Quattroruote ทดสอบ
ทดสอบ SUBARU FORESTER
ถึงเวลาที่ค่าย SUBARU (ซูบารุ) หันมาใช้ระบบไฮบริด แต่ยังรักษาจุดเด่นดั้งเดิมเอาไว้ครบถ้วน เช่น เครื่องยนต์สูบนอน BOXER (บอกเซอร์) และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา ให้การขับขี่ที่ลงตัว พร้อมพื้นที่ใช้สอยที่กว้างขวาง แม้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเปลืองเชื้อเพลิงน่าจะทำได้ดีกว่านี้
รุ่น 2.0 E-BOXER LINEARTRONIC PREMIEM (2.0 อี-บอกเซอร์ ลิเนียร์ทรอนิค พรีเมียม)
ราคา
- 43,000 ยูโร (ประมาณ 1,710,000 บาท ไม่รวมภาษีนำเข้า)
เครื่องยนต์
- เบนซิน 4 สูบเรียง
- ขนาด 1,995 ซีซี
กำลังสูงสุด
- 150 แรงม้า
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย
- จากทางผู้ผลิต 14.9 กม./ลิตร
- จากการทดสอบ 11.7 กม./ลิตร
ค่าเฉลี่ยการปล่อยไอเสีย
- จากทางผู้ผลิต 154 กรัม/กม.
- จากการทดสอบ 203 กรัม/กม.
หากจะให้กล่าวถึงจุดเด่นของรถยนต์จากค่าย SUBARU หนึ่งในนั้น คือ เครื่องยนต์สูบนอน BOXER นับเป็นรูปแบบเครื่องยนต์ที่ไม่เหมือนรถยนต์ทั่วไป มีจุดประสงค์เพื่อการลดจุดศูนย์ถ่วงให้ต่ำลงมา รวมถึงข้อดีด้านอื่นๆ อีก ขุมพลังลักษณะนี้ถกเริ่มใช้งานในรุ่น IMPREZA (อิมพเรซา) ช่วยให้ SUBARU คว้าชัยชนะมามากมายในการแข่งขันแรลลีระดับโลก ระหว่างช่วงปลายของปี 1990 จนถึงต้นปี 2000 โดยในเวลาต่อมาทางค่ายรถก็มีการพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซลแบบสูบนอนขึ้นมาเป็นครั้งแรกในโลก จวบจนกระทั่งปัจจุบัน SUBARU ก็มีพัฒนาการอีกขั้นกับเครื่องยนต์ 2 รูปแบบของระบบไฮบริด และถูกนำมาใช้กับ FORESTER E-BOXER (ฟอเรสเตอร์ อี-บอกเซอร์)
แนวทางที่แตกต่างของพลังงานไฟฟ้า
รูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปของเอสยูวี สัญชาติญี่ปุ่น คือ การหันมาใช้เครื่องยนต์ไฮบริด เป็นรุ่นแรก โดยมีรูปแบบเฉพาะตัวตามที่ทาง SUBARU พัฒนาขึ้นมา หลักการคร่าวๆ จะเป็นระบบไฮบริดเต็มตัว ประกอบด้วยเครื่องยนต์เบนซิน 150 แรงม้า มีส่วนประกอบที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ถึง 80 % ส่งกำลังร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า กำลังสูงสุด 16 แรงม้า พร้อมแบทเตอรีแบบลิเธียม-ไอออน ติดตั้งในตำแหน่งที่ลงตัว นั่นคือ ตรงกลางระหว่างเพลาขับด้านหลัง และพื้นรถ ทำให้ไม่กินเนื้อที่บรรทุกสัมภาระท้ายในห้องโดยสาร แผงหน้าปัด และเบาะนั่งผู้ขับมีรูปแบบของรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น บ่งบอกถึงคุณภาพการประกอบที่น่าพอใจ เห็นได้จากรูปแบบการจัดวางปุ่มใช้งานต่างๆ และปุ่มมัลทิฟังค์ชันบนพวงมาลัยจำนวนมาก การใช้งานระหว่างการขับขี่ในระยะแรกอาจต้องทำความคุ้นเคยพอสมควร นอกจากนี้ ระบบความบันเทิงมีรูปแบบการแสดงผลที่ดูไม่ทันสมัยเท่าใดนัก ควรมีการจัดวางให้ใช้งานได้สะดวกสบายกว่านี้ แต่อย่างน้อยยังรองรับระบบ APPLE CAR PLAY และ ANDROID AUTO
