โรลล์ส–รอยศ์ มอเตอร์ คาร์ส แบงคอค เปิดตัวยนตรกรรมรุ่นพิเศษเพื่อนักสะสม เรธ อีเกิล 8 เป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประเทศไทยได้โควตา 1 คัน จากการผลิตจำกัดเพียง 50 คัน ทั่วโลก ซึ่งถูกผลิตขึ้น ณ ศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศในการผลิตยนตรกรรมลักซ์ชัวรีระดับโลก ที่เมืองกูดวูด สหราชอาณาจักร
เอียน กแรนท์ ผู้จัดการฝ่ายขายภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค โรลล์ส–รอยศ์ มอเตอร์ คาร์ส เผยว่า “ที่ โรลล์ส–รอยศ์ พวกเรามักพูดกันว่า “แรงบันดาลใจ มีอยู่ทุกแห่งหน” ซึ่ง เรธ อีเกิล 8 ก็เป็นสิ่งที่สนับสนุนคำกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดี โดยเป็นยนตรกรรมที่สร้างขึ้นด้วยแรงบันดาลใจจากความมุทะลุ และห้าวหาญของ 2 นักบินผู้สามารถข้ามมหาสมุทรแอตแลนติคโดยไม่จอดพักได้สำเร็จ เป็นครั้งแรกของโลกช่วงปี 2462 ซึ่ง โรลล์ส–รอยศ์ ได้ก้าวข้ามขีดจำกัดในการรังสรรค์ยนตรกรรมสุดพิเศษรุ่นนี้ ด้วยการผสมผสานวัสดุที่ดูร่วมสมัย เข้ากับนวัตกรรมการออกแบบยุคใหม่ ภายใต้ความประณีตบรรจง ให้เป็นผลงานชิ้นเอกเพื่อเป็นเกียรติแด่บรรดานักบุกเบิกผู้เกรียงไกร นักผจญภัย และผู้ที่เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์”
กฤษดา สวามิภักดิ์ ผู้จัดการทั่วไป โรลล์ส–รอยศ์ มอเตอร์ คาร์ส แบงคอค กล่าวว่า “เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ของประวัติศาสตร์การเดินทางอันยิ่งใหญ่ เราภูมิใจนำเสนอหนึ่งในยนตรกรรมรุ่นพิเศษ ที่สามารถสะท้อนความหรูหรา ความประณีต และจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ได้ดีที่สุด ซึ่งลูกค้า โรลล์ส–รอยศ์ ในไทย ล้วนชื่นชอบยนตรกรรมที่เปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์ และประณีตบรรจง ปีนี้ โรลล์ส–รอยศ์ จึงตอบสนองด้วยยนตรกรรมสั่งทำพิเศษอีก 1 รุ่น นำมาจัดแสดงเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่งาน “The Pinnacle of Luxury 2019″ ที่ได้รวบรวมยนตรกรรมสุดหรูมาให้สัมผัสอย่างใกล้ชิด”
“เรธ อีเกิล 8″ สร้างขึ้นด้วยแรงบันดาลใจจากการเดินทางอันน่าทึ่งของ 2 นักบิน คือ กัปตันจอห์น อัลคอค และอาร์เธอร์ บราวน์ ผู้ประสบความสำเร็จในการขับเครื่องบินทิ้งระเบิด Vickers Vimy สมัยสงครามโลก ครั้งที่ 1 ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติคโดยไม่จอดพัก เป็นครั้งแรกของโลกช่วงปี 2462 เครื่องบินที่ผ่านการปรับแต่งเป็นพิเศษ ติดตั้งเครื่องยนต์ของ โรลล์ส–รอยศ์ อีเกิล 8 (Eagle VIII) 350 แรงม้า ถึง 2 ตัว ซึ่งเป็นที่มาของชื่อรุ่นสำหรับยนตรกรรมสุดพิเศษนี้ เป็นเสมือนการฉลองครบรอบ 100 ปี ของการเดินทางอันยิ่งใหญ่ ที่สะท้อนถึงการผจญภัยในปัจจุบัน และเพื่อเป็นเกียรติแด่บรรดาวีรบุรุษผู้บันทึกประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ ระหว่างการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ นักบินทั้ง 2 ประสบปัญหาแทบจะทุกรูปแบบ วิทยุสื่อสาร และระบบนำทาง ไม่สามารถใช้งานได้เกือบตลอดการบิน ทำให้ทั้งคู่ต้องอาศัยสัญชาตญาณ บินผ่านกลุ่มเมฆหนาทึบ และหมอกเย็นจัดนานหลายชั่วโมง บางครั้งถึงขั้นบินกลับหัว แต่ด้วยทักษะอันยอดเยี่ยมของ อาร์เธอร์ บราวน์ ก็สามารถทำให้พวกเขารอดมาได้อย่างปลอดภัย โดยเครื่องยนต์ โรลล์ส–รอยศ์ อีเกิล 8 กลายเป็นสิ่งเดียวในค่ำคืนนั้นที่สามารถทำงานได้อย่างไร้ที่ติตลอดการบิน ทำลายสถิติด้วยความเร็วเฉลี่ยสูงถึง 185 กม./ชม.
