ธุรกิจ
รัฐ-เอกชน หนุนสวมหมวกกันนอค-หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเชิญให้เข้าร่วมกิจกรรมซึ่งกรมการขนส่งทางบก และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ความปลอดภัยทางถนน ภายใต้แนวคิด “เลิกพฤติกรรมเสี่ยง = รอด เป็นห่วงนะ ใส่หมวกกันนอคกันเถอะ” เพื่อสร้างวินัยจราจรในกลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์ และผู้โดยสาร ส่งเสริมการปฏิบัติตามกฎหมาย และลดเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ
ทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังคงสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนโดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องกับทางม้าลาย คนเดินถนน และจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ใช้รถใช้ถนน และการบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่ทั่วถึงเพียงพอ ผู้ตรวจการแผ่นดินในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริง และเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อสิทธิของประชาชน จึงได้ใช้อำนาจตามมาตรา 32 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พศ. 2560 ในการผลักดันให้เกิดการจัดการความปลอดภัยทางถนนอย่างเป็นระบบ ผ่านการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน กิจกรรมในครั้งนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอให้ปี 2568-2569 เป็น “ปีแห่งการสร้างวินัย และความปลอดภัยทางถนน” และเสนอแนะเป้าหมายในระยะยาวว่า ประเทศไทยจะต้องลดอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือศูนย์ หรือ “Vision Zero” ภายในปี 2593 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอแนวทางจัดทำแผนปฏิบัติการแบบบูรณาการใน 5 เรื่องหลัก ได้แก่ ความปลอดภัยทางม้าลาย และความปลอดภัยของคนเดินถนน การขับขี่โดยใช้ความเร็วไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การไม่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรการสวมหมวกนิรภัย และการไม่ดื่มแล้วขับ
กลไกการขับเคลื่อนผ่านกลุ่มประสานงานหลัก (Core Group) ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานหลัก อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพฯ และ สสส. โดยหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้า และร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปี รวมถึงการจัดตั้งกลุ่มประสานงานเฉพาะด้าน ได้แก่ ด้านเยาวชน และการศึกษา และด้านข้อมูล สถิติ และงานวิจัย เพื่อส่งเสริมให้ความรู้ ความตระหนักรู้ และพฤติกรรมที่ปลอดภัยปลูกฝังตั้งแต่ในระบบการศึกษา และเพื่อให้แผนปฏิบัติการแบบบูรณาการเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม การรณรงค์ครั้งนี้จึงร่วมกันผลักดันแนวคิด “เลิกพฤติกรรมเสี่ยง = รอด” ไปสู่การปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน โดยเน้นพฤติกรรมเสี่ยงที่ควรเลิกอย่างเร่งด่วนในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะ “3 เลิก = รอด” ได้แก่ เลิกจอดทับทางม้าลาย เลิกฝ่าไฟแดง เลิกขับรถเร็ว ควบคู่กับการสวมหมวกกันนอคทุกครั้ง ทั้งผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร อยากให้พฤติกรรมง่ายๆ เหล่านี้ได้ช่วยชีวิต ลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุ และสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนได้อย่างยั่งยืน
จิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบกกล่าวว่า เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้เหลือ 12 คนต่อแสนประชากรภายในปี 2570 กรมการขนส่งทางบกร่วมขับเคลื่อนการป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนรณรงค์ปลูกจิตสำนึกการขับขี่ที่ปลอดภัยผ่านแผนงาน โครงการ และมาตรการต่างๆ เพื่อให้การควบคุมกำกับ ดูแลระบบการขนส่งทางบกถนนมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเรื่องการสวมหมวกนิรภัย มีการกำหนดเป็นมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัย ได้แก่ ไม่ขับรถเร็ว ไม่ขับขี่ขณะเมาสุรา รณรงค์การคาดเข็มขัดนิรภัย การสวมหมวกนิรภัย การหยุด ชะลอและจอด เมื่อมีผู้ข้ามทางม้าลาย และการหลีกทางให้รถพยาบาล หรือรถฉุกเฉิน อีกทั้งได้กำหนดให้เขตพื้นที่กรมการขนส่งทางบก และสำนักงานขนส่งทุกแห่งทั่วประเทศ เป็นพื้นที่สวมหมวกนิรภัย 100 % โดยได้ดำเนินการขยายผลยังภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานศึกษาทั่วประเทศที่เข้าร่วมกิจกรรมโครงการนักเรียนรุ่นใหม่ มีใบขับขี่ ในการดำเนินการตามมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนโดยเฉพาะครู อาจารย์ และบุคลากรต้องเป็นตัวอย่างด้านความปลอดภัยทางถนน มุ่งหวังให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนของประชาชน ช่วยลดอุบัติเหตุทางถนน และลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงให้ความสำคัญกับการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน เพื่อให้ประชาชนเกิดการรับรู้ จนไปสู่การมีพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัยอีกด้วย
