COVID-19 เปิดโอกาสให้เรา Stay Home บริหารจัดการเรื่องเวลาได้อย่างเหลือเฟือ ทำงานเสร็จก็หยิบหนังสือ “สามก๊ก” ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มาอ่านถูกต้องครับ ถ้าท่านผู้อ่าน จะอ่านใจเราว่า ชาตินี้คงอ่านไม่จบ ด้วยเรื่องสามก๊กมีความยาวถึง 87 ตอน แต่เราก็อ่าน และไม่คิดด้วยว่า ต้องอ่านให้จบ หรือจบสัก 2-3 รอบ “สามก๊ก” ฉบับนี้ แบ่งเป็น 2 เล่ม เล่มที่ 1 มี 766 หน้า เล่มที่ 2 ต่อยาวไปถึงหน้าที่ 1,508 มีภาพวาดประกอบเรื่องราว จากฝีมือ “เหม เวชกร” จิตรกรเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วรรณกรรมอมตะสุดคลาสสิคเรื่องนี้ มีคนอ่านกันมาก จึงเป็นข้อได้เปรียบของเรา พลอยยื่นหน้ายื่นตาแสวงหาความรู้ ความบันเทิง เพราะรบกันหนัก พร้อมกันนี้ก็ได้ศึกษาบุคคลตามท้องเรื่อง ถ้านักอ่าน ประกอบอาชีพเป็นฝ่ายเสนาธิการ คงต้องอ่านให้จบสัก 8 รอบ จะได้เสริมศิลปะการทำงาน การวางแผน จุดประสงค์ เป้าหมาย นโยบาย การบริหารงานส่วนบุคคล การประสานงานและการประสานงา ขวัญกำลังใจและการเขียนเสือให้วัวกลัว รวมทั้งการสื่อสารข้อมูล ฯลฯ ยุคสมัยเราเมื่อเรียนชั้นมัธยมศึกษา เคยถูกบังคับให้อ่านสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอน โจโฉแตกทัพเรือ เป็นหนังสือประกอบการเรียนของกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น การศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาในวันนั้นของเรา มี 6 ชั้น (มัธยม 1-6) โจโฉแตกทัพเรือ เป็นตอนที่ 42 อยู่ในเล่มที่ 1 อ่านแล้วก็แล้วกัน จำไม่ได้จริงๆ ว่าหนังสือประกอบการเรียนเล่มนี้ ขึ้นต้นและลงท้ายอย่างไร เรื่องราวสามก๊กทั้งหมด 87 ตอน แต่กระทรวงฯ คัดเอาตอนโจโฉแตกทัพเรือมาสั่งสอนเราเพียงตอนเดียว ทำเรามึนพอสมควร ทำไมต้องจำเพาะเจาะจงเอาตอนนี้มาอบรมสั่งสอนเรา ? ลำพังชื่อตอนของหนังสือที่ว่า “โจโฉแตกทัพเรือ” ก็ทำให้นักเรียนปวดหัว เพราะการเรียนได้แปลเรื่องราวเป็นภาษาไทย ธรรมดาภาษาไทยประโยคหนึ่ง ควรมี ประธาน, กิริยา,กรรม เช่นเดียวกับภาษาอื่น “โจโฉ” เป็นประธาน “แตก” เป็นกิริยา ส่วนกรรมก็คือ “ทัพเรือ” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานปี 2542 ระบุ “แตก” เป็นคำกิริยา แปลว่า แยกออกจากส่วนรวม เพราะคุมไม่อยู่ เช่น คำว่า ใจแตก เป็นต้น แต่แตกทัพเรือของโจโฉ คิดเท่าไรก็หาความชัดเจนไม่ได้ว่า โจโฉ “แพ้” หรือ “ชนะ” ศึกทางน้ำในครั้งนี้ ความไม่ชัดเจนของประเด็นนี้ สอดคล้องกับความไม่ชัดเจนของรัฐบาลลุงตู่ของเราในตอนนี้เหลือเกิน ประการแรก หาความชัดเจนไม่ได้จริงๆ ลุงตู่ ของเรา “ชนะ” หรือ “แพ้” บ้านเราเวลานี้ เริ่มจากใจแตก กลายเป็นแตกแยก ฤาจะเรียกขานว่า สามก๊ก ก็พอฟังได้ เพราะมีครบบริบูรณ์ ทั้งรัฐบาลก๊ก สภาก๊ก และราษฎรก๊ก ประการที่ 2 บ้านเมืองต้องมี กฎระเบียบ หากบ้านเราเป็น สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) กฎระเบียบ ที่คิดว่ามันคือกฎหมาย ซึ่งไม่ชัดเจนเท่ากับการเผด็จอำนาจในสามก๊ก ลองอ่านตอนนี้ดู...