รอบรู้เรื่องรถ
น้ำกับรถ, หนีดีกว่าสู้
ผมหวังว่าขณะที่กำลังเขียนต้นฉบับอยู่นี้ (วันที่ 2 ของเดือนพย.) จะเป็นช่วงที่เลวร้ายที่สุดจากภัยพิบัติของชาติในครั้งนี้ หมายความว่า ถ้าไม่เป็นไปตามที่ผมหวัง เมืองหลวงของไทยและนิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญอีก 2 แห่งก็คงจะถูกน้ำท่วมหมด สิ่งที่ผมจะเขียนถึงต่อไปนี้ จะไม่เกี่ยวข้องกับจุดยืนทางการเมืองของผม เพราะมันไม่สำคัญอะไรเลย ผู้อ่านจะได้ไม่ต้องคอยสังเกตให้เหนื่อยว่าผมอยู่ฝ่ายไหน ที่ต้องเรียนให้ทราบตั้งแต่ต้น เพราะเรื่องต่างๆ ที่เลวร้ายหลายสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดแก่พวกเรา มันมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง และส่วนใหญ่ก็มาจากความชั่ว ละโมภ เห็นแก่ตัวของนักการเมืองไทยนี่แหละครับเริ่มกันที่เรื่องรถของพวกเรากันก่อนครับ ผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์นี้มานานพอสมควร คงทราบดีว่าจุดยืนของผมเกี่ยวกับการขับรถลุยน้ำลึก คือ การหลีกเลี่ยงให้ถึงที่สุดเท่านั้น เพราะได้ไม่คุ้มเสีย ซึ่งก็ได้ผลในวงแคบเท่านั้น เพราะผู้อ่านของเราก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวของผู้ใช้รถทั้งหมดเท่านั้น แล้วยังมี "เสียงข้างมาก" สนับสนุนในทางตรงกันข้ามอีกด้วย มีการร่อนตามสื่อต่างๆ ถึงวิธีคิดแปลงรถ และวิธีลุยน้ำลึกกันมากมายหลายวิธี ถ้าผู้แนะนำเหล่านี้มองภาพรวม หรือภาพใหญ่ที่ครอบคลุมผลได้ระยะสั้นกับผลเสียระยะยาว ทั้งในการใช้งานและในการซ่อมแซมบูรณะ ไม่ออกจริงๆ ก็พอจะให้อภัยได้นะครับ หมายความว่า ผู้แนะนำเหล่านี้ก็ปฏิบัติเช่นเดียวกันกับรถของตนเอง แต่ถ้าแนะให้คนอื่นลุยแต่ตนเองปฏิบัติตรงกันข้าม คงต้องนึกกันเองนะครับว่า สมควรเรียกคนพวกนี้ว่าอะไร แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ก็เป็นข่าวดีสำหรับผมเป็นอย่างมาก ที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่รอคอยมานานแล้ว นั่นคือ การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้รถในครั้งนี้ ที่ดูเหมือนจะเพิ่งเข้าใจว่าการนำรถไปแช่ หรือขับฝ่าน้ำลึกนั้น สร้างความเสียหายอย่างมากมาย สิ้นเปลืองค่าซ่อมโดยที่ไม่สมควรจะต้องเสีย ในหลายกรณีแม้มีเงินจ่ายอย่างไม่เกี่ยง ก็ไม่สามารถทำให้รถกลับมาอยู่ในสภาพดีดังเดิมได้ครับ ผมได้เห็นเจ้าของรถจำนวนมาก หาที่จอดรถให้สูงพ้นระดับน้ำที่จะท่วมได้ทันเวลา ส่วนกลุ่มที่พลาด และรถต้องแช่น้ำเสียหายมากมาย มาจากหลายสาเหตุด้วยกันครับ เช่น ถูกสอนให้เชื่อว่าการนำรถแช่หรือลุยน้ำลึกนั้นเป็นเรื่องเล็ก บางส่วนก็คาดการณ์ผิดพลาด ไม่คิดว่าระดับน้ำจะสูงขึ้นได้เร็วจนย้ายรถไม่ทัน อีกกลุ่มหนึ่งเป็นพวกที่น่าเห็นใจที่สุด