เรื่องเด่น Quattroruote
BMW X1
เส้นสายที่โฉบเฉี่ยว และระบบความบันเทิงอันทันสมัย การแสดงผลแบบดิจิทอลอันหลากหลาย คือ จุดเด่นของเอสยูวีรุ่นนี้ มาพร้อมเครื่องยนต์ดีเซล ประสิทธิภาพสูง แม้ในรุ่นพื้นฐานก็มีอุปกรณ์ต่างๆ ติดตั้งมาให้อย่างครบครัน
รุ่น SDRIVE18D X-LINE EDITION ESSENCE
ราคา (จากผู้ผลิต)
• 46,720 ยูโร (ประมาณ 1,780,000 บาท ไม่รวมภาษีนำเข้า)
เครื่องยนต์
• ดีเซล เทอร์โบ 4 สูบเรียง
• 1,995 ซีซี
กำลังสูงสุด
• 150 แรงม้า
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
• จากผู้ผลิต (มาตรฐาน WLTP) 18.2 กม./ลิตร
• จากการทดสอบ 17.2 กม./ลิตร
• ความคุ้มค่า 10.73 ยูโร/100 กม.
อัตราการปล่อยไอเสียเฉลี่ย
• จากผู้ผลิต (มาตรฐาน WLTP) 145 กรัม/กม.
• จากการทดสอบ 154 กรัม/กม.
จุดแข็ง
เครื่องยนต์ของ BMW ยังคงรักษาจุดเด่นด้านการประหยัดเชื้อเพลิงเอาไว้ได้เป็นอย่างดี อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงโดยรวมอยู่ในระดับที่น่าพอใจ นอกจากนี้ระบบความบันเทิงยังมีความทันสมัย ผสมผสานระหว่างการใช้งานที่ครอบคลุม และสะดวกสบาย
จุดอ่อน
การปรับแต่งระบบรองรับที่เน้นความหนึบแน่น ทำให้รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนค่อนข้างมาก เมื่อแล่นผ่านพื้นผิวขรุขระ ลดทอนความนุ่มนวลโดยรวมพอสมควร นอกจากนี้การปรับแต่งระบบควบคุมเสถียรภาพตัวรถ ทำให้ตัวรถมีอาการท้ายปัดได้เล็กน้อย หากเข้าโค้งที่ความเร็วสูง
BMW X1 (บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 1) ถือกำเนิดขึ้นในปี 2009 เป็นรุ่นเริ่มต้นในกลุ่มครอสส์โอเวอร์ขนาดเล็กของค่ายรถแห่งนี้ บนพแลทฟอร์มที่ยังคงผสมผสานการขับเคลื่อนล้อหลัง (หรือ 4 ล้อตลอดเวลา) ซึ่งเป็นที่นิยมตลอดมา แต่คนรุ่นที่ 2 ซึ่งเกิดในปี 2017 กลับมีการเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง สู่รูปแบบใหม่ของการขับเคลื่อนล้อหน้า และเครื่องยนต์วางตามขวาง (แต่ยังเป็นส่วนประกอบสำคัญ) เช่นเดียวกับคู่แข่งสำคัญ คือ AUDI (เอาดี) และ MERCEDES-BENZ (เมร์เซเดส-เบนซ์) เหนือสิ่งอื่นใด กับรุ่นที่ 3 ของ X1 ยังคงยึดมั่นในรูปแบบทางเทคนิคนี้ การประหยัดพื้นที่บนเครื่องยนต์ และพัฒนาในหลายด้านดำเนินต่อไป กับหนทางแบบ 2 เส้นทางคู่ขนาน: ด้านหนึ่งการออกแบบ ด้วยเส้นสายที่เฉียบคมยิ่งขึ้น และเน้นหนักที่การขับขี่อันเป็นเอกลักษณ์ของค่ายจากแคว้นบาวาเรีย มาพร้อมรูปแบบใหม่ของรถยนต์รุ่นนี้ นั่นคือ การเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัวกับรุ่น IX1 (ไอเอกซ์ 1) ตามกระแสที่กำลังมาแรงในยุคปัจจุบัน กำลังสูงสุดถึง 313 แรงม้า และแบทเตอรี 64.7 กิโลวัตต์ชั่วโมง