เรื่องเด่น Quattroruote
PEUGEOT E-208
ทางเลือกเครื่องยนต์สันดาป หรือมอเตอร์ไฟฟ้าไร้มลพิษ ? คำถามนี้มีประเด็นนอกเหนือจากความคุ้มค่าด้านราคาเท่านั้น เมื่อคำนวณกันดีๆ แล้ว รถยนต์ไฟฟ้าอาจมีความคุ้มค่ามากกว่าในระยะยาว ภายใต้ตัวถังแฮทช์แบคขนาดกะทัดรัด ลงตัวทั้งสมรรถนะ และระยะทางที่แล่นได้ไกลพอสำหรับการใช้งานทั่วไป
รุ่น GT
ราคาของตัวรถ
37,080 ยูโร (ประมาณ 1,450,000 บาท ไม่รวมภาษีนำเข้า)
เครื่องยนต์
มอเตอร์ไฟฟ้า 1 อัน
กำลังสูงสุด
136 แรงม้า
ความจุแบทเตอรี
50 กิโลวัตต์ชั่วโมง
อัตราสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า
จากผู้ผลิต 6.8 กม./กิโลวัตต์ชั่วโมง
จากการทดสอบ 5.7 กม./กิโลวัตต์ชั่วโมง
ความคุ้มค่าจากการชาร์จปกติ 3.51 ยูโร/100 กม.
ความคุ้มค่าจากการชาร์จเร่งด่วน 8.78 ยูโร/100 กม.
ระยะทำการสูงสุด
จากผู้ผลิต (มาตรฐาน WLTP) 340 กม.
จากการทดสอบ 321 กม.
จุดแข็ง
ระบบไฟฟ้าที่ลงตัว ขับขี่ได้สบาย และนุ่มนวลอย่างแท้จริง ทั้งการขับในตัวเมือง และทางไกลด้วยไม่เพียงแต่ในเมือง ระบบความปลอดภัยที่ทันสมัยระดับที่ 2 มีการทำงานที่เหมาะสม คุ้มค่ากับราคาที่จ่ายเพิ่มอีก 500 ยูโร มีความครบครันไม่แพ้คู่แข่ง
จุดอ่อน
ตัวรถมีอาการโคลงชัดเจนในบางสภาวะจากการใช้ยางที่มีแก้มยางค่อนข้างสูง นอกจากนี้ที่เก็บสัมภาระท้ายทีความจุเพียง 247 ลิตร ถือว่าไม่มากนัก แม้จะถูกออกแบบให้มีความสมมาตร และขนของได้สะดวก
ใครที่กำลังมองตัวเลือกของ PEUGEOT 208 (เปอโฌต์ 208) ระหว่างเครื่องยนต์เบนซิน หรือดีเซล ทางผู้จัดจำหน่ายอาจโน้มน้าวให้ผู้สนใจหันมาพิจารณาทางเลือกรถยนต์ไฟฟ้า เพราะเมื่อคำนวณความคุ้มค่าโดยรวมแล้ว รถยนต์ไฟฟ้ามีราคา และค่าใช้จ่ายโดยรวมที่ไม่แพงเหมือนแต่ก่อน เหมือนกับรถที่เรานำมาทดสอบ คือ รุ่น E-208 (อี-208)
เมื่อเทียบราคากับรุ่นย่อยที่ใช้เครื่องยนต์แบบ PURETECH เทอร์โบ ขนาด 1.2 ลิตร กำลังสูงสุด 131 แรงม้า (น้อยกว่ารุ่นมอเตอร์ไฟฟ้า 5 แรงม้า) ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ติดตั้งอุปกรณ์เทียบเท่ารุ่นทอพ (นั่นคือ รุ่น GT (จีที) เทียบราคาแล้วรุ่นเครื่องยนต์ไฟฟ้าราคาแพงกว่ากันที่ 11,050 ยูโร แต่เมื่อคิดส่วนลดต่างๆ เข้ามาด้วย ส่วนต่างของราคาก็จะลดลงมาเช่นกัน นอกจากนี้ หากมองในระยะยาว กับการใช้งานเกิน 5 ปีขึ้นไป รถยนต์ไฟฟ้าจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าด้วย (เราจะอธิบายในส่วนถัดไป)
