เดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ถึงแม้จะเป็นเดือนแห่งการเปิดภาคการศึกษาสำหรับนักเรียน และเป็นเดือนที่บรรดาผู้ปกครองต้องหน้าดำคร่ำเครียด กับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลาน แต่ยอดการขายรถยนต์ ก็ยังคงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 3.7 % ขายกัน 88,097 คัน ทำให้ยอดขายโดยรวม 5 เดือน ยังคงเพิ่มอยู่ 9.1 % จำนวน 437,722 คันอันที่จริง สภาพเศรษฐกิจบ้านเรา ก็ยังอยู่ในระดับที่ยังไม่เลวร้ายจนเกินไปนัก เมื่อมองในภาพรวม ยังมีโครงการด้านพื้นฐานที่รัฐบาลเดิม อนุมัติเอาไว้ ซึ่งล้วนเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่ช่วยให้สภาวะทางเศรษฐกิจเดินหน้าไปได้เรื่อยๆ รวมทั้งความเสถียรทางการเมือง ที่แม้จะอยู่ในช่วงระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็ไม่มีความวุ่นวายใดๆ ภาคเศรษฐกิจยังดำเนินไปได้เรื่อยๆ แต่ผลกระทบจากภายนอก โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจระดับโลก ที่ชะลอตัวลง ซึ่งเศรษฐกิจบ้านเราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ทำให้การส่งออก ติดลบต่อเนื่องมาหลายเดือนแล้ว เพราะเป็นผลมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไทยไปจีน สหภาพยุโรป รวมทั้งความกังวลของผู้ผลิต ต่อประเด็นความไม่แน่นอนในเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แต่สิ่งที่น่าจับตามองก็คือ ทิศทางการส่งออกสินค้าไทยในช่วง 7 เดือนที่เหลือของปี 2562 ยังเผชิญความท้าทายอยู่อีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวเร็วกว่าที่คิดไว้ แนวโน้มราคาน้ำมันดิบโลกที่ผันผวน วัฏจักรขาลงของสินค้าอีเลคทรอนิคส์ รวมไปถึงประเด็นเรื่องข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ปะทุขึ้นมาอีกระลอก ซึ่งส่งผลให้บรรยากาศการค้าโลกตึงเครียดมากขึ้น และเพิ่มเติมความเสี่ยงให้กับภาคการส่งออกสินค้าไทยมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ปัจจัยการเมืองในประเทศ ยังต้องติดตามการจัดตั้งรัฐบาล คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ตลอดจนการผลักดันงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งจะมีผลความเชื่อมั่นต่อภาพลักษณ์ โดยรวมเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ในเบื้องต้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ไว้ที่ 3.7 % เพื่อรอประเมินปัจจัยความไม่แน่นอน ทั้งจากภายนอกและภายในประเทศดังกล่าว ซึ่งหากสถานการณ์ลากยาวออกไป จะส่งผลกระทบให้ GDP ทั้งปี 2562 โน้มตัวข้าสู่กรอบล่างของประมาณการที่ 3.2-3.9 % มองภาพโดยรวมไปแล้ว มาดูกันเรื่องภายในบ้านเราเองบ้าง การคาดการณ์ยอดขายรถจักรยานยนต์ทั้งปี น่าจะทำได้ลดลงจากปีก่อน เหลือประมาณ 1,755,000 คัน หรือหดตัวลงประมาณ 2 % จากที่ทำได้ในปี 2561 โดยนอกเหนือจากที่ตลาดรถจักรยานยนต์อยู่ในภาวะอิ่มตัวแล้ว ปัจจัยที่มีผลกระทบหลักในปี 2562 คือ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลงจากประเด็นสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ และจากสถานการณ์แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรหลักของไทย ไม่ว่าจะเป็น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์ม และอ้อย ในปีนี้ ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากปีก่อนอันเนื่องด้วยปัญหาอุปทานล้นตลาดโลก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อรายได้ผู้บริโภคระดับฐานราก ได้แก่ เกษตรกร รวมถึงแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ซื้อหลักของตลาดรถจักรยานยนต์ไทย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องการอนุมัติปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้นของสถาบันการเงินจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง ทำให้ในปี 2562 นี้ ยอดขายรถจักรยานยนต์มีโอกาสหดตัวดังกล่าว แต่เมื่อพิจารณาตามประเภทของรถจักรยานยนต์ พวกรถขนาดเล็กเครื่องยนต์ไม่เกิน 125 ซีซี ราคาขายเฉลี่ย 50,000 บาท สำหรับเจาะตลาดผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อย ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 80 % นั้น มีแนวโน้มที่จะหดตัวลงต่อเนื่องในปีนี้กว่า 4 % ไปสู่ยอดขายประมาณ 1,368,000 คัน ซึ่งการหดตัวของกลุ่มนี้มีผลต่อทิศทางตลาดสูงที่สุด ส่วนรถจักรยานยนต์ขนาดกลางเครื่องยนต์ระหว่าง 126-250 ซีซี ราคาขายเฉลี่ย 90,000 บาท และมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 17 % โดยเป็นประเภทรถจักรยานยนต์ที่เจาะตลาดกลุ่มคนทำงานที่มีรายได้เข้ามาต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทผู้ให้สินเชื่อจะปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มผู้บริโภคนี้ง่ายกว่ากลุ่มแรก น่าจะทำยอดขายได้ประมาณ 315,000 คัน ขยายตัวขึ้น 7 % จากปีก่อน ส่วนตลาด Big Bike ซึ่งมีขนาดเครื่องยนต์มากกว่า 250 ซีซี ราคาขายมีหลายระดับตั้งแต่ 150,000 ถึงมากกว่า 1,000,000 บาท ส่วนแบ่งตลาดเพียง 3 % แต่เป็นตลาดที่ผู้บริโภคมีศักยภาพซื้อสำหรับตอบสนองการทำกิจกรรมต่างๆ และผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจน้อย ในปีนี้มีโอกาสทำยอดขายได้ประมาณ 72,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 14 % แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2563 มาตรการเพื่อการจัดการมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น มาตรฐานไอเสียยูโร 4 รวมถึงภาษีสรรพสามิตที่คำนวณจากปริมาณการปล่อยแกสคาร์บอนไดออกไซด์ นั้น คาดว่าจะกลายมาเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อราคารถจักรยานยนต์ และมีผลต่อตลาดรถจักรยานยนต์ใหม่ในปี 2563 ก็ต้องคอยดูกันต่อไปละครับ ท่านผู้ชม