สายการผลิตของ BMW ที่ มิวนิค เพิ่มระบบการทำงานในสายการผลิต โดยใช้ ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence เข้าควบคุมในระบบการทำงาน เพื่อการตรวจสอบข้อมูล และเพิ่มประสิทธิภาพของยานยนต์ให้ดียิ่งขึ้นการทดลองใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ ในสายการผลิต โดยประมวลผลจากข้อมูลขนาดใหญ่ ในหลายส่วนของสายการผลิต และปัจจุบัน สามารถใช้เทคโนโลยีนี้ ในส่วนของ แผนกชิ้นส่วนตัวถัง และอื่นๆ Robert Engelhorn กรรมการด้านการผลิตของ BMW กำลังทดลองใช้เทคโนโลยีนี้ ในหลายส่วนของสายการผลิต “ด้วยความช่วยเหลือของระบบปัญญาประดิษฐ์ และข้อมูลจำนวนมากจากสายการผลิตจริง เราสามารถนำข้อมูลเหล่านั้น มาบริหารจัดการ และตรวจสอบความสามารถในการผลิตที่แท้จริงของเรา อันจะช่วยให้เราสามารถผลิตรถที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต โดยขณะเดียวกัน ก็ช่วยลดจำนวนพนักงาน จากการที่ต้องมาทำงานซ้ำๆ กันในทุกๆ วัน” และเสริมว่า ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ประสิทธิภาพ “ทีมงานในสายการผลิตของเรา มีประสบการณ์มากอยู่แล้ว แต่การนำเอาระบบปัญญาประดิษฐ์ มาช่วยเสริม ช่วยให้ได้คุณภาพของรถที่เป็นไปตามมาตรฐาน และช่วยลดเวลาในการทำงาน จากการต้องกลับมาซ่อมแซมลงด้วยเช่นกัน” แผนกชิ้นส่วนตัวถังในมิวนิค ใช้แผ่นเหล็กราว 300 ชิ้น/วัน ในการปั๊มขึ้นรูปเป็นตัวถังรถยนต์ในแบบต่างๆ นับแต่ปี 2562 เป็นต้นมา มีการริเริ่มใช้โคดเลเซอร์ ประทับบนชิ้นงานตั้งแต่เริ่มการผลิต เพื่อให้สามารถตรวจสอบชิ้นงานได้ตลอดจนแล้วเสร็จเป็นตัวรถ และโคดเลเซอร์ บนชิ้นงาน เป็นการบันทึกประวัติของวัสดุ และขั้นตอนว่าได้ผ่านอะไรมาบ้าง การส่งข้อมูลเหล่านี้ขึ้นไปในระบบ Cloud ในแบบทันทีทันใด ช่วยให้ทีมงานสายการผลิต สามารถเห็นภาพโดยรวมของสายการผลิตได้ทันที ระบบปัญญาประดิษฐ์ ยังช่วยให้สามารถอธิบายได้ว่า ขั้นตอนการทำงานในขณะนั้นเป็นอย่างไร โดยรวบรวมจากข้อมูลที่ได้รับ อันช่วยให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตจากแผนกปั๊มตัวถังได้โดยง่าย ขณะเดียวกัน ในระบบเชื่อม ที่ต้องใช้หุ่นยนต์ในการทำงาน จำเป็นต้องใช้หุ่นยนต์หลายรูปแบบราว 600 ตัว และหากมีความเสียหายของหุ่นยนต์ในแต่ละจุด ทำให้ต้องหยุดการทำงาน เพื่อเปลี่ยนเฉพาะตัวที่เสีย ทำให้เสียเวลาและงบประมาณมาก รวมทั้งการเข้าถึงหุ่นยนต์ในแต่ละจุด ก็ทำได้ค่อนข้างลำบากด้วย ในอนาคต จะมีการติดตั้งเซนเซอร์ให้กับหุ่นยนต์แต่ละตัว และตรวจสอบระบบการทำงานของแต่ละกะ จำนวน 3 ครั้ง และรายงานต่อไปยังผู้ควบคุม “ในเมื่อเราติดตั้งเซนเซอร์ให้กับหุ่นยนต์แต่ละตัว และส่งข้อมูลขึ้นไปยังระบบ Cloud ตลอดเวลา จะสามารถบอกได้ว่า เมื่อใด จำเป็นต้องมีการบำรุงรักษา หรือปรับเปลี่ยน” สายการผลิตของโรงงานที่มิวนิค อยู่ระหว่างการนำเอาระบบปัญญาประดิษฐ์ เข้าไปใช้งานในสายการผลิต ให้ได้ครบทุกกระบวนการในอนาคต