เรื่อง แดงแท้ กับ แดงเทียม ดูเหมือนจะเป็นปัญหาในทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่วงการรถยนต์ ซึ่งตอนนี้กำลังคึกคักสุดขีด จากอานิสงส์ของโครงการรถคันแรกยิ่งรัฐบาลตัดสินใจ ปล่อยผี ส่งท้ายโครงการ ให้จองรถได้ถึงสิ้นปีนี้ แต่จะส่งหรือรับมอบรถกันเมื่อไหร่ก็ได้ ผู้ซื้อยังรับสิทธิ์คืนเงินรถคันแรกเหมือนเดิม ก็ยิ่งเร่งให้ตลาดรถเติบโตพรวดพราด จนกลายเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของปัญหาป้ายขาวผลิตไม่ทัน และป้ายแดง (แท้) ไม่พอใช้ ป้ายแดงเทียม จึงระบาดหนักอยู่ในตอนนี้ ที่มาของป้ายแดงเทียม หรือปลอม ก็มาจากโชว์รูมที่ขายรถนั่นแหละครับ ที่ไม่สามารถหาป้ายแดงแท้ให้ลูกค้าที่ออกรถใหม่ได้พอเพียง เลยจัดทำของปลอมให้ลูกค้าไปใช้แก้ขัด โดยบางแห่งยอมรับผิดชอบให้ ถ้าลูกค้าโดนจับปรับ แต่ส่วนใหญ่จะปล่อยให้ลูกค้ารับกรรมเอาเอง ซึ่งลูกค้าต้องจำยอม ไม่งั้นก็ออกรถไม่ได้ ปัญหาป้ายแดงไม่พอใช้ กรมการขนส่งทางบกและตำรวจ เขาบอกว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเขาตั้งใจจะจำกัดจำนวนไว้อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นป้ายชั่วคราว ส่วนที่เกิดขาดแคลน มันเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจากที่กรมการขนส่ง ฯ ไม่สามารถผลิตป้ายขาวได้ทันตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จริงๆ แล้ว ถ้ามีการผลิตป้ายขาวตามปกติ ปัญหาไม่น่าจะเกิด แต่ป้ายขาวลอทหลังๆ ดันออกอาการแตกลายงา ทำให้กรมการขนส่ง ฯ ต้องระงับการผลิต และสรรหาผู้รับเหมารายใหม่ ซึ่งป่านนี้ไม่รู้ว่าได้หรือยัง ด้วยเหตุนี้ เมื่อตอนต้นปี กรมการขนส่ง ฯ จึงทำหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอผ่อนผันการจับกุมผู้ใช้รถป้ายแดง ซึ่งหมายถึงเฉพาะกรณีใช้ป้ายแดงในเวลาที่กฎหมายไม่อนุญาต (หลังพระอาทิตย์ตกดิน) ไม่ใช่การใช้ป้ายแดงปลอม ฉะนั้น ผู้ใช้ป้ายแดงปลอมด้วยความจำเป็น จึงต้องเสี่ยงดวงที่จะโดนจับปรับ 500-2,000 บาท ทั้งๆ ที่ต้นสายปลายเหตุทั้งหมดที่ผมไล่เรียงมา ไม่เกี่ยวกับผู้ซื้อเลยแม้แต่น้อย ผมยังได้ยินมาอีกว่า ผู้ซื้อที่ไม่อยากใช้ของผิดกฎมาย ต้องจ่ายค่าป้ายแดงแท้ให้โชว์รูม 3,000-4,000 บาท ส่วนป้ายขาวใครอยากได้เร็ว และเป็นรุ่นที่ไม่แตกลายงา ก็ต้องจ่ายพิเศษด้วยเช่นกัน สรุปแล้ว ผู้บริโภคโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง ซึ่งไม่ยุติธรรมอย่างยิ่งครับ รัฐบาลที่เรียกร้องความยุติธรรมให้ตัวเองมาตลอด ต้องจัดการปัญหานี้อย่างเร่งด่วน โดยทำให้กระบวนการผลิตป้ายขาวกลับสู่สภาพปกติเร็วที่สุด ส่วนผู้ขายก็มีหน้าที่จัดหาป้ายแดงแท้ให้ลูกค้าใช้ระหว่างรอการจดทะเบียน ไม่ใช่มีเรื่องทีไร หาว่ากู แดงเทียม ทุกที