เรื่องเด่น Quattroruote
ศึกกระบะพันธุ์แกร่ง JEEP GLADIATOR vs TOYOTA HILUX
กระบะที่เน้นความแข็งแกร่งทั้ง 2 รุ่น แต่มีที่มาแตกต่างกัน คันหนึ่งดิบห้าว และสะดุดตา สไตล์อเมริกัน อีกคันมีความอนุรักษนิยม และเรียบง่าย ตามวิถีของญี่ปุ่น ภายใต้ขุมพลังแบบดีเซล เทอร์โบ ดั้งเดิม ไม่มีเรื่องมอเตอร์ไฟฟ้ามาเกี่ยวข้อง
รุ่น 3.0 V6 DIESEL OVERLAND
ราคา
- 67,944 ยูโร (ประมาณ 2,548,000 บาท ไม่รวมภาษีนำเข้า)
เครื่องยนต์
- ดีเซล เทอร์โบ วี 6 สูบ
- 2,987 ซีซี
กำลังสูงสุด
- 264 แรงม้า
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
- จากผู้ผลิต 10.5 กม./ลิตร
- จากการทดสอบ 9.6 กม./ลิตร
- ความคุ้มค่า (ชาร์จปกติ) 14.48 ยูโร/กม.
อัตราการปล่อยไอเสียเฉลี่ย
- จากผู้ผลิต 251 กรัม/กม.
- จากการทดสอบ 277 กรัม/กม.
รุ่น 2.8 D-4D DOUBLE CAB INVINCIBLE
ราคา
- 49,860 ยูโร (ประมาณ 1,870,000 บาท ไม่รวมภาษีนำเข้า)
เครื่องยนต์
- ดีเซล เทอร์โบ 4 สูบเรียง
- 2,755 ซีซี
กำลังสูงสุด
- 204 แรงม้า
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
- จากผู้ผลิต 11.4 กม./ลิตร
- จากการทดสอบ 10.1 กม./ลิตร
- ความคุ้มค่า (ชาร์จปกติ) 13.72 ยูโร/100 กม.
อัตราการปล่อยไอเสียเฉลี่ย
- จากผู้ผลิต 250 กรัม/กม.
- จากการทดสอบ 263 กรัม/กม.
รถกระบะจัดเป็นยานยนต์ที่เน้นการใช้งานที่สมบุกสมบัน บรรทุกของได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ไม้ฟืน พืชผัก แผ่นกระดานโต้คลื่น หรือสิ่งใดก็ตามที่คนเราต้องการบรรทุก ทำให้รถประเภทนี้ได้รับความนิยมในหลายภูมิภาคทั่วโลก กับขุมพลังที่ใช้ก็มีความหลากหลายไม่แพ้กัน รวมถึงเครื่องยนต์เบนซิน วี 8 สูบ บลอคใหญ่ก็มีให้เห็นมาแล้ว แต่สำหรับรถที่นำมาทดสอบในครั้งนี้ทั้ง 2 รุ่น ต่างก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป กับความเป็นกระบะยุคใหม่ที่สามารถใช้งานได้ ผสมผสานระหว่างเอสยูวีขนานแท้ หรือแม้แต่รถยนต์นั่งทั่วไป ถือเป็นความหลากหลายของการใช้งานที่แตกต่างจากในอดีตโดยสิ้นเชิง
สิ่งที่กล่าวมาจะเห็นเด่นชัดยิ่งขึ้นกับกระบะทั้ง 2 รุ่น กับตัวถังแบบดับเบิลแคบ 4 ประตู ฝ่ายแรก คือ JEEP GLADIATOR (จีพ กลาดิเอเตอร์) กับตัวถังที่มีความยาวมากกว่า 5 ม. กับรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ ขนาด 3.0 ลิตร วี 6 สูบ กำลังสูงสุด 264 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 61.2 กก.