คดีนี้ศาลต้องออกเหงื่อทำคดี เพราะเจ้าของรถ อันได้แก่ บริษัท ทัวร์ทัวร์ จำกัด ทำตัวแตกต่างจากบริษัทรถทัวร์ทั่วไป ยอมรับผิด ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้โดยสารรถทัวร์ 2 ราย ที่ได้รับบาดเจ็บเมื่อรถลงถนน
หลังจากนั้นเจ้าของรถทัวร์ก็แบมือเรียกร้องจาก บริษัท รวยให้เข็ดประกันภัย จำกัด ซึ่งรับประกันรถคันที่เกิดเหตุ แต่ไม่สำเร็จ ศาลจึงมีงานทำอย่างที่บอก
บริษัท ทัวร์ทัวร์ ฯ ฟ้องคดีแพ่ง บังคับให้บริษัทประกันจ่ายเงินตามจำนวนที่ บริษัท ทัวร์ทัวร์ ฯ จ่ายให้แก่คนเจ็บเป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าทำขวัญรวมอยู่ด้วย
บริษัทประกันตั้งป้อมสู้คดี ด้วยความชำนาญ อ้างไม้ตายว่า
สัญญาประกันหรือกรมธรรม์ เขียนไว้ชัดว่า คนทำประกันต้องไม่ไปตกลงยินยอมเสนอหรือให้สัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลภายนอก โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัทประกัน สัญญาเขียนมัดไว้แล้วว่า บริษัทจะรับผิดต่อเมื่อทำถูกต้องตามสัญญาและเงื่อนไขในกรมธรรม์ การที่ บริษัททัวร์ทัวร์ ฯ ทะลึ่งจ่ายค่าเสียหายให้แก่คนเจ็บโดยพลการ บริษัทประกันจึงลอยลำ
สำหรับค่าทำขวัญที่ห้อยมาด้วย บริษัทประกันโต้ลูกกลับไปว่า กรมธรรม์หรือสัญญาประกัน เขียนไว้ว่าจะจ่ายค่ารักษาพยาบาล คำว่ารักษาพยาบาลไม่ได้รวมถึง ค่าทำขวัญ ขอให้ยกฟ้องดูแล้วเข้าเค้าเหมือนกัน บริษัทไม่มั่วประกันน่าจะชนะคดี
แต่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้บริษัทประกันจ่ายเงินแก่ บริษัท ทัวร์ทัวร์ ฯ ตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ย
ยอมแพ้ไม่ได้อยู่แล้ว บริษัทประกันยื่นอุทธรณ์ ขอให้ยกฟ้อง แต่เสียใจ
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษายืน ให้เจ้าของรถชนะอย่างเดิม
ตื้อต่อไปตามถนัด บริษัทประกันยื่นฎีกา ยกข้ออ้างอย่างที่ผ่านมา และคิดว่าจะชนะคดีในที่สุดในเมื่อสัญญาเขียนมัดไว้อย่างแน่นหนา
ศาลฎีกาพิจารณาคดีนี้ด้วยความเซ็งต่อความหัวหมอของบริษัทประกัน แล้วชี้ขาดออกมาดังนี้
ศาลไม่เถียงหรอกว่า สัญญาหรือกรมธรรม์ เขียนไว้ไม่ให้เจ้าของรถตกลงยินยอมหรือจ่ายค่าเสียหายแก่คนนอกโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัทประกัน แต่ศาลเห็นว่าการเขียนไว้ยังงั้น เพื่อป้องกันไม่ให้คนทำประกันไปตกลงชดใช้ค่าเสียหายแก่คนอื่น ทั้งๆ ที่เป็นฝ่ายถูกเท่านั้น
กรณีที่รถเป็นฝ่ายผิด คนทำประกันเป็นฝ่ายผิด บริษัทประกันจะมายกเอาเงื่อนไขเห่ยๆ ปัดความรับผิดไม่ได้หรอก มันไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมอย่างชัดๆ
ส่วนเรื่อง ค่าทำขวัญ ที่เจ้าของรถจ่ายไป บริษัทประกันเกี่ยงงอนไม่ยอมรับผิด อ้างว่าไม่ใช่ค่ารักษาพยาบาล ศาลฎีกาตรวจดูแล้วปรากฏว่า บริษัท ทัวร์ทัวร์ ฯ ไม่ได้เรียกร้องให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับคนเจ็บรายหนึ่ง แต่เรียกให้จ่ายค่าทำขวัญที่ได้จ่ายให้ไป เมื่อได้ความว่าคนเจ็บรายนี้ได้รับอันตรายจากรถจริง เงินที่จ่ายอยู่ในวงเงินประกันตามสัญญาที่ทำไว้ ศาลบอกว่าบริษัทประกันต้องจ่ายมันก็ค่ารักษาพยาบาลนั่นแหละ
ศาลฎีกาจึงพิพากษายืนตามที่ศาลล่างว่าไว้ บริษัทประกันหมดสิทธิ์เบี้ยวบิดอย่างแน่นอน
ตามปกติบริษัทประกันจะเขียนไอ้โน่นไอ้นี่ มัดไว้ในกรมธรรม์หรือสัญญาประกัน ไม่ให้ตกลงค่าเสียหายกับใคร โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัทประกัน ทำให้เกิดความยุ่งยากลำบากใจไม่น้อยในการเจรจาเมื่อเกิดเหตุขึ้นมา เพราะการเจรจาถ้าไม่พูดถึงค่าเสียหายว่าจะเอายังไง มันจบเห่ ตกลงกันไม่ได้ กว่าจะรอบริษัทประกันให้มาเคลียร์ เรื่องอาจลุกลาม คนเจ็บโมโหไม่ยอมพูดจาด้วย จะขึ้นโรงขึ้นศาลท่าเดียว ปัญหาก็ไม่ยุติง่ายๆ คนทำมาหากินเขาไม่ต้องการยังงั้น อยากเสร็จเรื่องเร็วๆ
ที่เห็นแก่ศีลธรรม มนุษยธรรม อยากจ่ายให้คนเจ็บคนตายไวๆ ก็มี รอบริษัทประกันไม่ไหว เจอบริษัทประกันโหลยโท่ยโยกโย้ยิ่งไปกันใหญ่
อ่านคดีนี้แล้วเห็นแนวทางการตัดสินของศาลค่อยสบายใจหน่อย จ่ายได้เลย ถ้าแน่ใจว่าเราเป็น ฝ่ายผิด วันยังค่ำ ยังไงก็ต้อนเอาจากบริษัทประกันได้
ส่วน ค่าทำขวัญ ก็จ่ายได้ ถ้าบาดเจ็บจริง เขาต้องรักษาจริง ส่วนจะเรียกชื่อเป็นค่ารักษาหรือค่าทำขวัญ ศาลบอกว่าเหมือนกันนั่นแหละ
จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 612/2527