สัมภาษณ์พิเศษ(formula)
ศาสตราจารย์ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย
"ฟอร์มูลา" สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เรื่องรถโบราณ ซึ่งเป็นของสะสมอันทรงคุณค่าจากความรัก และความสนใจอย่างจริงจัง
ฟอร์มูลา : เริ่มสนใจรถยนต์มาตั้งแต่เมื่อไร ?
ศ. ดร. สุรเกียรติ์ : ผมสนใจรถยนต์ตั้งแต่เล็กๆ เพราะตอนคุณแม่ท้องผม ได้ไปดูการแข่งขันรถยนต์ ซึ่งคุณแม่เล่าให้ฟังว่าผมดิ้นมากเป็นพิเศษ ทั้งๆ ที่ปกติผมจะไม่ค่อยดิ้น ทำให้คุณแม่ระบมไปหมด พอผมเกิดมาของเล่นที่จำได้ส่วนใหญ่จะเป็นรถยนต์ พวกรถถัง หรือเครื่องบินก็มีบ้างเหมือนกัน แต่รถยนต์ของเล่นมีเยอะเป็นพิเศษ สมัยเป็นนักเรียนก็มีการออกแบบรถยนต์แข่งกับเพื่อนๆ ตลอด ส่วนคุณพ่อก็ชอบพาผมไปดูรถยนต์ ทำให้ซึบซาบความชอบรถยนต์มาโดยไม่รู้ตัว ส่วนหนังสือรถยนต์ก็ชอบอ่าน ชอบเปิดดู สมัยเด็กๆ ภาษาอังกฤษยังไม่แข็งแรงก็เปิดดูภาพไปเรื่อยๆ เพราะสมัยก่อนนิตยสารรถยนต์บ้านเรามีแค่ไม่กี่เล่ม ทำให้ต้องอ่านหนังสือของต่างประเทศ พอเริ่มเรียนภาษาฝรั่งเศส ก็อาจหาญไปอ่านหนังสือของเขา แม้จะอ่านไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไร แต่ก็พยายามให้ได้มากที่สุด
หลังจากนั้นประมาณ 20 ปี ผมก็เริ่มสนใจรถโบราณ เพราะจากการศึกษาพบว่ารถยนต์สมัยโบราณผู้ผลิตใช้ความประณีต ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ และสติปัญญาทั้งหมดกว่าจะได้รถยนต์ขึ้นมาสักคัน สนใจวิธีคิดของเขา ทำไมผลิตรถยนต์แบบนี้ หรือเศรษฐกิจในแต่ละช่วง ทำให้ผลิตรถยนต์แบบไหน อย่างไร ทำไมรถยนต์มีขนาดใหญ่/เล็ก ไม่เท่ากัน แล้วที่ผลิตด้วยมืออีก เลยทำให้ผมรู้ว่ารถยนต์หนึ่งคัน กว่าจะผลิตได้นั้น ลำบากแค่ไหน ไม่เหมือนรถยนต์สมัยนี้ที่ใช้เครื่องมือปั๊มเป็นแผ่นขึ้นรูปมาทีเดียวเลย ความประณีตในการผลิตแตกต่างกัน แน่นอนในเชิงธุรกิจ บริษัทรถยนต์ที่ผลิตด้วยมือมักจะอยู่ไม่ได้ แต่ยิ่งกว่า คือ คุณค่าที่ยังหลงเหลืออยู่จวบจนทุกวันนี้กับรถยนต์ที่ผลิตด้วยมือ ผมเลยยิ่งสนใจมากขึ้น เมื่อทำงานจึงเริ่มเก็บหอมรอมริบสะสมมาเรื่อยๆ ช่วงหลังเดินทางไปต่างประเทศบ่อยขึ้น เลยใช้เวลาว่างไปชมรถโบราณ เช่น ประเทศอังกฤษ รถยนต์สวยๆ มักจะไปอยู่นอกเมือง ผมใช้เวลาว่างไปชมดูรถยนต์ที่เราชื่นชอบ ผิดกับสมัยนี้สะดวกมากขึ้นมีเวบไซท์ให้ดู ไม่ต้องไปถึงที่
ฟอร์มูลา : การดูแลรักษารถยนต์โบราณในต่างประเทศกับที่เมืองไทยแตกต่างกันหรือไม่ ?
