อาร์เอกซ์ 350 เป็น เอสยูวี อารมณ์เก๋ง ที่หรูหรา และโฉบเฉี่ยว หนึ่งเดียวจาก เลกซัสฝาแฝดของ โตโยตา แฮร์ริเออร์ ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในบ้านเรา และทั่วโลกมาตั้งแต่โฉมแรก จนถึงโฉมปัจจุบัน ทำตลาดหลักโดย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยจำกัด ทั้งยังมีผู้นำเข้าอิสระหลายราย ที่นำเข้ามาขายด้วย
เมื่อพิจารณาจากหน่วยก้านแล้ว ชัดเจนว่า มันมีรูปทรงหลักใกล้เคียงกับรถแนวคิด แอลเอฟ-เอกซ์เอช (LF-XH) สุดสวย ที่เคยโชว์ตัวในงานมหกรรมยานยนต์โตเกียว เมื่อปลายปี 2550
ส่วน อาร์เอกซ์ ตัวจริง จะออกแบบได้ดีแค่ไหน ต้องถามนักออกแบบของเรา
ฟอร์มูลา : เห็น เลกซัส อาร์เอกซ์ ตัวใหม่ล่าสุดแล้ว เป็นอย่างไรบ้าง ?
ภัทรกิติ์ : มองผ่านๆ คิดว่า โตโยตา ฟอร์ทูเนอร์ แต่ดูหรูกว่า
ฟอร์มูลา : เป็นโพรแกรมเดิมหรือเปล่าครับ ?
ภัทรกิติ์ : น่าจะใช่ เพราะรุ่นเดิมมันไม่มีอะไรผิด เพียงแต่มันถึงอายุ ที่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรใหม่เสียบ้าง
คมกฤช : โตโยตา เลือกเปลี่ยนเฉพาะเปลือกนอก และภายใน แต่ทั้งแนวคิด และโครงสร้างหลักเดิม
ภัทรกิติ์ : นั่นเพราะมันคือแนวทางที่ทำให้รถคันนี้ประสบความสำเร็จมาตลอด และเขาก็ไม่เสี่ยงจะทำอะไรใหม่ ถือเป็นพัฒนาการขั้นต่อมา ต่างจากรุ่นที่ 2 ซึ่งหากนำไปเทียบกับรุ่นแรก จะเห็นว่าเปลี่ยนเยอะมาก
คมกฤช : จะบอกว่า ตัวนี้ ประสบความสำเร็จตั้งแต่รุ่นที่ 2 หรือ ?
ภัทรกิติ์ : อันที่จริงประสบความสำเร็จตั้งแต่ตัวแรกแล้ว แต่รุ่น 2 ทำได้ดีมาก
ฟอร์มูลา : ภาษีนำเข้าแพงนะ แต่บ้านเราก็ยังขายดิบขายดี ?
ภัทรกิติ์ : ขายดีทั่วโลกเลยครับ และมันเป็นเหตุให้ ฟอร์ทูเนอร์ ลอกแนวคิดมาจากรุ่นแรกของรถคันนี้แหละ ส่วนรุ่นที่ 2 ดู สมาร์ท กว่า ตัวเก่าฟอร์มมันดูนิ่มไปหน่อย
คมกฤช : เขาพยายามสร้างฟอร์มที่มันดูซับซ้อนมากขึ้น รุ่นใหม่นี้จึงดูเหลวๆ
ฟอร์มูลา : ถ้าเทียบกับรถแนวคิด แอลเอฟ-เอกซ์เอช ที่เป็นต้นแบบของ อาร์เอกซ์ นั่นดูเฉียบกว่า ?
ภัทรกิติ์ : ตัวแนวคิด เส้นคมกว่า แต่พอผลิตจริง มันคงผลิตยาก ประกอบกับอยู่ในกรอบของโพรแกรมเดิม เลยออกมาไม่คมเท่า
ฟอร์มูลา : ถึงอย่างนั้นก็ดึงรูปแบบของรถแนวคิดมาเยอะเหมือนกัน อย่างเช่น กระจังหน้ารูปแบบไฟ และกรอบกระจก
ภัทรกิติ์ : เสียดายความเฉียบคมที่ควรจะมี ทุกคนพยายามสร้างงานสไตล์ บีเอมดับเบิลยูแต่ทำได้ดีเท่าหรือเปล่า อย่างเส้นสายด้านข้าง ที่ชายล่างประตู เขาคงต้องการให้ดูเหมือนรถจีที ทรงพลัง แต่ระยะมันยังไม่ค่อยได้ ซึ่งน่าจะกระเถิบไปข้างหลังอีกหน่อย และการออกแบบทำนองนี้มันเป็นทั้งคัน ผมเลยมองว่ารถรุ่นนี้ ดูเหมือนไม่มีพลัง มันสบายๆเนียนๆ นุ่มๆ ยิ่งถ้าเทียบกับรุ่นที่แล้ว ซึ่งดูดุดันกว่ากันเยอะ
คมกฤช : เขาตั้งใจทำชายน้ำให้เป็นสีดำ รถจะได้ดูบางลง ถ้าไม่ทำอย่างนั้น ตัวมันจะหนามาก ?