ความเป็นจริงแล้ว พละกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าอาจยังไม่ถูกใจใครหลายคน แต่ก็มีมากพอที่จะตอบสนองการใช้งานทั่วไปได้สบายๆ โดยเฉพาะการเป็นรถยนต์ระดับคอมแพคท์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานในชีวิตประจำวัน รวมถึงการใช้งานสำหรับเดินทางไกลเพื่อท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ นอกเหนือจากความสะดวกสบายโดยรวมแล้ว ความคุ้มค่าก็ถือเป็นจุดที่น่าสนใจ ไม่ใช่แค่เรื่องราคาของตัวรถเท่านั้น ซึ่งตามปกติราคาของรถยนต์ไฟฟ้าจะสูงกว่ารุ่นเครื่องยนต์สันดาป หากติดตั้งอุปกรณ์ใช้งานมาเท่ากัน และกำลังสูงสุดใกล้เคียงกัน แต่ความคุ้มค่าที่ว่ามา คือ การพิจารณาในระยะยาวของการใช้งานตัวรถ และยังมีข้อดีเรื่องการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่มีไอเสียเลยตลอดอายุการใช้งาน นับตั้งแต่การเริ่มจากกระบวนการผลิตวัสดุที่รีไซเคิลได้ ไม่ว่าจะถูกใช้งานมากน้อยแค่ไหนก็ตาม
ความอเนกประสงค์เต็มพิกัด
หากพิจารณาค่าใช้จ่ายโดยรวมของการใช้งาน E-208 จะพบว่ามีความย่อมเยามากกว่ารุ่นที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปด้วยซ้ำไป เห็นได้จากค่าใช้จ่ายจากการใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวัน โดยรถยนต์ทั้ง 2 รูปแบบ มีองค์ประกอบโดยรวมที่ใกล้เคียงกัน ยกเว้นแค่เพียงรูปแบบของขุมพลัง และพละกำลังโดยรวมระหว่างมอเตอร์ไฟฟ้า และเครื่องยนต์สันดาป แต่ยังมีจุดพิจารณาเรื่องประโยชน์ใช้สอย และพื้นที่ของที่เก็บสัมภาระท้าย การใช้โครงสร้างตัวถังรหัส CMP ที่เหมาะสมกับระบบ ขับเคลื่อนทุกรูปแบบ เราพบว่า การออกแบบห้องโดยสารของ E-208 มีความทันสมัย และมีบรรยากาศที่ยังคงคุ้นเคยเหมือนรุ่นเครื่องยนต์สันดาป ไม่ว่าจะเป็นแผงหน้าปัดแบบ 3 มิติ อย่างที่เห็นกันมาแล้วในรถยนต์ของ PEUGEOT หลายรุ่น มีตำแหน่งอยู่สูงขึ้นมาจากพวงมาลัย ห้องโดยสารกว้างขวาง สะดวกสบาย มีพื้นที่ใช้สอยเหลือเฟือ โดยเฉพาะความกว้าง และความสูง รวมถึงคุณภาพการประกอบที่ดี คุณภาพโดยรวมที่ลงตัวของตัวรถ ที่เก็บสัมภาระท้ายมีความจุเพียงพอที่ 247 ลิตร ถือว่าไม่ได้มากมายอะไรนัก แม้จะมีรูปทรงของที่เก็บสัมภาระที่สมมาตร ขนของได้สะดวก ส่วนระบบความบันเทิงมีการแสดงผลผ่านหน้าจอขนาด 10 นิ้ว และระบบใช้งานที่ทันสมัย รวมถึงระบบสั่งงานด้วยเสียง (แต่ระบบยังไม่เข้าใจประโยคจากการพูดทั่วไปได้ดีพอ) รองรับระบบ APPLE CAR PLAY และ ANDROID AUTO
ความแตกต่างประการแรกของรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศสคันนี้ สามารถรับรู้ได้เมื่อกดปุ่มเริ่มการทำงานระบบ (สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า) หรือปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ (สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน) หากพิจารณาจากข้อมูลจำเพาะ ทั้ง 2 รุ่นมีกำลังสูงสุดใกล้เคียงกัน