DIY...คุณทำเองได้
4 วิธีในการดูแลเกียร์อัตโนมัติ
ปัจจุบันนี้รถกระบะขนาด 1 ตัน ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของผู้ใช้รถ เนื่องจากเป็นรถที่มีความอเนกประสงค์ในการใช้งาน สามารถทดแทนรถเก๋งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีการออกแบบที่นำเอาความหรูหรา และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มารวมไว้ในรถกระบะ ที่มีการนำไปพัฒนาต่อให้เป็นรอเนกประสงค์แบบ PPV จึงไม่น่าแปลกเลยที่รถประเภทนี้จะมีอยู่บนถนนมากมาย ความสะดวกสบายสิ่งหนึ่งสำหรับรถประเภทนี้ที่เจ้าของรถอยากให้มี นั่นก็คือ ระบบเกียร์อัตโนมัติ ระยะแรกๆ ที่ระบบเกียร์อัตโนมัติมีใช้ในรถประเภทนี้ ยังไม่มีความทันสมัย เนื่องจากมีกำลังเครื่องยนต์น้อย เมื่อนำเกียร์อัตโนมัติเข้ามาประจำการ ยิ่งมีปัญหาเรื่องอัตราเร่งที่ไม่ทันใจ
ระบบเกียร์ก็ยังไม่ค่อยทันสมัย การทำงานร่วมกันจึงไม่ลงตัว จนกระทั่งเครื่องยนต์กำลังสูงๆ เริ่มถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ระบบเกียร์อัตโนมัติก็ถูกนำมาใช้มากขึ้น เนื่องจากเครื่องยนต์มีกำลังพอที่จะสร้างความกระฉับกระเฉง เพราะระบบเกียร์อัตโนมัตินั้น จะทำให้กำลังเครื่องยนต์สูญเสียไปกับการปั่นทอร์คคอนเวอร์เตอร์ ถ้าเครื่องยนต์มีกำลังไม่เพียงพอ ก็จะไม่สามารถพาน้ำหนักตัวเปล่าราวๆ 1.5-1.7 ตัน ให้พุ่งทะยานไปข้างหน้าได้ ปัญหาที่ทำให้รถกระบะไม่ค่อยมีความกระฉับกระเฉง เป็นเพราะเรื่องของน้ำหนักตัวเป็นสำคัญ ยิ่งน้ำหนักตัวมาก ยิ่งทำให้ระบบเกียร์ต้องทำงานหนักกว่ารถที่มีน้ำหนักเบากว่า
ในฉบับที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้เรื่องของการแบ่งประเภทระบบเกียร์อัตโนมัติ ว่าแต่ละแบบมีชื่อเรียกหรือมีหลักในการทำงานอย่างไร ? ฉบับนี้เราจะแนะนำเรื่องการบำรุงรักษา ว่าทำอย่างไรให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และป้องกันความเสียหายก่อนเวลาอันควร
ไม่กระแทกคันเร่ง ตอนออกตัว
อย่างแรกที่ต้องจำไว้ ก็คือ รถกระบะประเภทนี้มีน้ำหนักตัวมาก โดยมากกว่ารถยนต์นั่งราวๆ ครึ่งตัน การที่จะออกตัวนั้น จำเป็นต้องใช้กำลังจากเครื่องยนต์มากพอสมควร การกดคันเร่งลึกๆ หนักๆ สามารถทำให้ตัวรถมีความกระฉับกระเฉงได้ไม่ยากนัก แต่ผลที่ตามมา ก็คือ เรื่องของความสึกหรอที่จะเกิดมากขึ้นกว่าปกติ แม้ว่าตัวรถจะมีสมรรถนะสูงขึ้นก็ตาม และการเร่งลักษณะที่ต้องการความฉับไวนั้นไม่ใช่เรื่องยาก และระยะยาวนั้นมันจะเกิดความเสียหายกับชิ้นส่วนภายในระบบเกียร์ เนื่องจากชิ้นส่วนภายในนั้นมีความละเอียดอ่อนเต็มไปด้วยชิ้นส่วนเล็กๆ มากมาย นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนลักษณะการขับขี่ให้ใจเย็นมากขึ้น ค่อยๆ กดคันเร่งด้วยความนุ่มนวล สามารถลดการสิ้นเปลืองได้อย่างเห็นผลชัดเจน ลักษณะนิสัยในการขับขี่แบบวัยรุ่นใจร้อน กดคันเร่งเร็วและลึก, ลากรอบเครื่องยาว, ขับรถกระชาก ฯลฯ ทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันผิดปกติมากกว่าที่ควรจะเป็น โดยตัวคุณเองสามารถเริ่มได้ทุกครั้งที่คุณนั่งอยู่หลังพวงมาลัย แต่ต้องใช้ความตั้งใจและความพยายามมากหน่อย
การซ่อมแซมเกียร์อัตโนมัตินั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ว่ามีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงค่อนข้างสูง อย่างน้อยๆ
การซ่อมแซมเบื้องต้นก็ต้องมีค่าใช้จ่ายที่หลักหมื่น เพราะการซ่อมแต่ละครั้งนั้น ต้องมีการเปลี่ยนชิ้นส่วน และน้ำมันเกียร์ ร่วมด้วยทุกครั้ง การซ่อมใหญ่ครั้งหนึ่งก็ต้องมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 25,000 บาท หรือ 30,000 บาทขึ้นไป
ยิ่งบรรทุกหนัก ยิ่งต้องระวัง
รูปแบบของตัวรถที่เป็นรถกระบะที่มีพื้นที่สำหรับบรรทุก ก็คงจะหลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะการใช้งานบางครั้งต้องมีการบรรทุกสัมภาระบ้างไม่มากก็น้อย เฉลี่ยราวๆ 200-500 กก. เมื่อมีการบรรทุกหนักมากขึ้น การใช้คันเร่ง และตำแหน่งเกียร์ เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะมีผลโดยตรงต่อการสึกหรอของชิ้นส่วนภายในของระบบเกียร์ นอกจากการใช้คันเร่งอย่างนุ่มนวลแล้ว ต้องใช้เกียร์ให้เหมาะสมกับความเร็วรอบของเครื่องยนต์ และความเร็วตัวรถด้วย ช่วงรอบเครื่องยนต์ที่เหมาะสมในการเปลี่ยนเกียร์สำหรับการใช้งานปกติธรรมดานั้น อยู่ในช่วงรอบเครื่อง 1,800-2,500 รตน. การใช้รอบเครื่องสูงมากกว่านั้น ไม่มีประโยชน์สำหรับการขับขี่ที่บรรทุกหนัก เพราะเป็นย่านที่เครื่องยนต์มีแรงบิดสูง เหมาะกับการฉุดลากน้ำหนัก จะทำให้เครื่องยนต์มีกำลังในการฉุดลากน้ำหนักของตัวรถสบายๆ ถ้าบรรทุกน้ำหนักมาก การออกตัวอาจจะเช่นตำแหน่งเกียร์ L2 หรือ L เช่นเดียวกับการขึ้นทางชันก็ได้ เพื่อเป็นการรักษารอบเครื่องยนต์ให้เหมาะสม เพราะในตำแหน่งเกียร์ D นั้น อาจจะทำให้เกียร์เปลี่ยนตำแหน่งเสียก่อน ทำให้แรงบิดที่จะส่งไปที่ล้อลดลงไม่เพียงพอกับการฉุดลากน้ำหนักมาก การเลือกใช้ตำแหน่งเกียร์ต่ำนี้ ใช้เหมือนกับเวลาที่เราใช้ขึ้นหรือลงเขา เพื่อรักษารอบเครื่องยนต์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน ดังนั้นต้องจำไว้ว่า เมื่อบรรทุกหนักมากต้องเหยียบเบาๆ เวลาออกตัวโดยใช้ตำแหน่งเกียร์ช่วย เมื่อรถเริ่มลอยตัวแล้วค่อยๆ เพิ่มความเร็วภายหลัง ซึ่งคุณสามารถใช้ความเร็วเดินทางปกติที่ 100-120 กม./ชม. ได้เหมือนเดิม เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงจังหวะที่ลอยตัวแล้ว ปัญหาหลักๆ ที่จะทำให้ระบบเกียร์เสียหาย เป็นจังหวะช่วงออกตัว และช่วงขึ้นทางชันเท่านั้น
