Auto Express นำเสนอระบบต่างๆ ที่ใช้งานในรถยนต์ยุคปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี จากการใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่รถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้า 100 % ซึ่งค่อนข้างน่ารู้สำหรับการเลือกใช้งานรถยนต์สักคันในอนาคต ว่าควรเลือกใช้งานในระบบการทำงานแบบไหนแน่นอนว่า การเลือกซื้อหารถยนต์มาใช้สักคันหนึ่ง เริ่มต้นต้องคิดถึงเรื่องราคาเป็นเรื่องแรก แต่เรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเลย ก็คือ ค่าใช้จ่ายในการใช้งาน และบำรุงรักษา แต่สำหรับในต่างประเทศ ต้องคิดรวมไปถึงการปล่อยค่ามลภาวะจากไอเสีย ที่ปัจจุบัน บางประเทศกำหนดให้มีค่าไอเสียได้ไม่เกิน 100 กรัม/กม. แม้ว่าบ้านเราจะยังไม่มีข้อกำหนดลักษณะนั้นก็ตาม มาดูกันว่า รถยนต์ที่จะซื้อคันต่อไป ควรเป็นรถยนต์ที่มีระบบใดในการทำงาน เริ่มกันที่ รถไฮบริดแบบอ่อน (Mild Hybrid) ปัจจุบัน ระบบไฮบริด ล้วนยังไม่ค่อยแพร่หลายมากนัก มีใช้อยู่ใน Suzuki และ Mercedes-Benz โดยสายพานของมอเตอร์ ที่เป็นตัวสตาร์ทเครื่องยนต์ (Belt Alternator Starter: BAS) จะทำหน้าที่ดึงกำลังจลน์จากการเบรค ป้อนกลับไปยังชุดแบทเตอรี ช่วยในการขับเคลื่อนพร้อมไปกับเครื่องยนต์ โดยกำลังไฟจากชุดแบทเตอรีจะมีหน้าที่ในการขับเคลื่อนโดยตรง ข้อดี คือ ช่วยปรับปรุงความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ได้ค่ามลภาวะที่ดีขึ้น แต่ก็มีข้อเสียที่ดึงพลังงานมาใช้ได้ช้า และไม่ค่อยมีแรง ระบบถัดไปเป็นระบบไฮบริดเต็มตัว หรือ Full Hybrid ซึ่งประกอบด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ชุดแบทเตอรี พร้อมเครื่องยนต์เบนซิน ในลักษณะที่สามารถได้พลังงานจากทั้งเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า ได้พร้อมกัน หรือจะใช้กำลังจากเครื่องยนต์ หรือจากมอเตอร์ เพียงอย่างเดียว ก็ได้ แต่จะมีระยะเดินทางด้วยกำลังไฟฟ้าสั้น พลังงานไฟฟ้า สามารถชาร์จได้จากการทำงานของเครื่องยนต์ รวมทั้งกำลังจากพลังงานจลน์ โดย ค่าย Toyota นิยมใช้ระบบนี้ ข้อดีของระบบ ประหยัดเชื้อเพลิง และลดค่าไอเสีย ส่วนข้อเสีย คือ ราคาแพง รวมทั้งค่ามลภาวะจากไอเสีย ไม่ต่ำพอกับที่บางประเทศกำหนด ต่อด้วยระบบ พลัก-อิน ไฮบริด หรือ ไฮบริด-ไฟฟ้า ทำงานลักษณะเดียวกับระบบไฮบริดเต็มตัว แต่ชุดแบทเตอรี จะมีความจุมากกว่า สามารถเสียบชาร์จไฟฟ้าจากภายนอกได้ และมีทั้งเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า ทำงานร่วมกันได้ หรือแยกกันได้ โดยระยะเดินทางด้วยกำลังงานจากแบทเตอรี ได้มากกว่า 50 กม. ข้อดี คือ ค่ามลภาวะต่ำมาก และความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงทำได้ดีที่สุด ส่วนข้อเสีย ก็เรื่องราคาแพง และจำเป็นต้องติดตั้งจุดชาร์จที่บ้านเพิ่มเติม และก็มาถึงรถไฟฟ้า ใช้พลังงานจากชุดแบทเตอรีที่ติดตั้งมาในรถ ที่ต้องการการชาร์จพลังงานไฟฟ้าจากภายนอก ระยะเดินทางขึ้นอยู่กับความจุของชุดแบทเตอรี วิธีการขับขี่ ความเร็วที่ใช้ พื้นผิวถนน และสภาพอากาศ ทั้งเพราะในพื้นที่อากาศหนาวเย็น มีผลทำให้การเดินทางได้ระยะทางลดลง ระยะเวลาในการชาร์จชุดแบทเตอรี ระยะที่ได้ในการเดินทาง ก็ขึ้นอยู่กับสภาพของแบทเตอรี โดยชุดแบทเตอรีบางชนิด ใช้เวลาชาร์จนานมาก แม้จะใช้การชาร์จในแบบชาร์จด่วน ยังใช้เวลา 4-6 ชม. ส่วนที่ชาร์จด่วนสาธารณะ ชาร์จได้ความจุ 20-80 % ในเวลา 45 นาที ปัญหาของการใช้รถไฟฟ้า คือ ระยะการเดินทาง หากเดินทางระยะไกล ต้องพิจารณาโครงข่ายสถานีบริการชาร์จไฟฟ้า ที่บ้านเรายังมีน้อยมาก และไม่ค่อยแพร่หลาย รวมทั้งระยะเวลาชาร์จชุดแบทเตอรี และกิจกรรมที่น่าจะทำระหว่างคอยการชาร์จชุดแบทเตอรี สถานที่ในต่างประเทศ มักเป็นร้านอาหารด้วยเช่นกัน เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว รถไฟฟ้าจะมีค่าใช้จ่ายในการใช้งานต่ำกว่า และในบางประเทศ มีการยกเว้นภาษีประจำปี หรือสามารถเข้าไปในบริเวณการจราจรหนาแน่นได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ข้อดี คือ ค่าใช้จ่ายในการใช้งานต่ำ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ข้อเสีย คือ ราคาแพง โครงข่ายสถานีบริการชาร์จยังไม่พร้อม อีกหนึ่งประเภท คือ รถยนต์ที่ใช้ Fuel Cell โดยมีไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง โดยการผสมทางเคมีระหว่างไฮโดรเจนกับอากาศ หรือออกซิเจน ได้พลังงานไฟฟ้าออกมา ปล่อยมลภาวะออกมาเป็นน้ำ โดยทางทฤษฎีแล้ว การเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนใช้เวลาไม่มาก เทียบเท่าการเติมเชื้อเพลิงของรถยนต์เครื่องยนต์ปกติ แต่ปัญหา คือ ยังไม่มีสถานีบริการไฮโดรเจนในประเทศไทย แม้แต่แห่งเดียว และท้ายสุด ก็คือ รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ทั้งในแบบเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล ที่มีจำหน่ายกันอยู่ในปัจจุบัน โดยการเลือกใช้งานก็แล้วแต่ความต้องการของผู้บริโภค เพราะทั้งน้ำมันเบนซินและดีเซล มีให้เลือกใช้ได้ตามต้องการ ด้วยสถานีบริการที่มีอยู่มากมายทั่วประเทศ ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับเงินในกระเป๋าของผู้บริโภคเองแล้วว่า พร้อมที่จะเลือกใช้รถยนต์ยี่ห้อใด เครื่องยนต์แบบไหน เพราะราคาค่อนข้างใกล้เคียงกัน และราคาเชื้อเพลิงปัจจุบันก็ใกล้เคียงกัน