รายงานข่าวจากเยอรมนี ระบุว่า ค่าย Volkswagen (โฟล์คสวาเกน) เปิดโรงงานรีไซเคิลชุดแบทเตอรี แห่งแรกใน Salzgitter ประเทศเยอรมนี โดยมีเป้าหมายเพื่อนำวัสดุมีค่า อาทิ ลิเธียม, แมงกานีส และโคบอลท์ ที่ใช้ในการผลิตชุดแบทเตอรี กลับมาใช้ใหม่อีกครั้งเป้าหมายในการทำงานของโรงงานแห่งนี้ ต้องการรีไซเคิลวัสดุมีค่าจากชุดแบทเตอรีให้ได้ 90 % ก่อนจะนำส่วนที่เหลือที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ นำไปทำลายเพื่อไม่ให้ก่อมลภาวะในอนาคต ขั้นตอนของการทำงาน พนักงานจะนำชุดแบทเตอรีที่หมดอายุการใช้งานจากรถยนต์มาวิเคราะห์ก่อนเข้าสู่กระบวนการ หากชุดแบทเตอรียังสามารถรองรับประจุ และเก็บรักษาได้ ก็จะนำกลับมาใช้งานเป็นแหล่งเก็บกักประจุในระบบการชาร์จด่วน หรือหุ่นยนต์เพื่การชาร์จแบทเตอรี โดยแบทเตอรีที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้ จึงจะนำกลับไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ช่วงระหว่างการทดลองดำเนินการ โรงงานแห่งนี้จะสามารถรองรับการรีไซเคิลชุดแบทเตอรี 3,600 ชุด/ปี คิดเป็นน้ำหนักราว 1,500 ตัน ทั้งนี้ประเมินจากการใช้งานชุดแบทเตอรีในปัจจุบัน ที่คาดว่าจะหมดอายุจากรถไฟฟ้า และส่งกลับมารีไซเคิลเป็นจำนวนมาก นับแต่ปลายทศวรรษนี้เป็นต้นไป โดยระบบในการทำงาน จะสามารถขยับขยายให้รองรับปริมาณของชุดแบทเตอรีที่เพิ่มขึ้นได้ในอนาคต กระบวนการรีไซเคิล จะนำชุดแบทเตอรี มาปลดปล่อยประจุที่ค้างอยู่ภายในให้เกลี้ยง และแยกออกเป็นชิ้นส่วนแต่ละประเภท นำไปทำให้แห้ง แล้วทำความสะอาดด้วยน้ำ และสารละลายทางเคมี จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการแยกชิ้นส่วนเจาะจงอีกครั้ง ตามแต่ชนิดของวัสดุที่อยู่ภายใน วัสดุที่แยกออกมาแต่ละประเภทนี้ จะสามารถนำกลับไปเข้ากระบวนการในการผลิตชุดแบทเตอรีใหม่อีกครั้ง โดยคาดว่าจะสามารถลดค่าคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการลงได้ 1.3 ตัน/ปี ซึ่งเป็นทางหนึ่งที่จะได้ค่าคาร์บอนจากการลดการปล่อยไอเสียกลับคืนมาได้เช่นกัน