ข่าวจากสหรัฐอเมริกา ระบุว่า “ระบบช่วยเหลือการขับขี่แบบกึ่งอัตโนมัติ” สามารถป้องกันอุบัติเหตุการชนได้ แต่ทำงานได้ไม่เต็มที่ในช่วงพลบค่ำ จากการศึกษา และวิเคราะห์จากกรณีอุบัติเหตุรถชนถึง 37,000 ครั้ง พบว่าในอุบัติเหตุการชนในทางโค้ง หรือในขณะที่มีความเข้มแสงต่ำนั้น อุบัติเหตุมักจะเกิดขึ้นกับรถที่ใช้เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติมากกว่ารถที่ขับโดยมนุษย์
จากการตีพิมพ์โดย Nature Communications ได้พิจารณาข้อมูล และพบว่ารถที่ใช้ระบบขับอัตโนมัติมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุชนมากกว่ารถที่ขับโดยมนุษย์ถึง 5 เท่า โดยเฉพาะช่วงเวลาพระอาทิตย์กำลังจะขึ้น หรือตก, ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุในโค้งพบว่า รถที่มีระบบขับอัตโนมัติมีอัตราส่วนการเกิดอุบัติเหตุมากกว่ารถที่ขับโดยมนุษย์ถึง 2 เท่า จากการรวบรวมข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุ 35,000 ครั้ง ที่เกี่ยวกับมนุษย์ และ 2,100 ครั้ง ที่เกี่ยวกับระบบอัตโนมัติ ยืนยันโดยข้อมูล ซึ่งพบว่าในขณะเกิดอุบัติเหตุ ระบบอัตโนมัติกำลังทำงานอยู่
จากการศึกษาอุบัติเหตุในสภาพแวดล้อมที่มีความเข้มแสงต่ำได้ข้อสรุปว่า ด้วยข้อจำกัดของกล้อง และระบบเซนเซอร์ จึงไม่สามารถปรับการทำงานให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมได้ ยกตัวอย่าง ในช่วงเช้า หรือใกล้ค่ำ ระบบอาจจะตีความหมายผิดว่า เงา คือ วัตถุในสภาพแสงที่มีการเปลี่ยนแปลง และมีผลกระทบกับการประเมินผล จนสร้างความสับสนให้กับการทำงานของระบบ นอกจากนั้นระบบยังไม่สามารถตรวจจับวัตถุที่อยู่ในเงาได้ โดยมีข้อมูลสนับสนุนจากการทดสอบการชนคน หรือสัตว์จำลองบนถนน ภายใต้สภาพแสงแบบเดียวกัน พบว่าระบบเบรคทำงานล่าช้า หรือไม่ทำงานเลย
นอกจากนั้นระบบช่วยขับอัตโนมัติ ยังมีปัญหากับการตระหนักรู้ในสถานการณ์รอบตัว ทั้งระบบเซนเซอร์ และกล้อง ไม่สามารถตรวจจับวัตถุทุกอย่างที่เคลื่อนไหวในทางร่วมทางแยกได้ทั้งหมด โดยระบบอัตโนมัติในปัจจุบันสามารถตรวจจับได้เฉพาะบริเวณใกล้กับตัวรถ แต่มนุษย์มองเห็นสภาพแวดล้อมได้ทั้งหมด เช่น มีฝนตกในระยะไกล และเตรียมตัวรับสถานการณ์ ส่วนระบบอัตโนมัติไม่มีการตอบรับ และรถยังวิ่งต่อไป
ยกตัวอย่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับรถที่ใช้ระบบขับอัตโนมัติ กรณีมีสิ่งกีดขวางอยู่ในช่องทางเดินรถ แม้ตรวจพบวัตถุแล้ว รถที่ใช้ระบบขับอัตโนมัติยังคงวิ่งต่อไป และใช้ความเร็วตามปกติ จนจะชนเข้ากับสิ่งกีดขวาง “ระบบเปลี่ยนทิศทางฉุกเฉิน” จึงทำงาน ส่วนรถที่ขับโดยมนุษย์ หากสังเกตเห็นว่ามีสิ่งกีดขวางอยู่ข้างหน้า จะลดความเร็ว และเตรียมเปลี่ยนช่องทางเพื่อหลีกเลี่ยงการชนสิ่งกีดขวาง
จากการศึกษาพบว่าการทำงานของระบบขับอัตโนมัติยังไม่ได้ข้อสรุป โดยมีตัวแปรที่ต้องพิจารณาอีกมากมาย สำหรับระบบช่วยการขับขี่ที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นเพียงระบบช่วยเหลือเท่านั้น ระบบขับอัตโนมัติจะทำงานได้ดีในการเดินทางเป็นเส้นตรง ผู้ผลิตจึงต้องรวบรวมข้อมูล และทำการศึกษาเพิ่มอีกมาก เพื่อให้ได้ระบบขับอัตโนมัติระดับ 4 ที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ จนผู้ขับขี่รถสามารถปล่อยมือจากพวงมาลัย และละสายตาจากถนนข้างหน้าได้