คุณลักษณะการขับขี่ที่แตกต่าง
ขณะขับขี่บนท้องถนน FORESTER ให้ความรู้สึกที่มั่นคง (และขับสบายในเวลาเดียวกัน) เป็นสิ่งที่สัมผัสได้เป็นอย่างแรก หากต้องการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าล้วน ผู้ขับต้องบรรจงกดคันเร่งแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นระยะทางสั้นๆ รูปแบบการขับขี่นอกเหนือจากนี้จะเป็นการประมวลผลของระบบขับเคลื่อน และทำได้อย่างเรียบเนียน ระหว่างการขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาป และสนับสนุนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า หรือการสลับการทำงานตามความเหมาะสมระหว่างขุมพลังทั้ง 2 รูปแบบ ในแง่การใช้งานทั่วไป มอเตอร์ไฟฟ้ามีจังหวะการทำงานไม่บ่อยนัก ทำให้มีส่วนเสริมอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงไม่มากเท่าไร ทั้งการขับขี่ในตัวเมือง และบนทางไกล สมรรถนะโดยรวมถือว่าทำได้ดีสมตัว แต่ไม่ถึงกับโดดเด่นมากนัก มอเตอร์ไฟฟ้าระดับ 16 แรงม้า ช่วยเสริมอัตราเร่งเพียงเล็กน้อยเอสยูวี จาก SUBARU รุ่นนี้ไม่ได้มีจุดเด่นในแง่ของอัตราเร่ง ทั้งในช่วง 0-100 กม./ชม. หรืออัตราเร่งยืดหยุ่น นอกจากนี้ การกดคันเร่งสุดทันทีทันใดอาจไม่ช่วยให้เรียกอัตราเร่งได้ดีพอ การกดคันเร่งบบต่อเนื่องจะได้ผลดีกว่า ผนวกกับการเปลี่ยนเกียร์ได้ 7 จังหวะ มีความเหมาะสมกับระบบรองรับที่เน้นความมั่นคง น่าเสียดายที่รูปทรงหนาของตัวถังมีผลต่อแรงต้านทานอากาศในช่วงความเร็วสูง อย่างไรก็ตาม ชดเชยได้ด้วยโครงสร้างตัวถังที่มีความแน่นหนาแข็งแรงแม้ในขณะเรียกอัตราเร่ง การบังคับเลี้ยวที่ถูกปรับแต่งอย่างลงตัว สัมผัสของการหักเลี้ยวของล้อคู่หน้ามีการตอบสนองที่ดี มีความฉับไว และมั่นคงมากกว่าคู่แข่งระดับเดียวกัน ระบบรองรับถูกปรับแต่งให้มีอาการโคลงเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ FORESTER มีการตอบสนองที่ดีมากในขณะเข้าโค้ง บางครั้งให้ความรู้สึกที่คล่องแคล่วราวกับรถยนต์สไตล์สเตชันแวกอน แม้เอาเข้าจริงจะเป็นเอสยูวี เอกลักษณ์เฉพาะตัวของ SUBARU คือ คุณสมบัติเด่นบนทางสมบุกสมบัน ด้วยระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา พร้อมโหมดขับขี่บนเส้นทงหิมะ และโคลนเลน ความสูงจากพื้นถนนถึง 220 มม. ช่วยให้ลุยผ่านอุปสรรคได้ดี รวมถึงมุมปะทะ และมุมจากที่ยอดเยี่ยม (อยู่ที่ 20.2 องศา และ 25.8 องศา