กรมควบคุมโรค เตือน 9 กลุ่มโรค ที่ส่งผลต่อสมรรถนะในการขับขี่ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรง มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตได้
นพ. อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เตือนประชาชนที่ป่วยใน 9 กลุ่มโรค และปัญหาสุขภาพเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่ ควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ หากประชาชนทราบว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพ ร่างกายไม่พร้อม ห้ามขับรถโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง และผู้ร่วมทาง
ต้องระวัง ! 9 กลุ่มโรค และปัญหาสุขภาพ เสี่ยงมีผลต่อสมรรถนะในการขับขี่
1. โรคเกี่ยวกับสายตาต้อหิน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม : ทำให้ขับรถในเวลากลางคืนแล้วมองไม่ชัด ส่วนคนเป็นต้อหินทำให้มุมสายตาแคบลง มองเห็นภาพโดยรอบได้ไม่ดี และมองเห็นแสงไฟบอกทาง หรือไฟหน้ารถพร่าได้
2. โรคทางสมองและระบบประสาท : ที่ทำให้มีอาการหลงลืม การตัดสินใจช้าและสมาธิไม่ดี
3. โรคหลอดเลือดสมอง : ทำให้แขนขาไม่มีแรงในการขับรถ เหยียบคันเร่ง เหยียบเบรค หรือเปลี่ยนเกียร์
4. โรคพาร์กินสัน : มีอาการแข็งเกร็ง มือสั่น เท้าสั่น ทำอะไรช้าลง ส่งผลให้ขับรถได้ไม่ดี
5. โรคลมชัก : ในสภาวะที่ควบคุมอาการชักไม่ได้
6.โรคไขข้อ ข้อเสื่อม ข้ออักเสบต่างๆ : ที่มีผลกระทบต่อการขับรถ เช่น ข้อเข่าเสื่อม ทำให้เหยียบเบรคได้ไม่เต็มที่
7. โรคหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด : อาจมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก วูบ หมดสติ
8. โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ : ถ้าน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้มีอาการ หน้ามืด ใจสั่น สมาธิไม่ดี ตาพร่า
9. การกินยาบางชนิด : มีผลทำให้ง่วงซึม หรือง่วงนอน มึนงง สับสนในเวลาขับรถ ทำให้การตัดสินใจ สมาธิ และความรวดเร็วในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ช้า ควรปรึกษาแพทย์ว่ายาที่กินมีผลต่อสมรรถนะในการขับขี่หรือไม่