แต่บุคลิกการตอบสนองของอัตราเร่งแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง E-208 มีการตอบสนองที่ฉับไว อัตราเร่งตั้งแต่ออกตัว เช่น การออกตัวจากสัญญาณไฟจราจร มีความฉับไวกว่ารุ่น PURETECH กับอัตราเร่งของมอเตอร์ไฟฟ้า 0-100 กม./ชม. ใน 8.1 วินาที ถือว่าเร็วกว่ากันที่ 1.3 วินาที เลยทีเดียว รวมถึงอัตราเร่งยืดหยุ่นที่เร็วกว่าด้วย (ฉับไวกว่ากันที่ 1.4 วินาที ของอัตราเร่ง 70-120 กม./ชม. จากการทดสอบ) จุดเด่นสำคัญจะเห็นได้จากการ ใช้งานในตัวเมือง มีความเหมาะสมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าอย่างแท้จริง รวมถึงในแง่ของการขับขี่ และการยึดเกาะถนน สำหรับความสะดวกสบาย ทัศนวิสัยโดยรวมของเบาะหลังมีความปลอดโปร่งไม่แพ้ด้านหน้า ขณะที่พื้นที่ของผู้โดยสารเบาะหลังอาจถูกกินที่โดยชุดแบทเตอรีเล็กน้อย ข้อมูลจากการทดสอบของเรายังพบว่า เสียงรบกวนในห้องโดยสารเมื่อเทียบกับรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน พบว่า รถยนต์ไฟฟ้ากลับมีเสียงดังกว่า จากการทดสอบขณะทำอัตราเร่งสูงสุด แม้เอาเข้าจริง เสียงจากเครื่องยนต์แบบ 3 สูบเรียง ค่อนข้างดังชัดเจน และแสดงผลออกมาให้เห็นกับตัวเลขที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ หากวัดผลจากห้องโดยสาร แตกต่างจากรถยนต์ไฟฟ้าที่มีเสียงรบกวนต่ำ แม้กดคันเร่งสุด
ส่วนการทดสอบการหักเลี้ยวกะทันหัน การตอบสนองของรถทั้ง 2 คันมีความใกล้เคียงกัน การหักเลี้ยวบนพื้นเปียก มีความหนึบแน่นจากระบบรองรับที่น่าพอใจ กับการใช้ความสูงสุดที่ตัวรถสามารถรองรับได้ จุดแตกต่างแรกของรุ่นรถยนต์ไฟฟ้า คือ ระยะเบรคที่มากกว่า (ที่ 41.3 ม. เทียบกับ 37.7 ม. ที่ความเร็ว 100-0 กม./ชม.) และมีความทนทานที่ทำได้ดีเช่นกัน พิจารณาจากน้ำหนักโดยรวมของรุ่น E-208 ที่หนักกว่ากัน 314 กก. เมื่อเทียบกับรุ่น PURETECH จากการชั่งน้ำหนักของทีมงานทดสอบ รวมถึงขนาดยางที่ใช้ก็ใกล้เคียงกัน แต่รุ่นรถยนต์ไฟฟ้าจะเน้นความนุ่มนวลมากกว่า ช่วยให้มีอัตราสิ้นเปลืองพลังงานที่ต่ำกว่า ช่วยให้มีระยะทำการมากกว่า
จุดที่น่าสนใจ คือ อัตราสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า E-208 ทำได้ถึง 83 กิโลวัตต์ชั่วโมง เทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าที่ทำได้ดีที่สุด คือ OPEL CORSA-E (โอเพล โคร์ซา-อี) กับตัวเลขที่ 84 กิโลวัตต์ชั่วโมง นับว่าใกล้เคียงกับรถทดสอบสัญชาติฝรั่งเศสมากๆ ส่วนหนึ่งมาจากการใช้ชุดระบบพลังงานไฟฟ้าร่วมกัน รวมถึงชุดแบทเตอรี
ทางเลือกระยะยาว