ศ. ดร. สุรเกียรติ์ : ต่างกันมากครับ เพราะประเทศเรายังติดกฎระเบียบหลายอย่าง หลายคนยังแยกไม่ออกระหว่าง "รถโบราณ" กับ "รถใช้แล้ว" คนไทยยังถือว่า นี่คือสิ่งเดียวกัน ดังนั้นถ้าคุณจะซื้อรถโบราณสักคัน กว่าจะนำเข้ามาในเมืองไทยได้ ต้องเข้าไปอยู่ในกฎเกณฑ์ของรถใช้แล้ว หรือใช้รถอยู่ที่นั่น 1 ปีครึ่ง ถึงจะนำเข้ามาได้ หรือต้องเป็นนักศึกษา/คนทำงานอยู่ที่นั่น ถึงมีสิทธิ์นำเข้ามา และอีกมากมายต่างๆ นานา ซึ่งความจริงแล้วมันไม่ใช่ ผมเคยถามเจ้าหน้าที่ว่าทำไมต้องมีข้อยกเว้นขนาดนี้ เขาให้คำตอบว่าไม่อยากสนับสนุนให้คนใช้รถเก่า เพราะสร้างมลภาวะ ซึ่งผมก็เถียงเขาว่า มันไม่เหมือนกันนะ
นโยบายห้ามนำเข้ารถก็น่าจะไม่ถูกทาง เราไม่อยากให้คนใช้รถเก่า หรือไม่อยากให้รถเก่ามาสร้างมลภาวะ ก็ต้องไปรู้เรื่องมลภาวะ เพราะรถใหม่วันนี้อีก 35 ปี ก็เป็นรถเก่า แต่ว่ารถโบราณพูดกันตรงๆ ใครจะขับกันได้ทุกวัน คนนำเข้ามาก็รักษา ฝนตกก็ไม่วิ่งแล้ว จริงๆ ในต่างประเทศถือว่าของเหล่านี้เป็น "แอนทีค" (ANTIQUE) มีค่าน่าสะสม น่าศึกษา ต่างประเทศเขาสามารถหารถโบราณได้ไม่ยาก มีสถานที่โชว์โดยเฉพาะเหมือนพิพิธภัณฑ์ ทุกคันมีประวัติ เกิดที่ไหน ไปอยู่ที่ไหนมาบ้าง ซ่อมที่ไหน ทำอะไรมาบ้าง รู้ทุกสิ่งอย่าง แล้วเวลาซื้อรถโบราณมาก็จะได้แฟ้มมา 1 เล่ม นั่นคือ แฟ้มประวัติรถยนต์
ตรงนี้ผมอยากให้ทางสมาคม ฯ สนับสนุน เพราะเป็นการแสดงความรู้ความเข้าใจของประวัติศาสตร์ ความสนใจในศิลปวัฒนธรรม แสดงถึงการพัฒนาด้านความรู้ความสนใจของประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนในเชิงธุรกิจเป็นการกระจายรายได้ สร้างอาชีพ ทำให้ความสนใจของคนไทยมีความหลากหลาย ในต่างประเทศ วันเสาร์-อาทิตย์ จะมีการรวมกลุ่มกันของรถยนต์รุ่นนั้นรุ่นนี้ที่มาแลกเปลี่ยนความคิด พูดคุยเกี่ยวกับรถยนต์ของแต่ละคน จิบชา-กาแฟ ส่วนเมืองไทยก็เริ่มมีนะ แต่ยังไม่แพร่หลายมากนัก
ฟอร์มูลา : ท่านนำรถรุ่นไหนมาร่วมแสดงในงานประกวดรถโบราณครั้งที่ 37 ?