-ม. เป็นสายพันธุ์ที่ถูกพัฒนาต่อเนื่องจาก WRANGLER (แรงเลอร์) มีจุดได้เปรียบ คือ รูปทรง และชื่อชั้นระดับคลาสสิค กับการติดตั้งอุปกรณ์ใช้งานที่ทันสมัย (และยังสามารถถอดหลังคาออกไปได้หากต้องการ) มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แตกต่างจากบรรดารถร่วมสายพันธุ์อื่นๆ อีกฝั่งหนึ่ง คือ หนึ่งในรถยนต์ที่ทำตลาดมายาวนาน นั่นคือ TOYOTA HILUX (โตโยตา ไฮลักซ์) โดยล่าสุดเป็นทายาทลำดับที่ 8 ของสายพันธุ์ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กระบะรุ่นนี้ค้นหาความท้าทายในสถานที่ที่เต็มไปด้วยความสมบุกสมบันเต็มพิกัด ไม่ว่าจะเป็น เขตขั้วโลกเหนืออันหนาวเหน็บ หรือภูเขาไฟอันร้อนระอุในประเทศไอซ์แลนด์ กับรุ่นล่าสุดที่เพิ่งทำการปรับโฉมไปไม่นาน มีการเพิ่มชุดตกแต่งตัวถังวัสดุพลาสติคแข็งในหลายจุด ทั้งด้านหน้า และซุ้มล้อ เพิ่มความโฉบเฉี่ยวอย่างได้ผล กระบะ HILUX รุ่น 2.8 D-4D มีมิติตัวถังโดยรวมเล็กลงจากรุ่นก่อนหน้านี้ หากพิจารณาข้อมูลจำเพาะแล้ว พบว่ามิติตัวถังในแต่ละส่วนมีความแตกต่างกันไม่กี่ มม. เท่านั้น
ประสิทธิภาพที่แตกต่าง
นอกเหนือจากมิติตัวถังแล้ว มีจุดสำคัญที่ต้องพิจารณาให้ดีสำหรับรถยนต์ประเภทนี้ อย่างแรกเลย คือ ประสิทธิภาพของการบรรทุก ไม่มีข้อกำหนดตายตัวในแง่ของความสูงของส่วนกระบะ ดังนี้แล้ว การพิจารณาเพียงพื้นที่ของกระบะท้ายแบบที่ทีมงานของเราทำเป็นปกติ อาจไม่เหมาะสมนักสำหรับรถยนต์ประเภทนี้ ดังนั้น เราจึงหันมาพิจารณาขนาดของกระบะ และการรองรับน้ำหนักบรรทุก ในแง่นี้แล้ว GLADIATOR รองรับที่ 565 กก. ขณะที่ HILUX รองรับได้มากถึง 937 กก. เลยทีเดียว
กระบะสัญชาติอเมริกันโต้คืนได้บ้าง ในแง่ของอุปกรณ์ใช้งานที่ติดตั้งมาให้ กับสายเสียบปลั๊กไฟฟ้าแบบ 230 โวลท์ (กันน้ำในตัว) ติดตั้งบริเวณฝั่งขวาของส่วนกระบะท้าย และสามารถควบคุมการใช้งานผ่านปุ่มบนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้ายมือ นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งกระจกบานเลื่อนที่ท้ายห้องโดยสาร มีประโยชน์ คือ เมื่อเปิดใช้งานจะสามารถลดลมหวนให้ห้องโดยสาร ในกรณีที่เปิดกระจกหน้าต่างประตูทั้ง 4 บาน หรือมีประโยชน์ยามที่มีการบรรทุกสัมภาระทรงยาว เช่น คันเบ็ดตกปลา ป้องกันไม่ให้สัมภาระกลิ้ง และหล่นไปยังส่วนกระบะท้าย
ปัจจัยในการพิจารณากระบะคันหนึ่ง ประสิทธิภาพของการบรรทุกของที่กระบะท้ายเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญที่หลายคนคำนึงถึง สำหรับ TOYOTA HILUX มีอุปกรณ์เลือกติดตั้งจำนวนหนึ่งมาให้เช่นกัน โดยเฉพาะไฟส่องสว่างเพิ่มเติมติดตั้งบริเวณโรลล์บาร์ ช่วยให้ตัวรถมีความโดดเด่นยิ่งขึ้น ให้อารมณ์ราวกับกระบะตัวลุยในยุคก่อนหน้านี้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีเข็มขัด หรือเชือกสำหรับรัดสัมภาระที่กระบะท้าย ป้องกันการปะทะกับลมหวนที่อาจทำให้ปลิวหลุดออกมาจากกระบะท้ายได้
นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์เสริมอื่นๆ อีก ได้แก่ วัสดุที่ใช้ปูพื้นกระบะท้าย สามารถเลือกได้ระหว่างวัสดุแบบอ่อนนุ่ม หรือวัสดุที่เน้นความแข็งแรงพร้อมตัวลอค (ทาง JEEP ใช้วัสดุเน้นความทนทานเป็นพิเศษ) รวมถึงราวหลังคาสามารถติดตั้งเพิ่มเติมได้ และยังมีชุดตะขอเกี่ยว ทาง TOYOTA ยังมีทางเลือกหลังคาสีเดียวกับตัวถัง ทำให้ HILUX รุ่นนี้ดูคล้ายกับกระบะตัวลุยรุ่นคลาสสิคในสมัยก่อน กับรูปทรงโดยรวมของตัวรถหากตกแต่งลักษณะดังกล่าว นอกจากนี้ อุปกรณ์เลือกติดตั้งหลายรายการมีข้อดี คือ ทำให้การใช้งานทั่วไปมีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น
การเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง
ห้องโดยสารจากตัวถังแบบ 4 ประตู ทำให้การโดยสารในชีวิตประจำวันมีความสะดวกสบายไม่น้อย (แม้จะมีข้อจำกัดบางประการซึ่งเราอธิบายในล้อมกรอบถัดไป) แต่ยังคงไว้ซึ่งอารมณ์ความรู้สึกที่เน้นความแข็งแกร่ง มีระยะช่วงขาที่มากพอ หรืออย่างน้อยก็ไม่คับแคบจนเกินไป สำหรับความรู้สึกที่ปลอดโปร่งมากพอในห้องโดยสาร
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบ JEEP จะพบกับความคุ้นเคยจาก GLADIATOR เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแผงคอนโซลหน้าที่มีปุ่มใช้งานละลานตา แต่ปุ่มใช้งานแบบดั้งเดิมยังมีมากพอ สามารถกดปุ่มได้สะดวกแม้ใส่ถุงมือก็ตามที ขณะที่การเลือกวัสดุในห้องโดยสารทำได้อย่างชาญฉลาด (ไม่ว่าจะเป็นแผงบุด้านใน พื้นห้องโดยสาร หรือแผงประตู) สามารถล้างทำความสะอาดได้ง่าย ในกรณีที่เปื้อนโคลน ทราย หรือฝุ่น ไม่ต้องกังวลในส่วนนี้
แต่จุดเด่นที่แท้จริงของกระบะสัญชาติอเมริกัน คือ หลังคาที่ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน และสามารถถอดออกได้ทั้งหมด ขณะที่ใต้เบาะนั่งเป็นจุดติดตั้งลิ้นชักสำหรับเก็บอุปกรณ์ใช้งานต่างๆ แยกสัดส่วนอย่างเป็นระเบียบ ทำให้ GLADIATOR มีคุณประโยชน์ที่หลากหลายกว่ากระบะคู่แข่งระดับเดียวกันอย่างไม่ต้องสงสัย
ส่วนระบบความบันเทิงที่ติดตั้งใน JEEP หลายรุ่น คือ ระบบที่มีชื่อว่า UCONNECT (พัฒนามาเป็นเวอร์ชันที่ 4 แล้ว) กับหน้าจอระบบสัมผัสขนาด 8.4 นิ้ว มีการใช้งานที่สะดวกง่ายดาย และมีกราฟิคที่คมชัด ขณะที่ทางกระบะของ TOYOTA ใช้หน้าจอขนาด 8.0 นิ้ว
สำหรับทาง HILUX มีการติดตั้งปุ่มใช้งานโดยปราศจากปุ่มลัด หรือการปรับแต่งใดๆ เพิ่มเติม สำหรับผู้ใช้งานหลายคนอาจถือเป็นข้อดี เพราะมีการใช้งานที่สะดวก ทำความคุ้นเคยได้ง่าย เหมาะสำหรับรถที่เน้นการขับเคลื่อนเช่นนี้ ขณะที่เบาะผู้ขับสามารถปรับตำแหน่งด้วยไฟฟ้า (ของ GLADIATOR ต้องปรับด้วยมือเท่านั้น และมีจุดต้องติเล็กน้อย คือ การปราศจากที่พักเท้าฝั่งซ้าย)
การบังคับควบคุมทำได้ลงตัวอย่างน่าพอใจมาก ผู้ขับสามารถรู้สึกได้ตั้งแต่ขึ้นไปนั่งหลังพวงมาลัย เบาะนั่งมีความสูงค่อนข้างมาก ทำให้มีทัศนวิสัยโดยรอบที่ชัดเจน และปลอดโปร่ง แต่สำหรับ GLADIATOR อาจมีจุดอับสายตาบริเวณเสาด้านหน้ามากไปสักนิด ทำให้ทัศนวิสัยบริเวณดังกล่าวไม่ดีนัก
อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่มีประโยชน์มากสำหรับรถขนาดใหญ่ นั่นคือ กล้องมองภาพด้านหลัง ทางฝ่ายกระบะสัญชาติอเมริกันมีติดตั้งมาให้ (แต่เป็นอุปกรณ์เลือกติดตั้งเพิ่มเติม) นอกจากนี้ ตัวกล้องติดตั้งระบบทำความสะอาดในตัว สามารถใช้งานเมื่อลุยทางสมบุกสมบัน มีประโยชน์ระหว่างการลุยเส้นทางป่าที่ไม่หนาแน่นเกินไป หรือยามเมื่อแล่นใกล้ฟุตบาท หรือขอบทางต่างๆ สำหรับการขับขี่ในตัวเมือง
ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับการขับขี่ในตัวเมืองที่อาจไม่เหมาะสมนักกับรถกระบะขนาดใหญ่เช่นนี้ โดยเฉพาะ GLADIATOR การขับขี่ในตัวเมืองเกือบเปรียบเสมือนการขี่ช้างเข้ามาไปร้านค้าขนาดไม่ใหญ่นัก อย่างไรก็ตาม แม้ขนาดตัวจะเทอะทะ แต่การหักเลี้ยวมีความคล่องตัวเกินคาด แต่ก็ต้องใช้ความระมัดระวังให้ดี ไม่เช่นนั้น ตัวถังอาจไปกระทบกระทั่งกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวรถได้ ขณะที่ทาง HILUX กลับขับขี่ในตัวเมืองได้สะดวกสบาย ราวกับขับรถยนต์ขนาดเล็กก็ว่าได้ แต่ยังต้องพึงระลึกให้ดีว่า ระยะห่างของกันชนมีเพียง 300 มม. ยังต้องระวังพื้นที่ที่มีความคับแคบอยู่ดี
หลังจากทำการขับทดสอบ เราพบว่า JEEP มีเครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ ที่ตอบสนองได้ดีมาก หากมองในแง่ของการเป็นขุมพลัง วี 6 สูบ ขณะทำอัตราเร่งมีความฉับไวที่น่าพอใจ เมื่อกดคันเร่งลงไป สามารถสัมผัสถึงสมรรถนะ และความหนักแน่นของการส่งกำลัง รวมถึงอัตราเร่งขณะเร่งแซงด้วย ด้วยประโยชน์จากแรงบิดสูงสุดระดับ 61.2 กก.-ม. ทางฝั่งกระบะจากแดนอาทิตย์อุทัยมาพร้อมเครื่องยนต์แบบ 4 สูบเรียง กับกำลังสูงสุดที่น้อยกว่ากันที่ 60 แรงม้า แต่ในแง่ของความยืดหยุ่นของอัตราเร่งยังถือว่าทำได้ดีไม่น้อยหน้ากัน นอกจากนี้ HILUX มีระดับเสียงรบกวนที่น้อยกว่าขณะแล่นในช่วงความเร็วสูง ส่วนหนึ่งมาจากตัวถังที่มีอากาศพลศาสตร์ดีกว่าทาง GLADIATOR