ข้อมูลจากสมรรถนะในแง่มุมต่างๆ รวมถึงราคาโดยรวมของรถยนต์ทั้ง 2 รูปแบบขุมพลังของ 208 มีข้อสรุปในเบื้องต้น คือ ทางเลือกของรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า และอาศัยพลังงานจากแบทเตอรี มีความคุ้มค่ากว่าในระยะยาว รวมถึงในแง่ของค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาโดยรวม
ขณะใช้งานก็มีความได้เปรียบในเรื่องของอัตราสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าที่ต่ำกว่าในกรณีใช้งานในตัวเมืองที่การจราจรหนาแน่น บางแห่งอาจได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษอีกด้วย เช่น ที่จอดรถเฉพาะสำหรับการชาร์จประจุไฟฟ้า โดยถูกเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน ต่างจากสถานีบริการน้ำมันที่ค่อยๆ ลดจำนวนลงเรื่อยๆ (รวมถึงน้ำมันเชื้อเพลิงแบบดีเซล) อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าควรมีการติดตั้งกล่องชาร์จประจุไฟฟ้าประจำบ้านเอาไว้ด้วย ไม่เช่นนั้นอาจต้องพึ่งสถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะ ซึ่งมีการใช้งานหลายคน และมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเช่นกัน
ทางเลือกที่แตกต่าง
ทางเลือกระหว่าง 208 รุ่นรถยนต์ไฟฟ้า และรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน จะมีความแตกต่างกันในแง่ของการใช้งานโดยรวมในชีวิตประจำวัน ผลการทดสอบของเราพิสูจน์ความแตกต่างดังกล่าวได้ชัดเจนยิ่งขึ้น สำหรับรุ่น E-208 จะมีอัตราเร่งที่ฉับไวกว่ารุ่นเครื่องยนต์เบนซิน PURETECH ที่มีพละกำลังมากที่สุดสำหรับรุ่นปกติ จุดที่น่าสนใจ คือ ประเด็นเรื่องอัตราสิ้นเปลืองพลังงาน และระยะทำการที่มีความแตกต่างอย่างชัดเจน E-208 มีการจัดสรรการใช้พลังงานจากแบทเตอรีความจุ 45 กิโลวัตต์ได้ดีพอสมควร มีตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองพลังงานโดยเฉลี่ยที่ 5.7 กม./กิโลวัตต์ชั่วโมง และทำได้ดีที่สุดจากการขับในตัวเมืองที่ 6.4 กม./กิโลวัตต์ชั่วโมง โดยอาศัยการหมุนเวียนพลังงานไฟฟ้ากลับมาใช้งานอีกแรง ส่วนการขับทางไกลที่ความเร็วคงที่ 110 กม./ชม. ตัวเลขจะลดลงมาที่ 5.2 กม./กิโลวัตต์ชั่วโมง ส่วนความคุ้มค่าโดยรวมของการชาร์จไฟฟ้าจะน่าพอใจมาก ในกรณีที่ชาร์จจากครัวเรือน คิดเป็นเงินที่ 3.51 ยูโร/100 กม. คิดเป็น 1 ใน 3 เท่านั้นของการเติมน้ำมันเบนซิน แต่หากเป็นการชาร์จไฟฟ้าแบบเร่งด่วน ความแตกต่างดังกล่าวจะลดน้อยลงทันที (มีราคาการชาร์จที่ 0.50 ยูโร/กิโลวัตต์ชั่วโมง) ทำให้การชาร์จแบทเตอรีเต็มอาจต้องใช้เงินถึง 79 ยูโร ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการเติมน้ำมันเต็มถังของรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน ส่วนระยะทำการสูงสุด รถยนต์ไฟฟ้าเสียเปรียบอย่างชัดเจน โดยสามารถแล่นได้ที่ 261-321 กม. เท่านั้น ขึ้นอยู่กับสภาพเส้นทาง