เพราะถูกรัฐบาลหลอกลวงว่าน้ำจะมาไม่ถึง ไม่ต้องกังวล ในอารยประเทศประชาชนสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้เลย แต่คงเป็นไปได้ยากในประเทศของเรา หรืออาจจะเป็นด้วยเหตุนี้ก็ได้ ที่ทำให้มีการกระทำที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายของประชาชนอยู่มากมายตลอดเวลา แต่ถ้าพลาดไปแล้ว ไม่สามาถนำรถหนีน้ำออกจากบ้านได้ทัน ก็ควรพยายามยกรถหนีระดับน้ำให้พ้นครับ ถ้าทำได้ถึงระดับให้กระทะล้อพ้นน้ำ แช่อยู่เฉพาะยางด้านล่างก็น่าจะปลอดภัยมาก ถ้าไม่ได้ อย่างน้อยอย่าให้น้ำแจะท้องรถ ก็จะยังเสียหายไม่มากครับ แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่การยกรถให้ลอยครับ ก่อนอื่นควรมีขาตั้งค้ำรถสำหรับงานซ่อมแซม ทีช่างซ่อมรถเรียกกันสั้นๆ ตามรูปร่างของมันว่า "สามขา" ควรหาซื้อติดบ้านไว้อย่างน้อย 4 อันครับ หรือ 4 อันต่อจำนวนรถ 1 คัน เพื่อค้ำรถให้อยู่เหนือพื้นได้ทั้งคัน ถึงจะอยู่ในที่ๆ ไม่ค่อยเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม ก็น่ามีไว้ประจำบ้านครับ สำหรับงานเกี่ยวกับรถเล็กๆ น้อยๆ เช่น ถอดล้อไปปะยาง สลับล้อ เป็นต้น ราคาก็ไม่สูงด้วย เพราะแม่แรงประจำรถนั้น เป็นอุปกรณ์สำหรับกรณีฉุกเฉิน เช่น เปลี่ยนล้อที่ยางแบนกับล้ออะไหล่ เกือบทุกรุ่นถูกสร้างมาสำหรับยกให้ล้อลอยได้ล้อเดียว เป็นงานที่ยากและอันตรายครับ ถ้าไม่ใช่ช่างหรือผู้ที่เคยซ่อมรถเอง ถ้าเป็นไปได้วานหรือจ้างช่างมายกให้จะปลอดภัยกว่า หากต้องทำเอง ผมอยากให้หาทางยืมหรือเช่า (เงินเป็นผู้ช่วยที่ดีเสมอในสังคมยุคนี้) แม่แรงแบบมีล้อและด้าม ทำงานด้วยน้ำไฮดรอลิค แบบที่อู่ซ่อมรถใช้กัน จะสะดวกและปลอดภัยที่สุด การยกรถแล้วค้ำหนุนให้สูง ต้องใจเย็นและมีขั้นตอนครับ ควรใช้วิธีไต่ระดับ คือ ค้ำด้วยขาตั้ง (สามขา) ในตำแหน่งต่ำสุดก่อน จะเป็นด้านหน้าทั้งคู่ หรือด้านข้าง ข้างใดข้างหนึ่งทั้งคู่ก็แล้วแต่ความเหมาะสม ค้ำได้เรียบร้อยแล้ว จึงใช้แม่แรงยกอีกด้าน แล้วค้ำในระดับต่ำสุดเช่นเดียวกัน จากนั้นจึงกลับมายกด้านแรกให้สูงกว่าเก่า ยืดขาตั้งให้สูงขึ้น (ส่วนใหญ่เป็นแบบปรับความสูงได้ เวลาซื้อควรเลือกแบบปรับได้เท่านั้น) ค้ำได้แล้ว ก็ไปยกอีกด้านแบบเดียวกัน ไม่ใช่งานง่ายหรือเบาแรงเลยครับ สำหรับผู้ที่ไม่เคยลงมือ ผมขอแนะนำให้วานหรือจ้างคนที่ทำเป็นมาจัดการให้ดีกว่า เพราะเวลาลงมือจริง มันยาก เหนื่อย และอันตรายกว่าที่คิดไว้มาก และอาจทำให้รถที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ของเราพังเป็นบางจุดได้ด้วย ยกตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ ก็คือ จะต้อง "มองออก" คือ รู้จุดที่สามารถใช้แม่แรงดันให้รถลอยได้ แล้วยังต้องรู้จุดที่จะเอาขาตั้ง หรืออะไรก็ตามที่เหมาะสมมาค้ำรถด้วย