ตั้งชื่ออย่างไม่เป็นทางการให้กับเจ้าโรคระบาดร้ายแรงจากไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบกันไปทั่วโลก นับแต่เริ่มเกิดเหตุการณ์เมื่อปลายเดือนธันวาคม ปีก่อน ทำเอายอดการขายรถยนต์หดหายไปถ้วนหน้า บ้านเรา 2 เดือนแรกของปี มกราคม กุมภาพันธ์ ยังไม่กระเทือนมากเท่าใด แต่พอมาถึงเดือนที่ 3 ของปี มีนาคม ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ ขายกันได้ทั้งสิ้น 60,105 คัน ลดลง 41.74 % ลดลงอันเนื่องมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19ยอดรวมตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2563 ยอดขายได้ 200,064 คัน ลดลง 24.09 % และมีแนวโน้มที่จะลดลงไปอีกหลายเดือน สืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ด้วยหลายเหตุปัจจัย ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นความสนใจในการซื้อรถใหม่จึงชะลอตัว และผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย มีผู้รู้บางท่านออกมาบอกว่า หากเหตุการณ์ยังคงยืดเยื้อในลักษณะนี้ ไปจนถึงเดือนมิถุนายน ยอดการผลิตโดยรวมของปีนี้ที่เคยตั้งเป้าเอาไว้ที่ 2 ล้านคัน และลดลงมาเหลือ 1.9 ล้านคัน มีโอกาสที่ยอดรายปีจะลดลงเหลือเพียง 1 ล้านคันเท่านั้น เพราะไม่ใช่เฉพาะบ้านเราเองที่ยอดขายรถยนต์จะขายกันไม่ได้ แต่เป็นไปกันทั่วหน้าทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศที่สั่งรถยนต์จากบ้านเราไปจำหน่ายเช่นกัน ก็ได้แต่ภาวนาให้เหตุการณ์ทั้งหลายผ่านไปด้วยดี เพราะยังมีเรื่องเฉพาะหน้าที่ตลาดรถยนต์บ้านเราต้องเตรียมตั้งรับไว้ด้วยเช่นกัน เรื่องที่เราควรเตรียมตัวในการตั้งรับ ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลาย ทิศทางเศรษฐกิจโลกดีขึ้น และความเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นคืน ความต้องการรถยนต์น่าจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ขณะเดียวกัน สภาพตลาดรถยนต์โดยรวมของประเทศจีน ที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก กำลังอยู่ในสภาพเสื่อมถอย แม้ว่ายอดรวมจะลดลงไม่มากนัก แต่ก็ทำให้ค่ายรถยนต์ในประเทศจีน พยายามที่จะเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะรถยนต์สัญชาติจีนค่อยๆ แผ่ขยายเข้าสู่ตลาดส่งออกรถยนต์หลักของไทยเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุด ในปี 2562 จีนสามารถส่งออกรถยนต์ได้ 1,024,823 คัน (เพิ่มขึ้นจาก 755,500 คัน ในปี 2558) ใกล้เคียงกับตัวเลขส่งออก 1,054,103 คันของไทย ปีเดียวกัน การส่งออกของจีนนี้ เป็นรูปแบบของการเข้าไปลงทุนประกอบรถยนต์จากชิ้นส่วนนำเข้าจากจีนแบบ CKD หรือ SKD ยังโรงงานสังกัดค่ายรถยนต์จีนในประเทศต่างๆ อีกหลายแห่ง ซึ่งมีทั้งรูปแบบรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบเสียบปลั๊ก (PHEV และ BEV) อันจะส่งผลต่อไทยทั้งในแง่ลบ และบวก ปัจจุบันรถยนต์สัญชาติจีนหลายค่ายได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นตามลำดับจากตลาดโลก โดยเฉพาะเมื่อผนวกกับจุดแข็งที่สำคัญเรื่องความสามารถในการตั้งราคาได้ต่ำกว่าคู่แข่ง อันเป็นผลจากการผลิตที่ได้ Economies of Scale ทั้ง Supply Chain จากการผลิตรถยนต์รวมที่สูงมากในประเทศ โดยทิศทางที่กล่าวข้างต้น ผลกระทบที่จะเกิดต่อไทยจากการดำเนินการรุกตลาดของค่ายรถยนต์สัญชาติจีนผ่าน 2 ทางหลัก ได้แก่ การส่งออกไปยังตลาดส่งออกเดิมของไทย และการเข้าไปลงทุนในตลาดส่งออกเดิมของไทย ช่วงเวลาขณะนี้อาจเป็นจังหวะเหมาะที่ภาคส่วนต่างๆ ในอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย จะได้กลับมาพิจารณาถึงแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ ของประเทศ เพื่อให้เกิดความพร้อมในการรับมือกับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที เมื่อตลาดเปิดอีกครั้ง การเข้ามาลงทุนของค่ายรถยนต์จีนเพิ่มในไทย แม้จะทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในไทยบางส่วนที่มีศักยภาพ มีโอกาสเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนผลิตรถยนต์สัญชาติจีนที่เข้ามาลงทุนได้ เนื่องจากค่ายรถยนต์จีนมีลักษณะที่ไม่ยึดติดกับเพียงผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เป็นบริษัทลูก หรือสัญชาติเดียวกันแบบค่ายรถญี่ปุ่น นอกจากนี้ หากค่ายรถยนต์สัญชาติจีนต้องการส่งออกรถยนต์ไปยังอาเซียน และโอเชียเนีย โดยใช้สิทธิ์ภาษีนำเข้า 0 % ผ่านข้อตกลง FTA ก็จำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศอย่างน้อย 40 % ตามกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า แต่ถึงกระนั้น การจะเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตรถยนต์ของจีนคงไม่ง่ายนัก เมื่อจีนเน้นการจับคู่ธุรกิจกับผู้ผลิตชิ้นส่วนที่สามารถทำให้ต้นทุนการผลิตรถยนต์ต่ำลง โดยยังคงระดับมาตรฐานคุณภาพ เพื่อสามารถผลิตรถยนต์ที่มีระดับราคาต่ำกว่าคู่แข่งได้ ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทยอาจจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น หากต้องการเข้าไปอยู่ในสายการผลิตรถยนต์ของจีน ทั้งจากชิ้นส่วนที่นำเข้ามาจากจีนเอง ที่ก็มีการทำข้อตกลง FTA ร่วมกันกับไทย รวมถึงปัจจุบันมีการเข้ามาลงทุนของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จากจีนที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงด้วย ก็ได้แต่คาดหวังความสามารถในการต่อรองของบรรดาผู้ผลิตชิ้นส่วนในบ้านเรา ว่าจะสามารถใช้ความสามารถในการต่อรอง เพื่อให้เป็นหนึ่งในผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับรถยนต์จากประเทศจีน ได้มากน้อยขนาดไหน ขอให้โชคดีทุกท่านครับ