ข้อมูลทางเทคนิค รูปแบบที่หลากหลาย
E-208 ถูกพัฒนาขึ้นจากแนวคิดของการใช้โครงสร้างตัวถังร่วมกับรถยนต์รุ่นอื่นๆ รวมถึงรุ่นย่อยของ 208 เครื่องยนต์สันดาป เพื่อจุดประสงค์ คือ การลดต้นทุนของการออกแบบ และกระบวนการผลิตโดยรวม และยังตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย รวมถึงความต้องการของรถยนต์ไฟฟ้าที่มีรูปแบบการขับเคลื่อนแตกต่างโดยสิ้นเชิง รูปแบบดังกล่าวคล้ายกับโครงสร้างตัวถัง MEB ของค่าย VOLKSWAGEN (โฟล์คสวาเกน) ที่มีจุดเด่นหลายประการ (เริ่มตั้งแต่ขนาดของห้องโดยสารที่เหมาะสมกับมิติตัวถังโดยรวม) ยังคงถูกใจผู้บริโภค และสร้างยอดจำหน่ายได้อย่างน่าพอใจ ภายใต้ต้นทุนการพัฒนา และการผลิตที่ไม่สูงเกินไป ทางฝั่ง PEUGEOT ใช้โครงสร้างตัวถังแบบ CMP รองรับการวางเครื่องยนต์หลากหลายรูปแบบ โดยไม่กินเนื้อที่ของห้องโดยสาร และความจุของที่เก็บสัมภาระด้านหลัง เนื่องจากแบทเตอรีความจุ 50 กิโลวัตต์ชั่วโมง (ใช้งานได้จริงที่ 45) ถูกออกแบบให้ติดตั้งใต้เบาะด้านหลัง ขณะที่มอเตอร์กำลังสูงสุด 136 แรงม้า รวมถึงชุดสร้างกระแสไฟฟ้า (การรองรับไฟฟ้าที่ 11 กิโลวัตต์ เป็นอุปกรณ์เลือกติดตั้ง) ถูกใช้งานในรถยนต์หลายรุ่นของกลุ่มค่ายรถ STELLANTIS (ยกเว้น FIAT NUAVA 500 (เฟียต นูโอวา 500) ที่ถูกพัฒนาขึ้นก่อนการควบรวมกิจการกับกลุ่มค่ายรถ PSA) สามารถรองรับการชาร์จแบบเร่งด่วนที่ 100 กิโลวัตต์ ใช้เวลาชาร์จไม่นาน
ข้อมูลจำเพาะ
ของรถที่นำมาทดสอบ
เครื่องยนต์
• มอเตอร์ไฟฟ้า วางด้านหน้า
• กำลังสูงสุด 136 แรงม้า
• แรงบิดสูงสุด 26.5 กก.-ม.
• กำลังสูงสุดโดยรวม 78 แรงม้า
แบทเตอรี
• ลิเธียม-ไออน วางใต้พื้นรถ
• 18 โมดูล 216 เซลส์
• กำลังไฟฟ้า 400 โวลท์ ความจุ 45 กิโลวัตต์ชั่วโมง (การใช้งานจริง)
การชาร์จ
• แบบไฟฟ้า 1 เฟส ที่ 7.4 กิโลวัตต์
• แบบเร่งด่วน กระแสตรง 100 กิโลวัตต์ ที่ 400 โวลท์
ระบบส่งกำลัง
• ขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า
• ชุดควบคุมการหมุนของมอเตอร์
รูปแบบตัวถัง
• ตัวถังโลหะ 2 กล่อง 5 ประตู 5 ที่นั่ง
• ระบบรองรับด้านหน้า แมคเฟอร์สัน สตรัท คอยล์สปริง และเหล็กกันโคลง
• ระบบรองรับด้านหลัง มัลทิลิงค์ คอยล์สปริง
• ชอคอับแบบไฮดรอลิค
• ระบบเบรคแบบจาน พร้อมช่องระบายความร้อน เอบีเอส และอีเอสพี
• พวงมาลัยฟันเฟือง และตัวหนอน ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า
ยาง
• MICHELIN PRIMACY 4 205/45 R17 88H
• ปะยาง
มิติตัวถัง และน้ำหนัก
• ระยะฐานล้อ 2,540 มม.
• ความกว้างฐานล้อคู่หน้า/หลัง 1,500 มม.
• ความยาว 4,060 มม. กว้าง 1,750 มม. สูง 1,430 มม.
• น้ำหนักโดยรวม 1,530 กก. น้ำหนักบรรทุกสูงสุด 1,910 กก.
