นที่เน้นการลุยทางสมบุกสมบันที่ไม่หนักหนาเกินไป ซึ่งมีให้เลือกใช้ในรถยนต์เพียงไม่กี่รุ่น) ส่วนเครื่องยนต์สัญชาติเยอรมัน (แม้ในความเป็นจริง เครื่องยนต์บลอคนี้มีการร่วมพัฒนา และผลิตในประเทศฝรั่งเศสด้วย เป็นอีกหนึ่งในรายละเอียดที่ไม่ควรมองข้าม) สามารถปีนป่ายอุปสรรคได้อย่างยอดเยี่ยม รถคันนี้ติดตั้งระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน สามารถแล่นลงเนินชันด้วยความเร็วที่คงที่จากการช่วยเหลือของระบบอีเลคทรอนิค อีกจุดหนึ่งที่ไม่อาจมองข้าม คือ น้ำหนักโดยรวมของตัวรถ ระหว่างการทดสอบ การบังคับเลี้ยวต้องใช้ความตั้งใจค่อนข้างมาก แม้ส่วนหนึ่งจะมาจากการใช้พวงมาลัยทางฝั่งขวา ในกรณีที่ล้อฝั่งซ้ายแล่นผ่านพื้นถนนเปียก ตัวรถมีอาการโคลงค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะขณะทำการหักเลี้ยวอย่างต่อเนื่อง และการเลี้ยวหลบสิ่งกีดขวางยิ่งต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้น เพราะแรงเหวี่ยงของตัวรถจะมีให้สัมผัสอย่างชัดเจน
ทัศนวิสัยมีความปลอดโปร่งดีมาก จากรูปทรงของตัวรถที่เน้นเหลี่ยมสันรอบคัน ขณะที่ขุมพลัง ค่อนข้างฟันธงได้ยากว่าบลอคไหนดีกว่ากันสำหรับการลุยทางสมบุกสมบัน ระหว่างเครื่องยนต์เบนซิน และดีเซล (ทั้ง 2 บลอคผลิตโดย BMW แบบ 6 สูบเรียง และมีขนาด 3.0 ลิตร) โดยทางเบนซินเน้นการขับขี่ที่เร้าใจ แต่ดีเซลมีแรงบิดที่ดีในช่วงรอบเครื่องยนต์ต่ำ (และยังประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงมากกว่า ทำให้ขับได้ระยะทางไกลกว่าจากถังน้ำมันความจุ 90 ลิตร) อย่างไรก็ตามทั้ง 2 บลอคมีประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยม ส่งกำลังได้อย่างไร้ที่ติกับระบบเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะของ ZF โดยที่ตอนนี้ยังไม่มีทางเลือกของระบบเกียร์ธรรมดา สิ่งที่อยากเน้นในรายละเอียดอีกเล็กน้อย คือ พวงมาลัยแบบ 2 ก้าน ไม่ใช่แบบ 3 ก้านแบบที่คุ้นเคยกัน ชวนนุกถึงรถยนต์ขนาเล็กอย่าง SMART (แม้ทางผู้ผลิตจะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกัน) การใช้งานบนเส้นทางสมบุกสมบันอาจทำให้ผู้ขับเกิดความสับสันได้จากการไม่แน่ใจในตำแหน่งของพวงมาลัย
ส่วนถัดมา คือ ห้องโดยสาร มีการออกแบบที่รักษาความคุ้นเคยของ DEFENDER รุ่นดั้งเดิม เป็นหนึ่งในจุดเด่นของ GRENADIER ที่น่าจะถูกใจขาลุยแบบดั้งเดิม การใช้งานต่างๆ ยังเป็นแบบแอนาลอค คอนโซลกลางติดตั้งปุ่มใช้งานมากมาย สามารถใช้งานได้แม้ใส่ถุงมืออยู่ก็ตาม (แม้ระบบปรับอากาศจะทำงานได้ดีก็ตาม แต่ช่องแอร์ถูกออกแบบที่เน้นความอนุรักษ์นิยมมากกว่าการใช้งานจริง) จอแสดงผลหลักมีขนาดค่อนข้างเล็ก แม้มีการแสดงผลที่หลากหลาย