ตามลำดับ) รถคันนี้สามารถลุยทางสมบุกสมบันได้ดีเกินคาด สุดท้ายแล้ว ในแง่ของระบบความปลอดภัย นอกเหนือจากระบบความปลอดภัยขั้นพื้นฐานที่ติดตั้งมากับตัวรถ ยังมีระบบตรวจจับสายตาของผู้ขับ เพื่อตรวจจับระดับความเมื่อยล้า รวมถึงระบบตรวจจับว่ามีผู้โดยสารบนเบาะหลังหรือไม่ แม้จะดับเครื่องยนต์แล้ว และยังมีระบบช่วยเบรคอัตโนมัติขณะทำการถอยรถ หากเซนเซอร์มีการตรวจพบวัตถุเคลื่อนที่บริเวณด้านหลัง และยังมีระบบช่วยเตือนเมื่อมีรถแล่นมาด้านหลังจากเลนข้างๆ หากผู้ขับมีท่าทีจะหักเลี้ยวเพื่อเปลี่ยนเลน ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ และระบบโทรขอความช่วยเหลือฉุกเฉินในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ระบบต่างๆ ตามที่กล่าวมาถูกรวมอยู่ในชุดระบบความปลอดภัย EYESIGHT ถูกใช้งานครั้งแรกตั้งแต่ปี 2008 ถูกติดตั้งในรถยนต์ของ SUBARU ร่วม 90,000 คัน ในภูมิภาคยุโรป โดยมีข้อมูลของทางค่ายรถระบุว่า ระบบความปลอดภัยดังกล่าวช่วยลดอัตราการเสี่ยงอุบัติเหตุลงถึง 31 % โดยทาง SUBARU มีเป้าหมายที่จะลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงลงมาถึง 0 % เลยทีเดียว ภายในปี 2030
ข้อมูลจากทางผู้ผลิตกับรถที่นำมาทดสอบ
เครื่องยนต์
- วางด้านหน้า ตามยาว
- เบนซิน 4 สูบนอน BOXER
- กระบอกสูบ 84.0 มม.
- ช่วงชัก 90.0 มม.
- ความจุ 1,995 ซีซี
- กำลังสูงสุด 150 แรงม้า ที่ 5,600 รตน.
- แรงบิดสูงสุด 19.8 กก.-ม. ที่ 4,000 รตน.
- ฝาสูบวัสดุน้ำหนักเบา
- ดับเบิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ วาล์วแปรผัน (สายพานโซ่)
- ฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง
- ชุดกรองไอเสีย
มอเตอร์ไฟฟ้า
- กำลังสูงสุด 16 แรงม้า
- แรงบิดสูงสุด 6.7 กก.-ม.
ระบบส่งกำลัง
- ขับเคลื่อน 4 ล้อ
- เกียร์อัตโนมัติแปรผัน
ยาง
- บริดจ์สโตน ดูเอเลอร์ เอช/พี สปอร์ท 225/55 R18 98V
- ชุดปะยาง
รายละเอียดตัวถัง
- ตัวถังโลหะ ทรง 2 กล่อง 5 ประตู 5 ที่นั่ง
- ระบบรองรับด้านหน้า แมคเฟอร์สันสตรัท คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง
- ด้านหลัง มัลทิลิงค์ คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง
- ชอคอับแบบไฮดรอลิค
- เบรคแบบจาน คาร์บอนเซรามิค เอบีเอส และอีเอสพี
- พวงมาลัยฟันเฟือง และตัวหนอน ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า
- ความจุถังน้ำมัน 48 ลิตร
มิติตัวถัง และน้ำหนัก
- ระยะฐานล้อ 2,670 มม.
- ความกว้างฐานล้อคู่หน้า/หลัง 1,570 มม.
- ความยาว 4,630 มม. กว้าง 1,820 มม. สูง 1,730 มม.
- น้ำหนักตัวรถ 1,664 กก. รวมน้ำหนักบรรทุกสูงสุด 2,185 กก. น้ำหนักลากจูงสูงสุด 1,870 กก.