ถ้าเลือกผิด ส่วนนั้นของรถอาจจะบุบ งอ หรือหักก็ได้นะครับ เพราะฉะนั้นถ้าภายนอกบ้านหรือที่ทำงาน ระดับน้ำยังไม่สูงมาก ตามรถยกมายกออกไปดีกว่าครับ เลือกจ้างแบบที่ยกรถของเราขึ้นไปทั้งคัน ที่เรียกกันแพร่หลายเป็นที่รู้จักในชื่อ "รถสไลด์" ถูกโก่งค่าจ้างบ้าง ก็คงต้องยอมรับครับ คุ้มกว่าค่าซ่อมรถจมน้ำหลายเท่า ถ้าน้ำลึกจริง รถรับจ้างพวกนี้เขาก็มีความเสี่ยงต่อความเสียหายของเราเหมือนกันครับ เจ้าของรถยกรถที่เข้าใจ จะเปลี่ยนน้ำมันเกียร์และน้ำมันเฟืองท้ายทุกวัน เพราะน้ำจะเข้าผสมจนเสื่อมสภาพ พวกที่ไม่เปลี่ยนน้ำมันหล่อลื่น เพราะไม่เข้าใจ หรือไม่สนใจก็คงจะต้องไปจ่ายทีหลัง คือ เปลี่ยนเกียร์และเฟืองท้ายทั้งลูก น้ำมันเกียร์และน้ำมันเฟืองท้ายที่ถูกน้ำผสม จะยังคงหล่อลื่นได้อยู่ครับ แต่ไม่เพียงพอ หน้าฟันเฟืองที่บดกันด้วยแรงมหาศาลบนพื้นที่สัมผัสเล็กมาก จะสึกอย่างรวดเร็วเมื่อผิวที่เรียบสึกไป ความสึกหรอจะเพิ่มขึ้นเร็วมาก จนถึงระดับที่เกิดความสั่นสะเทือนและส่งคลื่นเสียงมาถึงหูเรา ที่รู้จักกันในชื่อเฟืองเกียร์ หรือเฟืองท้าย "หอน" นั่นแหละครับ กรณีที่ต้องขับลุยน้ำลึกเพื่อให้พ้น วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องและสำคัญ คือ การขับให้ช้าเข้าไว้ครับ เพื่อไม่ให้หน้ารถดันน้ำเอ่อขึ้นสูง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา เช่น น้ำท่วมใบพัดพัดลม น้ำเข้าระบบไฟฟ้าของเครื่องยนต์ ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องครับ ว่าเวลาที่รถต้องลุยน้ำนานขึ้น ไม่ได้สร้างปัญหาเพิ่มขึ้น แต่ถ้าขับเร็วจนหน้ารถดันน้ำจนสูงมาก แบบนี้เสียหายหนัก ใจเย็นเข้าไว้ครับ คันที่ตามหลังและไม่มีความเข้าใจเหมือนเรา อาจจะเร่งให้เราเพิ่มความเร็ว ไม่ต้องไปรับความกดดันทำตามแล้วรถเราพัง เปิดไฟฉุกเฉินแล้วชิดซ้ายที่สุด ทำเสมือนรถของเรามีปัญหา ให้พวกเขาแซงไป ถ้ามีเวลาและโอกาส หาแผ่นพลาสติค ผ้าหนา กระสอบ หรืออะไรก็ได้ มาปิดหน้ารถ เพื่อป้องกันน้ำทะลักเข้าห้องเครื่องก่อนก็ดีครับ สิ่งที่สำคัญมากอีกข้อก่อนลุยน้ำออกไปสู่ที่แห้ง คือ การตรวจสอบระดับของท่อดูดอากาศของเครื่องยนต์ ว่าอยู่ในระดับที่ต่ำจนน้ำมีโอกาสเข้าได้หรือไม่ ส่วนใหญ่จะอยู่สูงพอครับ ยกเว้นรถยุโรปบางรุ่นเท่านั้นที่อยู่ต่ำ ถ้าใช่ต้องหาอะไรมาสวมต่อให้ปลายท่ออยู่สูงพอครับ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าไม่แน่ใจและคิดว่าน้ำอาจจะทะลักเข้าไปได้ อย่าเสี่ยงเป็นอันขาดครับ เพราะหากน้ำเข้าไปในกระบอกสูบของเครื่องยนต์ขณะทำงาน จะต้านการเคลื่อนที่ขึ้นด้านบนของลูกสูบอย่างรุนแรง จนชิ้นส่วนภายใน เช่น ก้านสูบ งอหรือหักได้ เพราะน้ำเป็นของเหลว จึงไม่สามารถยุบตัวได้เหมือนอากาศหรือแกส เมื่อถูกอัดลดปริมาตร