ในขณะที่รุ่นอื่นๆ ที่มีเครื่องยนต์สันดาปภายในได้รับประโยชน์จากการเสริมแบทเตอรี ไม่ว่าจะเป็น ระบบพลัก-อิน ไฮบริด และเครื่องยนต์สันดาปที่เสริมด้วยระบบไฮบริดขนาดเล็กแบบ 48 โวลท์ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การใช้พลังงานไฟฟ้ามีต้นทุนเพิ่มเติม ราคาของรุ่นพลัก-อิน ไฮบริด เริ่มต้นที่ประมาณ 50,000 ยูโร ส่วนรุ่นรถยนต์ไฟฟ้า คือ 60,000 ยูโร สำหรับการทดสอบบนท้องถนนของ X1 ใหม่ เราเลือกหนึ่งในนั้น รุ่นย่อยที่อยู่ด้านล่าง นั่นคือ SDRIVE 18D (เอสดไรฟ 18 ดี) ซึ่งตัวย่อที่อยู่ด้านหลังบ่งบอกว่ารถคันนี้ขับเคลื่อนล้อหน้าเท่านั้น (สำหรับทางเลือกระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลามีในรุ่น 20D (20 ดี) กับระบบไฟฟ้าแบบ 48 โวลท์) เครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ ขนาด 2.0 ลิตร 150 แรงม้า ในส่วนของขุมพลังอาจต้องพบกับข้อจำกัดหลายประการในปัจจุบัน การพัฒนาเครื่องยนต์บลอคนี้หยุดนิ่งมาระยะหนึ่งแล้ว สุดท้ายทางออกที่ดีที่สุด คือ การเสริมระบบไฮบริดขนาดเล็กเข้าไป เพื่อแก้ไขจุดอ่อนเรื่องของค่าไอเสีย จากการมีตัวถังที่หนัก และตัวถังที่ค่อนข้างต้านลม ส่งผลต่อการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงด้วย หากจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างเบ็ดเสร็จ คงต้องหันไปคบกับรุ่นรถยนต์ไฟฟ้าล้วน แต่นั่นเป็นสิ่งที่เราจะกล่าวต่อไปในภายหลัง
เราขอเริ่มต้นด้วยการเข้าไปนั่งห้องโดยสาร และพิจารณารูปแบบของเบาะนั่งเป็นลำดับแรก ภายในห้องโดยสารยังมีความคุ้นเคยหลายประการ พื้นที่ช่วงขาที่มีให้เหลือเฟือ เทียบเท่ารุ่นมีนีเอมพีวีที่ทำตลาดก่อนหน้านี้อย่าง 2 SERIES ACTIVE TOURER (ซีรีส์ 2 แอคทีฟ ทัวเรอร์) อารมณ์แทบจะเหมือนกัน ดังนี้แล้วเกือบทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สามารถรับรู้ได้ทันที เมื่อหันไปมองรอบห้องโดยสาร สิ่งที่สะดุดตา คือ จอแสดงผลแบบโค้ง 2 ชั้น ที่ปรากฏอยู่ด้านบนของคอนโซลหน้า แทนที่แผงหน้าปัดแบบเก่า และระบบความนเทิงของรุ่นก่อนหน้า รวมหน้าจอทั้ง 2 รูปแบบเข้าไว้ด้วยกัน หน้าจอแสดงข้อมูลการเดินทางปรากฏขึ้นด้านหน้าผู้ขับ สามารถเปลี่ยนกราฟิคได้อย่างง่ายดาย ด้วยปุ่มบนพวงมาลัย และระบบความบันเทิงอื่นๆ พร้อมระบบปฏิบัติการ 8.0 มีการอัพเดทอยู่เสมอ เชื่อมต่อกับเครือข่ายได้ สามารถควบคุมผ่านหน้าจอ ถ้าไม่อยากใช้งานหน้าจอระบบสัมผัส ก็ใช้การสั่งงานด้วยเสียงได้ เป็นทางออกที่ใช้งานได้จริง และปลอดภัยยิ่งขึ้น รองรับการใช้งานของเครื่องปรับอากาศ ไปจนถึงการจัดการของระบบความปลอดภัย แม้จะต้องทำความคุ้นเคยในระยะแรก