ภัทรกิติ์ : ทิศทางการออกแบบของ เลกซัส นิตยสารญี่ปุ่นวิพากษ์วิจารณ์กันไว้เยอะคาร์ สไตลิง เคยบอกว่า การออกแบบของ เลกซัส ตอนนี้ เส้นสายดูผิวเผินแล้วสวย แต่จริงๆมันสับสน
คมกฤช : เป็นความพยายามที่มากเกินไปหรือเปล่า ?
ภัทรกิติ์ : เดาเล่นๆ นะครับ นักออกแบบของเขาพยายามเอามุมมาต่อมุม ต่อไปต่อมาแล้ว
เส้นมันไม่จบ เกิดมุมเหลวๆ ขึ้น พอไม่แน่ใจว่าจะให้เป็นอะไรก็เกลี่ยๆ ซะ
คมกฤช : เหมือนเอากระดาษทรายลูบๆ หายไปเลย
ภัทรกิติ์ : ซึ่งมุมแบบนี้ เมร์เซเดส-เบนซ์ จะเก็บหมด ลงตัว แต่คันนี้เหมือนมีเส้นงงๆ หลงอยู่
ฟอร์มูลา : เห็นวิจารณ์มาก เกี่ยวกับเรื่องเส้นสาย แล้วนักออกแบบรถเขาไม่รู้หลักการออกแบบอย่างที่อาจารย์รู้กันเลยหรือ ?
ภัทรกิติ์ : รู้
ฟอร์มูลา : แต่เพราะอะไรยังทำ ?
คมกฤช : มันมีข้อจำกัดในเรื่องการผลิตเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เรื่องราคาวัสดุ กับเหตุผลทางวิศวกรรม ทำให้มันผลิตยากขึ้น
ภัทรกิติ์ : หรือแม้แต่รสนิยมของผู้บริหารระดับสูง
ฟอร์มูลา : ชอร์ทคัท ลัดขั้นตอน ?
ภัทรกิติ์ : สำหรับวัฒนธรรม บริษัทของญี่ปุ่น รสนิยมผู้บริหารฝ่ายต่างๆ มักมีอิทธิพลในการตัดสินใจสูง ออกมาเลยเป็นแบบนี้ เพราะนักออกแบบอาจต้องทำให้ถูกใจทุกคน
ฟอร์มูลา : 2 รุ่นที่ผ่านมา การออกแบบเป็นสิ่งที่ช่วยให้รถรุ่นนี้ประสบความสำเร็จในตลาดทั่วโลก ?
ภัทรกิติ์ : ใช่ ตัวนี้ ประสบความสำเร็จในเรื่องการออกแบบมาก
คมกฤช : เรื่องความสวยงามก็เรื่องหนึ่ง แต่ตอนที่ออกรุ่นแรกมีรถประเภทนี้น้อยมาก
ฟอร์มูลา : รถยนต์นั่งที่ดูเป็น เอสยูวี ด้วย หรูด้วย ?
ภัทรกิติ์ : เหมือนผู้บุกเบิก
ฟอร์มูลา : ตอนนั้นเพราะบุกเบิกก็เลยขายดี แต่ตอนนี้มีคู่แข่งเต็มไปหมด
ภัทรกิติ์ : แต่ชื่อเสียงก็ยังอยู่ แล้วบแรนด์ เลกซัส เอง ก็ช่วยผลักดันให้รถรุ่นนี้อยู่เป็นดาวค้างฟ้า ด้วยราคาที่ไม่โอเวอร์ เมื่อเทียบกับตัวอื่น ในต่างประเทศนะ ส่วนผสมมันลงตัว เลยประสบความสำเร็จ
ฟอร์มูลา : ตัวนี้บ้านเราขาย 5.5 ล้านบาท ?
