ทดลองขับ(formula)
ทดลองขับ MG Maxus 9 และ MG ES กับ 2 ทางเลือกความอเนกประสงค์พลังไฟฟ้า !
MG คือ ค่ายรถที่ทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจังเป็นเจ้าแรกๆ พร้อมกับราคาที่เอื้อมถึงสำหรับลูกค้าหลายคน ล่าสุดเปิดตัวเอมพีวีพลังไฟฟ้ารุ่นใหม่ MG Maxus 9 และเป็นครั้งแรกของรถยนต์ไฟฟ้ากับทางเลือกสไตล์เอมพีวี และก่อนหน้านี้ไม่นานก็เพิ่งเปิดตัวสเตชันแวกอนรุ่นใหม่ MG ES กับการปรับปรุงรอบด้านทั้งภายนอก และชุดแบทเตอรี ทั้ง 2 รุ่นต่างก็เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีจุดเด่นเรื่องความอเนกประสงค์ เราจึงมาทดลองขับกันในทริพ “MG EV Family”
ภายนอกของ MG Maxus 9
รถที่เราได้เริ่มขับเป็นคันแรก คือ MG Maxus 9 โดยเป็นรุ่นเริ่มต้น X (ราคา 2,499,000 บาท) รูปทรงภายนอกยังคงใกล้เคียงกับรุ่นทอพ V ตัวถังดูภูมิฐาน ใหญ่โต มิติตัวถังโดยรวมใกล้เคียงกับเอมพีวีระดับราคา 2 ล้านบาท (เช่น Kia Carnival และ Hyundai Staria) ส่วนหน้าของตัวรถมีความทันสมัยด้วยไฟส่องสว่างเวลากลางวันทรงเรียว ส่วนไฟส่องสว่างด้านหน้าจะติดตั้งบริเวณมุมของกันชน ด้านหน้าถูกออกแบบเป็นทรงทึบตามแบบฉบับรถยนต์ไฟฟ้า ไฟท้ายทรงแปลกตาพาดยาวตลอดช่วงความกว้างตัวรถ ประตูบานท้ายขนาดใหญ่ เปิด/ปิด ด้วยไฟฟ้า ล้อแมกขนาด 19 นิ้ว ยางขนาด 235/55 R19 ถ้าเป็นรุ่นย่อย X จะเป็นยางแบบปกติ ส่วนรุ่นทอพ V จะให้ยาง รันฟแลท เลยทีเดียว
พละกำลังเหลือเฟือ 245 แรงม้า
หันมาดูที่สเปคของมอเตอร์ไฟฟ้า MG Maxus 9 มีกำลังสูงสุด 245 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 35.7 กก.-ม. ในช่วงแรกที่ได้ขับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้ เรามีความรู้สึกว่าพละกำลังมีให้เหลือเฟือ เน้นการส่งกำลังแบบต่อเนื่อง ไหลลื่น เกือบลืมไปเลยว่า นี่คือ เอมพีวีขนาดใหญ่ (พร้อมแบทเตอรี 90.0 กิโลวัตต์ชั่วโมง ติดตั้งบริเวณท้องรถ) การขับเคลื่อนทำได้ง่ายดาย เร่งได้ทันใจ การไต่ความเร็วถึงระดับ 100-120 กม./ชม. แทบจะไม่รู้ตัว เพราะความเงียบของชุดมอเตอร์ไฟฟ้า (ใครขับเพลินๆ ระวังความเร็วจะเกินที่กฎจราจรกำหนดโดยไม่รู้ตัว !) ระหว่างขับขี่เราใช้ระดับการหน่วงของมอเตอร์ไฟฟ้า (หรือระบบ KERS) ให้ต่ำไว้ก่อน เพื่อความนุ่มนวลของการขับขี่ ถึงอย่างนั้นเมื่อถอนเท้าจากคันเร่ง ทำให้เอมพีวีคันนี้ขับเคลื่อนได้เนียนใกล้เคียงกับรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป โดยรวมแล้วพละกำลังของเอมพีวีรุ่นนี้ มีให้เหลือเฟือ ไม่อืดแม้แต่น้อย
พวงมาลัย และช่วงล่าง
นอกจากความรู้สึกจากอัตราเร่งแล้ว เรามีความรู้สึกว่า ระบบรองรับของ MG Maxus 9 ปรับแต่งให้เน้นความนุ่มนวลตามสไตล์รถเอมพีวี ที่ต้องเผื่อเหลือความสะดวกสบายให้แก่ผู้โดยสารบนเบาะแถวที่ 2 และ 3 หรือแม้แต่การขนสัมภาระ (แม้ทางผู้ผลิตบอกว่า มีการปรับแต่งให้มีความหนึบด้วยก็ตามที) การใช้ความเร็วสูงบนทางตรง ตัวรถมีความนิ่งที่น่าพอใจ ส่วนหนึ่งมาจากการมีชุดแบทเตอรีติดตั้งด้านล่าง ทำให้มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ ส่วนพวงมาลัยมีน้ำหนักเบาเช่นกัน ควบคุมได้ดังใจ จุดเด่นของรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้ คือ การตอบสนองของพวงมาลัยสามารถปรับแต่งได้ โดยเราใช้งานในโหมดปกติก่อน การตอบสนองจึงเน้นความนุ่มนวล หากใครที่ต้องการความเฉียบคมเพิ่มขึ้น สามารถเลือกโหมดสปอร์ทได้ (เหมาะกับการขับทางไกล) อีกสิ่งหนึ่ง คือ การใช้ยางของรุ่นที่เราขับ (รุ่นพื้นฐาน X) เป็นยางแบบปกติ หากเป็นรุ่นทอพ V จะใช้ยางแบบรันฟแลท ที่แก้มยางจะมีความแข็งมากกว่า อาจส่งผลต่อความนุ่มนวลขณะขับขี่ด้วย
เบาะแถวที่ 2 หรูหรา กว้างขวาง
เราเปลี่ยนจากผู้ขับ มาเป็นผู้โดยสารเบาะแถวที่ 2 แม้เป็นรุ่น X แต่ตัวเบาะยังคงมีความกว้างขวาง สามารถปรับตำแหน่งเบาะด้วยไฟฟ้า การตกแต่งโดยรวมมีความหรูหรา ประณีต ไม่แพ้เอมพีวีหรูระดับราคาใกล้เคียงกัน จุดสำคัญ คือ ทัศนวิสัยโดยรอบมีความปลอดโปร่งดีมาก จากกระจกหน้าต่างที่มีขนาดใหญ่ เสริมความโปร่งโล่งด้วยหลังคาซันรูฟแบบพาโนรามิค (ส่วนเบาะคู่หน้ามีหลังคาซันรูฟเช่นกัน) หากเป็นรุ่นทอพ V ตัวเบาะแถวที่ 2 แบบ Captain Seat จะมีขนาดใหญ่ขึ้น (เมื่อเลื่อนถอยไปข้างหลัง ตัวเบาะจะขยับเข้ามาตรงกลางเล็กน้อย เพื่อเลี่ยงซุ้มล้อ) มาพร้อมระบบนวดหลัง สามารถเลือกตำแหน่งของการนวดได้หลากหลาย การควบคุม และใช้งานจะเป็นจอระบบสัมผัส คล้ายมือถือ หรือแทบเลท นอกจากนี้ ในรุ่นทอพ จะติดตั้งโต๊ะใช้งานขนาดเล็ก ซ่อนอย่างมิดชิดบริเวณพนักพิงแขน สามารถใช้งานสำหรับการวางโนทบุคได้ ส่วนเบาะแถวที่ 3 มีความกว้างขวาง แต่หากมีผู้โดยสารในตำแหน่งดังกล่าว ผู้โดยสารบนเบาะแถวที่ 2 อาจต้องเลื่อนเบาะไปข้างหน้าเล็กน้อย เพื่อให้มีพื้นที่ส่วนขาที่เพียงพอสำหรับทุกคน
ความทันสมัยสมเป็นรถยนต์ไฟฟ้า
Maxus 9 ติดตั้งระบบช่วยเหลือการขับขี่ และระบบความปลอดภัยมาครบครัน นอกจากนี้ ยังสามารถปรับแต่งระดับการทำงานของบางระบบได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ระบบช่วยเบรคอัตโนมัติ ระบบเตือนเมื่อรถออกนอกเลนโดยไม่เจตนา ระบบเตือนจุดอับสายตาจากด้านหลัง ระบบเตือน และช่วยเบรคเมื่อมีรถมาด้านหลังขณะถอย ฯลฯ ช่วยให้การขับขี่มีความปลอดภัย และอุ่นใจอย่างได้ผล อย่างไรก็ตาม การใช้งานระบบต่างๆ จะต้องกระทำผ่านหน้าจอบนคอนโซลหน้า แม้เป็นระบบสัมผัส แต่ขนาดของหน้าจอค่อนข้างเล็ก ต้องอาศัยการทำความคุ้นเคยพอสมควรในระยะแรก รวมถึงจอสำหรับแผงหน้าปัด สามารถแสดงผลได้หลากหลายโหมด แต่ตัวจอมีขนาดค่อนข้างเล็กเช่นกัน รวมถึงตัวเลขที่มองเห็นได้ยาก
เปลี่ยนมา MG ES
เราสลับคันมาเป็นสเตชันแวกอน MG ES (ราคา 959,000 บาท) รูปทรงโดยรวมยังชวนให้นึกถึง รุ่น EP แต่เมื่อดูในรายละเอียดแล้ว ES ถูกปรับปรุงรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไฟฟ้ามีพละกำลังเพิ่มขึ้น (เป็น 177 แรงม้า) แบทเตอรีมีความจุมากขึ้น (เป็น 51.0 กิโลวัตต์ชั่วโมง) และยังเป็นแบทเตอรีเจเนอเรชันที่ 2 สามารถรองรับการจ่ายกระแสไฟฟ้าสู่ภายนอก (ระบบ V2L) ส่วนคอนโซลหน้ามีการปรับเปลี่ยนหน้าจอให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น แผงหน้าปัดแบบดิจิทอล