แต่การสั่งงานด้วยเสียงสามารถลดอุณหภูมิลง หรือปิดใช้งานจอแสดงผลบนกระจกหน้ารถ หรือระบบการรักษาช่องทางเดินรถ (ที่ทำงานค่อนข้างรุนแรง) ให้ทำงานหรือไม่ตามความต้องการ ส่วนอุโมงค์กลางมีรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง และใช้งานได้สะดวกมากกว่า นั่นคือ โครงสร้างแบบลอยตัวที่ทำหน้าที่เป็นที่วางแขน เป็นคอนโซลสำหรับปุ่มต่างๆ ที่ใช้บ่อยที่สุด (ตั้งแต่คันเกียร์ ไปจนถึงการปรับระดับเสียง รวมถึงระบบความปลอดภัย) และพื้นที่ว่างด้านล่างสำหรับการเก็บของขนาดใหญ่ ในทางกลับกัน มือถือบนแท่นชาร์จไร้สายในตำแหน่งเกือบแนวตั้ง โดยรวมมีความสะอาด และสะดวกกว่า ความชาญลาดในการออกแบบ X1 เห็นได้จากการเพิ่มเติมอรรถประโยชน์หลายประการ เช่น เบาะหลังแบบเลื่อนได้ (ตัวเลือกราคา 310 ยูโร) การพับแยกส่วนแบบ 40:20:40 และที่เก็บสัมภาระท้ายมีความจุมากขึ้น (ถึง 516 ลิตร หรือเพิ่มอีกประมาณ 20 ลิตร) พร้อมประตูบานท้ายเปิด/ปิดอัตโนมัติ เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในทุกรุ่น
การทดสอบบนถนนจริงกับ X1 เราได้ขับรถยนต์รุ่นนี้เป็นระยะทางไกลถึง 1,800 กม. เราพบว่ามันมีถังน้ำมันที่ใหญ่กว่าเดิม (เป็น 54 ลิตร แทนที่ 45 ลิตรเดิม) แต่ในบรรดารถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์เบนซินระบบไฮบริด เราได้ขับโดยทั่วไป ถือเป็นความจุที่อยู่ในระดับเดียวกัน ขับขี่ได้เป็นระยะทางไกล นับเป็นจุดที่น่าพอใจของเครื่องยนต์ดีเซลที่มีประสิทธิภาพ และในการทดสอบ เราเห็นความคุ้มค่าของอัตราสิ้นเปลืองบนทางหลวงที่ 17.1 กม./ลิตร ตามการใช้งานจริง ส่วนหน้าของตัวรถที่ลู่ลมขึ้นเล็กน้อยก็มีส่วนช่วย ขณะที่ระบบไฟฟ้าอาจยังไม่มีผลมากนักในจุดนี้ ตัวเลขจะลดลงมาที่ 14.9 กม./ลิตร ในตัวเมือง แต่โดยเฉลี่ยแล้วก็ยังเกินระดับ 17.0 กม./ลิตร ยังถือว่าน่าพอใจสำหรับเอสยูวีขนาดเล็กจากค่ายรถแห่งนี้
สิ่งที่ถูกเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดนับตั้งแต่ BMW X1 เริ่มทำตลาดเป็นรุ่นแรกในปี 2015 นอกเหนือจากรหัสตัวถังที่เปลี่ยนไปของรุ่นบุกเบิก (E84) และรุ่นที่ 2 (F48) คือ รูปแบบการวางเครื่องยนต์ตามยาวแบบดั้งเดิม และระบบขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง ต่อมาเป็นการใช้งานโครงสร้างตัวถังแบบใหม่ รหัส UKL ใช้งานร่วมกับยี่ห้อร่วมเครือ นั่นคือ MINI (มีนี) ผลลัพธ์ คือ การวางเครื่องยนต์ตามขวาง ระบบขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า และพื้นที่ห้องโดยสารที่กว้างขวางกว่าเดิม มาจนถึงรุ่นล่าสุด เมื่อเทียบพื้นที่ของห้องโดยสารแล้ว X1 รุ่นที่ 3 มีความกว้างขวางที่ใกล้เคียงกับรุ่นก่อนหน้า พื้นที่ใช้สอยโดยรวมมีความใกล้เคียงด้วย