การเปลี่ยนน้ำมันเกียร์
เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะน้ำมันเกียร์นั้นไม่เหมือนกับน้ำมันเครื่อง การเปลี่ยนน้ำมันเครื่องนั้น เราจะเปลี่ยนถ่ายทั้งระบบ คือ ใส่ไปเท่าไรก็เปลี่ยนออกเท่านั้น การจะเปลี่ยนยี่ห้อ หรือเกรดของน้ำมัน จึงไม่ใช่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ในระยะยาว ระบบเกียร์อัตโนมัตินั้นจะใช้น้ำมันเกียร์ในระบบทั้งหมดราวๆ 5-7 ลิตร แล้วแต่ขนาดของระบบเกียร์ แต่เวลาเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์แต่ละครั้งนั้น จะมีการเปลี่ยนครั้งละ 2-3 ลิตรเท่านั้น นั่นหมายความว่า ยังมีน้ำมันเกียร์เก่าในระบบมากกว่าครึ่งหนึ่ง การเปลี่ยนน้ำมันเกียร์จึงมีความสำคัญมาก เพราะต้องเปลี่ยนชนิดเดียวกับที่ติดรถมาเท่านั้น ในคู่มือประจำรถจะมีการระบุถึงเกรดของน้ำมันเกียร์ว่าใช้เกรดใด การแบ่งเกรดน้ำมันเกียร์นั้น จะเรียกว่า DEXRON ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ DEXRON II, DEXRON III การเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ข้ามยี่ห้อไม่ใช่ปัญหาอะไร เพียงแต่ต้องดูว่ารถของคุณนั้นใช้ DEXRON II หรือ DEXRON III ต้องเลือกใช้เกรดเดียวกับน้ำมันเกียร์ที่ติดรถมา เพราะทั้ง 2 เกรดนั้นมีความแตกต่างในเรื่องของสูตร และประสิทธิภาพในการทำงาน ที่ส่งผลในเรื่องของความเสียหายในการใช้งานระยะยาว เพราะสูตรทางเคมีที่ต่างกันนั้น จะส่งผลให้ชิ้นส่วนสำคัญๆ เช่น ผ้าคลัทช์, ซีลยางต่างๆ เกิดการบวมล่อน หรือเกิดการแข็งกระด้าง ซึ่งจะส่งผลในระยะยาว
ระบบเกียร์ถูกออกแบบให้ทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ครั้งละ 2-3 ลิตรเท่านั้น บางท่านไม่เข้าใจกลัวว่าเกียร์จะไม่ทนทาน เวลาเปลี่ยนน้ำมันเกียร์จึงเน้นการเปลี่ยนถ่ายทั้งระบบ แม้ว่าจะใช้น้ำมันเกียร์เกรดเดิมก็ตาม ก็ยังส่งผลเสียหายกับชิ้นส่วนภายในระบบเกียร์ได้เหมือนกัน เพราะน้ำมันใหม่ทั้งระบบนั้นจะมีความเข้มข้นของสารเคมีสูงมาก มีผลทำให้ซีลยางในระบบเกิดอาการแข็งกระด้างเร็วกว่าปกติ รวมทั้งแผ่นคลัทช์อาจจะมีการบวมล่อนเร็วกว่าปกติ แถมค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนถ่ายและล้างระบบเกียร์นั้นอยู่ราวๆ 3,000-4,000 บาท นอกจากจะแพงแล้ว ยังทำให้อายุการใช้งานลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ดังนั้นน้ำมันเกียร์เป็นสิ่งเดียวที่เจ้าของรถต้องทำใจ เพราะไม่ควรเปลี่ยนไปใช้ของที่ดีกว่าคู่มือระบุไว้ และไม่ควรเปลี่ยนถ่ายทั้งระบบ นอกเหนือจากมีการซ่อมใหญ่ของระบบเกียร์ ในรถที่มีการบรรทุกหนัก หรือใช้ในเส้นทางชันเป็นประจำ ควรเปลี่ยนถ่ายเร็วขึ้นกว่าปกติตามความหนักหนาในการใช้งาน และขอย้ำว่าการเปลี่ยนถ่ายทั้งระบบ และใช้น้ำมันสำหรับล้างทำความสะอาดเข้าไปหมุนวนนั้น จะทำให้เกียร์มีอายุการใช้งานที่สั้นลงมาก
ใช้เกียร์ให้ทน ส่งผลเรื่องความประหยัด
ปกติรถยนต์ที่ใช้เกียร์อัตโนมัติ จะมีความสิ้นเปลืองกว่ารถที่ใช้เกียร์ธรรมดาพอสมควร ยิ่งใช้ไม่ถูกวิธียิ่งทำให้ผลในเรื่องของความสิ้นเปลืองชัดเจนมากขึ้น มีหลายวิธีในการใช้งานที่จะทำให้เครื่องยนต์ และระบบเกียร์ มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น การอุ่นเครื่องยนต์ให้ถึงอุณหภูมิใช้งานนั้น นับว่าเป็นเรื่องดีมาก เพราะสามารถช่วยให้เครื่องยนต์มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ลดการสึกหรอขณะเครื่องยนต์มีอุณหภูมิต่ำได้มาก เนื่องจากชิ้นส่วนของเครื่องยนต์นั้น ทำมาจากโลหะหลายๆ ชิ้น โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่มีการเคลื่อนไหว จำเป็นที่จะต้องได้รับความร้อนระดับที่เหมาะสม เช่นเดียวกับการที่คนเราต้องวอร์มร่างกายก่อนเล่นกีฬา จะได้ไม่เกิดอันตรายจากการออกกำลังกาย เช่น จุกเสียด, กล้ามเนื้ออักเสบ หรือฉีกขาด รวมถึงอาการหายใจ หรือการทำงานของหัวใจผิดปกติ แทนที่เราจะวอร์มอัพอยู่กับที่ เราก็เปลี่ยนมาใช้การเดินช้าๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มความเร็วขึ้นไปจนถึงระดับการวิ่งปกติก็ได้ เช่นเดียวกับรถยนต์ เราต้องเลิกการวอร์มเครื่องอยู่กับที่ได้แล้ว นอกจากจะสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมลพิษในอากาศด้วย การกระทำที่เหมาะสมในปัจจุบัน คือ เมื่อเครื่องยนต์ติดและไฟเตือนต่างๆ ดับลง ให้ออกรถได้เลย แต่ต้องแล่นด้วยความเร็วช้าๆ สักครู่หนึ่ง จนกระทั่งเห็นเข็มแสดงความร้อนของเครื่องยนต์สูงขึ้นสักครึ่งหนึ่งของระดับความร้อนปกติ ก็สามารถเพิ่มความเร็วให้มากขึ้นได้เรื่อยๆ การทำเช่นนี้เหมือนกับการวอร์มอัพด้วยการเคลื่อนที่ช้าๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มความเร็วมากขึ้นจนถึงระดับปกติ จะสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากการออกกำลังกาย เช่นเดียวกับเครื่องยนต์ การวอร์มอัพลักษณะนี้เพียงพอที่จะยืดอายุการใช้งานให้กับเครื่องยนต์ได้แล้ว สิ่งสำคัญคือ ช่วยลดความสิ้นเปลืองและมลพิษ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การวางแผนในการเดินทางก็มีความสำคัญไม่น้อยเลยทีเดียว มีผลโดยตรงกับความสิ้นเปลืองเลยทีเดียว วิธีนี้สามารถช่วยประหยัดทั้งเวลาและน้ำมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเลือกเส้นทางที่สั้นและมีสภาพการจราจรคล่องตัวสูง หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ ถ้ามีเส้นทางที่อ้อมแต่การจราจรคล่องตัวกว่า น่าจะเลือกอย่างหลังเพราะการจอดติดสักครึ่งชั่วโมงความสิ้นเปลืองก็มีไม่น้อย สู้ขับโล่งๆ แต่อ้อมหน่อยยังประหยัดเวลา และไม่ต้องหงุดหงิดกับสภาพการจราจรที่ติดขัด แถมลดเวลาในการเดินทางได้อีกต่างหาก (เพราะบางครั้งการเดินทางฝ่ารถติดความสิ้นเปลืองจะพอๆ กับการขับรถอ้อมน่าจะเลือกแบบที่ประหยัดเวลาจะดีกว่า รวมถึงการเลือกเวลาในการเดินทาง หลีกเลี่ยงชั่วโมงเร่งด่วนถ้าทำได้
การเติมลมยางที่เหมาะสมก็ช่วยยืดอายุการใช้งานของระบบเกียร์ และช่วยลดการใช้เชื้อเพลิง เนื่องจากเป็นเหตุเป็นผลที่ต่อเนื่องกัน ถ้าลมยางอ่อนก็สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากขึ้นเพราะยางมีความฝืดสูงกว่าปกติ เมื่อความฝืดสูง ก็ต้องเร่งเครื่องยนต์มากกว่าปกติ ความสิ้นเปลืองก็จะตามมาควบคู่กันโดยแยกไม่ออก แรงดันลมยางต้องพอเหมาะตามน้ำหนักบรรทุกที่คู่มือประจำรถแจ้งไว้ เพราะแรงดันลมยางแข็งไป หรืออ่อนไปก็ไม่ดีทั้งนั้น ถ้าแข็งไปก็ไม่มีผลกับเรื่องของความสิ้นเปลือง สองคือ พวงมาลัยหนักปั๊มเพาเวอร์ก็ทำงานหนัก เมื่อปั๊มทำงานหนักเครื่องยนต์ก็ต้องทำงานหนักตามไปด้วย ผลที่ตามมาอีกอย่างก็คือ เรื่องของการสึกหรอของดอกยางจะผิดปกติ ลมยางมากไป หรือแข็งไป แม้จะช่วยให้ล้อสามารถหมุนได้ง่าย ช่วยลดความสิ้นเปลืองได้ด้วย แต่ผลที่ตามมาก็คือ เรื่องของความกระด้างที่จะส่งผลเสียหายต่อชิ้นส่วนช่วงล่าง ดังนั้นควรจะเติมลมยางในขณะที่ยางยังเย็นอยู่ ส่วนเรื่องของแรงดันลมนั้น ให้ดูจากคู่มือของรถแต่ละรุ่นเป็นหลัก และในการเดินทางไกลนั้นควรเพิ่มแรงดันยางอีกสัก 3-5 ปอนด์/ตารางนิ้ว ลดสัมภาระที่ไม่จำเป็นออกไป เหลือเอาไว้แต่สิ่งที่จำเป็นต้องใช้งาน ยิ่งมีของบรรทุกอยู่มากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เครื่องยนต์ต้องทำงานหนักมากขึ้น ผลที่ตามมาคือ เรื่องของความสิ้นเปลือง อย่างเช่น ถุงกอล์ฟตีเสร็จแล้วก็ควรจะเอาออกเก็บไว้ที่บ้าน แบกไปแบกมาก็สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงโดยไม่จำเป็น และส่งผลต่ออายุการใช้งานของระบบเกียร์โดยตรง
ABOUT THE AUTHOR
พ
พหลฯ 30
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2550
คอลัมน์ Online : DIY...คุณทำเองได้