ศ. ดร. สุรเกียรติ์ : ผมได้รับการทาบทามจาก ท่านนายกสมาคม ฯ (ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์) ให้นำรถมาแสดง ซึ่งผมคิดว่าเป็นงานที่ดีน่าสนับสนุน และเพื่อให้เข้ากับแนวคิดของงานปีนี้ คือ "แรกรถ แรกรัก" จึงได้ส่งรถยนต์ 2 รุ่นคือ โรลล์ส-รอยศ์ ซิลเวอร์ เรธ (ROLLS-ROYCE SILVER WRAITH) ปี 1947 กับ โรลล์ส-รอยศ์ ซิลเวอร์ คลาวด์ (ROLLS-ROYCE SILVER CLOUD 1) ปี 1958 เข้าร่วมงาน เพราะเป็นรถยนต์ที่ใช้ในงานแต่งงานของลูกชายผม (ดร. สันติธาร เสถียรไทย) ที่จัดขึ้น ณ อุทยานวังเทวะเวสม์
ฟอร์มูลา : จุดเด่นของ โรลล์ส-รอยศ์ ทั้ง 2 คัน ?
ศ. ดร. สุรเกียรติ : คันแรก โรลล์ส-รอยศ์ ซิลเวอร์ เรธ ผลิตในปี 1947 ไฟหน้าแบบตาโต ที่สำคัญมาก คือ ตัวถังรถยนต์ทำด้วยมือ โดยบริษัท JAMES YOUNG ในอดีตบริษัท โรลล์ส-รอยศ์ จะผลิตเฉพาะเครื่องยนต์และแชสซีส์ ส่วนการดีไซจ์นตัวถังและภายในจะมีบริษัทที่รับผลิตแยกต่างหาก แต่ที่ โรลล์ส-รอยศ์ ผลิตเองก็มีเพราะเขาเก่งด้านงานตัวถัง แต่บริษัทที่เก่งกว่า คือ JAMES YOUNG กับ HOOPER
ห้องโดยสารของรถรุ่นนี้ไม่มีกระจกกั้นระหว่างคนนั่งกับคนขับ ซึ่งในอังกฤษถือเป็นรุ่นหายาก เพราะรุ่นที่มีกระจกกั้นจะใช้พนักงานขับรถ แต่สมัยนั้นคนขับรถมีค่าจ้างค่อนข้างสูง เจ้าของรถจึงมักขับเอง ซึ่งถ้ามีกระจกกั้นระหว่างคนนั่งกับคนขับ ก็จะไม่สะดวกเพราะที่นั่งด้านหน้าจะแคบไป ส่วนเครื่องยนต์เป็นแบบ 6 สูบแถวเรียง เกียร์ธรรมดา ที่ตำแหน่งเกียร์ถูกติดตั้งอยู่พื้นด้านขวาของคนขับ ภายนอกสีครีม ตัวถังมีลักษณะพิเศษ EMPRESS STYLE ที่ด้านข้างรถคล้ายกระโปรงทรงยาวของจักรพรรดินีโบราณ
รถคันนี้ผมดูจากในหนังสือแล้วเกิดความประทับใจ ตอนเดินทางไปประเทศอังกฤษประมาณ 20 ปีที่แล้ว ก็ไปหาร้าน GHOST MOTORS ที่อยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งแวดล้อมด้วยทุ่งหญ้า พอผมเปิดเข้าไปในโรงจอด ก็เจอรถโบราณมากมาย ผมติดต่อขอซื้อกับเจ้าของรถโดยตรงทันที
สำหรับ โรลล์ส-รอยศ์ ซิลเวอร์ คลาวด์ 1 ผลิตในปี 1958 ตัวถังผลิตด้วยมือ โดยบริษัท HOOPER มีเพียง 14 คัน ด้วยความบังเอิญตัวถังสีเดียวกันกับคันแรก คือ สีครีม พร้อมลักษณะพิเศษ EMPRESS STYLE เช่นเดียวกัน รุ่นฐานล้อยาว (LONG WHEELBASE) และเป็นรุ่นไม่มีกระจกกั้นระหว่างคนขับกับคนนั่ง แต่จริงๆ รุ่นนี้มีกระจกกั้นน่าจะโก้กว่าเพราะมีพลขับ เจ้านายนั่งข้างหลัง ส่วนเครื่องยนต์เป็นแบบ 6 สูบแถวเรียง เกียร์อัตโนมัติ
ฟอร์มูลา : โรลล์ส-รอยศ์ 2 คันนี้ ได้รับการบูรณะอย่างไร ?