และรวมถึงพื้นที่เก็บสัมภาระ ในแง่ของห้องโดยสาร สิ่งที่เราได้สัมผัสจาก X1 รุ่นล่าสุด คือ การเปลี่ยนการใช้งานให้เป็นรูปแบบดิจิทอลมากยิ่งขึ้น รวมถึงการใช้งานต่างๆ มีความทันสมัยมากขึ้นอย่างชัดเจน บริเวณคอนโซลเกียร์มีปุ่มใช้งานรูปแบบใหม่ ช่วยให้มีพื้นที่ใช้สอยมากกว่าเดิมอีกด้วย ในส่วนของเครื่องยนต์ กับขุมพลังดีเซล เทอร์โบ รหัส 18D มีการตอบสนองที่น่าพอใจในภาพรวม อย่างไรก็ตาม เครื่องยนต์บลอคที่ใช้ในรุ่นล่าสุดมีการปรับปรุงในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นค่าไอเสียเฉลี่ยที่ต่ำลง รวมถึงการประหยัดเชื้อเพลิงที่ดีขึ้น จุดสำคัญ คือ การเพิ่มระบบไฮบริดขนาดเล็กแบบ 48 โวลท์สำหรับเครื่องยนต์สันดาปบลอคนี้ ช่วยเสริมสมรรถนะ และการประหยัดเชื้อเพลิงอย่างได้ผล
BMW X1 รุ่นก่อนหน้านี้ รหัส F48 เริ่มทำตลาดในช่วงปลายปี 2015 ถึงต้นปี 2016
1. การแสดงผลของหน้าจอหลัก ยังคงมีความครบครัน มีการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เนท เช่น ข้อมูลสภาพอากาศ และข่าวสารต่างๆ มีระบบสั่งงานด้วยเสียง อย่างไรก็ตาม เริ่มดูล้าสมัยในช่วงเวลาปัจจุบัน
2. แผงหน้าปัดแบบดิจิทอลยังไม่มีใช้งานในเวลานั้น จึงเป็นการใช้งานของหน้าปัดแอนาลอคทรงกลมแบบดั้งเดิม อ่านค่าต่างๆ ได้ง่าย แต่ความครบครันของข้อมูลยังมีข้อจำกัด
3. รูปแบบคอนโซลเกียร์แบบดั้งเดิม คันรเกียร์ทรงยาวที่คุ้นตา และปุ่มหมุนใช้งานระบบ IDRIVE สำหรับระบบความบันเทิง ใช้งานง่าย แต่กินเนื้อที่พอสมควร
4. รูปทรงส่วนท้ายที่เน้นความเรียบง่าย แต่ยังคงดูลงตัวแม้ทำตลาดมาหลายปี
5. ความกว้างตัวถังที่ 1,820 มม. น้อยกว่ารุ่นล่าสุดประมาณ 30 มม.
BMW X1 รุ่นล่าสุด รหัส U11 เปิดตัวในปี 2022 มาพร้อมทางเลือกการเป็นรถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย
1. จอแสดงผลหลักมีขนาดใหญ่กว่าเดิม จาก 8.8 เป็น 10.6 นิ้ว เป็นระบบสัมผัสล้วนๆ ไม่มีปุ่มใช้งานแบบดั้งเดิมอีกต่อไป การใช้งานต้องทำผ่านหน้าจอเท่านั้น แม้แต่การใช้งานระบบปรับอากาศ อาจลดทอนความสะดวกของการใช้งานจากรุ่นก่อนหน้านี้
2. แผงหน้าปัดแบบดิจิทอลเต็มตัว คือ จุดเปลี่ยนอย่างแท้จริง การแสดงข้อมูลมีระเบียบกว่าเดิม และผู้ขับยังสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการแสดงผลตามต้องอีกด้วย
3. คันเกียร์แบบดั้งเดิมไม่มีอีกต่อไป แทนที่ด้วยปุ่มใช้งานสำหรับเลือกโหมดเกียร์ มีข้อดี คือ ทำให้พื้นที่ตรงกลางของคอนโซลเกียร์มีมากกว่าเดิม
4. เมื่อมองจากด้านหลัง X1 รุ่นนี้ให้ความรู้สึกที่บึกบึน แข็งแกร่ง เป็นผลดีจากการออกแบบที่เน้นสันเหลี่ยม และความกว้างของตัวถังที่มากกว่าเดิมถึง 30 มม.
