แม้ว่าข่าวคราวของรถยนต์ในปัจจุบัน เทคโนโลยีจะมุ่งเน้นไปที่รถยนต์ไฟฟ้า หรืออย่างน้อยก็เป็นรถยนต์ไฮบริด-ไฟฟ้า แต่ Facts Global Energy ก็ประเมินว่า ยังมีความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในอนาคต ต่อไปอีกอย่างน้อย 2 ศตวรรษทั้งนี้เพราะเทคโนโลยีของแบทเตอรี จะยังเป็นตัวถ่วงรถไฟฟ้า ให้ไม่สามารถเจริญเติบโตได้เร็วมากนัก และปริมาณของรถยนต์ใหม่ที่จะเปิดเผยมาในอนาคต ส่วนใหญ่ก็ยังจะเป็นรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงอยู่เช่นเดิม รายงานดังกล่าวเป็นการรวบรวมข้อมูลของ Cuneyt Kazokoglu หัวหน้านักวิเคราะห์ความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงของ Facts Global Energy ที่ระบุว่า แม้ว่าความต้องการของผู้บริโภคจะให้ความสนใจกับรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต แต่จากการคาดการณ์ ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ก็จะยังไม่ลดลงอย่างเป็นนัยยะสำคัญ โดยปริมาณของรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิง จะยังคงออกสู่ตลาด ในปริมาณที่มากกว่ารถไฟฟ้า อย่างน้อยก็อีกหนึ่งศตวรรษ ประมาณการกันว่า ในปี 2584 รถยนต์นั่งที่วิ่งอยู่บนถนนทั้งโลกใบนี้ จะมีจำนวน 1.8 พันล้านคัน นักวิเคราะห์ประเมินว่า ในจำนวนนี้จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าราว 10 % ซึ่งก็เป็นจำนวนที่เติบโตมากพอควรอยู่แล้ว โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา มีรถไฟฟ้าจำหน่ายได้ทั่วโลกน้อยกว่า 1 % ของรถยนต์ใหม่ที่จำหน่ายกัน ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะทำให้สามารถลดการใช้เชื้อเพลิงลงได้ ในมุมมองของนักวิเคราะห์ มองเข้าไปในต้นทุนการผลิตแบทเตอรี เพื่อนำมาใช้ในรถยนต์ เงินสนับสนุนหรือแม้แต่การลดอัตราภาษีจากรัฐบาลประเทศต่างๆ จะยังเป็นแรงจูงใจผู้บริโภคในการเลือกใช้รถไฟฟ้า และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รถไฟฟ้าจำหน่ายได้ แต่เมื่อขาดแรงจูงใจ เหมือนในเดนมาร์ค เมื่อปี 2559 ที่ภาครัฐยกเลิกการสนับสนุนรถไฟฟ้า ยอดจำหน่ายก็ลดฮวบลงไปถึง 80 % เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้าที่ยังมีเงินสนับสนุน แม้ว่าเทคโนโลยีในการผลิตแบทเตอรีจะพัฒนาขึ้น และผู้ผลิตต่างก็พยายามปรับปรุงระยะการเดินทางต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ให้ได้มากขึ้น แต่ระยะเวลาในการพัฒนา ก็ยังไม่เร็วมากพอ ที่จะจูงใจผู้บริโภคให้เปลี่ยนใจหันมาใช้รถไฟฟ้าเพิ่มเร็วขึ้น หรือนำค่าใช้จ่ายการใช้รถไฟฟ้า มาเปรียบเทียบกับการใช้รถเชื้อเพลิงชนิดอื่น เพื่อตัดสินใจในอนาคต ความจุของแบทเตอรี ก็เป็นสาเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งของกระบวนการผลิต การใช้แบทเตอรีขนาดใหญ่ เพื่อให้รถวิ่งได้ระยะทางมากขึ้น ก็จำเป็นต้องเพิ่มน้ำหนักกับตัวรถมากขึ้น ผู้ผลิตจำเป็นต้องใช้แบทเตอรีที่วิ่งได้ระยะทางมากที่สุด สำหรับชุดแบทเตอรีที่เล็กที่สุด ที่นักวิเคราะห์มองว่า การพัฒนาด้านนี้ยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า ท้ายที่สุดของรายงานยังระบุด้วยว่า ความต้องการใช้เชื้อเพลิงจะยังคงเติบโตต่อไปในตลาดอาเซียน มากกว่าประเทศทางตะวันตก โดย Facts Global Energy ประเมินว่า ความเติบโตในแถบอาเซียน ในอนาคต 25 ปีข้างหน้า จะเติบโตมากกว่าความต้องการของทั้งโลกรวมกัน ซึ่งทำให้ความต้องการใช้เชื้อเพลิงจะยังคงอยู่อีกนานนับศตวรรษ