อาการนี้เรียกกันเป็นทางการว่า HYDRAULIC LOCK ค่าซ่อมเครื่องยนต์ถูกที่สุดก็หลายหมื่นบาทครับ ถ้าเป็นรถราคาสูงก็หลายแสนบาท ถ้าเป็นรถหรูหรือรถสปอร์ทราคาหลายล้าน หรือเกิน 10 ล้านบาท ค่าซ่อมก็ต้องถึงหลักล้านแน่นอนครับ ไม่คุ้มกับการเสี่ยง แน่นอนครับว่า ต้องมีสถานการณ์สำหรบคนบางกลุ่ม บางอาชีพ ที่ถึงอย่างไรก็ต้องใช้รถลุยน้ำลึกอย่างต่อเนื่อง และอาจไม่ใช่ครั้งเดียว ถ้าเป็นรถเก๋ง ผมว่าอย่างไรก็ไม่รอดและไม่คุ้มครับ อย่างน้อยที่สุดควรเป็นรถกะบะ เครื่องยนต์ยุคนี้ในประเทศเรา เป็นเครื่องดีเซลเกือบทั้งหมดหาแผ่นปิดหน้ารถตามที่แนะนำมาแล้ว ตรวจตำแหน่งท่อดูดอากาศเข้าเครื่องยนต์ ว่ายังสูงกว่าระดับน้ำในห้องเครื่องขณะขับ หลักสำคัญ คือ ขับช้าเข้าไว้ครับ มีส่วนที่ต้องดัดแปลงเพิ่ม ถ้าทำได้และทำเป็น คือ การต่อท่อระบายอากาศของห้องเกียร์และเฟืองท้าย ให้อยู่สูงพ้นน้ำแน่นอน ท่อหรือฝาระบายอากาศของห้องเกียร์ และของเฟืองท้ายนี้ เป็นสิ่งจำเป็นครับเพราะอุณหภูมิภายในมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เราทราบกันอยู่แล้วว่า อากาศหรือแกสที่ร้อนขึ้นจะขยายตัว และอุณหภูมิของฟันเฟืองและน้ำมันหล่อลื่น จะเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่เริ่มใช้งาน ถ้าไม่มีช่องให้อากาศที่ขยายตัวไหลออกมาได้ ความดันก็จะสูงขึ้น และจะดันให้น้ำมันหล่อลื่นรั่วออกมามีที่ซีลกันรั่ว หรือยิ่งกว่านั้นอาจดันจนซีลปลิ้น น้ำมันหล่อลื่นทะลักออกจนเกือบหมดได้ และเมื่อจอดรถ ความร้อนลดลงอากาศในห้องเกียร์เย็นลง ก็จะหดตัวและดูดอากาศภายนอกเข้ามาชดเชย ช่องระบบนี้ จึงเป็นสิ่งที่ต้องมี ห้ามอุดเพื่อกั้นน้ำเข้าเด็ดขาดครับ แต่เราสามารถต่อยกระดับให้สูงพ้นระดับน้ำมากๆ ได้ หาท่อยาง หรือท่อพลาสติคเนื้อดี อ่อนแต่เหนียวมาสวมให้สนิทอย่าให้น้ำเล็ดลอดผ่านได้ หาที่ยึดอีกปลายไว้ข้างรถหรือส่วนใดก็ได้ ที่สูงพ้นน้ำสบายๆ อย่าลืมว่าสำหรับเฟืองท้ายของรถกระบะทั้งหลาย ต้องหย่อนท่อไว้แบบเดียวกับท่ออ่อนน้ำมันเบรค เพราะเฟืองท้ายเครื่องที่ขึ้นลงตามน้ำหนักบรรทุกและการยุบตัวจากความขรุชระของผิวถนน พูดง่ายแต่ทำยากครับ เพราะช่องระบายเหล่านี้ ไม่ได้เป็นท่อโผล่ตั้ง รอให้เราหาท่อมาสวมและรัดได้อย่างสะดวก บางรุ่นงอกลับลงล่างเป็นตัวยูกันน้ำสาดเข้า บางรุ่นก็มีฝาครอบแบบมีช่องให้อากาศผ่านได้ แต่น้ำกระเด็นสาดเข้าไม่ได้ ต้องใช้ฝีมือพลิกแพลงกันครับ ถ้าไม่ถนัด ก็ต้องจ้างช่างทำให้ ปลายท่อไอเสีย ไม่ค่อยจำเป็นมากครับ เพราะเราไม่ต้องการลุยน้ำระดับสูงกว่าฝาสูบอยู่แล้ว แต่ป้องกันไว้ก่อน ย่อมดีกว่าเสมอ ถ้าไม่มีโอกาสระดับจ้างร้านต่อปลายท่อให้สูงได้ หาท่อยางทนความร้อนพอสมควรมาสวมและรัดไว้ก็พอได้ ปลายท่อไอเสียเป็นส่วนที่ไม่ร้อนจัด และขณะลุยน้ำก็แช่น้ำจนหายร้อนอยู่ดี