5. กระจังหน้าแบบไตคู่โดดเด่นด้วยขนาดที่ใหญ่กว่าเดิม ส่วนฝากระโปรงหน้ามีความสูงมากขึ้น เสริมมาดบึกบึนอย่างได้ผลอีกทาง
ดีเซลประสิทธิภาพสูง
ในทางกลับกัน เครื่องยนต์ของ BMW นั้นมีผลดีจากอัตราส่วนที่ดีเสมอระหว่างสมรรถนะ และการประหยัดเชื้อเพลิง มีขนาด 2.0 ลิตร ซึ่งเพิ่งได้รับการปรับปรุงให้เหมาะกับการใช้งานแบบต่างๆ ขณะที่ให้กำลังสูงสุดค่อนข้างจำกัดที่ 150 แรงม้า จุดที่น่าพอใจ คือ การตอบสนองแรงบิดตั้งแต่ช่วงรอบเครื่องยนต์ต่ำ (แรงบิดสูงสุด 36.7 กก.-ม. ที่ 1,500 รตน.) การขับขี่มีความไหลลื่น มีเสียงดังเล็กน้อยในขั้นตอนการเปิด/ปิดระบบสตาร์ทเครื่องยนต์อัตโนมัติ เสียงเครื่องยนต์ค่อนข้างเงียบ แม้ภายนอกก็ถือว่าไม่ดังจนเกินไปในแง่ของเครื่องยนต์ดีเซล การโดยสารมีความเพลิดเพลิน ห้องโดยสารเก็บเสียงได้ดีเยี่ยม
ในทางกลับกัน ชอคอับต้องรับภาระมากขึ้นเล็กน้อย การขับขี่ทั่วไปมีความนิ่ง และมั่นคงเป็นอย่างดี แต่เมื่อแล่นผ่านถนนที่ไม่เรียบเสมอกัน หรือมีความขรุขระเล็กน้อย ระบบรองรับด้านหลังค่อนข้างสะท้อนแรงสั่นสะเทือนอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ขณะที่แล่นผ่านส่วนขอบของถนนที่ไม่เรียบเสมอกัน การเบรคค่อนข้างมีความยากลำบากเล็กน้อยในทางกลับกัน ตัวรถมีอาการโคลงไปด้านหน้าค่อนข้างมาก ระยะเบรคจึงมากขึ้นตาม จากรูปแบบการปรับแต่งโดยรวมของ X1 การทดสอบความคล่องแคล่วของตัวรถแสดงให้เห็นแนวโน้มจะเกิดอาการโอเวอร์สเตียร์ในบางครั้ง แต่ยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัย ควบคุมได้ไม่ยาก จากการเข้ามาช่วยเหลือของระบบควบคุมเสถียรภาพตัวรถที่จะเข้ามาทำงานเสมอ (แม้บางครั้งจังหวะการทำงานจะกระแทกกระทั้นเล็กน้อย) หากเป็นไปได้ควรปรับปรุงการทำงานของระบบให้มีความนุ่มนวลมากกว่านี้
ข้อมูลทางเทคนิค เสริมพลังไฟฟ้าอีกแรง
แม้โครงสร้างตัวถังบางส่วนจะยังใช้ร่วมกับ X1 รุ่นก่อนหน้านี้ที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2015 สำหรับรุ่นที่ 3 มีจุดเปลี่ยนที่รูปแบบของขุมพลังที่เน้นการใช้งานระบบไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะรุ่นย่อยที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัวกับ IX1 กำลังสูงสุด 313 แรงม้า และแบทเตอรี 64.7 กิโลวัตต์ชั่วโมง เป็นครั้งแรกของสายพันธุ์กับระบบไฟฟ้าล้วน นอกจากนี้ยังมีทางเลือกเครื่องยนต์แบบ พลัก-อิน ไฮบริด (รหัส XDRIVE25E และ 30E) กับการใช้แบทเตอรียุคที่ 5 แบบใหม่ล่าสุด สามารถแล่นด้วยไฟฟ้าล้วนถึง 80-90 กม. และยังมีทางเลือก 2 ขุมพลัง ทั้งเบนซิน และดีเซล (รหัส XDRIVE23I และ 23D) เสริมด้วยระบบไฮบริดขนาดเล็กแบบ 48 โวลท์รุ่นล่าสุด ชุดมอเตอร์ไฟฟ้าต่อตรงกับชุดเกียร์อัตโนมัติ ทำหน้าที่กับการสตาร์ท และการสร้างกระแสไฟฟ้า รวมถึงการเสริมการขับเคลื่อนกับเครื่องยนต์สันดาป ส่วนรูปแบบเครื่องยนต์แบบดั้งเดิม ยังคงมีทางเลือกกับรหัส SDRIVE18D ที่เรานำมาทดสอบ มีการปรับปรุงเครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบแบบ 4 สูบเรียงในหลายส่วน ระบบหัวฉีดคอมมอนเรลแบบการทำงาน 2 จังหวะ และการลดแรงเสียดทางระหว่างลูกสูบ รวมถึงการเสริมการขับเคลื่อนกับมอเตอร์ไฟฟ้า
ขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า
รุ่น 18D ใช้เครื่องยนต์ดีเซลขนาด 2.0 ลิตร กำลังสูงสุด 150 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 36.7 กก.-ม. มีทางเลือกเฉพาะระบบขับเคลื่อน 2 ล้อหน้าเท่านั้น
ระบบไฟฟ้า 48 โวลท์แบบใหม่
ในรุ่น 23I และ 23D มีการติดตั้งระบบไฮบริดขนาดเล็ก (ตามรูปประกอบ) ประกอบด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่ต่อตรงกับชุดเกียร์
ข้อมูลจำเพาะ
ข้อมูลจากผู้ผลิตของรถทดสอบ
เครื่องยนต์
• ดีเซล วางด้านหน้า ตามขวาง
• แบบ 4 สูบเรียง
• กระบอกสูบ 90.0 มม.