- พื้นที่เก็บสัมภาระ 509-1,779 ลิตร
ผลิตที่
- เมืองโอตะ (ประเทศญี่ปุ่น)
การขับเคลื่อนในรูปแบบไฮบริด
ระบบไฮบริดจากค่าย SUBARU ถูกนำมาใช้ครั้งแรกกับ FORESTER รุ่นล่าสุด มีชื่อเรียกว่า E-BOXER ประกอบด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า กำลังสูงสุด 16 แรงม้า ส่งกำลังด้วยเกียรัตโนมัติแปรผัน ชุดแบทเตอรี ลิเธียม-ไอออน ติดตั้งบริเวณเหนือเพลาขับด้านท้าย พร้อมชุดควบคุมด้วยอีเลคทรอนิค ถูกออกแบบมาเพื่อเสริมแรงขับเคลื่อนในช่วงรอบเครื่องยนต์ต่ำ และระดับกลาง และชาร์จไฟฟ้ากลับในช่วงลดความเร็ว มีรูปแบบการทำงานของระบบไฮบริดเต็มตัว มีจังหวะการทำงานด้วยไฟฟ้าล้วนในช่วงความเร็วต่ำ และเป็นระยะทางสั้นๆ ระบบไฮบริดสามารถชาร์จไฟฟ้าจากการทำงานของเครื่องยนต์สูบนอน ไม่ใช่ขณะขับเคลื่อนเท่านั้น แต่รวมถึงขณะจอดอยู่กับที่ด้วย ด้วยชุดคลัทช์ที่จะควบคุมการเชื่อมต่อกับระบบขับเคลื่อน ระบบไฮบริดของรถรุ่นนี้ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ ภายใต้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลาของ SUBARU ทีมวิศวกรจากญี่ปุ่นมีความมุ่งมั่นตั้งใจกับการรังสรรค์ในทุกรายละเอียด เริ่มตั้งแต่โครงสร้างตัวถังที่มีความแข็งแรงกว่าเดิม 70 % เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้านี้ และสามารถรับแรงกระแทกดีขึ้นถึง 40 % ช่วยให้ระดับความปลอดภัยเชิงปกป้องดีขึ้น ในส่วนของระบบความปลอดภัย มีการติดตั้งระบบ EYESIGHT ทำงานร่วมกับระบบกล้องมองภาพ ผสานกับระบบความปลอดภัยที่ติดตั้งมาให้
การทดสอบสมรรถนะ
การประเมินผลของ QUATTRORUOTE
เบาะผู้ขับ
เบาะผู้ขับมีตำแหน่งค่อนข้างสูงตามแบบฉบับเอสยูวี ปรับทิศทางด้วยไฟฟ้า แต่ไม่สามารถปรับตำแหน่งช่วงเอวได้
แผงหน้าปัด และปุ่มควบคุม
ปุ่มใช้งานติดตั้งมามากมายบริเวณก้านพวงมาลัย อาจชวนสับสนในระยะแรก ต้องทำความคุ้นเคยพอสมควร ระบบเบรคมือไฟฟ้าถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรก
อุปกรณ์ใช้งาน
แผงหน้าปัดแบบแยก 2 วง เป็นมาตรวัดแบบแอนาลอก และจอดิจิทอลแบบสี (แสดงผลได้หลากหลาย) บริเวณด้านบนของแผงหน้าปัด
ระบบความบันเทิง
การใช้งานมีความหลากหลาย รองรับ APPLE CAR PLAY และ ANDROID AUTO แต่รูปแบบการแสดงผลไม่ทันสมัยเท่าที่ควร
ระบบปรับอากาศ
ระบบสามารถปรับอุณหภูมิได้รวดเร็วตามต้องการ การติดตั้งช่องแอร์สำหรับเบาะด้านหลังมีประโยชน์มาก
ทัศนวิสัย
ทัศนวิสัยดีทั้งด้านหน้า และด้านหลัง จากรูปทรงของเสาด้านหน้าที่ไม่หนาเกินไป กล้องมองภาพด้านหลังช่วยได้มาก
คุณภาพการประกอบ
โดยรวมแล้วมีคุณภาพการประกอบที่น่าพอใจ แทบไม่มีจุดต้องติใดๆ แม้ในจุดซ่อนเร้นจากการมองเห็น
อุปกรณ์ใช้งาน
อุปกรณ์ที่ติดตั้งเป็นมาตรฐานจากโรงงานมีความครบครันเป็นอย่างดี อุปกรณ์เลือกติดตั้งมีเพียงสีตัวถังแบบเมทัลลิค (ราคา 700 ยูโร)
ระบบความปลอดภัย