เนื่องจากด้านหลังพวงมาลัยไม่มีแผงหน้าปัดใดๆ การอ่านค่าต่างๆ ผู้ขับจึงต้องละสายตาจากถนนอย่างเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ เราพบว่าการออกแบบบริเวณคอนโซลเกียร์เป็นรูปแบบดั้งเดิมเช่นกัน เสริมด้วยปุ่มใช้งานแบบหมุน และปุ่มกดต่างๆ คันเกียร์รูปทรงคุ้นเคยตามสไตล์ของ BMW ปุ่มใช้งานบางจุดไม่ใช่ระบบสัมผัส การกดปุ่มบางตำแหน่งต้องใช้ทั้ง 2 มือ ซึ่งไม่สะดวกเท่าใดนัก
เรามีความเห็นว่า ทีมงานผู้ออกแบบรถรุ่นนี้ตั้งใจให้รูปแบบการใช้งานคล้ายกับรถรุ่นดั้งเดิม อย่างเช่น การใช้งานของระบบเฟืองท้ายที่หลากหลาย (แต่บางครั้งก็ยุ่งยากพอสมควร) สิ่งที่อยู่ในความคาดหมาย คือ การขาดระบบความปลอดภัยสมัยใหม่ (เช่น ระบบรักษาตัวรถให้อยู่กลางเลน หรือ ระบบช่วยเบรคฉุกเฉินด้านหน้า) เบาะนั่งปรับทิศทางด้วยไฟฟ้า ที่ปัดน้ำฝนหน้าทำงานอัตโนมัติ ระบบเครื่องเสียงชั้นดี และระบบกุญแจอัจฉริยะ ที่กล่าวมาไม่มีติดตั้งมาให้เลย ส่วนหนึ่งมาจากแนวคิดการพัฒนาของ GRENADIER ที่เน้นความทนทานเป็นหลัก อุปกรณ์หลายรายการเลยไม่มีติดตั้งมาให้ เราเข้าใจเลยว่าเพราะเหตุใดผู้ริเริ่มโครงการอย่าง SIR JIM มีความมั่นใจในคุณภาพโดยรวมของรถยนต์รุ่นแรกของการทำตลาดจากค่าย INEOS (คันต่อไปจะเป็นสไตล์กระบะที่เน้นการใช้งานหนักเช่นกัน) กับการรับประกันนานถึง 5 ปี หากเป็นไปได้ทีมงานของเราจะพยายามนำรถรุ่นนี้มาทสอบเต็มตัวที่สนาม VAIRANO ในอนาคตข้างหน้า สิ่งที่เห็นได้ชัดอีกประการจากรถรุ่นนี้ คือ การลงทุนลงแรงในการพัฒนาอย่างจริงจัง เพื่อจุดเด่นที่ชัดเจนตั้งแต่ริเริ่มโครงการ และมีความแตกต่างจากรถยนต์ยุคปัจจุบัน การลุยทางสมบุกสมบันทำได้ยอดเยี่ยม แม้การวิ่งบนทางเรียบจะไม่เฉียบคมนัก ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของรถยนต์สายลุย อย่างรก็ตาม เรามีความเห็นว่า การปรับปรุงในบางจุดยังสามารถกระทำได้ นั่นคือ ระบบบังคับเลี้ยวที่ควรจะตอบสนองได้แม่นยำกว่านี้ รวมถึงระบบรองรับที่สามารถปรับแต่งให้เน้นความนุ่มนวลสะดวกสบาย เหมาะกับการใช้งานทั่วไปได้ความหลากหลายกว่าเดิม
เอสยูวี รุ่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความหลงใหลในตัวลุยระดับตำนานอย่าง DEFENDER รุ่นดั้งเดิม
ลุยโคลนได้สบาย
ภาพด้านล่างจากฝั่งซ้ายมือ ไฟหน้าแบบ แอลอีดี แต่ออกแบบให้มีรูปทรงคล้ายรุ่นดั้งเดิม (จุดยึดด้วยนอตแสดงว่าสามารถถอดซ่อมบำรุงได้สะดวก) ล้อแมกมีทางเลือก 2 ขนาด คือ 17 และ 18 นิ้ว ของ BF GOODRICH ยางแบบ ALL TERRAIN ใช้ได้ทั้งทางเรียบ และทางลุย ตัวถังลุยได้ดี จากมุมปะทะที่ 35.5 องศา มุมจาก 36.1 องศา มุมคร่อม 28.2 องศา สามารถลุยน้ำลึกสูงสุดที่ 800 มม. จากระยะความสูงจาพื้นถนนที่ 264 มม.