“ผมไม่แน่ใจว่าควรชมเชยสิ่งใดมากสุด ระหว่างความมุทะลุ, ความมุ่งมั่น, ทักษะ, วิทยาศาสตร์, เครื่องบิน, เครื่องยนต์ โรลล์ส–รอยศ์ หรือความโชคดีของพวกเขา” เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล กล่าวถึงการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติคของ อัลคอค และบราวน์
ตัวถังของ “เรธ อีเกิล 8″ เป็นการรำลึกถึงการผจญราตรีของกัปตันอัลคอค และร้อยโทบราวน์ สีกันเมทัล (Gun Metal) ตัดกับสีเซลบี กเรย์ (Selby Grey) แบ่งเป็นสัดส่วนโดยเส้นทองเหลือง สื่อถึงรายละเอียดที่อยู่ด้านใน กระจังหน้าสีดำได้รับอิทธิพลจากเครื่องยนต์ โรลล์ส-รอยศ์ อีเกิล 8 ที่ถูกติดตั้งอยู่บนเครื่องบินทิ้งระเบิด Vickers Vimy ขณะที่ล้อแมกเคลือบเงาเป็นบางจุดด้วยสีเทาเข้ม ห้องโดยสารผ่านการตกแต่งอย่างประณีต และดูร่วมสมัย ให้สอดคล้องกับสีตัวถัง วัสดุทองเหลืองถูกใช้ในจุดสำคัญทั่วทั้งส่วนของที่นั่งคนขับ หนังแท้สีเซลบี กเรย์ และสีดำ แต่งขอบด้วยทองเหลือง สื่อถึงเครื่องวัดระยะทางหาเส้นรุ้ง และเส้นแวงทองเหลือง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อความสำเร็จในการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติค
กรอบลำโพงผลิตจากทองเหลือง แสดงระยะทางโดยประมาณกว่า 1,880 ไมล์ ของไฟล์ทการบินในตำนาน นอกจากนั้น โมโนแกรม “R” ยังถูกตกแต่งด้วยด้ายสีทองเหลืองบนที่วางแขน ความสว่างไสวของทองเหลืองช่วยเติมเต็มช่องใส่ของบริเวณประตู ขณะที่ประตูฝั่งผู้ขับตกแต่งด้วยแผ่นเหล็ก สลักถ้อยแถลงของเชอร์ชิล ต่อความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของนักบินทั้งคู่ ด้วยแรงบันดาลใจจากไฟล์ทบินยามราตรีของวีรบุรุษผู้กล้าหาญ แดชบอร์ดถูกตกแต่งให้สะท้อนทิวทัศน์
ซึ่งนักบินทั้ง 2 ได้เห็นในท้ายที่สุด หลังบินฝ่าเมฆหมอกหนาออกมาได้สำเร็จ ด้วยกรรมวิธีร่วมสมัย ผสานเทคนิคดั้งเดิม ไม้ยูคาลิพทัสรมควันผ่านการชุบสุญญากาศเป็นสีทอง ก่อนนำไปเลี่ยมกับเงิน และทองแดง เพื่อถ่ายทอดรายละเอียดอันสวยงามของพื้นโลกยามค่ำคืนเมื่อมองจากท้องฟ้า การตกแต่งนี้ทอดยาวไปจนถึงคอนโซลกลาง มอบประสบการณ์พิเศษแด่ผู้ครอบครอง เบาะผู้ขับสอดคล้องกับเพดานรถ ขณะที่ส่วนล่างของอุโมงค์กลางถูกบุและเย็บด้วยด้ายทองเหลือง สะท้อนถึงเครื่องบิน Vickers Vimy เครื่องยนต์ วี 12 สูบ ได้อย่างชัดเจน