ระบบช่วยเบรคอัตโนมัติ ระบบครูสคอนทโรลแปรผันความเร็ว ระบบรักษาตัวรถใอยู่ในเลน (มีการทำงานที่เชื่อถือได้) แต่ละรายการที่กล่าวมาติดตั้งเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน
พื้นที่ใช้สอย
ผู้โดยสารบนเบาะหลังสามารถนั่งได้สะดวกสบาย มีพื้นที่ช่วงหัวเข่าที่เพียงพอ รวมถึงช่วงศอก และพื้นที่เหนือศีรษะ
ที่เก็บสัมภาระท้าย
ที่เก็บสัมภาระทรงสมมาตร ใช้งานได้สะดวก แม้คู่แข่งระดับเดียวกันบางเจ้าจะทำได้ดีกว่า ประตูบานท้ายเปิด/ปิดด้วยไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน
ความสะดวกสบาย
ระบบรองรับดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้ดีมากที่ทุกสภาวะพื้นผิวถนน น่าเสียดายเล็กน้อยที่เสียงรบกวนค่อนข้างมากขณะใช้ความเร็วสูง เนื่องจากตัวถังทรงหนา
เครื่องยนต์
เครื่องยนต์สูบนอน BOXER และมอเตอร์ไฟฟ้าผสานการทำงานได้อย่างลงตัว แต่การขับเคลื่อนหลักเป็นหน้าที่ของเครื่องยนต์สันดาปเกือบจะตลอดเวลา
อัตราเร่ง
มอเตอร์ไฟฟ้าเสริมการทำงานหลายจังหวะ แต่ผลลัพธ์ด้านอัตราเร่งกลับไม่โดดเด่นเท่าที่ควร ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลาช่วยลดอาการล้อหมุนฟรี แม้ในสภาวะถนนเปียก
อัตราเร่งยืดหยุ่น
อัตราเร่งช่วง 70-120 กม./ชม. ใช้เวลามากกว่า 11 วินาที เท่านั้น จากการทำงานของระบบเกียร์อัตโนมัติแปรผัน แม้ไม่ถึงกับแรงแบบหลังติดเบาะ แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับน่าพอใจพอสมควร
ระบบส่งกำลัง
ระบบเกียร์อัตโนมัติแปรผัน LINEARTRONIC ตอบสนองได้ดีหากกดคันเร่งแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่กลับทำได้ไม่ดีนักหากกดคันเร่งแบบเน้นอัตราเร่งเต็มๆ
การบังคับควบคุม
พวงมาลัยมีการตอบสนองที่ฉับไว แม่นยำ และต่อเนื่อง ผู้ขับสามารถรับรู้ระดับองศาของล้อคู่หน้าขณะหักเลี้ยวได้เที่ยงตรง
ระบบเบรค
ระยะเบรคถือว่าทำได้ดีมาก ไม่มีอาการล้าให้สัมผัส และแป้นเบรคมีความหนักแน่นตลอดเวลา
ความคล่องแคล่ว
ระบบรองรับมีความหนึบแน่นดี และมีความคล่องแคล่วหากมองในแง่ของขนาดตัวรถ ตัวรถมีความมั่นคงน่าพอใจ ให้ความรู้สึกปลอดภัยแม้สภาวะพื้นผิวลื่น
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
แม้จะมีมอเตอร์ไฟฟ้าเสริมการขับเคลื่อน ระบบ E-BOXER มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ค่อนข้างสูง (ตัวเลขที่ 12.8 กม./ลิตร) ขณะที่การขับทางไกล มีตัวเลขที่ระดับ 10 กม./ลิตร เท่านั้น
จุดแข็ง
- การยึดเกาะถนน การขับขี่มีความไหลลื่น และมีความสมดุลน่าพอใจ การยึดเกาะถนนทำได้ดีแทบทุกสภาพพื้นถนน พื้นที่ใช้สอย ห้องโดยสารมีพื้นที่เหลือเฟือ รวมถึงการโดยสารของผู้โดยสารด้านหน้า และด้านหลัง
จุดอ่อน
- อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ตัวเลขค่อนข้างสิ้นเปลือง แม้การขับขี่ในตัวเมืองก็ตาม
- ระบบความบันเทิง การใช้งานไม่สะดวกเท่าใดนัก รูปแบบการแสดงผลควรได้รับการปรับปรุง