ดร. ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กล่าวว่า ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การขนส่งและจราจรถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่สามารถนำเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ หนึ่งในรูปแบบระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) ซึ่งหลายประเทศได้เริ่มทดลองใช้ คือ Mobility as a Service (MaaS) ที่ผู้เดินทางสามารถเลือกใช้รูปแบบการเดินทาง ที่เป็นการขนส่งสาธารณะของรัฐบาล และการขนส่งของภาคเอกชน ได้ตามความต้องการผ่านพแลทฟอร์มผู้ให้บริการ โดยจ่ายค่าบริการเป็นรายเดือนหรือตามที่ใช้จริง สำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้ริเริ่มแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยมีระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) เป็นหนึ่งในแกนหลักในการพัฒนาเมือง การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาดมาประยุกต์ใช้กับระบบจราจร และขนส่งอัจฉริยะอย่างฟีเจอร์วางแผนการเดินทางหรือแนวคิดในการพัฒนา Mobility as a Service (MaaS) ของ Grab จึงเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการผสานความร่วมมือ และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของภาคเอกชน เพื่อบูรณาการขับเคลื่อนพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เกิดผลเป็นรูปธรรมผ่านโครงการของภาครัฐ โดยนอกจากประชาชนที่อาศัยอยู่ใน 7 จังหวัดนำร่อง ซึ่งได้แก่ กรุงเทพ ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา นักท่องเที่ยวในพื้นที่เหล่านี้ยังจะได้รับประโยชน์ และสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบายผ่านบริการดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และตอบรับโลกแห่งเทคโนโลยีในปัจจุบันด้วยอีกทางหนึ่ง
รศ. ดร. สรวิศ นฤปิติ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจราจรติดขัดยังคงเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงสร้างพื้นฐานขนส่งมวลชนยังไม่ครอบคลุม ส่งผลให้การเดินทางจากต้นทางและสู่ปลายทาง (FMLM-First Mile/Last Mile) ยังไม่เชื่อมต่อกันอย่างเต็มรูปแบบ และผู้คนยังคงจำเป็นต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางสัญจรในชีวิตประจำวัน โดยทางออกหนึ่งที่สามารถช่วยบรรเทาปัญหาจราจรได้ คือ การใช้บริการรถยนต์ร่วมโดยสาร (Ride-Hailing) และการให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ใช้รถใช้ถนนให้สามารถเลือกรูปแบบการเดินทาง เส้นทาง และค่าโดยสาร ที่ตรงความต้องการ อาทิ ประหยัดเงิน ประหยัดเวลา หรือหลีกเลี่ยงเส้นทางที่หนาแน่น ซึ่งผู้ให้บริการที่สามารถช่วยวางแผนและผนวกรูปแบบการเดินทางขนส่งที่หลากหลายเข้าไว้ด้วยกันในรูปแบบ Mobility as a Service (MaaS) นี้ จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง ลดความแออัดของการจราจร ลดความจำเป็นในการใช้รถส่วนตัว และลดปัญหารถติดและมลพิษ ทำให้การเดินทางมีความคล่องตัว เข้าถึงง่าย มีราคาเหมาะสม และเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) ของประเทศอีกทางหนึ่ง
ธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แกร็บ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในกรุงเทพฯ มีจำนวนรถส่วนตัวและมอเตอร์ไซค์ที่จดทะเบียนกว่า 9.8 ล้านคัน ซึ่งมากกว่าปริมาณที่ถนนและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ สามารถรองรับได้ถึง 8 เท่า และยังคงเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนรถส่วนตัวดังกล่าว เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหารถติดในกรุงเทพฯ เราจึงมีวิสัยทัศน์ที่จะสร้างระบบการคมนาคมขนส่งที่เชื่อถือได้และไร้รอยต่อ ซึ่งจะทำให้ผู้คนลดการใช้รถส่วนตัวในที่สุด ระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพเป็นทางออกเดียวที่จะแก้ไขปัญหาการจราจรโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณรถบนท้องถนน และด้วยฟีเจอร์ "ทริพ พแลนเนอร์" เราจึงสามารถนำเสนอทางเลือกในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงได้ง่าย ในราคาที่เหมาะสมสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน และที่สำคัญคือเป็นทางเลือกที่สามารถแทนที่การใช้รถส่วนตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ด้วยฟีเจอร์วางแผนการเดินทาง ทริพ พแลนเนอร์ (Trip Planner) ซึ่ง Grab ได้ปูรากฐานและนำร่องบริการ Mobility as a Service (MaaS) ในประเทศไทย ซึ่งเรามีเป้าหมายในการเรียนรู้และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าว รวมถึงหาวิธีที่จะแก้ไขปัญหาการเดินทางในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถโดยสารประจำทาง รถไฟฟ้า และเรือโดยสาร หรือการใช้บริการ Just Grab หรือ Grab Bike (วิน) ผู้เดินทางจะมีอิสระในการเลือกทั้งราคา และระดับความสะดวกสบายที่ต้องการ นอกจากนี้ การนำร่องแนวคิด บริการ Mobility as a Service (MaaS) ยังถือเป็นการสร้างอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่สอดรับกับวิสัยทัศน์เมืองอัจฉริยะ อีกทั้งยังอำนวยความสะดวกและเพิ่มการเข้าถึงระบบขนส่งต่าง ๆ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน”
หลังจากที่ได้เปิดตัวในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา "ทริพ พแลนเนอร์" (Trip Planner) ได้ขยายการให้บริการและเปิดให้บริการแล้วในกรุงเทพฯ สิงคโปร์ และกัวลาลัมเปอร์ ผู้ใช้ที่เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะเป็นประจำ สามารถใช้ฟีเจอร์ดังกล่าวเพื่อวางแผนการเดินทาง ด้วยข้อมูลที่แม่นยำ พร้อมดูเส้นทางการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางในแต่ละขั้นตอนได้ผ่านแอพพลิเคชัน Grab ผู้ใช้สามารถตรวจสอบตารางการเดินรถของรถไฟฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน เรือ และรถโดยสารประจำทาง ในกรุงเทพฯ ทำให้การเดินทางมีความคล่องตัว เข้าถึงง่าย และมีราคาเหมาะสมสำหรับการเดินทางในชีวิตประจำวัน
ผู้ใช้แอพพลิเคชัน Grab สามารถระบุจุดหมายปลายทางผ่านฟีเจอร์ "ทริพ พแลนเนอร์" (Trip Planner) ระบบจะนำเสนอทางเลือกการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ที่รวดเร็ว ประหยัด และมีประสิทธิภาพมากที่สุด พร้อมประมาณเวลาการเดินทางที่จะไปถึง รวมถึงเส้นทางการเดิน ร่วมกับทางเลือกการเดินทางจากต้นทางสู่ปลายทาง (FMLM-First Mile/Last Mile) อื่นๆ ทั้งที่เป็นบริการ Grab Bike (วิน) หรือ Just Grab และระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งผู้ใช้สามารถกดเรียกใช้บริการ Grab ผ่านฟีเจอร์นี้ได้โดยตรง ฟีเจอร์ดังกล่าว ช่วยให้ผู้ใช้สามารถตัดสินใจ และเลือกวิธีการเดินทางตามที่ต้องการพร้อมทั้งยังสามารถประมาณเวลาและวางแผนการเดินทางตลอดเส้นทางได้อย่างแม่นยำ สะดวกและง่ายดายยิ่งขึ้น