• ความจุที่เก็บสัมภาระท้าย 265-1,163 ลิตร
ผลิตที่
• เมือง TRNAVA (ประเทศสโลวาเกีย)
พื้นที่ใช้สอย และทัศนวิสัย
การทดสอบสมรรถนะ
การประเมินผลของ QUATTRORUOTE
เบาะผู้ขับ
ตำแหน่งของพวงมาลัยที่เหมาะสม ทำมุมอย่างพอเหมาะ และเบาะนั่งที่มีรูปทรงลงตัว ทำให้สามารถปรับตำแหน่งได้ตรงตามความต้องการ และตามสรีระของผู้ขับ รูปแบบการใช้งานมีลักษณะเฉพาะ นั่นคือ พวงมาลัยมีขนาดเล็ก และแผงหน้าปัดอยู่สูงขึ้นมา
แผงคอนโซล และปุ่มใช้งาน
การออกแบบโดยรวมมีความสวยงามลงตัว ใช้งานได้ดี รูปทรงดูทันสมัย และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว วัสดุที่ใช้มีคุณภาพสูง และประกอบเข้ากันได้อย่างประณีต การใช้งานต่างๆ อยู่ในระยะเอื้อมมือถึง ยกเว้นการใช้ระบบครูสคอนทโรลจะเป็นก้านใช้งานหลังพวงมาลัย
แผงหน้าปัด
แผงหน้าปัดเป็นจอแสดงผลแบบดิจิทอลที่คุ้นเคยกันดี มีรูปแบบ 3 มิติ ไม่ใช่แค่กราฟิคเท่านั้น แต่เป็นการฉายแสงซ้อนกัน 2 ชั้น แสดงข้อมูลได้หลากหลาย อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งของมาตรวัดที่อยู่เหนือพวงมาลัย เป็นสิ่งที่หลายคนต้องทำความคุ้นเคยในระยะแรก
ระบบความบันเทิง
การใช้งานระบบความบันเทิงมีฟังค์ชันที่หลากหลาย แสดงผลบนจอภาพขนาด 10 นิ้ว ทำมุมเอียงเข้าหาผู้ขับ เชื่อมต่อระบบ ANDROID AUTO (ต้องใช้สายเคเบิล) และ APPLE CAR PLAY ได้ มีแท่นชาร์จมือถือแบบไร้สาย ช่องต่อ USB 4 ตำแหน่ง รองรับการสั่งงานด้วยเสียง แต่ระบบยังประมวลผลประโยคพูดทั่วไปได้ไม่ดีนัก
ระบบปรับอากาศ
ระบบปรับอากาศอัตโนมัติไม่แยกโซนยังใช้งานได้ดี หากมองในแง่ของประสิทธิภาพโดยรวม และการรักษาอุณหภูมิได้อย่างคงที่ แต่หากผู้ใช้งานต้องการปรับแต่งอะไรเพิ่มเติม จะต้องสั่งงานผ่านหน้าจอเท่านั้น
ทัศนวิสัย
มุมมองของผู้ขับถูกบดบังเล็กน้อยขณะขับขี่ จากส่วนเสาเอ ที่ค่อนข้างหนา ขณะถอยจอดรถ เสาด้านหลังที่ทำมุมลาดเทบดบังทัศนวิสัยบางส่วนเช่นกัน ยิ่งตัวรถที่มีขนาดเล็กแบบนี้ สิ่งที่พอจะชดเชยได้ คือ เซนเซอร์รอบคัน และกล้องมองภาพด้านหลัง
คุณภาพการประกอบ
คุณภาพโดยรวมทำได้น่าพอใจมาก แม้ทางผู้ผลิตต้องคำนึงถึงเรื่องต้นทุนการผลิตที่ต้องไม่สูงเกินไป ห้องโดยสารให้ความรู้สึกผ่อนคลาย และดูลงตัวในแต่ละสัดส่วน รวมถึงที่เก็บสัมภาระท้าย ปูพื้นด้วยพรมอย่างทั่วถึง และมีการใส่ใจในรายละเอียด
อุปกรณ์ใช้งาน
รุ่นย่อย GT มีอุปกรณ์ติดตั้งมาครบครัน และรายการอุปกรณ์เลือกติดตั้งมีไม่กี่รายการเท่านั้น เช่น ระบบกุญแจอัจฉริยะ ระบบช่วยจอดอัตโนมัติ และเบาะนั่งพร้อมระบบทำความอุ่น โดยแต่ละรายการมีราคาที่เหมาะสม
ระบบความปลอดภัย และระบบช่วยเหลือการขับขี่