• ช่วงชัก 84.0 มม.
• ความจุ 1,995 ซีซี
• กำลังสูงสุด 150 แรงม้า ที่ 3,750-4,000 รตน.
• แรงบิดสูงสุด 36.7 กก.-ม. ที่ 1,500-2,500 รตน.
• เสื้อสูบ และฝาสูบใช้โลหะน้ำหนักเบา
• เพลาปรับสมดุล 2 ชุด
• ดับเบิลโอเวอร์เฮด แคมชาร์ฟ 4 วาล์ว ต่อลูกสูบ (สายพานโซ่)
• คอมเมนเรล ฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง (แรงดันสูงสุด 2,500 บาร์) ชุดเทอร์โบ (ครีบอากาศแปรผัน) และอินเตอร์คูเลอร์
• ชุดกรองไอเสีย
• แผ่นกรองอากาศ
ระบบส่งกำลัง
• ขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า
• เกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 จังหวะ
รูปแบบตัวถัง
• วัสดุโลหะ 2 กล่อง 2 ประตู 5 ที่นั่ง
• ระบบรองรับด้านหน้า แมคเฟอร์สัน สตรัท คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง
• ระบบรองรับด้านหลัง มัลทิลิงค์
• ระบบช่วงล่างแบบชอคอับ ไฮดรอลิค
• ระบบเบรคด้านหน้าแบบ จาน พร้อมช่องระบายอากาศ เอบีเอส และอีเอสพี
• ระบบบังคับเลี้ยว ฟันเฟือง และตัวหนอน ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า
• ความจุถังน้ำมัน 45 ลิตร
ยาง
• HANKOOK VENTUS S1 EVO3 245/45R19 102Y
• ชุดปะยาง
มิติตัวถัง และน้ำหนัก
• ระยะฐานล้อ 2,690 มม.
• ความกว้างฐานล้อคู่หน้า 1,590 มม. ด้านหลัง 1,590 มม.
• ความยาว 4,500 มม. กว้าง 1,850 มม. สูง 1,640 มม.
• น้ำหนักโดยรวม 1,575 กก. น้ำหนักบรรทุกสูงสุด 2,150 กก. น้ำหนักลากจูงสูงสุด 1,800 กก.
• ความจุที่เก็บสัมภาระท้าย 540-1,600 ลิตร
ผลิตที่
• เมือง REGENSBURG (ประเทศเยอรมนี)
เครื่องยนต์ดีเซลบลอคนี้ มีจุดเด่นที่การประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำได้น่าพอใจ มีตัวเลขเฉลี่ยในระดับที่ 17 กม./ลิตร เลยทีเดียว
ทัศนวิสัยรอบคัน/ตําแหน่งการนั่งของผู้ขับ/ที่เก็บสัมภาระท้าย/คุณภาพการประกอบ
การทดสอบระบบความปลอดภัย
การทดสอบสมรรถนะ
การประเมินผลของ QUATTORUOTE
เบาะผู้ขับ
เบาะนั่งมีความสูงค่อนข้างมาก มากกว่า X1 รุ่นก่อนหน้านี้อย่างชัดเจน ใครที่ชอบรถยนต์ทัศนวิสัยปลอดโปร่งต้องพอใจอย่างแน่นอน เบาะนั่งปรับทิศทางด้วยไฟฟ้า และสามารถปรับระดับการโอบกระชับสรีระได้หลากหลายอีกด้วย
แผงหน้าปัด และปุ่มใช้งาน
การออกแบบทำได้อย่างลงตัว ทั้งในแง่ของดีไซจ์น รูปแบบที่ทันสมัย และการใช้งานที่ครบครัน พื้นที่ใช้สอยมีอย่างเหลือเฟือในบริเวณคอนโซลเกียร์ ที่พักแขนพับเก็บได้ มีปุ่มใช้งานมากมาย และมีที่เก็บของขนาดใหญ่ข้างใต้
แผงหน้าปัด
หน้าจออาจไม่ได้มีขนาดใหญ่สุดในบรรดาคู่แข่ง (ที่ 10.3 นิ้ว) หน้าจอมีการแสดงผลที่ชัดเจน และปรับเปลี่ยนรูปแบบได้หลากหลาย แต่ละรูปแบบของการแสดงผลสามารถเรียกใช้งานเมนูได้สะดวก จุดเด่นที่น่าสนใจ คือ การติดตั้งระบบแสดงผลสะท้อนผ่านกระจกหน้า