ภัทรกิติ์ : แต่อย่างไรก็ตาม ตัวก่อนหน้านี้ทำได้น่าสนใจกว่า
คมกฤช : ท้ายเดิมๆ ไปหน่อย แถมรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น พเลทบังไฟป้ายทะเบียนก็ไม่ลงตัว
ภัทรกิติ์ : ตัวนี้น่าจะประสบปัญหาเดียวกับแบบที่ โคโรลลา อัลทิส เป็น คือ หนักมือ พยายามมากไปหน่อย ทำให้ขาดความบริสุทธิ์ของการออกแบบแต่แรก เขาพยายามลบสันลบเหลี่ยมลบไปลบมา กลายเป็นก้อนครีม
คมกฤช : เหมือนมีการแก้งานเกิดขึ้น แล้วแก้ไขมากไปหน่อย แถมแก้ไม่ลงตัว
ภัทรกิติ์ : เส้นสายเลยดูไม่คม ไม่ดุดัน ไม่เฉียบ ดูขาดๆ เกินๆ
ฟอร์มูลา : อาจารย์ทำหน้าเหมือนเสียดายอะไร ?
ภัทรกิติ์ : ผมเสียดายของ
คมกฤช : เสียดายตัวรถแนวคิด ตัวจริงน่าจะออกมาดีกว่านี้
ภัทรกิติ์ : แต่จะเรียกว่าไม่สวยก็ไม่ถูกนะ แต่มันยังดีไม่พอ แต่ถ้ามองจากข้างหน้าคอร์เพอเรท เฟศ ของ เลกซัส แรงมาก อีกอย่างมันมีเรื่องน่าคิดอยู่อย่างหนึ่งว่า รถยนต์ราคาแพงขนาดนี้ ทำไมเซนเซอร์ถอยหลังต้องนูนออกมาขนาดนี้ด้วย ทำเนียนกว่านี้ไม่ได้แล้วหรือ ?
ภัทรกิติ์ : ถ้าใช้บแรนด์ โตโยตา จะไม่ว่าเลยสักคำ แต่นี่ขึ้นชั้นเป็น เลกซัส มันไม่ควรเป็นแบบนี้
คมกฤช : มันจำเป็น เพราะใช้อุปกรณ์บางชิ้นร่วมกัน
ฟอร์มูลา : แวะมาดูภายในกันบ้าง ?
ภัทรกิติ์ : ของเดิมเรื่องเส้นสายมันดูลงตัวมากกว่า ทำไมอยู่ดีๆ เลกซัส เขาถึงคิดว่า ลูกค้าจะชอบการออกแบบหวือหวา มันใช่หรือ
ฟอร์มูลา : ไม่สวยหรืออย่างไร ?
ภัทรกิติ์ : ก็ไม่เชิง มันไม่แยกให้ขาด นี่ชิ้นส่วนของ เลกซัส นี่ของ โตโยตา ไม่ใช่ลดต้นทุนแบบนี้ถ้าคนซื้อไปรู้จะเสียอารมณ์มาก
คมกฤช : งานกราฟิคภายในของรุ่นนี้ออกแบบไม่ค่อยมีแบบแผน นึกจะวางอะไรตรงไหนก็วาง
ภัทรกิติ์ : ผมเลยรู้สึกผิดหวังกับการออกแบบภายในพอสมควร มันผิดคาดไปหน่อย ถึงวันนี้แล้ว เลกซัส ยังไม่ทำอะไรให้พิเศษกว่าเดิมเลย แต่รู้ไหมส่วนที่สวยถูกใจผม คือ เขาใส่ใจการออกแบบในห้องเครื่องมาก
ฟอร์มูลา : สรุปกันดีกว่า ?
ภัทรกิติ์ : เสียดาย น่าจะทำได้ดีกว่านี้ ตัวเก่าดูลงตัวกว่าเยอะ มันสมดุลมากกว่าตัวใหม่ทุกอย่างมันเป๊ะ ให้ความรู้สึกหนักแน่นแบบรถที่เป็น 4×4 ได้ ตัวใหม่มันดูพลิ้วไหวเหนือสายน้ำไปหน่อย คันนี้นะ ผมห่วงเวลาเขาขายเมืองนอก ในประเทศที่มีอัตราภาษีและราคาพอๆ กัน ถ้าเจอรถอย่าง บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 6 คันนี้จบข่าวเลย
คมกฤช : สำหรับผมง่ายๆ เลย มันไม่เร้าใจ ออกแบบหวานไป ไม่ค่อยลงตัว