ระบบความปลอดภัยตามมาตรฐาน คือ ถุงลมนิรภัยรอบคัน และระบบช่วยเบรคอัตโนมัติ และยังมีรายการติดตั้งเพิ่มเติมได้อีก คือ ระบบช่วยเหลือการขับขี่ที่ทันสมัย (ราคา 500 ยูโร ไม่ได้ติดตั้งมาในรถทดสอบ) ประกอบด้วย ระบบช่วยเหลือการขับขี่ระดับที่ 2 นับว่าน่าพอใจสำหรับรถยนต์ระดับนี้
พื้นที่ใช้สอย
ผลดีจากการใช้โครงสร้างตัวถังแบบ CMP ถูกออกแบบขึ้นมาใหม่ทั้งหมด พร้อมรองรับการติดตั้งชุดแบทเตอรี ห้องโดยสารของ E-208 มีมิติโดยรวมเหมือนรุ่นเครื่องยนต์สันดาปทุกประการ ทำให้มีพื้นที่มากพอสำหรับผู้โดยสาร 4 คนสบายๆ
ที่เก็บสัมภาระท้าย
ส่วนท้ายเป็นตำแหน่งเดียวกันกับการติดตั้งชุดแบทเตอรี แต่พื้นที่โดยรวมก็ไม่ต่างจากรุ่นเครื่องยนต์สันดาปมากนัก อย่างไรก็ตาม ความจุของที่เก็บสัมภาระท้ายมีไม่มากนัก เราวัดความจุได้ 247 ลิตร แต่มีรูปทรงที่สมมาตร ขนสัมภาระได้สะดวก
ความสะดวกสบาย
ผู้โดยสารด้านหน้าสามารถสัมผัสถึงความนุ่มนวลได้ดีที่สุด ขณะที่เบาะด้านหลังมีความสะดวกสบายน้อยกว่ารุ่นเครื่องยนต์เบนซิน ระบบรองรับมีความแข็งมากกว่าเล็กน้อย และเสียงรบกวนกลับมีมากกว่าด้วย
สมรรถนะ
อัตราเร่งใกล้เคียงกับของรุ่นรถยนต์ไฟฟ้า ตัวเลขที่ทำได้บ่งบอกความฉับไวได้ดี (และน่าสนใจ ด้วย) ทำได้ดีกว่าเครื่องยนต์แบบไร้ระบบอัดอากาศ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ของ E-208 เฉือนชนะรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน PURETECH ไปเพียง 1.2 วินาที และมีอัตราเร่งยืดหยุ่น 70-120 กม./ ชม. เร็วกว่ากันที่ 1.5 วินาที
การบังคับควบคุม
การตอบสนองทำได้ฉับไว พวงมาลัยมีน้ำหนักเบา แต่ยังคงหักเลี้ยวได้ดังใจ แม้ขณะใช้ความเร็วสูงบนทางตรง ตัวรถมีอาการโคลงเพียงเล็กน้อย ระยะหมุนฟรีในตำแหน่งตรงกลางพวงมาลัยมีค่อนข้างมาก
ระบบเบรค
ประสิทธิภาพของระบบเบรคมีผลจากน้ำหนักโดยรวมที่ค่อนข้างมาก และยางที่เน้นความนุ่มนวล ดังนั้น ระยะเบรคที่ทำได้จึงมากว่ารุ่นเครื่องยนต์เบนซินพอสมควร แต่ชดเชยด้วยจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำ จากชุดแบทเตอรีที่ติดตั้งใต้พื้นรถ
ความคล่องแคล่ว
รถคันนี้มีความหนึบแน่นที่มากพอ ควบคุมรถได้ดีแม้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นผลดีจากระบบควบคุมเสถียรภาพตัวรถที่ปรับแต่งมาอย่างเหมาะสม มีจังหวะการทำงานที่ทันท่วงที และไม่รบกวนการขับขี่ ขีดจำกัดด้านความเร็วขณะเข้าโค้งถือว่าไม่สูงมากนัก รองรับได้ที่ 0.87 จี เท่านั้น
ระยะทำการ
ระยะทำการโดยเฉลี่ยของ E-208 ทำได้ที่ 284 กม. ถือว่ามากพอสำหรับการเดินทางทั่วไปโดยส่วนใหญ่ รวมถึงการเดินทางไปนอกเมืองเพื่อการท่องเที่ยวก็ยังทำได้ ส่วนการขับขี่ในตัวเมือง ระยะทำ การสูงสุด คือ 321 กม. และจะลดเหลือ 261 กม. หากขับทางไกล (ใช้ความเร็วคงที่ที่ 110 กม./ชม.)