ละกัน เมื่อเล่าปี่อาศัยอยู่กับโจโฉ เล่าปี่เคยชี้แจงต่อเตียวหุยว่าเหตุใด จึงต้องฟังคำสั่งทางทหารของโจโฉว่า “โจโฉปกครองทหารเป็นอันมาก ไม่ใช้คำสั่งเด็ดขาดแบบทหาร จะปกครองคนได้อย่างไร” คำชี้แจงแบบนี้ ชวนให้คิดไปว่า เพราะเล่าปี่อาศัยอยู่กับโจโฉ คำชี้แจงจึงออกมาในลักษณะนี้ ถ้าเล่าปี่ ไม่ได้อยู่ใต้อิทธิพลของโจโฉ คำชี้แจงดังกล่าวก็คงไม่เกิดขึ้น สถานการณ์ของการควบคุมฝูงชนที่น่าเครียดในกรุงเทพฯ ระยะนี้ ทั้งๆ ที่หาความชัดเจนในหลักการบริหารไม่ได้ ดูๆ แล้วอดคิดถึงสามก๊กไม่ได้เช่นกัน การเชื่อฟัง และปฏิบัติการ ย่อม “แตก” ทางความคิด อ่านสามก๊กตอนนี้ดู...ละกัน เมื่อกวนอูกับเตียวหุยลงแรงจับอองต๋งกับเล่าต้ายได้ แทนที่เล่าปี่จะฆ่ากลับปล่อยอองต๋งกับเล่าต้ายกลับไปหาโจโฉ “เตียวหุยไม่พอใจ แต่กวนอูชี้แจงว่า “พี่เราปล่อยให้เขาไปแล้ว ทำไมน้องเราไม่เคารพคำสั่ง" “เตียวหุยจำต้องยอมเพราะต้องเคารพคำสั่งเล่าปี่...เพราะหากเตียวหุยไม่ฟังคำสั่ง ทหารอื่นจะคิดอย่างไร...สำคัญสุด คือ ต่อๆ ไป คำสั่งเล่าปี่จะมีความหมายฉันใดอีกรึ ?” อย่าลามปามคิดถึง หลักการความยืดหยุ่น นะ...! การเคารพเชื่อฟังคำสั่ง เป็นความเครียดไม่น้อยของเหล่าแม่ทัพ ขงเบ้ง ปราชญ์สามก๊กเคยกล่าวเมื่อกวนอูปล่อยให้โจโฉหลบหนีว่า “กวนอูยังคิดถึงบุญคุณโจโฉ จึงปล่อยโจโฉไปโดยเจตนา” บทวิเคราะห์ของขงเบ้งต่อสถานการณ์เกี่ยวกับกฎระเบียบ โน้มนำไปถึงความร้ายแรงในการคาดโทษ หากการปกครองไม่คำนึงถึงคุณธรรม เมตตาธรรม ฉะนี้แล้วกฎหมายอาชญาก็คงไม่พ้นความหย่อนยาน ดูความเห็นของขงเบ้งเป็นกระจกเงา...ละกัน หากเรารักษาระบบกฎหมายได้เคร่งครัด คนทั้งหลายก็จะสำนึกบุญคุณ ความสัมพันธ์ ระดับชั้นบนชั้นล่างล้วนมีลำดับขั้นตอน การปกครองก็จะเป็นระบบเรียบร้อย ...และแล้ว สถานการณ์ก็จะถึงคำที่ว่า... “นับแต่นี้ บ้านเมืองก็จะปกติสุขสืบไป...” ระบบสำคัญอีกอย่างที่ขาดไม่ได้ คือ การสื่อสารข้อมูล โดยเฉพาะขาดจากความเจริญรุ่งเรืองของบ้านของเมือง การวิเคราะห์ข่าวสาร ง่ายมาก มีอยู่แล้วใน ตำราพิชัยสงคราม “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” ข่าวสารมีมากมายหลายชนิด ยิ่งการเมืองการทหารด้วยแล้ว ยิ่งหลากหลาย ทั้งข้อมูล สถานการณ์ ภูมิศาสตร์ บุคลากร แม้แต่ภูมิอากาศก็เว้นเสียมิได้เลย ลุงตู่ของเราวันนี้ คงต้องเน้นคณะที่ปรึกษา การใช้คนที่ถูกต้องเป็นสิ่งพึงประสงค์ตามธรรมชาติหลักการบริหาร...!?!