ประสิทธิภาพการลุย กระบะอเมริกันลุยได้ดีกว่า
เมื่อเทียบกับรถยนต์สไตล์เอสยูวีขนานแท้ กระบะทั้ง 2 รุ่นอาจมีจุดเสียเปรียบเล็กน้อยที่มุมจาก เนื่องจากตัวถังที่เป็นกระบะด้านท้ายค่อนข้างยาว โดยรวมแล้ว ทั้ง JEEP และ TOYOTA สามารถลุยทางสมบุกสมบันได้ดีมากในสนามทดสอบของ VAIRANO โดยทางฝั่งรถยนต์สัญชาติอเมริกันจะมีความนุ่มนวลมากกว่าเล็กน้อย ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ในแบบที่คุ้นเคยกันดี นั่นคือ การขับเคลื่อนหลักจะเป็นหน้าที่ของล้อหลัง โดยมีปุ่มปรับระบบขับเคลื่อน (ของ GLADIATOR เป็นสลักขึ้น/ลง ส่วนของ HILUX เป็นปุ่มหมุน) สำหรับการใช้งานระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ (เริ่มด้วยโหมด 4H) และยังมีโหมดเน้นแรงบิด (4L) ขณะที่ทาง GLADIATOR จะมีหน้าจอแสดงผลสำหรับการลุยทางสมบุกสมบัน โดยแสดงผลตัวเลขได้หลากหลายโหมด เช่น อุณหภูมิของเครื่องยนต์ และระดับของน้ำมันเกียร์ ไปจนถึงองศาของตัวรถ ทั้งมุมเอียง และมุมก้ม/เงย รวมถึงองศาการหมุนของพวงมาลัย และข้อมูลของตำแหน่งที่ตั้ง (และความสูงจากระดับน้ำทะเลอีกด้วย)
TOYOTA
ข้อมูลของรถที่นำมาทดสอบ
เครื่องยนต์
ดีเซล วางตามยาว
4 สูบเรียง
กระบอกสูบ 92.0 มม.
ช่วงชัก 103.6 มม.
ความจุ 2,755 ซีซี
กำลังสูงสุด 204 แรงม้า ที่ 3,400 รตน.
แรงบิดสูงสุด 51.0 กก.-ม. ที่ 1,600-2,800 รตน.
เสื้อสูบใช้วัสดุโลหะน้ำหนักเบา
ดับเบิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ 4 วาล์ว/ลูกสูบ (สายพานโซ่)
คอมมอนเรล เทอร์โบ (พร้อมครีบแปรผัน) อินเตอร์คูเลอร์
ชุดกรองไอเสีย
ระบบส่งกำลัง
ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบพาร์ทไทม์
เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ
ชุดเกียร์เน้นแรงบิดที่รอบต่ำ 2 แบบ
เฟืองท้ายแบบแปรผันการส่งกำลัง
ยาง
BRIDGESTONE DUELER H/T 265/60 R18 110H
ชุดยางอะไหล่
รูปแบบตัวถัง
ตัวถังวางแบบแชสซีส์ โครงสร้างโลหะ แบบ 4 ประตู 5 ที่นั่ง
ระบบรองรับด้านหน้า ปีกนกคู่ คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง
ระบบรองรับด้านหลัง คานแข็ง แหนบซ้อน
ชอคอับแบบไฮดรอลิค
ระบบเบรค
ด้านหน้าแบบจาน พร้อมช่องระบายความร้อน
ด้านหลังแบบดุม เอบีเอส อีเอสพี
พวงมาลัยฟันเฟือง และตัวหนอน ผ่อนแรงด้วยไฮดรอลิค
ถังน้ำมันความจุ 80 ลิตร
มิติ และน้ำหนัก
ระยะฐานล้อ 3,090 มม
ความกว้างฐานล้อ
คู่หน้า 1,540 มม.