ระบบความบันเทิง
อุปกรณ์ใช้งาน และพโรแกรมต่างๆ มีการทำงานที่ลงตัวที่สุดคันหนึ่ง มีความสะดวกสบายให้แก่ผู้ขับได้ดีมาก ทำความคุ้นเคยได้ไม่ยาก การตอบสนองฉับไว รองรับการสั่งงานด้วยเสียงที่ชาญฉลาด
ระบบปรับอากาศ
ประสิทธิภาพการปรับอุณหภูมิ ความแม่นยำของการทำงาน และการรักษาอุณหภูมิได้คงที่ ไร้ข้อต้องติใดๆ ขณะที่การใช้งานโดยรวม ผู้ขับอาจต้องทำความคุ้มเคยกับหน้าจอระบบสัมผัส และการสั่งงานด้วยเสียง เนื่องจากการใช้งานผ่านปุ่มแบบดั้งเดิมไม่มีอีกต่อไป
ทัศนวิสัย
มุมมองโดยรวมทำได้ดีตามสไตล์รถเอสยูวี กระจกมองข้างมีขนาดที่เหมาะสม แม้บางครั้งอาจจะบังมุมมองบางส่วนขณะทำการเลี้ยวรถ แต่โดยรวมแล้วทัศนวิสัยรอบๆ มีความปลอดโปร่งอย่างน่าพอใจ พร้อมด้วยกล้องมองภาพที่ครบครัน
คุณภาพการประกอบ
การประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ทำได้แน่นหนาอย่างไร้ที่ติ มีการเลือกใช้วัสดุอย่างเหมาะสม แม้บางส่วนจะมีการควบคุมต้นทุนไม่ให้สูงจนเกินไป วัสดุบางตำแหน่งจึงไม่สมกับราคาของตัวรถ
อุปกรณ์ใช้งาน
ชุดอุปกรณ์ใช้งานของรุ่นย่อยนี้มีความครบครันที่น่าพอใจ เพียงพอต่อการใช้งานได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์เลือกติดตั้งยังคงเหลืออีกหลายรายการที่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม บางรายการควรเป็นอุปกรณ์ติดตั้งจากโรงงานด้วยซ้ำไป
ระบบความปลอดภัย
ระบบความปลอดภัยมีให้ครบครันเช่นกัน ตามแต่แพคเกจที่เลือกใช้งาน หากผู้ขับต้องการระบบความปลอดภัยที่ครอบคลุม และมีการใช้งานที่หลากหลาย อาจต้องยอมเพิ่มงบประมาณพอสมควร
ความกว้างขวาง
ห้องโดยสารมีพื้นที่เหลือเฟือ ไม่มีช่องเก็บของเพิ่มเติมในทุกรุ่นย่อย ความกว้างขวางจึงทำได้เท่าเทียมกันสำหรับรถยนต์รุ่นนี้ อย่างไรก็ตาม ที่เก็บของด้านหลังอาจใช้งานลำบากเล็กน้อย
ที่เก็บสัมภาระท้าย
การประกอบแน่นหนา และวัสดุที่ใช้คุณภาพดี ที่เก็บสัมภาระท้ายมีความจุใกล้เคียงกับรุ่นก่อนหน้านี้ ประมาณ 500 ลิตร นอกจากนี้ เบาะแถวที่ 2 สามารถเลื่อนหน้า/หลังได้ เพิ่มพื้นที่ใช้สอยอย่างได้ผล
ความสะดวกสบาย
ประสิทธิภาพการเก็บเสียงรบกวนทำได้ยอดเยี่ยม จากการใช้วัสดุคุณภาพดี และทำให้ห้องโดยสารเงียบสงบ ระบบรองรับมีความหนึบแน่นที่พอเหมาะ (ในแง่การใช้งานทั่วไป) บางครั้งผู้โดยสารอาจรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนค่อนข้างชัดเจน
เครื่องยนต์
BMW ใช้เครื่องยนต์บลอคนี้มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว มีความลงตัวทั้งในแง่ของการประหยัดเชื้อเพลิง และสมรรถนะโดยรวม เครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตร มีการประหยัดเชื้อเพลิงที่น่าพอใจ พละกำลัง และแรงบิด เพียงพอต่อการใช้งานสบายๆ
อัตราเร่ง
