แม้ว่าจะยังอยู่ในสถานการณ์ของโรคระบาดร้ายแรง COVID-19 แต่ยอดการขายของบ้านเรา ในเดือนพฤษภาคม ก็ลดลงไป 54.1 % ขายรวม 40,418 คัน โดยกลุ่ม รถยนต์นั่ง ลดลงมากสุด 65.1 % ซึ่งยังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากเดือนเมษายน จากการที่รัฐบาลได้ทยอยประกาศผ่อนปรนมาตรการควบคุมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้บางธุรกิจที่ได้รับการผ่อนปรน เริ่มทยอยกลับมาดำเนินงาน ซึ่งส่งผลในเชิงบวกให้กับตลาดรถยนต์แต่กระนั้น สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในบ้านเรา ยังคงอยู่ในช่วงของการค่อยๆ ฟื้นตัว ขณะที่เพื่อนบ้าน หรือประชาคมโลก ยังคงมีการระบาดในจำนวนมากอยู่ ทำให้ผู้บริโภคยังมีความระมัดระวังการใช้จ่าย รวมถึงภาครัฐฯ ยังได้ออกมาตรการดูแล และเยียวยาเพื่อช่วยเหลือประชาชน และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ ทำให้สภาพตลาดบ้านเรา ยังคงค่อยๆ ฟื้นตัว แต่ที่พาดหัวเอาไว้ว่า “ไทยต้องชนะ” ก็เพื่อกระตุ้นเตือนคนไทยด้วยกันเอง ให้ร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติตัวเพื่อการป้องกันโรคระบาดในครั้งนี้ ให้มากที่สุด โดยเฉพาะการใช้ “ไทยชนะ” ในการสแกนเข้า/ออกตามสถานที่ต่างๆ เพื่อเป็นการควบคุมกรณีเกิดโรคระบาดซ้ำอีกครั้ง ภาครัฐ จะได้มีข้อมูลในการตรวจสอบว่า โรคเหล่านั้นเกิดมาได้อย่างไร จากแหล่งไหน ด้วยความรวดเร็ว และที่หยิบยกขึ้นมาเล่าสู่กันฟังหนนี้ เพียงอยากจะบอกว่า “ไทยชนะ” เป็นการดำเนินงานของกลุ่มคนไทยรุ่นใหม่ ที่ร่วมกันเขียนพโรแกรมคอมพิวเตอร์ และนำเสนอผู้ใหญ่ในวงราชการ ทำให้ได้รับการยอมรับ และมีการใช้งานมานับแต่มีมาตรการลอคดาวน์กันใหม่ๆ โดยไม่มีการเปิดเผยว่า กลุ่มคนเหล่านี้เป็นใคร เฉกเช่นการปิดทองหลังพระ นั่นยิ่งทำให้เชื่อมั่นได้ว่า ประเทศไทย มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็จะมีวิธีการ หรือหนทางขึ้นมาช่วยแก้ไข ให้สามารถลุล่วงไปได้ด้วยดี และจนถึงปัจจุบัน จากการที่ภาครัฐฯ ได้ดำเนินการผ่อนคลายให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้ในระยะที่ 3 และการควบคุมสถานการณ์เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศ และได้มีการคลายลอคระยะที่ 4 มีผลบังคับใช้วันที่ 15 มิถุนายน ไปแล้ว โดยให้กิจการและกิจกรรมอีกหลายประเภทกลับมาดำเนินธุรกิจได้ภายใต้มาตรการที่ภาครัฐกำหนด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน และเศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้ อย่างไรก็ตามประชาชนยังคงต้องเฝ้าระวัง และป้องกันการใช้ชีวิตตามมาตรการความปลอดภัยเพื่อป้องกันการเกิดแพร่ระบาดรอบ 2 ดังนั้นแนวโน้มของตลาดรถยนต์ในเดือนมิถุนายนจะมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ยังมองโลกในแง่ดี ระบุว่า หากสถานการณ์โรคระบาดร้ายแรง COVID-19 สามารถจบสิ้นลงได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ โดยไม่มีการระบาดรอบ 2 ประเมินว่า ยอดการผลิตรถยนต์ในปีนี้น่าจะอยู่ไม่เกิน 1,400,000 คัน จากยอดการส่งออกราว 900,000 คัน และจำหน่ายในประเทศราว 500,000 คัน แต่หากสถานการณ์ยังไม่เรียบร้อย ทั้งภายในประเทศ หรือประเทศคู่ค้า หรือมีการระบาดรอบ 2 เพิ่มขึ้น ยอดการผลิตก็น่าจะลดลงไปอีก เอาเป็นว่า เหลือสัก 1 ล้านคันถ้วนๆ ก็น่าจะเป็นข่าวดีที่สุดสำหรับวงการรถยนต์แล้ว เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ยังคงมีการระบาดของโรคในแทบทุกภูมิภาคทั่วโลก แม้แต่ในแถบอาเซียนนี่ก็ไม่เว้น จนกว่าจะมีการคิดค้นวัคซีน เพื่อการป้องกันได้แล้วเสร็จ เมื่อนั้นแหละ ถึงจะเบาใจลงได้ ถ้าทำใจได้ ก็ต้องทำใจเรื่องรายได้ประชาชาติของปีนี้ไว้ด้วย ว่า จากสถานการณ์ความรุนแรงของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกและของไทย ส่งผลต่อการหยุดชะงักของการดำเนินงานในกิจกรรมต่างๆ ที่คาดว่า GDP จะติดลบไปถึง 15 % ขณะที่ไตรมาส 3 ปรับตัวดีขึ้นมาบ้างติดลบราว 9-10 % และไตรมาส 4 ติดลบอยู่ที่ราว 5-6 % ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีรายงาน แนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) ฉบับเดือนมิถุนายน 2563 ได้วิเคราะห์แนวโน้ม GDP โลกในปีนี้จะหดตัว 4.9 % และประมาณการเศรษฐกิจของไทย คาดว่าจะหดตัวที่อัตรา 7.7 % ซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์ต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ว่าได้ เมื่อพิจารณาตัวเลข GDP ประมาณการที่ออกมา ก็เป็นเรื่องที่ไม่แปลก เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพาในด้านเศรษฐกิจอยู่ไม่มากนัก อีกทั้งปัญหาจากการบริโภคภายในประเทศ ที่ลดลงจากปัญหาการขาดรายได้ การลงทุนของภาคเอกชนทั้งไทย และต่างชาติหยุดชะงักเกือบหมด จากความไม่แน่นอนของการระบาดไวรัส COVID-19 ที่จะกลับมาอีก การส่งออกที่ลดลงต่อเนื่อง เดือนพฤษภาคม มีมูลค่า 16,278 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 22.5 % มูลค่าต่ำสุดในรอบ 4 ปี ส่วนภาคการท่องเที่ยว ที่ ธปท. ประมาณการว่าปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศประมาณ 8 ล้านคน ลดลงจากที่เคยประมาณการไว้ที่ 15 ล้านคน ขณะที่ปีก่อนมีนักท่องเที่ยวถึง 39.8 ล้านคน ก็ต้องทำใจไว้ก่อน รักษาสุขภาพตนเองเอาไว้ ให้แข็งแรง เพื่อจะได้มีแรงกลับมาก้าวต่อไป หลังจากผ่านพ้นโรคระบาดร้ายแรงหนนี้ไปได้