ข้อมูลทางเทคนิค ตัวลุยสุดแกร่งขนานแท้
จากรายละเอียดที่เห็น เราพบว่าโครงสร้างตัวถังของ GRENADIER ถูกพัฒนาขึ้นมาสำหรับการใช้งานหนัก รวมถึงงานบรรทุกขนส่งต่างๆ โครงสร้างมีความแน่นหนา และมีขนาดใหญ่ เห็นได้ชัดจากรูปทรงโดยรวมของโครงสร้าง แต่ละสัดส่วนดูใหญ่โตอย่างน่าทึ่ง เพื่อความทนทานจากการใช้งานหนัก นับตั้งแต่ช่วงเฟืองท้าย ถูกผลิตโดยบริษัทสัญชาติอิตาเลียนชื่อ CARRARO มีประสบการณ์การผลิตเครื่องจักรขนาดใหญ่มานานว่า 90 ปี เน้นหนักที่การใช้งานสำหรับภาคเกษตรกรรม รวมไปถึงชิ้นส่วนปลีกย่อยอื่นๆ ที่เอาเข้าจริงยังมีขนาดค่อนข้างใหญ่อยู่ดี แต่เหมาะสมสำหรับรถยนต์ประเภท เอสยูวี ที่เน้นลุยทางสมบุกสมบันเต็มๆ ส่วนขุมพลัง มาจากค่าย BMW แบบ 6 สูบเรียง 3.0 ลิตร มีให้เลือกทั้งเบนซิน และดีเซล เน้นองค์ประกอบที่เรียบง่าย เพื่อค่าใช้จ่ายในเรื่องการบำรุงรักษาที่ไม่สูงเกินไป ระบบส่งกำลังเป็นแบบอัตโนมัติ 8 จังหวะของ ZF และยังมีระบบเกียร์ที่เน้แรงบิดในรอบต่ำสำหรับการลุยทางสมบุกสมบัน
รุ่น 3.0
ข้อมูลจากผู้ผลิต
เครื่องยนต์
• วางด้านหน้าตามยาว
• เบนซิน เทอร์โบ 6 สูบเรียง
• ความจุ 2,998 ซีซี
• กำลังสูงสุด 286 แรงม้า ที่ 4,750 รตน.
• แรงบิดสูงสุด 45.9 กก.-ม. ที่ 1,750-4,000 รตน.
ระบบส่งกำลัง
• ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ พร้อมระบบลอคเฟืองท้าย 3 ตำแหน่ง
• เกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ
สมรรถนะ
• ความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม.
• อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 8.6 วินาที
• อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 6.9 กิโลเมตร/ลิตร
• อัตราการปล่อยไอเสียเฉลี่ย 325 กรัม/กม.
มิติตัวถัง และน้ำหนัก
• ระยะฐานล้อ 2,920 มม.
• ความยาว 4,900 มม. กว้าง 1,930 มม. สูง 2,050 มม.
• น้ำหนักโดยรวม 2,736 กก.
ราคา
• 78,485 ยูโร (ประมาณ 3,320,000 บาท ไม่รวมภาษีนำเข้า)
ผลิตที่ประเทศอิตาลี
ชุดเฟืองของระบบขับเคลื่อนผลิตจากบริษัทสัญชาติอิตาเลียนชื่อ CARRARO ชิ้นส่วนมีขนาดใหญ่โต ด้านหน้าติดตั้งชุดคันชักคันส่ง และจุดยึดต่างๆ ระบบเบรคแบบจานทั้ง 4 ล้อ โดยคู่หน้ามีช่องระบายอากาศ
ขุมพลัง BMW กับ 2 ทางเลือก
เครื่องยนต์แบบ 6 สูบเรียง ขนาด 3.0 ลิตร (ส่งกำลังร่วมกับเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ของ ZF) รหัส 8HP51 มีทางเลือกทั้งเครื่องยนต์เบนซิน และดีเซล โดยบลอคแรกใช้ชุดเทอร์โบ รหัส B58 ฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง กำลังสูงสุด 286 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 45.9 กก.-ม. ขณะที่บลอคต่อมาใช้เทอร์โบคู่รหัส B57 สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล กำลังสูงสุด 249 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 56.1 กก.-ม.
แบบดั้งเดิมขนานแท้
โครงสร้างตัวถังมีความแน่นหนา ขึ้นรูปด้วยโลหะทรงเหลี่ยม ครอบคลุมทุกสัดส่วนของตัวถังของ GRENADIER