ชีวิตคือความรื่นรมย์
น้ำเหนือบ่า
ข้าพเจ้าเป็นเด็ก บ้านนอกขอกนา (ขอก=แดน ถิ่น ย่าน แต่ในความหมายชาวอีสานบ้านญ้อ แปลว่า ขอบ ริม) ริมแม่น้ำโขง ในหน้าน้ำ น้ำจะท่วมทุ่งนาป่าดอน ข้าพเจ้ามีความหลังในความทรงจำรำลึกย้อนหลังไปกว่า 6 ทศวรรษ ดังนี้ฉันกำเนิดเกิดเป็นลูกชาวนา/ชินกับ น้ำท่วม มาจนเติบใหญ่/เกิดน้ำท่วมทุ่งนามาคราใด/ฉันเลิกใช้ เบ็ดคัน" เป็น เบ็ดราว/สายน้ำฝนที่หล่นมาจากฟ้านั้น/กลิ่นเย้ายวนชวนฝันถึงห้วงหาว/ต่อให้น้ำท่วมฟ้าปลากินดาว/รอถึงคราวน้ำลดหมดกังวล/ที่มันเป็นเช่นนั้นฉันได้เห็น/ดื่นประเด็นชื่นฉ่ำจากน้ำฝน/น้ำจากฟ้าแสนสะอาดปราศฝุ่นปน/ไม่มัวมนปนมลพิษติดโรคภัย/แม้บางคราวน้ำคลั่งลงพังป่า/หากหมู่ไม้ยังแน่นหนาประทังได้/หรือน้ำห้วยอาจกระแสเปลี่ยนแปรไป/เพราะขาดต้นไม้ใหญ่ไว้ปะทะ/เห็นห้วยหนองท้องธารในกาลก่อน/อาจไหลเจาะเซาะซอนสะเปะสะปะ/แต่เส้นทางน้ำหลั่งไหลไปชำระ/อาจน้ำชะเซาะตลิ่งห้วยภินท์พัง/แปลกนักหนาหากหญ้าแฝกแทรกริมห้วย/มันกลับช่วยยึดผืนดินติดริมฝั่ง/เห็นแฝก-ปรง-เฟิร์น-กูด-ช่วยฉุดรั้ง/เหมือนพนังกั้นมิให้ทะลายลง/นอกจากนั้นฉันยังเห็นหลายหมู่บ้าน/มีบึงหนองท้องละหานปานสระสรง/เป็นแหล่งใหญ่ใช้กักน้ำตามจำนง/ให้น้ำคงรอฝนฟ้าผ่านหน้าแล้ง/ฉันรำลึกถึง แก้มลิง พระเจ้าอยู่หัว/นั่นแหละตัวการเก็บน้ำทำเป็นแอ่ง/ใช้รดผักเลี้ยงปูปลาพาพลิกแพลง/ซึ้งสำแดงพระมหาปรีชาญาณ/ทรงรอบรู้ทั้งดิน-ฟ้า-น้ำ-อากาศ/ธ ประสาทเป็น เกษตรผสมผสาน/หรือ เกษตรแผนใหม่ ไว้ตำนาน/หลายหมู่บ้านหันตามรอยบาทยุคล/หากกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำ/ตามถ้อยคำพระดำรัสจรัสผล/หลากโครงการพัฒนาเกษตรชล/คุณค่าล้นกลายเป็นกลุ่ม ชุมชนพอเพียง/โอ้ว่าภูมิปัญญาบรรพชน/เลี้ยงประเทศเกษตรพ้นความสุ่มเสี่ยง/เลี้ยงเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ใกล้เคียง/และหลีกเลี่ยงหายนะ..เพราะพระคุณ !!! (จาก อยู่กับธรรมชาติ โดย ราตรี ประดับดาว ในแนวหน้า 27 พฤศจิกายน 2554) ครั้นเกิดมหาอุทกภัยในปีที่แล้ว แม้จะรู้สึกชื่นใจจากภาพยนตร์ประวัติศาสตร์น้ำท่วมกรุงเทพ ฯ ปี 2485 ซึ่งบันทึกไว้ให้ชนรุ่นหลังได้รู้ปูมประวัติชาติของตน ด้วยฝีมือการถ่ายอย่างยอดเยี่ยมของ คุณแท้ ประกาศวุฒิสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้สร้างภาพยนตร์) ปี 2552 ฉายา สุภาพบุรุษเสือแท้ ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง สุภาพบุรุษเสือไทย อันเป็นตำนานอมตะ อย่างน้อยก็ทำให้ผู้เขียนจดจำ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ เป็นพระเอกในดวงใจ และจดจำเนื้อร้องทำนองเพลงเกี้ยวพาราสีในเรือเพลง หนุ่มสาวเล่นเรือ ร้องเพลงไม่เบื่อลงเรือเกี้ยวกัน เดือนสิบสองน้ำนองตลิ่ง รักสุขจริงยิ่งกว่าฝัน ชะทิงนองนอย ชะเอยทิงนองนอย ฮ้าไฮ้ เฉี้ยบๆเพลงอมตะของคณะสุนทราภรณ์ 60 ปีมาแล้ว ยังนึกภาพและเพลงนั้นได้เหมือนวันวาน เมื่อน้ำท่วมกรุงเทพ ฯ อีกครั้งในปี 2529 หลายคนต้องติดรถอยู่กลางถนนเป็นครึ่งค่อนวัน บางคนพูดอย่างไม่อายว่า ต้อง ฉี่ ในรถที่น้ำท่วมเข้ามา ไปไหนไม่ได้ หิวข้าวหิวน้ำแทบไส้ขาด ข้ามวันข้ามคืน เราจำไว้ด้วยความขมขื่นว่า พลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ว่า ฯ กรุงเทพ ฯ อ้างว่า ฝนพันปี เมื่อพวกเราไปแสดงสักวาที่กรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2529 อำพล สุวรรณธาดา ในบทเสนาได้ทูลพระไชยสุริยา ด้วยบทยั่วล้อแสบๆ คันๆ ทำเอาคนฟังฮาว่า สักวาเสนาชอบจำตอบถ้อย ที่เราลอยเรือเร่ทะเลนี่ มันกว้างยาวสุดหล้าวิภาวดี ฝนอย่างนั้นพันปีจะมีครั้ง ไม่ว่าปลาสี่ล้อยี่ห้อไหน ลุยว่ายไปคืนครึ่งไม่ถึงฝั่ง ถ้าหากลำสำเภาเราไม่พัง เข้าอู่ซ่อมภายหลังน้ำลดเอย ผู้เขียนยังนึกถึงเพลง น้ำเหนือบ่า ที่จำทำนองจากเสียงร้องของ กำธร สุวรรณปิยะศิริ คนดีที่ได้รับยกย่องเป็นบุคคลดีเด่นแห่งวงการโทรทัศน์ แต่ด่วนจากไปก่อนเวลาอันควรให้เราอาลัย แต่จำเนื้อไม่ได้ ต้องอาศัย "สารานุกรมเพลงเดินได้ ชื่อ บูรพา อารัมภีร ซึ่งก็ได้มาว่าทั้งคำร้องและทำนอง เป็นผลงานของ ครูพิมพ์ พวงนาค คำร้อง ให้ภาพงดงามว่าดังนี้ น้ำเหนือบ่าเมื่อหน้าน้ำ ที่ลุ่มที่ต่ำก็นองด้วยน้ำทั่วไป จะมองไปทางทิศไหน ก็เห็นแต่น้ำไหลนอง เมื่อหน้าแล้งน้ำแห้งหาย ลำห้วยทั้งหลายคงเหลือแต่ทรายมากอง ไม่งามเหมือนยามน้ำนอง ยิ่งมองยิ่งเศร้าหัวใจ ห้วยเจิ่งน้ำช่างงามกระไร มีสาวๆ มาแหวกมาว่าย เล่นน้ำใสกันคึกคะนอง เสียงหยอกเสียงเย้าคราเจ้าลำพอง ยามมองพาให้เสียวซ่านใจ เห็นแต่ร่างว่ายอยู่ไหวๆ บัวบังใบสั่นสะเทือน โอ โอ้ สาวชาวเวียงเหนือ แม่ช่างงามเหลือผิวเนื้อเมื่อพิศติดเตือน ใจสะทกอกสะเทือน งามติดเตือนตรึงใจ ชีวิตไทยในอดีตสงบงามรื่นรมย์อย่างนี้ ขอบคุณ บูรพา อารัมภีร ที่กรุณามาตามคำขอร้องทุกครั้ง เมื่อนึกถึงเพลงอะไรไม่ออก แต่เมื่อมาเป็นชาวกรุงในปี 2554 ถูกลูกๆ ขอร้องแกมบังคับ (ซื้อตั๋วเครื่องบินให้เสร็จ) ให้ทิ้งบ้านทันทีเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2554 หลังจากตาลีตาเหลือก บังคับให้หลานมาย้ายสมบัติ (บ้า) สำคัญของชีวิต คือ หนังสือที่กองท่วมบ้าน ย้ายขึ้นไปไว้ในตู้ชั้นบนบ้าง ชั้น 2 ของบ้านบ้าง แล้วทิ้งบ้านให้ลูกและหลานช่วยดูแล แล้วลูกๆ หอบหลานๆ ขึ้นเครื่องจากสนามบินสุวรรณภูมิ ไปลงที่เกาะสมุย แล้วลงเรือเร็วเสี่ยงภัยลมและฝนทางทะเลหนีไปอยู่ โคโคฮัท รีสอร์ทที่เกาะพงัน ของญาติที่รักและเป็นห่วงผู้ชรากับหลานเล็กๆ 6 คน แม้ว่าอยู่ที่นั่นจะสะดวกสบาย มีคอมพิวเตอร์ให้ทำงานได้ แต่ความที่เป็นคน โลว์เทค ก็ไม่สะดวกในการส่งงานเท่าที่ควร แม้มีโทรทัศน์รายงานสถานการณ์น้ำท่วมแทบทุกนาที จนสาวน้อยวัย 2 ขวบ ยอดรักยอดขวัญที่นอนกอดย่าทุกคืน คงขัดใจ วันหนึ่งเธอเลยสะบัดหนี จากอ้อมตักย่า พลางพูดเสียงสะบัดๆ ว่า ดูน้ำท่วม (คล้ายๆ จะประชดว่า น่ารำคาญจัง ดูแต่ข่าวน้ำท่วม น้ำหวานไม่ดูการ์ตูนก็ได้ เชิญย่าดูให้สบายเถอะ อะไรทำนองนั้น ดูเอาเถิด แม้แต่ทารก 2 ขวบ ยังถูกทำร้ายทางจิตใจอย่างน่าสงสาร ไม่รู้จะเรียกค่าเยียวยาเอาจากใครได้ ในฐานะคนที่ถูกทรมานจิตใจร่วมทุกข์กับเพื่อนร่วมชาติ ชมพร เพชรอนันต์กุล น้องรักนักกลอนคนหนึ่งที่ทิ้งบ้านกะทันหันในดึกของคืนที่น้ำรุกเข้าบ้านอย่างรวดเร็ว เพราะเชื่อคำมั่นสัญญาพล่อยๆ หอบคนในครอบครัวพากันลุยน้ำครึ่งตัวหนีน้ำท่วมตาย รถก็ต้องทิ้งให้น้ำท่วม พร้อมเครื่องมือสำคัญ-คอมพิวเตอร์-ซึ่งเป็นของมีค่าและมีราคาแพง สำหรับคนอย่างนักกลอนเล็กๆ ก็เอาออกมาไม่ได้ เขาได้สะท้อนความรู้สึกสะเทือนใจลึกๆ ออกมาว่า ถ้ารัฐบอกพวกเราว่า เอาอยู่/โปรดรับรู้เถอะพี่น้องว่า ต้องหนี/บอกให้รีบขนของไปในทันที/เชื่อเถอะว่าปลอดภัยดีครับพี่น้อง/สหรัตนนครแตกก่อนเพื่อน/ไม่เคยเตือนสักคำทุกข์ซ้ำสอง/โรจนะ บอก เอาอยู่สู้รับรอง/สุดท้ายต้องจมหายในสายน้ำ/ไฮเทค