เรื่องเด่น Quattroruote
ทดสอบ มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์
การกลับมาของ เอาท์แลนเดอร์ ขับเคลื่อนด้วยขุมพลังถึง 3 ตัว พร้อมความทันสมัยรอบคัน จุดเด่น คือ ความสะดวกสบายขณะโดยสาร และการขับเคลื่อนในตัวเมืองด้วยพลังงานไฟฟ้าเกือบตลอดเวลา มีจุดต้องติ คือ การปราศจากระบบเนวิเกเตอร์ และการเบรคที่พื้นผิวแตกต่างกัน
รุ่น 2.4 ไมเวค 4x4 พีเอชอีวี ไดมอนด์ เอสดีเอ 50 ทีดีไอ
ราคา (จากทางผู้ผลิต)
- ประมาณ 3,080,000 บาท ไม่รวมภาษีนำเข้า 55,400 ยูโร
เครื่องยนต์
- เบนซิน เทอร์โบ 4 สูบเรียง
- 2,360 ซีซี
กำลังสูงสุด
- 224 แรงม้า
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
- จากทางผู้ผลิต 50.0 กม./ลิตร
- จากการทดสอบ 21.6 กม./ลิตร
ค่าการปล่อยไอเสีย
- จากทางผู้ผลิต 46 กรัม/กม.
- จากการทดสอบ 110 กรัม/กม.
มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี มาพร้อมสูตรสำเร็จ 3 คูณ 4 นั่นคือ ขุมพลังสำหรับการขับเคลื่อนถึง 3 ตัว ประกอบด้วย เครื่องยนต์สันดาป และมอเตอร์ไฟฟ้า จำนวน 2 ตัวด้วยกัน นำมาสู่ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา มีชื่อเรียกว่า ซูเพอร์-ออลล์ วีล คอนทโรล เป็นหนึ่งในองค์ประกอบอันโดดเด่น และการส่งกำลังที่ล้ำสมัยของระบบพลัก-อิน ไฮบริด สร้างยอดจำหน่ายในระดับหัวแถวของรถยนต์กลุ่มนี้ และจัดเป็นรถยนต์แบบพลัก-อิน ไฮบริดที่มียอดจำหน่ายสูงเป็นอันดับ 3 เลยทีเดียว ตามหลัง เรอโนลต์ โซอี และนิสสัน ลีฟ เท่านั้น ขณะที่ล่าสุดมีการปรับโฉมไปหมาดๆ เรานำรุ่นทอพมาทำการทดสอบในครั้งนี้ พบว่ามีรูปแบบที่ไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก เส้นสายภายนอกมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ห้องโดยสารเน้นโทนเคร่งขรึม และบ่งบอกถึงความแข็งแรง (ที่อาจจะมากเกินไปในบางจุด) และสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การปรับปรุงระบบส่งกำลังทั้งในส่วนของเครื่องยนต์สันดาป (มีขนาดใหญ่ขึ้นที่ 2.4 ลิตร) รวมถึงประสิทธิภาพของชุดแบทเตอรี มีความจุเพิ่มขึ้น พร้อมกับการชาร์จไฟฟ้าที่กินเวลาน้อยลง แม้จะใช้งานกับกระแสไฟฟ้าในครัวเรือนก็ตาม ทำให้รถรุ่นนี้มีความลงตัวสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน และการแล่นด้วยพลังงานไฟฟ้าล้วน (สามารถขับขี่ในตัวเมืองเป็นระยะทางกว่า 40 กม.) นับว่าน่าพอใจสำหรับรถยนต์ไฮบริด
เส้นสายที่ีเรียบง่าย