ที่ผมอยากให้ระวัง คืออย่าเชื่อว่าตราบใดที่ติดเครื่องยนต์อยู่น้ำจะไหลเข้าท่อไอเสียไม่ได้ เครื่องยนต์คายไอเสียเป็นจังหวะครับไม่ได้ต่อเนื่อง ที่ความเร็ว (ของเครื่องยนต์) ต่ำ น้ำจะไหลเข้าสลับกับไอเสียไหลออกได้ และลามเข้าไปด้านในเรื่อยๆ ในสภาพเสี่ยงใช้เกียร์ต่ำไว้ เช่น เกียร์ 1 เพื่อให้ไอเสียไล่หรือต้านน้ำได้ ในความเห็นส่วนตัวของผม หากต้องลงทุนลงแรงและเสี่ยงกับความเสียหายของรถจากการลุยน้ำลึกขนาดนี้ ด้วยค่าซ่อมหลายหมื่นหรือเกินแสนบาท ระดับบน้ำที่สร้างความเสียหายกับรถประเภทนี้ได้ ย่อมต้องลึกพอสมควรมันคือเครื่องยีนยันว่า เราสามารถใช้เรือติดเครื่องยนต์แทนได้เลย ถูกกว่า และสะดวกกว่าด้วย ลุยน้ำออกมา ว่าจ้างรถไปซื้อเรือหางยาวขนาดเล็กใช้เครื่องยนต์ขนาดเล็กที่สุดก็พอครับ ราคาทั้งเรือและเครื่องยนต์ไม่ถึง 20,000 บาท เป็นวิธีที่ดีที่สุด ผู้อ่านที่ติดตามข่าวน้ำท่วมทางโทรทัศน์มากพอ ย่อมได้ชมรายการดัดแปลงรถสู้น้ำท่วม หรือลดความเสียหายจากการที่รถแช่น้ำ จากผู้เชี่ยวชาญหลายรูปแบบ หนึ่งในคำแนะนำเหล่านั้น คือ การใช้เจ้าของรถถอด "กล่องอีซียู" ออก อีซียู ย่อมาจากคำว่า ELECTRONIC CONTROL UNIT หรือหน่วยควบคุมด้วยอีเลคทรอนิคครับ เป็นแผงวงจรที่ถูกบรรจุอยู่ในกล่อง ซึ่งส่วนใหญ่ทำจากอลูมิเนียมและพลาสติค ปิดผนึกอย่างดีกันฝุ่นและความชื้น ส่วนใหญ่เมื่อพูดถึงจะเชื่อกันว่า สำหรับควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์ในส่วนที่ใช้ไฟฟ้า แต่ที่จริงแล้ว ใช้ อีซียู ควบคุมระบบอื่นๆ อีกมาก ในรถยนต์สมัยนี้ครับ เช่น ระบบปรับอากาศ ระบบควบคุมเกียร์ ระบบรักษาเสถียรภาพของรถ ระบบความปลอดภัย ฯลฯ ในรถราคาสูงยุคนี้หลายรุ่น มีเกิน 10 กล่องครับ ไม่ได้มีกล่องเดียวเหมือนที่เขาอธิบายให้เราเชื่อเช่นนั้น ซึ่งหมายถึงเฉพาะ อีซียู ควบคุมเครื่องยนต์ ซึ่งปกติจะมีขนาดใหญ่กว่าของระบบอื่น ปัญหาคือ ผู้ผลิตเขาติดตั้งมันไว้ในที่ลับตาครับ ไม่ควรแนะนำให้เจ้าของรถหามันให้เจอแล้วถอดออก เพราะโอกาสหาเจอมีน้อยมาก เจอแล้วก็ยังไม่แน่ใจว่ามันเป็นกล่องอะไร ? ใช่หรือไม่ ? มีแบบนี้อีกกี่กล่อง ? มันเป็นงานของช่างที่รู้จักรถนั้นดีเท่านั้นครับ ให้ผมไปหาเองก็คงจะยากมากสำหรับรถหลายรุ่น อย่าเพิ่งเชื่อผม อ่านคอลัมน์นี้ให้จบแล้ว ลองไปหาดูได้ครับว่าจริงหรือไม่ นำรถหนีให้พ้นน้ำ ง่ายกว่าหลายเท่าครับ เป็นนิมิตหมายที่ดีมาก ที่ผมได้เห็นเจ้าของรถ นำรถไปจอดที่สูงพ้นน้ำกันตั้งแต่เนิ่นๆ ผู้ที่นำไปจอดบนสะพานและทางด่วนบางส่วน ถ้าจอดชิดริมทาง ไม่จอดขนาบซ้อนถึงขั้นกีดขวางการจราจรแล้ว ผมว่าไม่สมควรถูกตำหนิครับ พวกเราอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่สามารถเชื่อถือ หรือพึ่งพาหน่วยงานของรัฐได้เหมือนอารยประเทศอื่นๆ ใครจะจ่ายค่าซ่อมหรือซื้อรถคันใหม่ให้เราครับ ถ้ารถของเราจมน้ำจมมิด มีตัวอย่างให้เห็นอยู่มากมาย บางคนเหลือเพียงรถคันเดียวไว้ทำมาหากินเท่านั้น อย่ามาทำเป็นเคร่งครัด ไล่ยกรถของประชาชนลงมาอยู่ที่ต่ำเลย ไม่มีใครอยากหยุดใช้รถแล้วนำไปจอดตากแดด เสี่ยงต่อการถูกทุบกระจกขโมยของในรถหรอกครับ รู้จักน้ำกันอย่างถูกต้องดีกว่า ในเมื่อพวกเราเกิดมาในประเทศนี้ ซึ่งอุดมไปด้วยน้ำ และส่วนหนึ่งเป็นที่ราบลุ่ม ผมจึงเห็นว่าหากผู้อ่านได้รู้จักน้ำและธรรมชาติของมันอย่างถูกต้อง ในมุมมองที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของเรา ก็น่าจะเป็นประโยชน์พอสมควร และปัญหาที่พวกเราประสบกันอยู่ คงจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แม้ว่าผมจะอยากให้เป็นเช่นนั้นก็ตามครับ น้ำในสถานะของเหลว จะไหลลงสู่ที่ต่ำเสมอ(เช่นเดียวกับของเหลวอื่น) เพราะถูกโลกส่งแรงดึงดูดกระทำต่อมันตลอดเวลา ที่เรารู้จักกันในชื่อ แรงโน้มถ่วงนั้นแหละครับ เนื่องจากโลกใหญ่มาก ในความรู้สึกของเรา (ถ้าเอาเชือกคาดรอบโลกในส่วนที่กว้างที่สุด ก็จะได้ระยะทาง (แบบหยาบหน่อย) ประมาณ 40,000 กม.) เราจึงพออนุโลมให้ง่ายเข้า ว่าแถวของผิวน้ำเป็นเส้นตรง ตั้งฉากกับเส้นที่ลากไปยังจุดศูนย์กลางของโลก ไม่นับความเบี่ยงเบนอีกน้อยมากถูกดวงจันทร์ส่งแรงโน้มถ่วงของมันมาดูด ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้น น้ำลง) พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าไม่มีอะไรมารบกวน มันจะรักษาระดับราบเรียบเสมอในภาชนะที่รองรับมันไว้ ไม่ว่าจะใหญ่อย่างทะเล หรือเล็กเท่าขันน้ำก็ตามครับ และความที่มันเป็นของเหลว จึงไหลได้ เมื่อใดก็ตามที่มีช่องทางให้มันเล็ดลอดไปสู่ที่ต่ำกว่า มันก็จะไหลไปทันที เพราะถูกโลกดึงดูดการไหลจะเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับความต่างระดับกับความข้นของมัน ความข้นของน้ำต่างกับความข้นของน้ำมันต่างๆ พอสมควรครับ คือ แทนที่จะแปรเปลี่ยนได้อย่างมากไปตามอุณหภูมิ มันกลับค่อนข้างคงที่ อนุโลมได้ว่าไม่แปรเปลี่ยน ไม่ว่าร้อน อุ่นหรือเย็น จะเป็นน้ำ "ดี" สะอาด หรือ เน่าเหม็น มันก็จะมีพฤติกรรมการไหลเหมือนๆ กันครับ ยกเว้นมีสิ่งแปลกปลอมปนอยู่มาก เช่น มีดินละลายเข้มข้น จึงจะมีความหนืดเพิ่ม ไหลได้ช้าลง ด้วยเหตุนี้ ถ้าสิ่งแวดล้อมคงที่ ตายตัว ไม่เปลี่ยนแปลง และเงื่อนไขตั้งต้นเหมือนกัน มันก็จะมีพฤตืกรรมการไหลตายตัวครับ เช่น ระดับน้ำต้นทางเท่าใด อัตราที่ไหลออกมาเท่าใด ความลาดเอียง เป็นหลุม บ่อ บึง เป็นรูปแบบใด มันก็จะไหลตามกฎเกณฑ์ทางพิสิคส์ เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ด้วยเงื่อนไขเดิม มันก็จะไหลไปแบบเดิมทุกอย่าง เพราะฉะนั้นถ้ามีข้อมูลพอ ความรู้พอ หรือพโรแกรมจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ละเอียดพอ เราก็จะพยากรณ์ล่วงหน้าได้ ว่าเวลาใด มันจะไหลไปไหน มาก และเร็วเพียงใดครับ ไม่มีวันเป็นอย่างอื่นไปได้ มันจึงไม่มีพฤติกรรมแปลกแยกไปจากกฎเกณฑ์ได้เลย อย่าไปหลงเชื่อคำกล่าวอ้างประเภท "น้ำโจมตีสายฟ้าแลบ ไม่ให้ใครตั้งตัว" ไม่มีหรอกครับ มีแต่หน่วยงานชุ่ย สุดห่วย ที่ไม่รู้เรื่อง หรือไม่เอาใจใส่ จนเตือนประชาชนไม่ทันเท่านั้น แล้วก็ไม่มี "น้ำเข้าโอบล้อม ตีตลบด้านหลัง" ไม่ใช่ข้าศึกแบบพม่าล้อมกรุงนะครับ ถ้าจะเกิดก็คงเพราะเอาคนห่วยมาบริหารจัดการน้ำมากกว่า ผมขับรถสำรวจเขตต่างๆ ในกทม. ที่ไม่น่ามีความเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมเลย ภาพที่เห็นเกือบเหมือนกันทุกเขตและทุกแห่ง คือ ไม่มีใครไว้ใจการบริหารจัดการของ ศปภ. เลย เท่าที่สอบถาม ได้คำตอบคล้ายกันหมด ว่าเชื่อมั่นความตั้งใจทำงานของผู้ว่า ฯ กทม. แต่ไม่มั่นใจทั้งในความสามารถ และในเจตนาของ ศปภ. จึงต้องเตรียมตัวช่วยตนเองให้เต็มที่ไว้ก่อน แต่ละแห่งเสียเงินค่ากระสอบใส่ทรายหลายหมื่นถึงหลายแสนบาท แทนที่จะควบคุมราคากระสอบทรายตั้งแต่ต้นแต่รัฐบาลก็กลับรอจนทุกคนซื้อกระสอบทรายในราคาที่ถูกขูดรีดฉวยโอกาสกันไปหมดแล้ว วันที่มีการประกาศห้ามขายกระสอบพร้อมทรายเกิน 45 บาท มันก็ถูกขายในราคาขูดรีดระดับ 60 ถึง 70 บาท ไปแล้ว อีก 20 ถึง 30 ปี เราอาจจะได้อ่านประวัติเศรษฐีใหม่ของไทยบางราย ที่รวยมาจากการฉวยโอกาสขายกระสอบทราย ราคาขูดรีด ในปี 2554 เป็นเงินทุนตั้งต้นก็ได้ ก่อนจะตัดสินใจซื้อกระสอบทรายมากั้นน้ำ ผมอยากให้สำรวจและประเมินความคุ้มก่อนครับ เพราะสถานที่สิ่งแวดล้อม และสถานการณ์ของแต่ละคนแตกต่างกันได้อย่างมาก บางบ้านอยู่ระดับสูง ไม่มีของมีค่าอยู่ที่พื้น ย่อมพอเสี่ยงหรือปล่อยให้น้ำท่วมได้บ้างหากไม่ลึก และมูลค่าความเสียหายไม่มาก อาจไม่ถึงครึ่งของราคากระสอบทรายที่ต้องใช้ ปูพื้นไม้ปาเกใหม่กับซื้อตู้และทาสี บางทียังถูกกว่ากระสอบทรายราคาขูดเลือดครับ อย่าลืมคำนวณก่อนตัดสินใจในครั้งหน้า (ถ้ารัฐบาลนี้ยังอยู่) เพราะทั้งกระสอบและทรายที่ใช้แล้ว ไม่สามารถนำไปขายต่อได้ มันจะกลายเป็นส่วนเกิน ทันทีที่น้ำลดถึงมีคนรับซื้อ ก็คงในราคาเศษเสี้ยวของที่เราต้องจ่ายไปครับ ขอแสดงว่าเสียใจต่อผู้ประสบภัย และขอขอบคุณเหล่าทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดียิ่ง รวมทั้งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครทั้งหลาย โดยเฉพาะเหล่าเยาวชนที่ได้เสียสละแรงกายและกำลังทรัพย์กันอย่างน่าชื่นชมยิ่ง ปัญหาที่คาใจคนไทยจำนวนมากก็คือ อุบัติภัยร้ายแรงครั้งนี้ เป็นเหตุสุดวิสัยจริงหรือไม่ มันอาจไม่ร้ายแรงระดับนี้ ถ้าไม่มีการตัดสินใจที่หวังทุจริตหรือหวังผลการเมืองหรือเปล่า น่าจะมีการสอบสวนว่า มีการสั่งห้ามปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพลโดยรัฐมนตรีบางคน แม้ว่าทางผู้บริหารของ กฟผ. จะร้องขอแล้วก็ตาม จริงหรือไม่บันทึกการประชุมจะเป็นหลักฐานให้ประชาชนได้รับความกระจ่าง ใครจะรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์กว่า 500 คนนี้ ? มีผู้รู้นี้อยู่ใกล้ชิดกับการทำงานของ ศปภ. บอกว่า ข่าวลือเรื่องร้ายๆ ที่พวกเราได้ฟังกันนั้น เป็นเรื่องจริงทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรจะโทษผู้นำในทุกๆ เรื่อง เพราะ 1. นายก ฯ อาจไม่ได้ต้องการมารับตำแหน่งนี้ตั้งแต่ต้น แต่ถูกใส่ชื่อในตำแหน่งแรกของ สส. ประเภทบัญชีรายชื่อ 2. นายก ฯ มาปฏิบัติหน้าที่ที่ ศปภ. ตามเวลาทุกวัน ด้วยใบหน้าสดใสเป็นปกติ เพื่อไม่ให้ผู้ชมเศร้าหมอง คงเป็นความฝืนใจที่เสียสละอย่างยิ่ง 3. นายก ฯ เคยหลั่งน้ำตาให้เห็น ว่าสงสารผู้น้ำท่วมเพียงใด 4. นายก ฯ ขึ้น ฮ. ตรวจสภาพน้ำ ด้วยสีหน้าเคร่งเครียดให้พวกเราเห็น จะได้อุ่นใจ แต่เมื่อกล้องเลิกถ่าย ก็ถ่ายรูปเล่น หยอกล้อ เฮฮาเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ผู้ติดตามมีอารมณ์เศร้าหมอง (จากคอลัมน์ใน นสพ. ขายดีฉบับหนึ่ง) 5. นายก ฯ อุตส่าห์บากบั้น ไปโยน EM BALL ลงน้ำเน่า (EM ย่อมาจาก EFFECTIVE MICROORGANISMS) แปลเป็นไทยให้ตรงความหมายที่สุดว่า "ก้อนจุลินทรีย์แหกตา" ครับ 6. ขณะกทม. กำลังจมน้ำไปหลายเขตแล้ว และชาวนนทบุรี และปทุมธานี กำลังสำลักน้ำเน่าที่ท่วมถึงคอ นายก ฯ ยังอุตส่าห์ไปเยี่ยมชาวนครสวรรค์ที่น้ำแห้งแล้ว และกำลังดีใจกันเกินเหตุ ให้มาดูการหลั่งน้ำตา เป็นการถ่วงดุล พร้อมรับคำชมเชยที่แช่น้ำกันได้เดือนโดยไม่ปริปากบ่น 7. ศปภ. ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสภาพน้ำท่วม จึงได้เนรมิตถนนลาดยางมะตอยอย่างดี เรียบกริบ สูงเกือบ 1 เมตร จนเสร็จภายใน 2 วัน เท่านั้น (แต่เฉพาะหน้าตึกที่เป็นที่ทำการของ ศปภ. เท่านั้น) มีผู้รู้นี่คว่ำหวอดมากับการเมืองของไทย เขียนทำนายไว้ใน นสพ. ฉบับหนึ่ง เมื่อประมาณเกือบ 2 เดือน ที่ผ่านมา ว่าหากอยากรู้ว่า สถานการณ์น้ำของประเทศไทยในปีนี้ หนักเพียงใด ให้ดูที่พฤติกรรมของนักการเมืองปากเสียที่สุดในคณะรัฐบาลนี้เป็นดัชนีชี้วัดล่วงหน้าได้เลย จะเห็นว่าปกติจะต้องออกมาโอ้อวดว่า เรื่องเล็กรับรองเอาอยู่ แต่คราวนี้หุปปากสนิท หลบนักข่าวทำนายได้เลยว่า ประเทศไทยพินาศย่อยยับแน่นอน วันนี้พวกเราก็เห็นว่า นักเขียนท่านี้ รู้จริงเสียด้วยครับ
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการบทความและสารคดี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2554
คอลัมน์ Online : รอบรู้เรื่องรถ