พละกำลังระดับ 150 แรงม้า เพียงพอต่อการใช้งานทั่วไป รวมถึงอัตราเร่งขณะออกตัว แม้ไม่กระแทกกระทั้นแบบหลังติดเบาะ แต่สามารถขับเคลื่อนไปตามการจราจรได้อย่างไม่มีปัญหา เห็นได้จากอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 9.1 วินาที
อัตราเร่งยืดหยุ่น
แรงบิดที่เหลือเฟือ (ที่ 36.7 กก.-ม.) ตอบสนองตั้งแต่ช่วงรอบเครื่องยนต์ต่ำ (ตั้งแต่ 1,500 รตน.) ตอบสนองอัตราเร่งได้อย่างฉับไว ไม่มีอาการรอรอบแม้แต่น้อย สามารถไต่ความเร็วได้ในระยะเวลาอันสั้น
ระบบส่งกำลัง
ระบบเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 จังหวะ มีการทำงานที่ลงตัว เน้นความไหลลื่นขณะขับเคลื่อน มีจังหวะการเปลี่ยนเกียร์ที่แม่นยำ น่าเสียดายที่ไม่มีระบบเกียร์ธรรมดาที่ยังคงมีความเหมาะสมสำหรับรูปแบบการขับขี่บางสภาวะ
ระบบบังคับเลี้ยว
การตอบสนองขณะบังคับเลี้ยวมีความแม่นยำอย่างน่าพอใจ และหักเลี้ยวได้ว่องไวตามที่ผู้ขับต้องการเสมอ หากจะให้มีข้อแนะนำเพิ่มเติมเล็กน้อย การตอบสนองจากระบบรองรับดูจะน้อยไปบ้าง
ระบบเบรค
ระบบเบรคมีประสิทธิภาพดี ระยะเบรคกระชับสั้น แม้จะมากขึ้นเล็กน้อยในสภาวะพื้นผิวที่มีความลื่นแตกต่างกัน มีความทนทานแม้ใช้งานต่อเนื่องหลายครั้ง ส่วนความหนักแน่นของแป้นเบรคควรปรับปรุงอีกสักนิด
ความคล่องแคล่ว
ตัวรถมีจุดศูนย์ถ่วงค่อนข้างสูง และระบบรองรับที่มีความนุ่มนวลผสมอยู่ ทำให้ตัวรถมีอาการโคลงขณะเข้าโค้ง ลดทอนความสนุกขณะขับขี่ลงบางส่วน ขณะหักเลี้ยวกะทันหันอย่างต่อเนื่อง รถแสดงอาการโอเวอร์สเตียร์เล็กน้อย แต่มีระบบความปลอดภัยช่วยเหลืออีกแรง
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
จุดเด่นของเครื่องยนต์ดีเซลบลอคนี้ จะปรากฏให้เห็นขณะขับทางไกล แม้ตัวถังแบบเอสยูวี จะค่อนข้างต้านลมก็ตาม X1 ทำตัวเลขในส่วนนี้ได้ที่ 17.1 กม./ลิตร สามารถแล่นได้เป็นระยะทางกว่า 900 กม. โดยไม่ต้องแวะเติมน้ำมัน ขณะที่ตัวเลขโดยเฉลี่ย คือ 17.2 ม./ลิตร
BMW X1 เทียบกับคู่แข่ง
AUDI Q3
มีทางเลือกกับรุ่น SPORTBACK มาพร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา อันเลื่องชื่อ ส่งกำลังกับเครื่องยนต์ 150 แรงม้า การออกแบบห้องโดยสารมีความล้ำสมัย ที่เก็บสัมภาระท้ายมีความจุเหลือเฟือ
MERCEDES-BENZ GLA
เอสยูวีจากเมืองชตุทท์การ์ท มีทางเลือกระบบขับเคลื่อนทั้ง 2 ล้อหน้า และ 4 ล้อตลอดเวลา กับเครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ 150 แรงม้า ภายใต้รหัส 200 D ระบบความบันเทิงที่ทันสมัย รวมถึงระบบความปลอดภัยที่ครบครัน แม้อุปกรณ์บางตัวจะล้าสมัยไปเล็กน้อย
VOLVO XC40
หนึ่งในเอสยูวีสัญชาติสวีเดน ที่หรูหรา และลงตัว รถรุ่นนี้ตัดทางเลือกขุมพลังดีเซลออกไป หันไปคบกับเครื่องยนต์เบนซิน ไฮบริด และไฟฟ้า อุปกรณ์ใช้งานเพื่อความสะดวกสบายติดตั้งมาให้ครบครัน