การ์โลส โกส์น (Carlos Ghosn) อดีตประธานบริษัท นิสสัน เปิดแถลงข่าวที่เลบานอน กล่าวหาผู้บริหาร นิสสัน ร่วมมือกับอัยการญี่ปุ่น วางแผนโค่นอำนาจเขา ด้วยการใส่ร้าย และจับกุมตัวเขาที่ญี่ปุ่น เนื่องจากผู้บริหารฝั่งญี่ปุ่นไม่ต้องการให้มีการควบรวมกิจการของ นิสสัน กับเรอโนลต์ ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศส ที่ถือหุ้นใหญ่ใน นิสสัน ถึง 43 % (ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสมีหุ้นอยู่ใน เรอโนลต์ 15 %)
รายงานข่าวก่อนหน้านี้ระบุว่า คณะผู้แทนฝรั่งเศสเคยเสนอเรื่องการควบรวมนี้ แต่ นิสสัน คัดค้านเรื่อยมา เพราะไม่ต้องการให้ฝ่ายฝรั่งเศสมีอำนาจในการกำหนดทิศทางอนาคตของ นิสสัน ซึ่งเป็นรถสัญชาติญี่ปุ่น แต่ โกส์น ยืนยันว่า เขาไม่ได้ต้องการให้มีการควบรวมกิจการ และยังคงต้องการให้บริษัททั้งสองทำงานเป็นอิสระต่อกัน
โกส์น ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง ในการแถลงข่าวครั้งแรกหลังการหลบหนีออกจากญี่ปุ่น แต่ไม่ได้เปิดเผย วิธีการหลบหนีที่ทั่วโลกอยากรู้ ส่วนสาเหตุที่ต้องหนีเพราะทีมทนายความบอกว่า เขาอาจต้องถูกกักขัง และต่อสู้คดีนานถึง 5 ปี และแทบไม่มีโอกาสชนะ เนื่องจากการพิจารณาที่ไม่เป็นธรรม และยังบอกว่ามันเป็นแผนการ “ยึดอำนาจ” จากการสมคบกันของผู้บริหาร นิสสัน และอัยการ โดยเปิดเผยชื่ออดีตผู้บริหาร นิสสัน 6 คนที่วางแผนเรื่องนี้
“ผมไม่ได้หลบหนีกระบวนการยุติธรรม แต่ผมหลบหนีจากความอยุติธรรม” อดีตประธาน นิสสัน กล่าว พร้อมทั้งโจมตีระบบยุติธรรมของญี่ปุ่นว่า ละเมิดหลักการพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน จากการกักขัง และสอบสวนโดยปราศจากทนายความ รวมทั้งการพิจารณาคดีที่ล่าช้า
โกส์น ยังได้ระบุว่า ทนายความของเขาจะดำเนินการต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป และเขาพร้อมที่จะพิสูจน์ความจริงนอกประเทศญี่ปุ่น
หลังการแถลงข่าวของ โกส์น อัยการกรุงโตเกียวได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ทันทีว่า คำกล่าวของ โกส์น ไม่เป็นความจริง ขณะที่ มาซาโกะ โมริ รมต.ยุติธรรมของญี่ปุ่น กล่าวว่า
“โกส์น ได้กล่าวข้อมูลเท็จเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของญี่ปุ่น โดยอัยการจะฟ้องเฉพาะผู้ต้องสงสัยที่มีหลักฐานเพียงพอ ให้ศาลตัดสินว่ากระทำความผิดจริงหรือไม่ ถ้าจำเลยมีอะไรจะโต้แย้ง ก็นำหลักฐานมาแสดงแก่ศาล และจำเลยจะถูกจับกุมได้ก็ต่อเมื่อมีหมายศาลเท่านั้น ต่างกับบางประเทศที่สามารถกักขังได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล”
อัยการญี่ปุ่นยังได้ออกหมายจับ “แครอล โกส์น” ภรรยาของ การ์โลส โกส์น ในวันที่ 7 มค. ในข้อหาให้การเท็จ ซึ่ง โกส์น กล่าวว่าเป็นการกลั่นแกล้งกัน พร้อมปฏิเสธว่า ครอบครัวและภรรยาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหลบหนีครั้งนี้
นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้ขอให้ตำรวจสากลออกหมายจับ การ์โลส โกส์น และเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำเลบานอน ได้เข้าพบและขอให้ประธานาธิบดีเลบานอน นำตัว การ์โลส โกส์น กลับไปดำเนินคดีที่ญี่ปุ่น
ซึ่งองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรืออินเตอร์โพล ก็ได้ออกหมายจับสีแดงต่อ โกส์น ตามคำขอของรัฐบาลญี่ปุ่น
ต่อมาในวันที่ 9 มค. อัยการของเลบานอนได้ออกคำสั่งห้าม โกส์น เดินทางออกนอกประเทศ เพื่อไต่สวนคดีตามหมายจับขององค์การตำรวจสากล แต่ทางการเลบานอนยังคงยืนยันว่าเขาเข้าประเทศอย่างถูกกฎหมาย และในวันที่ 10 มค. ทางการญี่ปุ่นยังเรียกร้องให้องค์การตำรวจสากลออกหมายจับ แครอล โกส์น ด้วยเช่นกัน เพื่อต้องการจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศของภรรยา โกส์น ด้วย แต่ญี่ปุ่นไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับเลบานอน และโกส์น มีความสนิมสนมกับรัฐบาลเลบานอน จึงเป็นการยากที่รัฐบาลเลบานอนจะส่งตัวเขากลับไปดำเนินคดีที่ญี่ปุ่น
โกส์น กล่าวว่า“ผมยินดีที่จะติดคุกในเลบานอน ดีกว่าจะถูกกักบริเวณให้อยู่ในบ้านที่ประเทศญี่ปุ่น”