ผลประกอบการประจำปี 2562 ออกมาเรียบร้อยแล้ว สภาอุตสาหกรรมฯ สรุปว่ามีการผลิตรถยนต์ทั้งสิ้น 2,013,710 คัน ลดลงจากปี 2561 7.1 % แต่มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 2 ล้านคัน ส่วนยอดขาย จำนวนทั้งสิ้น 1,007,552 คัน ลดลง 3.3 % ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 1,054,103 คัน ลดลง 7.59 % โดยรวมแล้วก็ดีกว่าเป้าหมายเล็กน้อยส่วนเป้าหมายปี 2563 ผลิตรถยนต์ 2,000,000 คัน ลดลง 0.69 % ผลิตรถจักรยานยนต์ 2,100,000 คัน เพิ่มขึ้น 7.78 % คาดว่ายอดขายในประเทศ 1 ล้านคัน ส่วนรถจักรยานยนต์ ปี 2562 ผลิตทั้งสิ้น 2,533,269 คัน ลดลง 1.74 % เดือนมกราคม-ธันวาคม ยอดขาย 1,718,587 คัน ลดลง 3.9 % ประมาณการการผลิตปี 2563 ประมาณ 2,100,000 คัน เพิ่มขึ้น 7.78 % สภาอุตสาหกรรมฯ ท่านบอกว่า ประมาณการผลิตเพื่อการส่งออกลดลง เพราะยังกังวลเรื่องสงครามการค้าที่ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะยุติ ค่าเงินบาทแข็ง รวมถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศในบางภูมิภาค ขณะที่การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ เพิ่มขึ้น 2.4 % เพราะการผลิตอีโคคาร์รุ่นใหม่ของหลายบริษัทเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ยังมีความกังวลเรื่องภัยแล้ง การเมืองในประเทศ และดัชนีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ชะลอตัว รวมทั้งมีข้อเสนอให้ภาครัฐปรับปรุงระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และขอให้ภาครัฐหามาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างเร่งด่วน แต่ไม่ทันไร พี่ใหญ่ของวงการ ก็ออกมาบอกว่า “ปีนี้นับเป็นปีที่ท้าทายอีกปีหนึ่งสำหรับตลาดรถยนต์ไทย เนื่องจากตลาดรถยนต์ยังคงเผชิญกับหลายปัจจัย จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนและมาตรการควบคุมสินเชื่อรถยนต์ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ดังนั้นเราจึงคาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์โดยรวมในประเทศจะอยู่ที่ 940,000 คัน ลดลงประมาณ 7 % เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา” ส่วนมุมมองทางด้านตลาดหลักทรัพย์ พบว่า มุมมองยังคงเป็นลบต่อกลุ่มยานยนต์ จากภาพระยะสั้นที่ยังไม่เห็นจุดกลับตัว และภาพระยะยาวที่ถูกกดดันจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ประเด็นการควบคุมต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตทั่วโลก ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิต หรือเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศที่ค่าแรงต่ำอีกครั้ง ส่วนแนวโน้มปี 2563 คาดหวังการฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง เพราะกำลังซื้อในประเทศที่จะได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างเต็มที่ และยอดส่งออกจะกลับมาฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ และสงครามการค้าที่คลายตัวก่อนมีการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ส่วนภาพระยะยาวยังถูกกดดันด้วยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอุตสาหกรรม จากเครื่องยนต์สันดาปไปเป็นระบบมอเตอร์ไฟฟ้า นั่นคือ มุมมองสำหรับปี 2563 ในหลายๆ ด้าน ลองมาดูทางด้านวิจัยกรุงศรี กันบ้าง ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายของทางการไทย ที่จะหันไปให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และการวางเป้าหมายให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญในภูมิภาค จะมีผลให้ผู้ประกอบการวางแผนการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติม รวมถึงการลงทุนผลิตแบทเตอรีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของตนเอง โดยคาดว่า ปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 5-7 ปี ผลจากมีการพัฒนาแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน จนราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง (ในปี 2553 ราคาแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน อยู่ที่ 1,200 USD/kWh ลดลงเหลือเพียง 175 USD/kWh ในปี 2561) สำนักข่าวบลูมเบิร์ก คาดว่าภายในปี 2565 ราคารถยนต์ไฟฟ้าแบบแบทเตอรี (BEV) จะใกล้เคียงรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) (เทียบรถยนต์ขนาดที่ใกล้เคียงกัน) อย่างไรก็ตาม ประเด็นท้าทายอยู่ที่การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น เนื่องจากปัจจุบันจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้ายังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ และยังต้องรอการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เชื่อมต่อโครงข่ายผ่านมิเตอร์อัจฉริยะ เพื่อให้เกิดการใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสามารถรองรับระบบ Vehicle-to-Home (V2H) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม 5G (กสทช. คาดว่าในปี 2563 จะเริ่มทดสอบระบบ 5G ในบางพื้นที่ เช่น พื้นที่ EEC (ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) เป็นต้น ขณะที่ระบบ 5G คาดว่าจะใช้แพร่หลายในเชิงพาณิชย์ภายในปี 2578) เพื่อรองรับระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติในรถยนต์ที่จะเริ่มเข้ามามีบทบาทในไทยเพิ่มขึ้น เท่ากับว่า ตลาดของรถยนต์ไฟฟ้า ในปี 2563 นี้ ก็ยังคงอยู่ระหว่างการพัฒนาไปเรื่อยๆ ถือเป็นการตอบคำถามมากมายที่ถามมาว่า ควรใช้รถไฟฟ้า ได้หรือยัง ? ตามประสาข้าราชการไทย ก็น่าจะรู้จักคำศัพท์ที่ว่า “เรื่อยๆ มาเรียงๆ” นะครับท่านผู้ชม