นาฬิกาในรถยนต์ โรลล์ส-รอยศ์ นับเป็นเครื่องประดับอันเลอค่าอีกชิ้นหนึ่ง ลูกค้าหลายท่านจึงเลือกตกแต่งในส่วนนี้ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขา “เรธ อีเกิล 8″ ก็เช่นกัน ผู้บุกเบิกที่กล้าหาญของเราพบว่าแผงหน้าปัดอุปกรณ์ของพวกเขาแทบกลายเป็นน้ำแข็ง เนื่องจากระดับความสูง และสภาพอากาศอันย่ำแย่ แสงสว่างเพียงหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่ในตอนนั้น มาจากแสงสีเขียวของแผงควบคุม และประกายไฟ จากเครื่องยนต์ทางกาบขวาของเครื่องบิน
เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว แผนก Bespoke Collective ของ โรลล์ส-รอยศ์ ได้ประกอบนาฬิกาเข้ากับพื้นผิวที่ตกแต่งให้ดูคล้ายมีน้ำแข็งเกาะอย่างอัจฉริยะ แสงสีเขียวเรืองรองส่องสว่างยามกลางคืน เข็มชั่วโมง สีแดงแบบเดียวกับเข็มทิศ ได้แรงบันดาลใจจากลวดลายเส้นสายบนแผงหน้าปัดนาฬิกา ขณะที่พิกัดลงจอดถูกสลักไว้ด้านล่าง
ส่วนประกอบที่มีเสน่ห์มากสุดของรถคันนี้ เป็นเพดานห้องโดยสารที่สวยงามด้วยแสงดาว Starlight Headliner เส้นใยไฟเบอร์ออพทิค 1,183 จุด แสดงตำแหน่งของดวงดาวบนฟากฟ้าในช่วงเวลาของไฟล์ทบินในปี 2462 เส้นทางบินและหมู่ดาวต่างๆ ถูกถักร้อยด้วยเส้นด้ายทองเหลือง โดยเรื่องราวที่ทั้ง 2 บินฝ่าหมู่เมฆเพื่อใช้ดวงดาวนำทาง ถูกบอกเล่าผ่านเส้นใยนำแสงไฟเบอร์ออพทิคสีแดง ควบคู่กับการเย็บปักเป็นลายก้อนเมฆ นอกจากนั้นยังมีแผ่นเหล็กที่มีข้อความ “The celestial arrangement at the halfway point 00:17am June 15th 1919, 50″ 07′ Latitude North-31″ Longitude West” แสดงจุดกึ่งกลางของการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์
โรลล์ส–รอยศ์ “เรธ อีเกิล 8″ ผลิตขึ้นอย่างประณีต ณ ศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศในการผลิตยนตรกรรมลักชัวรีระดับโลก ในเมืองกูดวูด จำกัดเพียง 50 คันทั่วโลก ขอเชิญผู้สนใจมาชมรายละเอียดอันสุดยอดของยนตรกรรมที่มีเพียง 1 คันในประเทศไทย พร้อมร่วมสนุกกับกิจกรรมถ่ายภาพกับ หรั่ง-สุรศักดิ์ อิทธิฤทธิ์ ช่างภาพชั้นแนวหน้าของไทย ได้ที่งาน “The Pinnacle of Luxury 2019″ ที่สยามพารากอน (แฟชันฮอลล์) ระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน-10 ธันวาคม 2562