เมื่อขึ้นมานั่งในห้องโดยสาร เอาท์แลนเดอร์ อาจไม่ใช่รถยนต์ที่มีจุดเด่นในแง่ของการตกแต่งภายใน แต่ให้ความสำคัญกับประโยชน์ใช้สอยมากกว่า มีเพียงปุ่มใช้งาน และจอแสดงผลที่ถูกออกแบบอย่างมีสไตล์ ใช้งานได้สะดวกตามหลักสรีรศาสตร์ รวมถึงคุณภาพโดยรวมที่น่าพอใจ (พร้อมการจัดวางอย่างเป็นระเบียบ) ทำให้ผู้ขับมีความรู้สึกว่า เอสยูวีรุ่นนี้มีความเหมาะสมในแง่ของการขับขี่ มากกว่ารายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ จุดที่ทำให้ทีมงานของเรารู้สึกแปลกใจ คือ การปราศจากระบบเนวิเกเตอร์ ถูกแทนที่ด้วยการรองรับระบบ APPLE CAR PLAY และ ANDROID AUTO ถือว่าพบเห็นไม่บ่อยนักสำหรับรถยนต์ที่มีราคาระดับนี้ ความโดดเด่นของรถรุ่นนี้ จึงอยู่ที่ระบบส่งกำลัง อย่างที่กล่าวเอาไว้ก่อนหน้านี้ รุ่น พีเอชอีวี คือ ระบบพลัก-อิน ไฮบริด ที่สามารถชาร์จไฟฟ้าได้จากครัวเรือน และจุดจ่ายไฟฟ้าแบบรวดเร็ว หากต้องการใช้งานระบบไฟฟ้าแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ควรคำนึงถึงการชาร์จไฟฟ้าดังกล่าวด้วย ขุมพลังขับเคลื่อนทั้ง 3 รูปแบบ มีความแตกต่างในตัว หากถูกชาร์จไฟฟ้าเอาไว้มากเพียงพอ ตัวรถสามารถแล่นด้วยไฟฟ้าล้วน โดยมีค่าไอเสียเป็นศูนย์ การขับเคลื่อนเป็นไปอย่างลื่นไหล สะดวกสบาย และมีอัตราเร่งที่น่าพอใจ แม้มีขนาดตัวที่ใหญ่โต น้ำหนักค่อนข้างมาก แต่ยังให้อัตราเร่ง และอัตราเร่งยืดหยุ่นที่ยอดเยี่ยมเช่นกัน ในช่วงความเร็วสูง เครื่องยนต์สันดาปจะเข้ามาทำหน้าที่ขับเคลื่อนอีกแรง รวมถึงการชาร์จกระแสไฟฟ้าสู่แบทเตอรี ระหว่างการขับขี่บนทางหลวง เราพบว่า ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย (จากการทดสอบ) ที่ 21.6 กม./ลิตร คือ สิ่งที่แทบเป็นไปได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจะสูงขึ้นทันทีตามแบบฉบับรถเอสยูวีทั่วไป จุดต้องติอีกประการ คือ การเบรคบนพื้นผิวที่มีความฝืดแตกต่างกันซึ่งทำได้ไม่ดีเท่าใดนัก นอกเหนือจากนี้แล้ว เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี จัดเป็นรถยนต์ที่ควบคุมง่าย สามารถแปรผันรูปแบบการขับเคลื่อนได้หลากหลายตามแต่สภาพของเส้นทาง
ข้อมูลทางเทคนิค
ระบบขับเคลื่อนอันหลากหลาย
เอาท์แลนเดอร์ โฉมล่าสุด ใช้เครื่องยนต์เบนซิน ขนาด 2.4 ลิตร มีกำลังสูงสุดมากกว่าเครื่องยนต์บลอคเดิมที่มีขนาด 2.0 ลิตร (ที่ 135 แรงม้า โดยโฉมก่อนหน้านี้ คือ 121 แรงม้า ส่วนแรงบิดสูงสุด คือ 21.5 กก.-ม. เทียบกับโฉมก่อนหน้านี้ คือ 19.4 กก.-ม.) ขณะที่มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก มีจำนวน 2 ตัว (กำลังสูงสุด 82 แรงม้า สำหรับล้อคู่หน้า และ 95 แรงม้า สำหรับล้อคู่หลัง) นอกจากนี้ความจุของชุดแบทเตอรียังเพิ่มขึ้นอีกด้วย จาก 12 กิโลวัตต์ชั่วโมง เป็น 13.8 กิโลวัตต์ชั่วโมง เครื่องยนต์สันดาปมีหน้าที่สร้างกระแสไฟฟ้าในทีแรก ปั่นกระแสไฟฟ้าสู่ชุด แบทเตอรีสำหรับป้อนเข้าสู่ชุดมอเตอร์ขับเคลื่อน (แสดงผลการทำงานของระบบไฮบริดตามรูปทางขวาล่าง) ตัวรถสามารถแล่นด้วยไฟฟ้าล้วน สามารถส่งกำลังร่วมกับเครื่องยนต์สันดาป โดยมีแผ่นคลัทช์เชื่อมต่อการส่งกำลังระหว่างเครื่องยนต์สันดาป และล้อ (ตามรูปด้านล่าง) การขับเคลื่อนดังกล่าวปราศจากชุดเกียร์ มีเพียงเพลาขับที่มีเพียงจังหวะเดียวเท่านั้น