อัตราสิ้นเปลืองพลังงาน
โดยรวมแล้วรถยนต์ไฟฟ้าคันนี้มีการประหยัดพลังงานไฟฟ้าที่น่าพอใจ (ทำตัวเลขที่ 83 กิโลวัตต์ชั่วโมงเลยทีเดียว) หากแปลงเป็นตัวเลขให้ชัดเจนยิ่งขึ้นจะเป็น 5.7 กม./กิโลวัตต์ชั่วโมง ทำให้รถคันนี้มีการประหยัดพลังงานไฟฟ้าในระดับหัวแถวเลยทีเดียว
เครื่องยนต์
การผสานกันระหว่างตัวถังขนาดคอมแพคท์ และน้ำหนักรวมที่เหมาะสม มอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงสุด 134 แรงม้า (100 กิโลวัตต์) กับแบทเตอรีความจุ 45 กิโลวัตต์ชั่วโมง ทำให้มีอัตราเร่งน่าพอใจ การสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าต่ำ และมีระยะทำการที่มากพอสำหรับการใช้งานทั่วไป
การชาร์จประจุไฟฟ้า
สำหรับการชาร์จไฟฟ้าทั่วไป รองรับการชาร์จจากครัวเรือนที่ 7.4 กิโลวัตต์ และรองรับการชาร์จแบบเร่งด่วน (กระแสตรง) ได้สูงสุด 100 กิโลวัตต์ หากเพิ่มเงินอีก 300 ยูโร จะได้ชุดตู้จ่ายประจุไฟฟ้า 11 กิโลวัตต์ สำหรับไฟฟ้าแบบ 3 เฟส และเป็นการชาร์จกระแสสลับ
การบริการหลังการขาย
ทางค่าย PEUGEOT มีแอพพลิเคชันรองรับ และการเชื่อมต่อข้อมูลจากระยะทางไกล ผู้ขับสามารถรับทราบข้อมูลระยะทางของจุดชาร์จไฟฟ้าถัดไป และสามารถสั่งงานให้เปิดระบบปรับอากาศได้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นการทำความอุ่น หรือทำความเย็นล่วงหน้า รวมถึงระยะทำการที่เหลืออยู่
เปรียบเทียบกับคู่แข่ง
HONDA E
แฮทช์แบคที่มีสไตล์ไม่เหมือนใคร ขนาดตัวกะทัดรัด ใช้แบทเตอรีขนาดเล็ก และอุปกรณ์ใช้งานที่ทันสมัย พื้นที่ใช้สอยน่าพอใจ ขณะที่ที่เก็บสัมภาระท้ายมีความจุไม่มากนัก ระยะทำการไม่ถึง 200 กม. จึงเน้นที่การใช้งานในตัวเมือง
OPEL CORSA-E
รถยนต์ที่ถูกพัฒนาร่วมกับ E-208 มีการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ตลอดจนระบบไฟฟ้าต่างๆ เมื่อเทียบกันแล้ว CORSA-E จะมีความเรียบง่ายมากกว่า แต่ใช้งานได้หลากหลายกว่า (และราคาโดยรวมย่อมเยากว่า) ขณะที่ความจุที่เก็บสัมภาระท้าย และระยะทำการทำได้ดีกว่าของ PEUGEOT
RENAULT ZOE R135
รถยนต์ไฟฟ้าระดับคอมแพคท์ที่ทำตลาดมานานที่สุด ตั้งแต่ปี 2019 มีการปรับปรุงห้องโดยสารมาแล้ว ทำให้มีคุณภาพโดยรวมดีขึ้นพอสมควร ห้องโดยสาร และที่เก็บสัมภาระท้าย มีพื้นที่มากกว่า E-208 ขณะที่ระยะทำการใกล้เคียงกัน