การ “พรมน้ำมนต์” เป็นหนึ่งในวิธีการทางสงฆ์แต่โบราณ ที่นอกจากได้ความรู้สึกเป็นสิริมงคล เป็นกำลังใจ อีกทางหนึ่งยังช่วยคลายความร้อนรุ่ม โดยเฉพาะยามที่อากาศแล้งเสียเหลือเกิน แต่ไม่น่าเชื่อว่ารูปแบบการพรมน้ำนี้ สามารถครอบคลุมไปได้ไกลถึงวิศวกรรมยานยนต์ได้ด้วยเราอาจจะเคยเห็นกันมาบ้างกับการใช้น้ำฉีดไปที่อินเตอร์คูเลอร์ของระบบเทอร์โบ เพื่อใช้ลดอุณหภูมิอากาศ และเพิ่มความหนาแน่นของอากาศ ก่อนส่งเข้าเผาไหม้ในกระบอกสูบ แต่ถ้าเป็นการฉีดละอองน้ำเข้าไปในท่อร่วมไอดีล่ะ ? เราอาจจะเคยได้ยินมาว่า อย่าเอาน้ำไปรวมกับน้ำมัน แต่แนวคิดนี้ได้รับการพิสูจน์และทดลองโดย บีเอมดับเบิลยู ว่าได้ผลจริง โดยได้มีการทดลองใช้ในรถยนต์เพศคาร์ หรือรถนำขบวนในสนามแข่งรถ โดยเป็น บีเอมดับเบิลยู เอม 4 ตัวแรงที่ใช้นำขบวน ในรายการแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบ โมโท จีพี แนวคิดนั้นเรียบง่าย คือ การใช้ละอองน้ำช่วยลดอุณหภูมิอากาศในท่อร่วมไอดี บริเวณลิ้นปีกผีเสื้อ ซึ่งอากาศที่ส่งมาจากเทอร์โบนั้น มีความร้อนสูงมาก ละอองน้ำที่พ่นเข้าไปจะระเหยเป็นไอทันที ก่อนจะส่งไปยังห้องเผาไหม้ แต่การระเหยนั้นส่งผลในการลดอุณหภูมิเป็นอย่างยิ่ง (เป็นที่รู้กันในหมู่คนที่ใช้รถเทอร์โบว่า ถ้าอากาศร้อนรถจะอืดลงอย่างชัดเจน) หากถามว่า แล้วมันได้ผลดีอะไรมากมายนัก เรื่องนี้ บีเอมดับเบิลยู ยังไม่บอกชัดเจนว่า บีเอมดับเบิลยู เอม 4 คันดังกล่าวมีสมรรถนะเพิ่มขึ้นเท่าใด แต่พวกเขาได้เปิดเผยว่า พวกเขาได้ทดลองเพิ่มเติมกับเครื่องยนต์แบบ 3 สูบ เทอร์โบ ที่ใช้อยู่ในรถอนุกรม 1 แล้วพบว่าการฉีดละอองน้ำจะส่งผลต่อการลดอุณหภูมิห้องเผาไหม้ลงได้ราว 25 องศาเซลเซียส และจะลดอัตราการบริโภคเชื้อเพลิงได้ถึง 8 % 8 % ฟังดูอาจจะไม่เยอะ แต่ก็ไม่น้อย นอกจากนั้นการลดอุณหภูมิห้องเผาไหม้ด้วยละอองน้ำนี้ สามารถลดการชิงจุดระเบิดหรือที่รู้จักกันว่า “เครื่องนอค” และสามารถยกระดับของกำลังอัดจาก 9.5 ต่อ 1 เพิ่มขึ้นเป็น 11 ต่อ 1 ซึ่งส่งผลโดยตรงกับประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ในช่วงรอบต้น และรอบกลางอย่างชัดเจน โดยแรงบิดก็เพิ่มขึ้นราว 10 % จึงทำให้การบริโภคเชื้อเพลิงน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ อุณหภูมิอากาศที่ลดลงยังช่วยลดความเครียด และช่วยยืดอายุของชิ้นส่วนต่างๆ ในห้องเผาไหม้ อาทิ วาล์ว ลูกสูบ ข้อเหวี่ยง ฯลฯ ได้อีกด้วย อีกทั้งยังลดมลพิษของสารไนโตรเจนออกไซด์ (NOX) ได้อีกต่างหาก