การสะสม/ชาร์จไฟฟ้า
ปุ่มหมุนด้านข้างใช้สำหรับปรับโหมดต่างๆ เริ่มด้วยโหมดเน้นการสะสมกระแสไฟฟ้า (รักษาระดับของแบทเตอรีให้คงที่สำหรับการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า) นอกจากนี้ยังมีโหมดเน้นการชาร์จไฟฟ้า ระบบจะอาศัยไฟฟ้าที่ถูกป้อนมาจากเครื่องยนต์สันดาปยิ่งขึ้น
การขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าล้วน
โหมดดังกล่าวจะควบคุมให้ตัวรถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 100 % หากแบทเตอรีถูกชาร์จมากพอแล้ว การขับขี่ในตัวเมืองจะใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก หากมีการกดคันเร่งมากขึ้น เครื่องยนต์สันดาปจะทำหน้าที่ป้อนกระแสไฟฟ้าสู่ชุดแบทเตอรีสำหรับมอเตอร์ขับเคลื่อนส่งกำลังไปยังล้อ
การลอคระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ
ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ผ่านปุ่มบริเวณอุโมงค์เกียร์ สามารถใช้งานได้ระหว่างโหมดปกติ และการลอครูปแบบการส่งกำลัง แปรผันการส่งกำลังระหว่างล้อทั้ง 4 ตำแหน่ง เหมาะสำหรับการลุยเส้นทางสมบุกสมบัน
การใช้งานโหมดทางลื่นบนหิมะ
หากเลือกโหมดสำหรับการขับเคลื่อนบนทางลื่น เช่น เส้นทางหิมะ ระบบจะรองรับพื้นผิวที่มีความลื่นได้ดีขึ้น การถ่ายทอดแรงบิดจะถูกแสดงผลบนหน้าจอ ติดตั้งบริเวณกึ่งกลางของหน้าจอมาตรวัด ผู้ขับไม่ต้องละสายตาจากถนนมากเกินไป
การใช้งานโหมดสปอร์ท
โหมดดังกล่าวเหมาะสำหรับการขับขี่แบบเน้นสมรรถนะ หรือการขับขี่ที่ต้องการพละกำลังมากขึ้น การตอบสนองของคันเร่งจะฉับไวยิ่งขึ้น สถานะการชาร์จกระแสไฟฟ้าจะอยู่ในระดับสูงสุด (สามารถปรับแต่งได้เพิ่มเติมผ่านแพดเดิล ชิฟท์ หลังพวงมาลัย)
ข้อมูลจำเพาะ
ข้อมูลจากทางผู้ผลิตกับรถที่นำมาทดสอบ
เครื่องยนต์
- เครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ วางด้านหน้า ตามยาว
- แบบ 4 สูบเรียง
- กระบอกสูบ 88.0 มม.
- ช่วงชัก 97.0 มม.
- ขนาด 2,360 ซีซี
- กำลังสูงสุด 135 แรงม้า ที่ 4,500 รตน.
- แรงบิดสูงสุด 21.5 กก.-ม. ที่ 4,500 รตน.
- แคมชาฟท์ สำหรับปรับสมดุล 1 ชุด
- เสื้อสูบใช้วัสดุโลหะน้ำหนักเบา
- ระบบปรับสมดุลแคมชาฟท์ 2 ชุด
- ดับเบิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ 4 วาล์ว ต่อลูกสูบ (สายพานโซ่)
- มอเตอร์ไฟฟ้าสำหรับล้อคู่หน้า
- กำลังสูงสุด 82 แรงม้า
- แรงบิดสูงสุด 14.0 กก.-ม.
- มอเตอร์ไฟฟ้าสำหรับล้อคู่หลัง
- กำลังสูงสุด 95 แรงม้า
- แรงบิดสูงสุด 19.9 กก.-ม.