เพื่อเสริมสร้างแนวคิดด้านความปลอดภัยทางถนนที่เหมาะสมสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย กรมการขนส่งทางบกได้พัฒนา “คลังข้อมูลเรียนรู้การใช้รถใช้ถนนสำหรับเด็ก และเยาวชน” ซึ่งเป็นรูปแบบคอร์สเรียนออนไลน์บนเวบไซท์ขับขี่ปลอดภัย ที่เด็ก และเยาวชนสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านอินเตอร์เนท รวมทั้งเมื่อผู้เรียนได้ศึกษาบทเรียนครบถ้วน และผ่านการทดสอบ ผู้เรียนจะได้รับประกาศนียบัตรรับรอง โดยมีเนื้อหา และรูปแบบเน้นให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนรู้ และผสมผสานความบันเทิงเข้ากับความรู้ความเข้าใจในการใช้รถใช้ถนน ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ และลงมือปฏิบัติผ่านสื่อ และกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคุณครู-นักเรียน ผู้ปกครอง-บุตรหลาน โดยจัดกลุ่มข้อมูลความรู้ รูปแบบสื่อ และกิจกรรมต่างๆ ให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัย แบ่งเป็นระดับอนุบาล ช่วงอายุ 3-6 ปี ระดับประถมศึกษา ช่วงอายุ 7-12 ปี และระดับมัธยมศึกษา ช่วงอายุ 13-18 ปี ในส่วนของเวบไซท์ขับขี่ปลอดภัย หรือ “ขับขี่ปลอดภัย by DLT” ก็ได้พัฒนาขึ้นเป็นช่องทางการสื่อสารความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนบนพแลทฟอร์มออนไลน์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึง และร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในพื้นที่การเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนนได้ตลอดเวลา กรมการขนส่งทางบกยังได้พัฒนาระบบข้อมูลขนาดใหญ่ และระบบการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนโดยนำเทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) มาใช้ โดยได้รับความร่วมมือจาก บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้ทุกภาคส่วนสามารถนำข้อมูลไปใช้ประกอบการตัดสินใจขับเคลื่อนในเชิงนโยบาย กำหนดแนวทาง และมาตรการในการป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนการทำงานด้านความปลอดภัยทางถนนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งองค์ความรู้ ข้อมูลวิชาการ การสื่อสารสาธารณะ โดยมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับภาคีทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันวาระ "ถนนปลอดภัย" ให้กลายเป็นวัฒนธรรมของสังคมไทย ปลูกฝังพฤติกรรมตั้งแต่ระดับปฐมวัย ชุมชน โรงเรียน โดยได้พัฒนาและขยายผล “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน” กว่า 400 แห่งทั่วประเทศ โดยมุ่งเสริมสร้างวินัยจราจรตั้งแต่ระดับปฐมวัย และส่งเสริมให้ชุมชนมีบทบาทร่วมกันในการจัดการปัญหาด้านกายภาพของถนนบริเวณที่มีความเสี่ยง อีกหนึ่งกลไกสำคัญ คือ การสนับสนุนการทำงานในระดับพื้นที่เสี่ยง 220 อำเภอทั่วประเทศ ผ่านการบูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่ เช่น อำเภอ ท้องถิ่น โรงเรียน ดำเนินมาตรการลดอุบัติเหตุในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์อย่างจริงจัง หมวกกันนอคที่ใช้ในกิจกรรมครั้งนี้ ไม่ใช่แค่สัญลักษณ์ของโครงการ แต่คือ เครื่องยืนยันว่า ภาครัฐและสังคมไทยให้ความสำคัญกับทุกชีวิตบนท้องถนน สร้างพฤติกรรมเล็กๆ อย่าง "การหยุดรถให้คนข้าม" หรือ "การสวมหมวกกันนอค" กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ที่จะนำไปสู่วัฒนธรรมความปลอดภัยอย่างยั่งยืน
สสส. ได้ดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายของ แผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ฉบับที่ 5 พศ. 2565–2570 ที่มีเป้าลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุให้เหลือไม่เกิน 12 คน/ประชากรหนึ่งแสนคน ภายในปี 2570 โดยในปี 2568 ได้ขับเคลื่อนแคมเปญสำคัญหลายประเด็น เช่น แคมเปญ “กันนอคก่อนขี่... หมวกกันนอค สมองไม่นอค” ที่เน้นการสื่อสารให้ผู้ใช้จักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง ทั้งผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร แคมเปญ “ดื่มแล้วขับ อาจเป็นฆาตกร” เน้นการลดอุบัติเหตุจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล การรณรงค์ “ลดเร็ว ลดเสี่ยง” ควบคู่กับการส่งเสริมให้หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ผ่าน TikTok และช่องทางสื่อออนไลน์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่”