หรือก็บอกเราว่า เอาอยู่/ก็อดสูท่วมท้นจนระส่ำ บางปะอิน จะ เอาอยู่ สู้เชื่อคำ/ก็ชอกช้ำจมสิ้นเย้ยลิ้นทราม/นวนคร บอกเราว่า เอาอยู่/สุดท้ายกู้ทันไหมใครก็หยาม/ยังเล่นลิ้นดัดจริตโปรดติดตาม/กรุงเทพ ฯ ยามนี้เรา เอาอยู่ นะ/ถ้ากรุงเทพ ฯ จมลงคงพูดใหม่/ทำทะเลแห้งได้ ใช่ไหมล่ะ/เบื่อเต็มทนแล้วหนาคมวาทะ/เอาอยู่ น่ะ เลอะเทอะ...หยุดเถอะครับ" เข้าใจน้องเหมือนที่เห็นใจหลานเขย ต้องหอบลูกโตๆ 3 คน ที่หนีไปต่างจังหวัดก็ไม่ได้ เพราะทุกคนต้องไปทำงานทุกวัน แต่ต้องทิ้งบ้านที่หมู่บ้าน ธนินทร ที่อยู่เยื้องสนามบินดอนเมือง ตรงที่บัญชาการ ศูนย์...(บ้าอะไรก็ไม่รู้ ชื่อยาวจำไม่ได้จริงๆ) หลานทั้ง 4 และแมว 1 ตัว ต้องทิ้งบ้านให้น้ำท่วมอยู่ 2 เดือน (หมู่บ้านอื่น น้ำหายแล้ว แต่หมู่บ้านนี้ท่วมก่อนและแห้งทีหลังเพื่อน) ยังดีที่ได้ความอนุเคราะห์จากชายชาญทหารไทยจำนวนหนึ่ง กรุณามาช่วยฟื้นชีวิตบ้าน ด้วยจิตอาสาน่าขอบคุณอย่างซาบซึ้งจริงๆ แต่ตอนนี้ก็ยังไม่เข้ารูปเข้ารอย รวมทั้งต้นไม้ประดับ ที่ภรรยาอุตส่าห์ลาออกก่อนเกษียณมาปลูกไว้ กำลังจะออกดอกให้ชื่นใจ จมน้ำตายเกลี้ยง จนคนปลูกที่ไปช่วยดูแลแม่อายุมากอยู่ที่มุกดาหาร ดูภาพที่ครอบครัวส่งไปทางไอโฟน แล้วร้องไห้สุดที่จะกลั้นได้ ผู้เขียนจึงสรุปต่อจากกลอนของน้อง ชมพร ไปว่า โอ้ช่างเหมือนอาเพศประเทศนี้/ชมพร ชี้ปวงประชาไม่กล้าหลับ/ยิ่งโฆษกฝ่ายรัฐประสานรับ/เฉกสำทับให้ปวงชนกังวลใจ/อดีตกาลผ่านไปก็ได้เห็น/เมื่อน้ำหลากยากเข็ญหลายครั้งใหญ่/แม้ปวงชนตื่นตระหนกอุทกภัย/ทั้งราษฎร์-รัฐจัดการได้ผ่านด้วยดี/แต่ยามนี้ดั่งดินฟ้าอาฆาตโทษ น้ำพิโรธโกรธเกรี้ยวเชี่ยวเหลือที่/เหมือนกำราบคราบขี้โอ่โววจี/แค่ประชุมดูแผนที่....ไร้ฝีมือ/มองไม่เห็นหน้าคนดีที่เชี่ยวชาญ/แต่ละเธอเผยออ่านโพยผ่านสื่อ/ไร้ทักษะประสบการณ์ชาญฝึกปรือ/หรือที่ลือ...น้ำการเมือง...เป็นเรื่องจริง ?/คนน้ำท่วมคือเหยื่อการ ประสานงา/บูรณาการ เอาอยู่ ดูยุ่งยิ่ง/ไม่ฟังคำผู้รอบรู้สู้ท้วงติง/กลายเป็น ลิงสางแห ยิ่งแก้ยิ่งจน...!!! (จาก แนวหน้า 23 ตุลาคม 2554)
ABOUT THE AUTHOR
ป
ประยอม ซองทอง
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2555
คอลัมน์ Online : ชีวิตคือความรื่นรมย์