- กำลังสูงสุดทั้งระบบ 224 แรงม้า
แบทเตอรี
- แบบลิเธียม-ไอออน 300 โวลท์ ความจุ 13.8 กิโลวัตต์ชั่วโมง
ระบบส่งกำลัง
- 4 ล้อตลอดเวลา
- เกียร์อัตโนมัติ
ยาง
- โตโย ไทร์ส์ อาร์ 37 225/55 R18 98H
- ชุดปะยาง
ตัวถัง
- ตัวถังใช้วัสดุโลหะ 5 ประตู 5 ที่นั่ง
- ระบบรองรับด้านหน้า แมคเฟอร์สันสตรัท คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง
- ระบบรองรับด้านหลัง มัลทิลิงค์ คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง
- ชอคอับแบบไฮดรอลิค
- เบรคแบบจาน คู่หน้ามีช่องระบายความร้อน เอบีเอส และอีเอสพี
- พวงมาลัยแบบฟันเฟือง และตัวหนอน แปรผันด้วยไฟฟ้า
- ความจุถังน้ำมัน 45 ลิตร
มิติตัวถัง และน้ำหนัก
- ระยะฐานล้อ 2,670 มม.
- ความกว้างฐานล้อคู่หน้า/หลัง 1,540 มม.
- ความยาว 4,700 มม. กว้าง 1,800 มม. สูง 1,710 มม.
- น้ำหนัก 1,955 กก. น้ำหนักบรรทุก สูงสุด 2,390 กก. น้ำหนักลากจูงสูงสุด 1,500 กก.
- พื้นที่เก็บสัมภาระ 403-1,602 ลิตร
ผลิตที่
- เมืองโอกาซากิ ประเทศญี่ปุ่น
พื้นที่ใช้สอย และทัศนวิสัย
พื้นที่เก็บสัมภาระท้าย
การทดสอบสมรรถนะ
การประเมินผลของ QUATTRORUOTE
ตำแหน่งเบาะนั่ง
[star value="3" max="4"]การจัดวางในรูปแบบของรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น เบาะนั่งสูง หุ้มหนังแท้ ปรับทิศทางด้วยไฟฟ้า ไม่มีการรองรับส่วนสะโพก ตำแหน่งพวงมาลัยต่ำลงมา และทำมุมเอนค่อนข้างมาก
ปุ่มควบคุม และอุปกรณ์ต่างๆ
[star value="3" max="3"]หน้าจอปรับเปลี่ยนได้หลากหลายรูปแบบ และมีรายการทำงานอย่างละเอียด บรรดาปุ่มบนพวงมาลัยดูหนาแน่นเกินความจำเป็น ขณะที่ปุ่มใช้งานบางอันไม่อยู่ในระยะเอื้อมถึง
ระบบความบันเทิง
[star value="2" max="3"]หน้าจอสำหรับใช้งานดูวุ่นวาย ไม่มีระบบเนวิเกเตอร์ แถมไม่สามารถเลือกติดตั้งด้วยซ้ำ การใช้งานแผนที่ต้องพึ่งระบบอื่นๆ เช่น ANDROID AUTO และ APPLE CAR PLAY
ระบบปรับอากาศ
[star value="4" max="4"]ระบบปรับอากาศแบบแยก 2 โซน ทำความเย็นได้ทั่วถึง พร้อมช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลังพวงมาลัย และเบาะคู่หน้าติดตั้งระบบทำความอุ่น
ทัศนวิสัย
[star value="3" max="4"]ทัศนวิสัยระหว่างขับขี่มีความปลอดโปร่งดี แม้ส่วนเสาด้านหน้าจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ กล้องมองภาพรอบทิศทาง 360 องศา ช่วยให้เสริมทัศนวิสัยได้ดีมาก
คุณภาพการประกอบ
[star value="3" max="4"]คุณภาพการประกอบบางส่วนไม่สมกับราคา รายละเอียดหลายส่วนยังมีจุดผิดพลาด และมีการออกแบบที่ดูไม่สมราคา อย่างไรก็ตาม วัสดุ และการประกอบยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
อุปกรณ์ใช้สอย
[star value="4" max="4"]รายการอุปกรณ์ใช้สอยมีมากมาย แต่ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ติดตั้งจากโรงงาน มีเพียงสีของตัวถังเท่านั้นที่สามารถเลือกได้ การขาดระบบเนวิเกเตอร์ถือเป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจ
ระบบความปลอดภัย
[star value="4" max="4"]ถุงลมนิรภัย 7 ตำแหน่ง ไฟหน้าแบบแอลอีดี ระบบช่วยเบรคอัตโนมัติ พร้อมการตรวจจับคนเดินถนน และรถที่แล่นมาจากด้านหลังขณะถอยรถ
ระบบช่วยเหลือการขับขี่