ศ. ดร. สุรเกียรติ์ : รถ 2 คันนี้เรียกได้ว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์มาก เพราะเจ้าของเก่าเขาได้บูรณะมาแล้วพอสมควร ผมใช้อยู่ที่ต่างประเทศระยะหนึ่งจึงได้นำเข้ามา และได้ขับบ้างเป็นครั้งคราว โดยสิ่งที่ต้องมาทำเพิ่มเติม คือ ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เพราะการติดเครื่องปรับอากาศในอังกฤษราคาสูงมาก
ฟอร์มูลา : ท่านมีรถโบราณในครอบครองกี่คัน และแล้วคันไหนเป็นคันโปรด ?
ศ. ดร. สุรเกียรติ์ : ไม่เคยนับเลยนะว่ามีทั้งหมดกี่คัน แต่รักทุกคัน การทำโรงรถเหมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวทำไว้ชมเอง คนที่จะได้มาดูต้องเป็นคนที่สนใจจริงๆ
ผมสะสมรถโบราณจะแตกต่างจากคนอื่น ไม่ได้สะสมตามกระแสเหมือนหลายๆ คน การสะสมของผมมีเหตุผลจากความรู้สึกจริงๆ คือ ความชอบตั้งแต่วัยเด็กตอนที่จำความได้แล้ว ฝังใจมาว่าคันนี้เราชอบ แล้วเก็บความรู้สึกชอบไว้ในใจ จนโตมาพอจะเริ่มสะสมรถโบราณจริงจัง ผมก็จะเสาะแสวงหารถคันที่เคยมีอยู่ในใจ
บางคนถามผมว่า ทำไมไม่มีรถคันนั้นคันนี้ ผมตอบเขาไปว่า ไม่ชอบ ไม่ติดอยู่ในใจ ความชอบบังคับกันไม่ได้นะครับ ถ้าผมอยากดูอยากศึกษารถรุ่นนี้ ผมก็ไปดูบ้านเพื่อนซึ่งเขามี ส่วนอีกเหตุผล คือ รถโบราณของผม ต้องเป็นรถที่ผมใช้ได้ นั่งได้ ขับได้ ไม่ใช่มีแล้วทำอะไรไม่ได้ จอดโชว์ได้อย่างเดียว ไม่รู้จะเก็บไว้ทำไม
ฟอร์มูลา : ท่านมีข้อแนะนำอย่างไร สำหรับคนที่จะหันมาสะสมรถโบราณ ?
ศ. ดร. สุรเกียรติ์ : การจะสะสมสิ่งของสักอย่าง ควรเกิดความรัก ความสนใจที่มาจากหัวใจจริงๆ ไม่ใช่ทำตามกระแส เพราะไม่เช่นนั้น จะไม่มีความสุขกับสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่เลย
ABOUT THE AUTHOR
ป
ปาร์จารีย์ ทัศนชลีจิระโชติ
ภาพโดย : เกรียงศักดิ์ ปันสมนิตยสาร 399 ฉบับเดือน สิงหาคม ปี 2556
คอลัมน์ Online : สัมภาษณ์พิเศษ(formula)