บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จัดกิจกรรม ทดลองขับ โตโยตา โคโรลลา อัลทิส 1.6 อี ซีเอนจี เส้นทาง กรุงเทพ ฯ-ระยอง เพื่อพิสูจน์สมรรถนะเปรียบเทียบระหว่างการใช้แกสธรรมชาติอัด (ซีเอนจี) กับน้ำมันแกสโซฮอล รวมถึงทั้งการบังคับควบคุมรถขณะเดินทางไกล
โตโยตา โคโรลลา อัลทิส ออกแบบภายใต้แนวคิด WAKU DOKI หรือจังหวะการเต้นของหัวใจเมื่อเกิดความรู้สึกสนุกสนาน สัดส่วนลงตัว ไฟหน้าทรงสวยเข้ากันกับกระจังที่ถูกฝังไปในโคม แนวฝากระโปรงหน้าลากยาวมาจรดแนวกระจังด้านล่าง ทำให้มีเอกลักษณ์ต่างไป ส่วนท้ายประดับด้วยชิ้นส่วนโครเมียมลงตัวกับไฟแอลอีดีตามยุคสมัย
ห้องโดยสารตกแต่งโทนสีเบจดูคุ้นตา เน้นความสะดวกในการใช้งาน ชุดมาตรวัดความเร็วและวัดรอบแบบเรืองแสง พร้อมไฟแสดงสถานะการใช้แกสกับปริมาณแกสที่อยู่ในถัง รวมอยู่ในชุดเรือนไมล์ สวิทช์เลือกชนิดเชื้อเพลิงอยู่ด้านขวาของผู้ขับขี่ ออกแบบกลมกลืนกับชิ้นส่วนอื่นๆ เครื่องเสียงเล่นซีดีแผ่นเดียวแบบบิลท์-อิน ต่ำลงมาเป็นสวิทช์เครื่องปรับอากาศแบบธรรมดา
ขุมพลังบลอค BI-FUEL TYPE 1 ZR-FE (CNG) แบบ 4 สูบแถวเรียง DOHC 16 วาล์ว DUAL VVT-I (วาล์วแปรผัน 2 ฝั่ง) ให้กำลังสูงสุด 122 แรงม้า ที่ 6,000 รตน. กับแรงบิดสูงสุด 15.7 กก.-ม. ที่ 5,200 รตน. ระบบส่งกำลังเป็นเกียร์อัตโนมัติแปรผัน 7 จังหวะ (SUPER CVT-7) โดยฝาครอบวาล์วของขุมพลังบลอคนี้ผลิตขึ้นพิเศษ เพื่อติดตั้งชุดหัวฉีดของระบบแกสอย่างมั่นคง การจ่ายแกสใช้ระบบหัวฉีดอีเลคทรอนิคส์ที่ใช้กล่องอีซียูใบเดียวกับใช้ควบคุมระบบน้ำมัน
ถังบรรจุแกส ความจุ 75 ลิตรน้ำ หรือประมาณ 15 กก. ผลิตจาก CHROMIUM MOLYBDENUM STEEL ที่แข็งแรงทนทาน ลดโอกาสเกิดสนิมภายในถัง ท่อนำแกสแรงดันสูงผลิตจากสเตนเลสส์ ปลอดภัยด้วยลิ้นกันแกสย้อนกลับ 2 จุด ฐานรองรับ และตัวยึดถังแกสมีความแข็งแรง ไม่เกิดความสั่นสะเทือนขณะใช้งาน ลดโอกาสแกสรั่ว พร้อมลิ้นปิด/เปิดอัตโนมัติ ป้องกันการไหลออกของแกสเมื่อดับเครื่องยนต์ แต่ต้องทำใจเรื่องการเสียพื้นที่ในห้องเก็บสัมภาระด้านหลังไปประมาณ 2 ใน 3 ของพื้นที่เดิม
การติดตั้งแผงกั้นถังแกสให้เป็นสัดส่วนนอกจากจะป้องกันการกระแทกและยังเพิ่มความสวยงามลงตัว ส่วนขายึดถังแกสออกแบบให้เคลื่อนย้ายยางอะไหล่ได้สะดวก และเพื่อความสะดวกในการใช้งานจึงออกแบบหัวเติมแกสให้อยู่ตำแหน่งเดียวกับช่องเติมน้ำมัน ทำให้เวลาเติมจึงไม่ต้องเปิดฝากระโปรงหน้าเหมือนกับที่เคยเห็นกันจนชินตาในสถานีบริการ ซีเอนจี
ขณะขับขี่การเปลี่ยนเชื้อเพลิงระหว่างน้ำมันกับแกสนั้นเรียกว่า ‘เนียนสุดๆ’ หากไม่สังเกตที่จอแสดงผลในแผงหน้าปัดก็แทบไม่รู้สึกถึงอาการกระตุก สำหรับความรู้สึกที่ได้จากการทดสอบโดยใช้แกสเป็นหลัก การขับขี่ใช้งานในเมืองการตอบสนองของขุมพลังนั้นถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ การทำงานของเครื่องยนต์ราบเรียบนุ่มนวลไม่ต่างจากการใช้น้ำมัน ส่วนในยามเดินทางไกลอาจไม่ค่อยทันอกทันใจพวกเท้าหนักนัก แต่ก็ถือว่าเพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วไป
ระบบรองรับหน้าแมคเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลัง ทอร์ชันบีม เหล็กกันโคลง เซทใหม่เพื่อรองรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นประมาณ 75 กก. (เมื่อเทียบกับรุ่น 1.6 ปกติ) โดยปรับปรุงค่าความแข็งของสปริงหน้าและหลังเพิ่มขึ้น พร้อมปรับจังหวะค่าการทำงานของชอคอับให้เหมาะสมกับความแข็งของสปริงที่เปลี่ยนไป ทำให้การขับขี่มั่นคงทั้งทางตรงและทางโค้ง แต่ยังคงไว้ในเรื่องของความนุ่มนวลที่เหมาะกับการใช้งานบนท้องถนนเมืองไทย
จุดเด่นของ อัลทิส ซีเอนจี คันนี้อยู่ที่อัตราบริโภคที่สร้างความประทับใจมากทีเดียว เพราะการเติมแกส 1 ครั้ง (ประมาณ 12-13 กก. เศษๆ แปรผันตามแรงดันของสถานีบริการ) วิ่งได้ระยะทางประมาณ 180- 200 กม. เศษๆ เลยทีเดียว ด้วยความเร็วเดินทางช่วงระหว่าง 90-120 กม./ชม.