ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ประเทศไทย ที่เพิ่งฟื้นจากพิษ COVID-19 สามารถกลับมาผลิตรถยนต์ได้ทั้งสิ้น 150,345 คัน นับเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันที่ผลิตรถยนต์ได้มากกว่า 1 แสนคัน ตั้งแต่เดือนเมษายนปีนี้ แต่ก็ยังลดลงจากเดือนกันยายน 2562 อยู่ 11.29 % แต่พอนับโดยรวมเอายอดผลิตเดือนมกราคม-กันยายน 2563 ผลิตทั้งสิ้น 963,066 คัน ลดลง 38.76 %สภาอุตสาหกรรมฯ ประเมินว่า ปีนี้น่าจะสามารถผลิตได้ตามเป้า 1,400,000 คัน ถ้าไม่มีการระบาดของโรค COVID-19 รอบ 2 ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ก็ค่อยเบาใจไปได้หน่อย ที่พิษของ COVID-19 เพิ่งกลับมาอาละวาดกับผู้ที่เข้าอยู่ในสถานกักกันที่รัฐฯ จัดให้ของบ้านเรา แต่ก็ยังเบาใจไม่ค่อยได้ เพราะพักหลังมานี่ รู้สึกว่า การ์ดตก กันมากเหลือเกิน อาการหย่อนยานเริ่มปรากฏ ก็ได้แต่หวังว่า หน้าหนาวปีนี้ จะไม่มีรายการระบาดรอบ 2 มาให้ได้ชมกัน เพราะสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ก็ค่อยๆ เริ่มฟื้นกลับมาแล้ว เริ่มมีนักท่องเที่ยวแบบพิเศษที่เข้ามาแล้ว ต้องกักตัวก่อน 14 วัน เข้ามาเป็นระลอกแล้ว ก็น่าจะพอทุเลาความบอบช้ำทางเศรษฐกิจได้อยู่บ้าง พี่เบิ้มแห่งวงการยานยนต์ของเรา ระบุว่า เดือนกันยายนนี้ จากการที่ภาครัฐฯ ออกมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในด้านต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน และผู้บริโภคให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้เช่นกัน นอกจากนี้ในด้านของตลาดรถยนต์ บรรดาค่ายรถยนต์ต่างพยายามกระตุ้นการตัดสินใจซื้อรถของผู้บริโภค โดยการออกกลยุทธ์และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย อาทิเช่น การจัดกิจกรรมโรดโชว์ตามห้างสรรพสินค้า รวมถึงการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ รุ่นตกแต่งพิเศษ เพื่อดึงดูดความสนใจ และสร้างสีสันให้กับตลาดรถยนต์ ส่งผลให้ในเดือนกันยายนมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่สภาอุตสาหกรรมฯ เป็นกังวล ก็คือ การสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ในเดือนตุลาคม อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของธุรกิจและกำลังซื้อในประเทศก็ได้ แต่หวังว่าสถาบันการเงิน หรือพูดง่ายๆ ว่าเจ้าหนี้ คงไม่ใจไม้ไส้ระกำกับลูกหนี้ตาดำๆ ที่จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด น่าจะยังพอพูดคุยกันเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ แต่กระนั้น สภาอุตสาหกรรมฯ ก็มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐฯ เพื่อให้เร่งเบิกจ่ายงบประมาณผ่านโครงการลงทุนภาครัฐฯ ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ, ข้อเสนอแนะที่ 2 ขอให้ออกมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ภายหลังการสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ในเดือนตุลาคม, และข้อเสนอแนะที่ 3 สนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐฯ จัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตจากผู้ประกอบการภายในประเทศ แต่สิ่งที่เป็นดัชนีชี้วัด ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผย ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในเดือนกันยายน 2563 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากการสำรวจในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 บ่งชี้ว่าครัวเรือนไทยมีมุมมองที่ดีขึ้นเกี่ยวกับภาวะการครองชีพเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ในขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งสอดคล้องไปกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น ตามการผ่อนคลายมาตรการลอคดาวน์ รวมถึงมาตรการภาครัฐในการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในประเทศ และมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ อย่างไรก็ตาม ระดับของดัชนีในเดือนกันยายน และอีก 3 เดือนข้างหน้าโดยรวมยังต่ำกว่า 50 และต่ำกว่าช่วงก่อนเกิด COVID-19 สะท้อนว่ามุมมองของครัวเรือนไทยต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ที่มีการแพร่ระบาดระลอก 2 ในหลายประเทศ ยังสร้างความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ซึ่งจะยังเป็นปัจจัยกดดัน ภาวะการจ้างงาน กำลังซื้อ และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ยังมีความไม่แน่นอนสูง อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐฯ ที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ จะเป็นปัจจัยหนุน ภาพการใช้จ่ายครัวเรือนในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ซึ่งนั่นจะทำให้สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น แม้ว่าจะเชื่องช้าตามเศรษฐกิจโลก ที่ยังเปราะบางจากการระบาดของ COVID-19 ยังไม่ทุเลา แต่บ้านเรา ก็น่าจะพอถูไถกันไปได้ตามสมควร ปีนี้ผลิตรถได้สัก 1,400,000 คัน ก็น่าจะเฮฮากันได้แล้วครับ