แต่แนวคิดที่พัฒนาขึ้นจากเครื่องยนต์ที่ติดตั้งใน บีเอมดับเบิลยู เอม 4 ก็คือ ในรถคันดังกล่าวใช้น้ำที่มาจากถังที่ติดตั้งไว้ ซึ่งต้องมีการเติมน้ำเป็นระยะๆ ตามการใช้งาน แต่แนวคิดขั้นต่อไปที่ได้ทดลองในรถอนุกรม 1 จะตัดปัญหาเรื่องการเติมน้ำ โดยทีมวิศวกรของ บีเอมดับเบิลยู ค้นพบแนวคิดที่ชาญฉลาดในการเก็บเกี่ยวน้ำมาได้ “ฟรีๆ” อยากให้ผู้อ่านลองจินตนาการดูว่า พวกเขาเอาน้ำฟรีๆ มาจากไหน ? เฉลย พวกเขาได้น้ำมาจากการควบแน่นในระบบปรับอากาศนั่นเอง เราคงเคยเห็นน้ำเย็นที่ไหลออกมาจากคอยล์เย็นของเครื่องปรับอากาศที่บ้าน หากถามว่ามันเพียงพอหรือ ต้องถามประสบการณ์ของคนที่เคยต้องหาถังมารองน้ำที่ทะลักออกมา เวลาท่อระบายน้ำของเครื่องปรับอากาศตันว่าเยอะขนาดไหน สำหรับในรถยนต์นั้น รถที่จอดติดเครื่อง และเปิดเครื่องปรับอากาศว่าจะมีน้ำไหลลงมาที่พื้นจำนวนไม่น้อย ในขณะที่รถบางคันที่ท่อระบายน้ำตันก็อาจจะเกิดอาการ “พรมแฉะ” ต้องรื้อพรมมาตากกันเลยทีเดียว น้ำสะอาดที่ไหลออกมาฟรีๆ นี้จะถูกส่งไปยังถังเก็บน้ำ และพร้อมจะฉีดเข้าลิ้นปีกผีเสื้อเมื่อต้องการ โดยเมื่อจอดรถระบบจะสั่งการให้ระบายน้ำในระบบโดยอัตโนมัติ กลับไปยังถังป้องกันอุณหภูมิภายนอก เพื่อป้องกันการจับตัวเป็นน้ำแข็งจนดันท่อแตกในฤดูหนาว เพราะในยุโรปนั้นระบบน้ำในรถยนต์จำเป็นต้องใส่น้ำยากันการแข็งตัว หรือที่เราเรียกว่า “แอนทีฟรีซ” (ANTIFREEZE) ที่มีสีเขียวๆ ที่เราเห็นกันในหม้อน้ำรถยนต์ แต่น้ำที่ได้มาจากระบบปรับอากาศนั้นไม่มีการเติมแอนทีฟรีซ จึงต้องเก็บกักในถังพิเศษนั่นเอง ระบบเก็บเกี่ยวน้ำจากระบบปรับอากาศเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ แต่นึกๆ ดูก็พบว่าเป็นแนวคิดที่ประหลาดไม่น้อย เพราะในเขตหนาวอย่างยุโรป ร้อยวันพันปีพวกเขาถึงจะเปิดระบบปรับอากาศให้เย็นกันสักที เท่าที่เห็นทุกวันนี้ยังขับรถเปิดหน้าต่างกันอยู่ และในหน้าหนาวก็เปิดฮีทเตอร์กันจนหลังเปียก (คนไทยเข้าไปในรถพวกเขาแทบจะเป็นลม) ดังนั้น การจะเกิดการควบแน่นออกมาเป็นน้ำในฤดูหนาวน่าจะเป็นไปได้ยาก แนวคิดนี้จึงไม่มีปัญหากับประเทศในเขตร้อนอย่างบ้านเรา แต่สำหรับบ้านเขาก็ยังคงต้องปรับปรุงกันต่อไป บีเอมดับเบิลยู แจ้งว่าอีกไม่นาน ระบบนี้จะถูกติดตั้งกับรถอนุกรม เอม ที่ออกจำหน่ายในท้องตลาดก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจะทยอยติดตั้งในรถอนุกรมอื่นๆ ต่อไป และเป็นไปได้ว่าในรุ่นที่วางจำหน่ายช่วงแรกๆ เจ้าของคงจะต้องเติมน้ำมนต์เองไปพลางๆ ก่อน
บทความแนะนำ