คู่หลัง 1,550 มม.
ความยาว 5,330 มม. กว้าง 1,900 มม. สูง 1,820 มม.
น้ำหนักโดยรวม
2,273 มม. รวมน้ำหนัก
บรรทุกสูงสุด 3,210 กก.
น้ำหนักลากจูงสูงสุด
3,500 กก.
ความจุกระบะท้าย 1,204 ลิตร
สถานที่ผลิต
จ. สมุทรปราการ ประเทศไทย
JEEP ข้อมูลของรถที่นำมาทดสอบ
เครื่องยนต์
ดีเซล วางตามยาว
วี 6 สูบ (ทำมุม 60 องศา)
กระบอกสูบ 83.0 มม.
ช่วงชัก 92.0 มม.
ความจุ 2,987 ซีซี
กำลังสูงสุด 264 แรงม้า ที่ 3,600 รตน.
แรงบิดสูงสุด 61.2 กก.-ม. ที่ 1,400-2,800 รตน.
เสื้อสูบใช้วัสดุโลหะน้ำหนักเบา
ดับเบิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ 4 วาล์ว/ลูกสูบ (สายพานโซ่)
คอมมอนเรล เทอร์โบ (พร้อมครีบแปรผัน) อินเตอร์คูเลอร์
ชุดกรองไอเสีย
ระบบส่งกำลัง
ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบพาร์ทไทม์
เกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ
ชุดเกียร์เน้นแรงบิดที่รอบต่ำ 2 แบบ
เฟืองท้ายแบบแปรผันการส่งกำลัง
ยาง
DUNLOP GRANDTREK A/T 255/70 R18 113H
ชุดยางอะไหล่
รูปแบบตัวถัง
ตัวถังวางแบบแชสซีส์ โครงสร้างโลหะ แบบ 4 ประตู 5 ที่นั่ง
ระบบรองรับด้านหน้า ปีกนกคู่ คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง
ระบบรองรับด้านหลังคานแข็ง แหนบซ้อน
ชอคอับแบบไฮดรอลิค
ระบบเบรคด้านหน้าแบบจาน พร้อมช่องระบายความร้อน ด้านหลังแบบดุม เอบีเอส อีเอสพี
พวงมาลัยฟันเฟือง และตัวหนอน ผ่อนแรงด้วยไฮดรอลิค
ถังน้ำมันความจุ 71 ลิตร ถังของสาร ADBLUE 20 ลิตร
มิติ และน้ำหนัก
ระยะฐานล้อ 3,490 มม
ความกว้างฐานล้อคู่หน้า/หลัง 1,600 มม.
ความยาว 5,590 มม. กว้าง 1,890 มม. สูง 1,840 มม.
น้ำหนักโดยรวม
2,478 มม. รวมน้ำหนัก
บรรทุกสูงสุด 2,960 กก.
น้ำหนักลากจูงสูงสุด 2,721 กก.