[star value="3" max="4"]ระบบครูสคอนทโรลแปรผันความเร็ว ระบบเตือนจุดอับสายตา และระบบเตือนการเปลี่ยนเลนโดยไม่เจตนา (แต่ไม่มีระบบช่วยควบคุมทิศทางของพวงมาลัย)
ประโยชน์ใช้สอย
[star value="4" max="5"]ห้องโดยสารมีความอเนกประสงค์เป็นอย่างดี มีความกว้างขวาง ผู้โดยสารบนเบาะแถว 2 สามารถเหยียดขาได้อย่างสะดวกสบาย
พื้นที่เก็บสัมภาระท้าย
[star value="3" max="4"]พื้นที่เก็บสัมภาระท้ายไม่ถึงกับมากที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่งระดับเดียวกัน ชุดมอเตอร์ขับเคลื่อน และซับวูเฟอร์กินพื้นที่ในส่วนนี้พอสมควร
ความสะดวกสบาย
[star value="4" max="4"]การโดยสารให้ความรื่นรมย์ที่น่าพอใจ จากระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า เครื่องยนต์สันดาปเสียงค่อนข้างดัง ระบบรองรับเน้นความนุ่มนวล
เครื่องยนต์
[star value="4" max="4"]เครื่องยนต์สันดาปถือว่ามีประสิทธิภาพสมตัว ไม่ถึงกับโดดเด่นมากนัก แต่มีพละกำลังที่มากพอ เสริมการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าอีก 2 ตัว
อัตราเร่ง
[star value="3" max="4"]เครื่องยนต์หลากหลายรูปแบบ เสริมกำลังให้รถรุ่นนี้มีอัตราเร่งที่ฉับไว โดยเฉพาะช่วง 0-100 กม./ชม. อัตราเร่งทำได้ฉับไว หากพิจารณาในแง่ของน้ำหนักที่ค่อนข้างมาก
อัตราเร่งยืดหยุ่น
[star value="4" max="4"]ระบบพลัก-อิน ไฮบริด ตอบสนองอัตราเร่งได้รวดเร็ว และมีแป้นคันเร่งที่ตอบสนองได้อย่างฉับไวเช่นกัน
ระบบส่งกำลัง
รถยนต์รุ่นนี้ปราศจากระบบเกียร์แบบดั้งเดิม จากการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก การปรับโหมดชาร์จไฟฟ้าควบคุมผ่านแพดเดิล ชิฟท์บนพวงมาลัย
การบังคับควบคุม
[star value="3" max="3"]พวงมาลัยมีน้ำหนักค่อนข้างเบา ตอบสนองค่อนข้างช้า แต่เน้นความต่อเนื่อง และเหมาะสมสำหรับรูปแบบของตัวรถ ให้ความรู้สึกปลอดภัย และการขับขี่ที่สะดวกสบาย
ระบบเบรค
[star value="3" max="3"]ระยะเบรคถือว่าทำได้ดีบนพื้นถนนแห้ง แต่ในสภาพพื้นถนนที่มีความลื่นแตกต่างกัน กลับมีระยะเบรคที่มากเกินควร ระบบเบรคแสดงให้เห็นถึงความทนทานที่ทำได้อย่างยอดเยี่ยม
ความคล่องแคล่ว
[star value="3" max="4"]เอาท์แลนเดอร์ ไม่ใช่รถที่เน้นความคล่องแคล่ว หรือระบบรองรับที่หนึบแน่น ช่วงล่างเน้นความมั่นคง และเสริมด้วยระบบควบคุมเสถียรภาพอีกแรง
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
[star value="3" max="4"]ตัวเลขเฉลี่ยที่ 21.6 กม./ลิตร และการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าขณะขับขี่ในตัวเมืองเมื่อแบทเตอรีมีมากพอ หากขับขี่บนทางไกล อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจะเพิ่มมากขึ้น
จุดแข็ง
- ระบบส่งกำลัง ปรับแต่งให้ลงตัวกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน มีความสะดวกสบายที่น่าพอใจ
- พื้นที่ใช้สอย รองรับผู้โดยสาร 5 คน โดยไม่อึดอัด แต่อย่างใด
จุดอ่อน
- ระบบเบรค การเบรคบนพื้นผิวที่มีความลื่นแตกต่างกัน ควรมีระยะเบรคที่ทำได้ดีกว่านี้
- การปราศจากระบบเนวิเกเตอร์ การขาดระบบเนวิเก-เตอร์ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเป็นหากมองในแง่ของราคาค่าตัว