ขณะที่ปุ่มใช้งานบางส่วนยังคงมีไว้เหมือนเดิม มีข้อดี คือ ใช้งานได้สะดวกมากกว่าการใช้งานผ่านหน้าจอ (เช่น การปรับโหมดการขับขี่ และระดับการหน่วงมอเตอร์ไฟฟ้าของระบบ KERS) ขณะที่สมรรถนะโดยรวมมีอัตราเร่งที่ทันใจ เร่งแซงได้สบาย การเข้าโค้งทำได้ดี จากระบบรองรับที่ให้ความรู้สึกหนึบนุ่ม และตัวถังแบบสเตชันแวกอนที่ขับขี่ได้ดีใกล้เคียงกับรถเก๋ง อย่างไรก็ตาม ระยะทำการสูงสุดเมื่อชาร์จแบทเตอรีเต็ม คือ 412 กม. (มาตรฐาน NEDC ตามที่ผู้ผลิตระบุมา) การใช้งานจริงน่าจะอยู่ที่ 300 กม. ปลายๆ ถือว่าไม่มากนัก แม้จะแล่นได้ไกลกว่ารุ่น EP พอสมควร จุดเด่นยังเป็นเรื่องความอเนกประสงค์ และอรรถประโยชน์ที่เหลือเฟือ จากพื้นที่เก็บสัมภาระท้ายที่มากมาย รองรับการใช้งานกลางแจ้งด้วยการติดตั้งรางหลังคามาในตัว
แบทเตอรีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องของ MG
ทางผู้ผลิตยังนำกลุ่มสื่อมวลชนมายังศูนย์บริการของ MG มีการรองรับจุดชาร์จไฟฟ้าแบบ DC สูงสุดถึง 120 กิโลวัตต์ สำหรับผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าของ MG โดยเฉพาะ นอกจากนี้ ชุดแบทเตอรีของรถยนต์แต่ละรุ่น มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยแบทเตอรีรุ่นใหม่ล่าสุด (รุ่นที่ 3) จะได้รับการติดตั้งในรถยนต์ MG 4 Electric และ MG Maxus 9 มีประสิทธิภาพที่เหมาะสม ติดตั้งอย่างมิดชิดกับตัวรถ สามารถแล่นผ่านน้ำท่วมขังได้ หากระดับน้ำไม่สูงขนาดที่จะไหลเข้าสู่ห้องโดยสาร (เป็นความสูงของระดับน้ำเช่นเดียวกับรถเครื่องยนต์สันดาปเช่นกัน) แม้แบทเตอรีจะมีราคาที่ค่อนข้างสูง แต่การออกแบบที่รัดกุม และการรับประกันที่ครอบคลุม การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าสามารถทำได้ในระยะยาว
สรุปเบื้องต้นกับ MG Maxus 9 และ MG ES
จากการได้มาทดลองขับ MG Maxus 9 และ MG ES ทำให้เรามีความรู้สึกว่า รถยนต์ไฟฟ้ามีความหลากหลายของทางเลือกมากยิ่งขึ้น ภายใต้สมรรถนะ และการขับขี่ที่ไม่น้อยหน้าเครื่องยนต์สันดาป Maxus 9 เหมาะกับผู้ที่ต้องการความโอ่อ่า กว้างขวาง และสะดวกสบาย มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยของการใช้งาน ใครที่ชอบความหรูหรา ผสมความทันสมัย น่าจะถูกใจ เอมพีวีพลังไฟฟ้ารุ่นนี้ได้ไม่ยาก แต่สิ่งที่ต้องใช้การปรับตัว คือ การแล่นได้ไกลสุดที่ประมาณ 500 กม. หากต้องขับขี่เป็นระยะทางไกลมากกว่านี้ (เช่น จากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ หรือจากกรุงเทพฯ ไปภูเก็ต) จำเป็นต้องวางแผนการชาร์จไฟฟ้าระหว่างทางให้ดี ส่วน MG ES เป็นทางเลือกสไตล์สเตชันแวกอนที่แทบไม่มีคู่แข่งโดยตรง จุดเด่น คือ การขับขี่แบบรถเก๋ง แต่อรรถประโยชน์ไม่แพ้ครอสส์โอเวอร์ แม้ราคาจะสูงขึ้นมาจากรุ่น EP พอสมควร แต่ยังมีความคุ้มค่า เนื่องจากมีการพัฒนาขึ้นแทบทุกด้านรวมถึงสมรรถนะ และการใช้งานระบบไฟฟ้าที่หลากหลายขึ้น
ส่วน MG 4 Electric และ MG ZS EV พบกันได้ในบทความทดสอบของนิตยสาร “ฟอร์มูลา” ฉบับเดือนมิถุนายน 2566
ABOUT THE AUTHOR
ภูเขม หน่อสวรรค์
คอลัมน์ Online : ทดลองขับ(formula)