ความจุกระบะท้าย 1,005 ลิตร
สถานที่ผลิต
เมือง TOLEDO ประเทศสหรัฐอเมริกา
การวัดสมรรถนะ
การประเมินผลของ QUATTRORUOTE
เบาะผู้ขับ
GLADIATOR ปรับตำแหน่งเบาะด้วยมือ (ส่วนรองหลังปรับตำแหน่งไม่ลงตัวเท่าไรนัก) และไม่มีที่พักเท้าฝั่งซ้าย ขณะที่ HILUX ปรับเบาะด้วยไฟฟ้าล้วนๆ
แผงคอนโซล และปุ่มใช้งาน
กระบะจากฝั่งประเทศสหรัฐอเมริกาเน้นสไตล์อนุรักษนิยม ปุ่มใช้งานมากมาย และใช้งานได้สะดวก ขณะที่ฝั่งประเทศญี่ปุ่นเน้นการขับขี่ที่สะดวกสบายเช่นกัน
แผงหน้าปัด
GLADIATOR ใช้หน้าปัดแบบแอนาลอกดั้งเดิมแยก 2 วง เสริมจุดเด่นด้วยหน้าจอที่มีสีสันคมชัด (จอภาพขนาด 7 นิ้ว) การแสดงผลข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการลุยมีความละเอียดมากพอในทั้ง 2 รุ่น
ระบบความบันเทิง
ทั้ง 2 รุ่นมีระบบความบันเทิงที่เพียบพร้อม ติดตั้งระบบเนวิเกเตอร์ และระบบเชื่อมต่อ รองรับ APPLE CAR PLAY และ ANDROID AUTO ขณะที่ HILUX มีจุดด้อยอยู่บ้างในเรื่องของรูปแบบการแสดงผลที่ไม่ทันสมัยเท่าไรนัก
ระบบปรับอากาศ
ทั้ง 2 คันปรับอุณหภูมิได้รวดเร็ว แต่ทาง GLADIATOR มีระบบปรับอากาศแยก 2 โซน และช่องแอร์สำหรับเบาะหลัง และยังมีอุปกรณ์เลือกติดตั้งเป็นระบบทำความอุ่นพวงมาลัย
ทัศนวิสัย
ขณะขับเคลื่อน GLADIATOR ที่บริเวณเสาเอ และกระจกมองข้างบดบังทัศนวิสัยเล็กน้อย ทั้ง 2 รุ่นมีกล้องมองภาพด้านหลัง แต่เฉพาะ GLADIATOR มีกล้องมองภาพด้านหน้า
คุณภาพการประกอบ
การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุเน้นในเรื่องความทนทาน เหมาะสำหรับการใช้งานหนักในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 รุ่นยังมีการตกแต่งที่เน้นความหรูหราในบางจุด
อุปกรณ์ใช้งาน
GLADIATOR มีรายการอุปกรณ์เลือกติดตั้งเพิ่มเติมอีกพอสมควร เช่น เบาะหุ้มหนังแท้ หรือกล้องมองภาพด้านหน้า ส่วน HILUX ติดตั้งอุปกรณ์มาเพียบพร้อม และมีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมไม่มากนัก
ระบบความปลอดภัย
GLADIATOR มีทางเลือกอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมกับระบบช่วยเบรคอัตโนมัติ และระบบควบคุมความเร็วแปรผัน ขณะที่ทางกระบะสัญชาติญี่ปุ่นติดตั้งมาครบในตัว รวมถึงระบบรักษาตัวรถให้อยู่ในเลน
พื้นที่ใช้สอย
ห้องโดยสารไม่ถึงกับกว้างขวางมากนัก แต่รองรับผู้โดยสารได้ 4 คนสบายๆ ทาง TOYOTA มีความกว้างมากกว่า ขณะที่เบาะหลังของ GLADIATOR มีระยะช่วงศีรษะมากกว่าเล็กน้อย
พื้นที่กระบะท้าย
แม้ HILUX จะมีความยาวของตัวถังน้อยกว่า แต่กลับมีพื้นที่กระบะท้ายมากกว่า หากวัดมิติทั้งความสูง และความกว้างของตัวกระบะ ขณะที่ทาง GLADIATOR มีระยะความลึกมากกว่า
ความสะดวกสบาย
