ผลจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงถึง 8.6 ริคเตอร์ บริเวณเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 11 เมย. 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งมีแรงสั่นสะเทือนกระทบมาถึงหลายพื้นที่ในประเทศไทย รวมถึงมีสัญญาณเตือนว่าอาจเกิดคลื่นยักษ์ "สึนามิ" ในหลายจังหวัดภาคใต้ จนเกิดเหตุการณ์โกลาหลวุ่นวาย เนื่องจากระบบเตือนภัยเกิดการทำงานผิดพลาด และการเคลื่อนย้ายผู้คนบางเส้นทางมีปัญหาถูกกีดขวางต่อมาช่วงเย็นวันที่ 16 เมย. ก็เกิดแผ่นดินไหว 4.3 ริคเตอร์ขึ้นที่ ต. ศรีสุนทร อ. ถลาง จังหวัดภูเก็ต และยังเกิดอาฟเตอร์ชอคขนาดมากกว่า 2-3 ริคเตอร์ ตามมาอีก จำนวนมากกว่า 20 ครั้ง ซึ่งรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ในหลายพื้นที่ จนมีข่าวลือสะพัด ออกมาว่าเกาะภูเก็ตจะจมหายไปทั้งเกาะ เล่นเอานักท่องเที่ยวหายไปกว่าครึ่ง แต่ในที่สุดเหตุการณ์จะสงบและผ่านพ้นไปด้วยดี เหตุการณ์ครั้งนี้เตือนใจประชาชนทำประกันภัยมากขึ้น ด้วยความตื่นกลัวกับภัยจากแผ่นดินไหวและภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทำให้สถิติการประกันภัยของปีนี้มียอดขยายตัวแบบก้าวกระโดด สำนักงาน คปภ. (คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) สรุปภาพรวมธุรกิจประกันภัยเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ขยายตัวในอัตราร้อยละ 25.37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือ ขยายตัวร้อยละ 14.51 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านี้ โดยมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทั้งสิ้น 44,631 ล้านบาท แบ่งได้ดังนี้ ธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง จำนวน 30,450 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 22.17 จากการขยายตัวของการประกันชีวิต ประเภท สามัญ จำนวน 26,230 ล้านบาท ที่ขยายตัวร้อยละ 23.50 และมีส่วนแบ่งตลาด ร้อยละ 86.14 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 85.21 รองลงมาเป็นการประกันชีวิตประเภทกลุ่ม จำนวน 3,076 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 18.47 ธุรกิจประกันวินาศภัยมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง จำนวน 14,181 ล้านบาท ขยาย ตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 32..84 จากการขยายตัวของการประกันภัยรถ จำนวน 7,958 ล้านบาท ที่ขยายตัว ร้อยละ 24.83 โดยมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ร้อยละ 56.11 เพิ่มขึ้นร้อยละ 24..83 ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวของปริมาณจำหน่ายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น รองลงมาได้แก่ การประกันภัยเบ็ดเตล็ด มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง 4,867 ล้าน บาท ขยายตัวร้อยละ 44.33 เมื่อเทียบกับช่วงดียวกันของปีก่อน มีส่วนแบ่งตลาดที่ร้อยละ 34.32 โดยแบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล 1,717 ล้าน บาท ขยายตัวร้อยละ 51.48 ทั้งนี้ ธุรกิจประกันวินาศภัยมีเบี้ยประกันภัยขยายตัวสูงขึ้น เกือบทุกประเภท เนื่องจากประชาชนเห็นความสำคัญของการประกันภัยมากขึ้นหลังจากเหตุการณ์อุทกภัยผ่านพ้นไป โดยเฉพาะการประกันอัคคีภัย และการประกันภัยความเสี่ยงภัย ทรัพย์สิน (IAR) ที่มีการขยายให้ความคุ้มครองภัยธรรมชาติ มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 60 และ ร้อยละ 44.33 ตามลำดับ เมื่อดูจากยอดรวมของจำนวนกรมธรรม์ ณ เดือนกุมภาพันธ์ ปี 55 ธุรกิจ ประกันภัย มีจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยรายใหม่ รวมทั้งสิ้น 4,022,687 ราย ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.59 เป็นจำนวนเงินเอาประกันภัย รวมทั้งสิ้น 7,943,085 ล้านบาท ทั้งนี้แยกเป็นกรมธรรม์ของธุรกิจประกันชีวิต 392,905 ราย ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.34 เป็นจำนวนเงินเอาประกันภัยทั้งสิ้น 116,447 ล้านบาท กรมธรรม์ประกันวินาศภัย 3,629,782 ราย ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 25.80 เป็นจำนวนเงินเอาประกันภัยทั้งสิ้น 7,826,638 ล้านบาท อย่างไรก็ดี จากสถิติการเกิดเหตุการณ์แผ่นไหวภัยพิบัติที่ถี่และรุนแรงขึ้น จนทำให้ยอดผู้ทำประกันภัยขยายตัวแบบพุ่งทะลุเพดานอย่างนี้ ทำให้ด้านบริษัทผู้รับประกันภัย ก็รู้สึกเสียววาบขึ้นมาทันที เพราะที่เคลมน้ำท่วมปีที่แล้วยังไม่จบ ปัญหาแผ่นดินไหวเข้ามาซ้ำอีก หลายบริษัทเร่งจัดการกระจายพื้นที่รับประกันลดความเสี่ยงรับวงเงินคุ้มครองจำกัดแค่ 10 % จับตา "รีอินชัวเรอร์" จ่อขึ้นเบี้ยภัยธรรมชาติอีกรอบแน่นอน ข่าวล่าสุดสะเทือนทั้งวงการประกันภัยตอนนี้ รีอินชัวเรอร์ ฯ เองก็ยังดึงเกมจ่ายเคลมน้ำท่วมของปีที่แล้ว เพราะขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง เช่นกัน