HILUX มีเสียงรบกวนต่ำกว่าในทุกช่วงความเร็ว อย่างไรก็ตาม ระบบรองรับส่งแรงสั่นสะเทือนค่อนข้างมาก ขณะที่ระบบรองรับด้านหลังของ GLADIATOR ตอบสนองได้ลงตัวดีมากบนพื้นขรุขระแบบแห้ง
เครื่องยนต์
เครื่องยนต์ วี 6 สูบของ JEEP มีการทำงานที่ไหลลื่น หนักแน่น และตอบสนองได้ดังใจ ขณะที่เครื่องยนต์ 4 สูบเรียงของ TOYOTA ทำได้ดีเช่นกัน แม้ในบางจังหวะจะมีอาการสะดุดบ้างเล็กน้อย
อัตราเร่ง
กระบะของ JEEP มีอัตราเร่งที่มีความต่อเนื่องดีมาก ทำตัวเลขได้ดีกว่าคู่แข่งจากการมีกำลังสูงสุดมากกว่าที่ 60 แรงม้า แต่โดยรวมแล้ว ถือว่าอัตราเร่งของ HILUX ก็ยังตามมาได้ไม่ห่าง
อัตราเร่งยืดหยุ่น
หากต้องการเร่งแซงอย่างฉับไว สามารถทำได้อย่างตรงไปตรงมา นั่นคือ กดคันเร่งให้ลึกเข้าไว้ แต่ทาง GLADIATOR มีแรงบิดที่มากกว่า ทำให้อัตราเร่งมีความกระฉับกระเฉงกว่าเช่นกัน
ระบบส่งกำลัง
การตอบสนองของระบบเกียร์ ทำได้ดีมากทั้ง 2 รุ่น ไต่ความเร็วได้รวดเร็ว และไหลลื่น แต่โดยรวมแล้วระบบเกียร์ของ JEEP มีการปรับแต่งได้เหมาะสมกับรถยนต์ประเภทนี้มากๆ
การบังคับควบคุม
การบังคับเลี้ยวทำได้ฉับไวดังใจทั้ง 2 รุ่น แต่ทางฝั่ง GLADIATOR มีการตอบสนองขณะหักเลี้ยวที่แม่นยำพอสมควร ควบคุมได้ง่าย และแก้อาการด้วยการหักพวงมาลัยไปยังทิศทางตรงกันข้ามได้ไม่ยาก
ระบบเบรค
ระบบเบรคที่ต้องรับมือกับน้ำหนักตัวที่ค่อนข้างมากของกระบะทั้ง 2 รุ่น โดยเฉพาะ HILUX มีระยะเบรคค่อนข้างยาวในสภาวะพื้นผิวที่มีก้อนหินผสมอยู่ ขณะที่ทาง GLADIATOR ควรทำระยะเบรคบนพื้นกรวดได้ดีกว่านี้
ความคล่องแคล่ว
ความคล่องแคล่วไม่ใช่จุดเด่นของกระบะแต่ละรุ่น แต่ยังคงมีระบบช่วยเหลือการขับขี่อีกแรง การทำงานของระบบอีเลคทรอนิคใน JEEP ค่อนข้างไหลลื่น ไม่รบกวนการขับขี่ ต่างจากของ TOYOTA
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
ตัวเลขของแต่ละคันออกมาใกล้เคียงกัน ค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 10 กม./ลิตร (GLADIATOR ทำได้น้อยกว่านั้นเล็กน้อย) และที่ 11 กม./ลิตร บนทางด่วน และประมาณ 9 กม./ลิตร ในตัวเมือง ขณะที่การขับขี่ในตัวเมือง HILUX มีการประหยัดเชื้อเพลิงที่ดีกว่า
จุดแข็ง
JEEP เครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ วี 6 สูบ มีความเหมาะสมกับรถยนต์ประเภทนี้อย่างสมบูรณ์แบบ ขณะที่การลุยทางสมบุกสมบัน ทำได้ยอดเยี่ยมไม่เสียชื่อ WRANGLER
TOYOTA จุดเด่น คือ โครงสร้างตัวถังที่แข็งแกร่ง รองรับน้ำหนักบรรทุกได้มากมาย และการประหยัดเชื้อเพลิงที่น่าพอใจ
จุดอ่อน
JEEP มีความทนทานของระบบเบรคที่ไม่ค่อยดีนัก รวมถึงระยะเบรคบนพื้นหินกรวดค่อนข้างมาก เบาะผู้ขับลดทอนความสะดวกสบาย จากการปราศจากที่พักเท้าฝั่งซ้าย
TOYOTA ระบบเบรคมีอาการล้าให้สัมผัสอย่างชัดเจน บนพื้นผิวที่ค่อนข้างลื่น HILUX มีระยะเบรคที่ค่อนข้างมากเกินควร